เมื่อวาน เวลา 08:00 • ไลฟ์สไตล์

'ลาออก เลิกจ้าง ไล่ออก' ต่างกันยังไง แบบไหนได้ค่าชดเชย?

รู้หรือไม่? การ “ถูกบีบให้ลาออก” นั้น เป็นคนละประเด็นกับการ “ถูกเลิกจ้าง (LayOff)” สำหรับการเลิกจ้างหรือถูกปลดออกนั้น คือ การยุติการจ้างงานของพนักงานโดยไม่เกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติงานของบุคคลนั้น (ไม่ได้ทำผิดวินัยหรือกฎระเบียบบริษัท)
พนักงานอาจถูกเลิกจ้างเมื่อบริษัทตัดสินใจลดต้นทุน หรือบริษัทปิดกิจการ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางของธุรกิจ หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
กรณีนี้ลูกจ้างต้องได้ค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และหากนายจ้างไม่แจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้า (ให้มีผลทันที) ก็ต้องจ่าย “ค่าตกใจ” ให้ลูกจ้างด้วย ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
แต่สำหรับกรณี “ถูกบีบให้ลาออก” นั้น มักจะเกิดจากเหตุผลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความไม่มีประสิทธิภาพของลูกจ้างเอง แม้จะไม่ได้ทำผิดวินัยหรือผิดกฎระเบียบบริษัทก็ตาม หรืออาจเป็นเพราะถูกกลั่นแกล้ง หรือเกิดปัญหาความขัดแย้งบางอย่างในที่ทำงาน ฯลฯ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบหรือสอบสวนเบื้องต้น หากพบว่าลูกจ้างโดนละเมิดจริง ก็ร้องเรียนตามกฎหมายแรงงานได้
ทั้งนี้ มีคำศัพท์เกี่ยวกับ “การออกจากงาน” อีกหลายคำซึ่งมีความหมายแตกต่างกันไป โดยข้อมูลจากธรรมนิติ เว็บไซต์ด้านกฎหมายอธิบายว่า หากเป็นการลาออกโดยสมัครใจ ลูกจ้างจะไม่ได้ค่าชดเชย ขณะที่การเลิกจ้าง แบ่งแยกย่อยออกเป็น “ให้ออก, ปลดออก, ไล่ออก”
การไล่ออกถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงสุด เกิดจากลูกจ้างทำผิดวินัยร้ายแรงจนส่งผลกระทบรุนแรงแก่นายจ้าง (มาตรา 119) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ขณะที่การถูกให้ออกหรือถูกปลดออกจากงาน ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชย และ/หรือ ค่าสินไหมทดแทน
โฆษณา