2 พ.ย. เวลา 07:58 • ธุรกิจ

เจาะกลยุทธ์ “หยกสด” ปั้นแบรนด์ขนมไทยใบเตย 100% สร้างยอดขายหลักล้าน เติบโต 26 สาขา ได้อย่างไร

จากผู้ที่ชื่นชอบในรสชาติขนมไทย แต่ไม่เคยทำขนมไทยมาก่อน ผันตัวเองสู่เจ้าของแบรนด์ ‘หยกสด’ ผู้สร้างสรรค์ขนมไทยโบราณ ที่อยากให้คนไทยได้เข้าถึงขนมไทย หยิบขนมเปียกปูนธรรมดา มาทำให้มีความหอม หวาน และรสชาติที่อร่อยกลมกล่อมของใบเตยที่เข้มข้น 100% พร้อมปรับรูปร่างหน้าตาให้มีความร่วมสมัย น่ากินมากยิ่งขึ้น
บทความนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวของ คุณมหศักย์ สุรกิจบวร เจ้าของแบรนด์ “หยกสด” ขนมไทยใบเตย 100% ขนมโบราณหากินยาก จากยอดขายเพียงหลักร้อยเติบโตสู่หลักล้าน มี 26 สาขาในปัจจุบัน เขามีกลยุทธ์ Marketing อะไร ถึงทำให้ ธุรกิจ SME เล็ก ๆ นี้ เจาะตลาดขนมไทย สร้างยอดหลักล้าน และขยายสาขา 26 แห่งทั่วประเทศได้ภายใน 6 ปี Bangkok Bank SME จะพาไปไขเคล็ดลับด้วยกัน
หลงใหลในรสชาติขนมเปียกปูน ต่อยอดมาเป็นธุรกิจ
คุณมหศักย์ เล่าให้ฟังว่า เรียนจบด้านวิศวกรรมเครื่องกล แล้วทำงานบริษัทด้านซอฟต์แวร์อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นมีโอกาสไปบวช มีญาติโยมนำขนมเปียกปูนกะทิสดมาถวาย พอได้ลองก็รู้สึกประทับใจในรสชาติที่ไม่เหมือนขนมเปียกปูนทั่วไป แต่ไม่เคยรู้จักขนมแบบนี้มาก่อน จนกระทั่งลาสิกขาออกมา จึงพยายามตามหาขนมเปียกปูนที่มีรสชาติแบบนี้มากิน แต่ก็หาไม่เจอ หรือรสชาติไม่เหมือนที่เคยกิน
จึงลองหาสูตรในอินเทอร์เน็ตมาลองทำดู เพื่อให้ได้รสชาติแบบที่ตัวเองต้องการ
หลังจากใช้เวลา ทดลองปรับสูตรอยู่หลายครั้ง จนได้รสชาติเหมือนที่เคยกิน จึงลองทำตามสูตร แล้วนำไปให้คุณแม่ชิม ท่านบอกว่า “หอมและอร่อยมาก” ส่วนเพื่อน ๆ พูดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขนมอะไร ทำไมอร่อยจัง”
ด้วยผลตอบรับที่ดีหลังจากทุกคนได้ชิมขนมสูตรที่ตนคิดขึ้นมาเองนี้ คุณมหศักย์ จึงลองตลาดด้วยการเปิดพรีออร์เดอร์ขนมเปียกปูนกะทิ 100 กล่อง ให้คนรอบข้างและลองขาย รวมถึงช่องออนไลน์ด้วย แต่ปรากฏว่า ขายไม่ดีอย่างที่คิดไว้ จึงนำไปเปิดบูธเล็ก ๆ ขายในห้าง ปรากฏว่าขายหมดภายในวันเดียว และวันนั้นเองที่จุดประกายในการปั้นแบรนด์แบรนด์ “หยกสด” ขนมไทยใบเตย ให้กับหนุ่มคนนี้
“ตอนแรกแค่ประทับใจในรสชาติ จึงคิดลองทำกินเอง แต่พอได้ลองไปเปิดบูธขายสักพักหนึ่ง และเริ่มเห็นว่า ก็ขายได้นี่ ถ้าเราบริหารดี ๆ น่าจะสามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้เลยทีเดียว”
ทำไม? ต้อง “หยกสด”
คุณมหศักย์ เล่าว่า หลังจากที่ขายเปียกปูนกะทิสด 100 กล่องหมดภายในวันเดียว จึงคิดขยายแบรนด์ด้วยการติดต่อขอวางขายในห้างสรรพสินค้า จากที่มีเพียงขนมเปียกปูนใบเตยกะทิสด เราก็แตกไลน์เป็นเปียกปูนกลิ่นสตรอว์เบอร์รี่ กลิ่นส้ม กลิ่นกาแฟ ฯลฯ เพราะคิดว่าเป็นการสร้างความแปลกใหม่และน่าสนใจ ลูกค้าน่าจะชื่นชอบมากขึ้น
แต่หลังจากวางขายไปได้ 1 เดือน รสชาติอื่น ๆ ที่เพิ่มเข้ามากลับขายไม่ได้ อาจจะซื้อรอบแรกบ้าง แต่ไม่กลับมาซื้อซ้ำ รสชาติเดียวที่ขายได้คือ “ใบเตย” จึงเปลี่ยนแนวคิดจากที่เพิ่มเมนูมากขึ้น เป็นเน้นเพียงรสชาติเดียวคือ ใบเตย โดยตั้งคอนเซ็ปต์ว่า เราคือแบรนด์ “ขนมไทยใบเตยหากินยาก” แทน พร้อมทั้งเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาขนมให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับสีเขียวของใบเตยที่เป็นวัตถุดิบหลัก
ผลที่ได้คือ ลูกค้าให้การตอบรับ เริ่มกลับมาซื้อซ้ำมากขึ้น เพราะลูกค้าเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของร้านมากขึ้น ด้วยความที่คอนเซ็ปต์ชัดเจนขึ้น ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้มีสื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจมารีวิวร้าน ส่งผลให้เกิดการบอกต่อมากขึ้นตามไปด้วย
คอนเซ็ปต์ “หยกสด” ขนมไทยใบเตย 100%
คุณมหศักย์ อธิบายความเป็นใบเตยของ “หยกสด” ว่า การที่เราตั้งชื่อว่า “หยกสด” เพราะอยากสื่อถึงสิ่งที่ดูมีค่า จึงนึกถึง “หยก” อัญมณีสีเขียว แล้วเติมคำว่า “สด” ต่อท้ายเพื่อสื่อถึงความสดใหม่น่ากิน
ดังนั้น เมื่อใช้ใบเตยเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญ บวกกับชื่อแบรนด์ “หยกสด” ที่สื่อถึงความเขียวอย่างโดดเด่นสะดุดตาขนาดนี้ ขนมไทยทุกเมนูที่นำมาขายจึงต้องมีใบเตยเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น หยกมณี อินทนิล ขนมถ้วยจีน บุหลันมรกต หรือขนมชั้นใบเตย
โดยเราจะใส่ใบเตยมากกว่าสูตรทั่วไป ตามที่เราวางคอนเซ็ปต์ตัวเองเป็น ‘ขนมไทยใบเตย100%’ เพราะลูกค้าจะคาดหวัง ในกลิ่น สี และรสชาติ ขนมของเรา ว่าต้องมีความโดดเด่นชัดเจนจากใบเตยมากกว่าร้านอื่น ๆ ในท้องตลาดทั่วไป
เปลี่ยน “ขนมหากินยาก” ให้เข้าถึงง่าย เป็นจุดขายของ หยดสด
นอกจากความเป็นใบเตยที่เข้มข้นแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่คุณมหศักย์ ยกมาเป็นจุดเด่นของ หยดสด คือความเป็นแบรนด์ขนมไทย “หากินยาก” เราจำเป็นต้องมีคอนเซ็ปต์เพื่อทำให้คนจดจำแบรนด์ได้ และทำให้แบรนด์มีความโดดเด่น ไม่ใช่เพียงเพื่อความแตกต่าง แต่เขาต้องการทำให้ผู้คนได้เข้าถึงขนมไทยอร่อย ๆ มากขึ้น อย่างเช่น “อินทนิล” เป็นหนึ่งในเมนูของ หยกสด ที่ถูกพูดถึงมาก คุณมหศักย์ อธิบายว่า อินทนิลเป็นขนมไทยดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่อาจหากินยาก เราก็เอามาพัฒนาปรับใหม่ทำให้ดูร่วมสมัย น่ากินยิ่งขึ้น
คุณมหศักย์ ยังบอกถึงขั้นตอนการคิดสูตรขนมว่า เกิดจากเราพยายามแก้ Pain Point ขนมบางเมนูที่หากินยากเพราะหลายปัจจัย อย่างเช่น หยกมณี เป็นขนมที่เก็บได้ไม่นาน เพราะขนมดั้งเดิมจะเป็นสาคูก้อน ๆ ที่คลุกรวมกับมะพร้าว วางขายแป๊บเดียวก็เสียแล้ว เราก็แก้ปัญหาด้วยการทำเนื้อขนมแยกออกมา แล้วใส่มะพร้าวแยกอีกถุง เพื่อแก้ปัญหาการเก็บรักษาได้นานขึ้น โดยไม่เสียรสชาติ อย่างนี้เป็นต้น
นอกจาก การทำให้ขนมหากินได้ง่ายขึ้นแล้ว ขนมทุกชนิดยังมีรสหวานละมุนพอดี ไม่หวานมากเกินไป ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ หรือคนที่ชื่นชอบขนมไทยแต่ไม่อยากกินหวานมากเกินไป ทำให้เราได้ลูกค้าส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
“แต่การทำขนมไทยให้หวานน้อย ให้ถูกใจลูกค้าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการลดน้ำตาลจะมีผลต่อเนื้อสัมผัสของขนมอย่างมาก จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการทำขนมไทย เราจึงต้องพยายามปรับสมดุลตรงนี้ให้ได้”
6 ปี ขยาย 26 สาขา ช้าแต่ชัวร์
คุณมหศักย์ สะท้อนภาพว่า ความตั้งใจของเราคือ อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านขนมใบเตย 100% ปัจจุบัน หยกสด มี 26 สาขา สร้างสรรค์เมนูขนมหวานขึ้นมากว่า 20 เมนู เป็นเมนูที่มีส่วนผสมเป็นใบเตยทั้งหมด เราค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ขยายไปตามความต้องการลูกค้า ทุกวันนี้เวลาจะเปิดสาขาเพิ่ม จะเปิดครั้งละ 1-2 สาขา ไม่ลงทุนเปิดทีเดียวหลาย ๆ สาขาหรือขยายสาขาเป็นดอกเห็ด เพราะคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากดูแลไม่ทั่วถึง อาจส่งผลเรื่องคุณภาพและรสชาติของขนมได้
พัฒนาโปรดักส์จากคำติชมของลูกค้าและทีมงาน
คุณมหศักย์ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้น เรามีทีมงานไม่กี่คน ซึ่งทุกคนช่วยกันคิดและนำเสนอไอเดีย แล้วลองลงมือทำจนได้ขนมออกมากว่า 20 เมนู ถือว่าทีมงานทุกคนมีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยเราพยายามนำขนมไทยที่อร่อยแต่หากินยากเข้ามาขาย หรือเราอาจจะเติมสิ่งที่ทำให้โปรดักส์ดีขึ้น สุดท้ายถ้าทดลองแล้วรู้สึกว่า “อร่อย” เราก็เอาออกมานำเสนอลูกค้าให้ได้ลองกินดู บางครั้งเราก็ได้ไอเดียจากคำติชมของลูกค้าและคนรอบข้างด้วยเช่นกัน
“ถึงเราจะเป็นคนริเริ่มและควบคุมคอนเซ็ปต์เอง แต่การจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้จริง ๆ เราต้องพึ่งพาบุคลากร ให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราไม่สามารถพัฒนาหยกสดขึ้นมาจากเราคนเดียวได้ จึงคิดว่า ที่หยกสดเติบโตมาได้ เพราะเรามีทีมงานที่ดีมาก ๆ”
เจ้าของแบรนด์ หยกสด กล่าวด้วยว่า เราอยู่ในธุรกิจ “ขนมหวาน” โดยธรรมชาติจะมีความเป็นแฟชั่นอยู่บ้าง อาจต้องวิเคราะห์ตลาด (Marketing) แล้วทำสิ่งที่คิดว่ามีลูกค้าชอบจริง ๆ อะไรที่ดูฉาบฉวยเราต้องพยายามแยกแยะให้ออก แล้วคงจุดยืน หรือ “คอนเซ็ปต์” ของตนเองให้ชัดเจน สิ่งนี้ถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญในการทำธุรกิจ SME ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงมากในปัจจุบัน
ก้าวต่อไปของ หยกสด
เจ้าของแบรนด์ หยกสด กล่าวว่า เรากำลังขยายกลุ่มสินค้าและบริการ Snackbox และ Catering โดยใช้ความมีเอกลักษณ์ของขนมหยกสดเป็นจุดขาย แต่ทำให้มีความหลากหลายและเหมาะกับงานประเภทต่าง ๆ ของลูกค้า และในอนาคตเรากำลังมองหา เทคโนโลยีที่จะมาช่วย Transform ธุรกิจให้บริหารจัดการได้อย่างมีความประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งในด้านคุณภาพและการยืดอายุสินค้าให้สามารถเก็บได้นานขึ้น โดยไม่ใส่สารกันเสียใด ๆ รวมถึงเพิ่มกำลังผลิตให้สามารถขยายสาขาทั่วประเทศได้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น โดยคงความสดและรสชาติที่เหมือนกันทุกสาขา
รู้จัก แบรนด์ หยกสด เพิ่มเติมได้ที่ :
หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.080-014-4990
โฆษณา