Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Right Style by Bom+
•
ติดตาม
3 พ.ย. 2024 เวลา 15:44 • ประวัติศาสตร์
ตำนานสนมชอบแอบออกมากินฝรั่ง ชู้รักในวังสู่การผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน
ด้วยความเคารพต่อพระดวงวิญญาณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ บทความนี้เพียงต้องการเขียนขึ้นเพื่อสื่อในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีผู้บันทึกไว้ ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นลบหลู่พระเกียรติแต่ประการใด
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่จะพูดถึงในบทความนี้ ไม่ไช่คนเดียวกันที่ปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงในสมัยสุโขทัยแต่อย่างใด (มีการลงความเห็นจากนักประวัติศาสตร์หลายท่านมาแล้วว่าเรื่องนางนพมาศและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่ประดิษฐ์กระทงนั้นเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น) สำหรับบทความนี้ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นชื่อตำแหน่งสนมเอกจากทิศเหนือในสมัยอยุธยา
1
ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1998 ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีข้อความระบุถึงชื่อตำแหน่งสนมเอกทั้ง 4 หรือ “สนมเอกสี่ทิศ” ได้แก่ อินทรสุเรนทร, ศรีสุดาจันทร์, อินทรเทวี และศรีจุฬาลักษณ์
2
ภาพจากซีรีส์แม่หยัว
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีนามเดิมว่า “แจ่ม” นางเป็นน้องสาวของออกพระเพทราชา หน้าตาสะสวย มีมารดาเป็นแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์ นางจึงมีฐานะเป็นน้องร่วมน้ำนมของสมเด็จพระนารายณ์ด้วย เมื่อครั้งขึ้นครองราชย์ นางถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้พระองค์ และยังได้แต่งตั้งให้เป็นสนมเอกอีกด้วย
■
รสนิยม “ชอบกินฝรั่ง”
กล่าวกันว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ผู้นี้มักหาข้ออ้างออกจากพระราชฐานชั้นในเพื่อไปเสพสังวาสกับชายต่างชาติในหมู่บ้านโปรตุเกส เรียกว่ามีรสนิยม “ชอบกินฝรั่ง”
โดยหาข้ออ้างจากการจงใจทำให้ตนเองเป็นแผลที่ขา และขอออกจากพระราชฐานชั้นในไปรักษาแผลกับนายแพทย์ดาเนียล บร็อชบรูด์ หรือออกพระแพทย์โอสถ ศัลยแพทย์ชาวดัตช์เชื้อสายฝรั่งเศสที่รู้เห็นเป็นใจ โดยอ้างกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าเป็นแผลฉกรรจ์ และเลี้ยงแผลให้หายช้าๆ จนประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมของนางต่างพากันขับเพลงเกริ่นความอัปรีย์ของนางผู้อื้อฉาวไปทั่วพระนคร ซึ่งผิดปรกวิสัยของชาวสยามที่รักสงบ
1
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ก็ปฏิเสธโดยอ้างว่าตนถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้นางอยู่แต่ในพระราชวังเพื่อป้องกันมิให้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นอีก
(ซ้าย) แผนที่กำหนดที่ตั้งของโบสถ์สำคัญ 3 แห่งในหมู่บ้านโปรตุเกส, (ขวา) ตำแหน่งที่ตั้งหมู่บ้านโปรตุเกส หนังสือ “ไทย-โปรตุเกส หลายทศวรรษแห่งสายสัมพันธ์” เครดิตภาพ: ศิลปวัฒนธรรม
■
เล่นชู้ในวัง
บาทหลวง เดอะ แบส ระบุถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ผู้นี้ว่า “นางหญิงใจทรามผู้นี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่ามากด้วยกามคุณ ยกเว้นแต่ในหลวง (สมเด็จพระนารายณ์ฯ-ผู้อ้าง) พระองค์เดียวเท่านั้นที่มิได้ทรงทราบระแคะระคาย”
1
สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีพระราชอนุชาต่างมารดาอยู่พระองค์หนึ่งคือ “พระเยาวราช” ผู้คนนิยมเรียกว่า “เจ้าฟ้าน้อย” เป็นหนุ่มรูปงาม พระองค์เองก็ทรงโปรดปราน ถึงกับเคยปรารภว่าจะให้อภิเษกสมรสกับกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของพระองค์ เสมือนจะทรงมอบราชสมบัติให้ต่อไป
แต่เรื่องราวกลับพลิกผันจากฟ้าลงเหว เมื่อเจ้าฟ้าน้อยต้องอาญาแผ่นดิน เพราะทรงแอบคบหากันอย่างลับๆ กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกของพระเชษฐา จนตั้งครรภ์มีพระโอรส 1 พระองค์
เรื่องแดงขึ้นมา เพราะนางมิได้ระวัง ปรากฏความตามพระราชพงศาวดารว่า คราหนึ่งเมื่อเจ้าฟ้าน้อยเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ได้ถอดเปลี่ยนเสื้อไว้หน้าพระที่นั่ง เพราะตามกฎระเบียบการเข้าเฝ้าให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและห้ามพกพาอาวุธเพื่อความปลอดภัย เจ้าฟ้าน้อยก็ทำตามกฎดังกล่าว พอดีนางเดินผ่านมาเห็นเสื้อก็จำได้ว่าของใคร เลยหยิบไปไว้ในห้องบรรทมของนาง โดยหมายใจว่าเจ้าฟ้าน้อยจะรู้และเข้าใจความนัยได้เองว่าให้มาหาที่ใด
เมื่อเจ้าฟ้าน้อยออกมาจากการเข้าเฝ้าไม่พบเสื้อ ไม่ทันคิดให้รอบคอบ เรียกคนมาไต่ถาม แต่ไม่มีผู้ใดรู้ สมเด็จพระนารายณ์ได้ยินเสียงเอะอะ ก็ไต่ถามพระอนุชา พอทราบเรื่องก็พิโรธว่ามีใครมาขโมยของถึงในเขตพระราชฐาน จึงสั่งให้ตรวจทั่วพระราชวัง ไม่เว้นแม้สักห้อง ในที่สุดก็มาเจอเสื้อที่ห้องบรรทมของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ คราวนี้เรื่องใหญ่เลย เหล่านางในกลัวพระราชอาญาเลยซัดทอดไปที่พระสนมเจ้านายของตนทันที
2
สมเด็จพระนารายณ์พิโรธหนัก ให้จับกุมเจ้าฟ้าน้อยกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์มาทำการไต่สวน เมื่อได้รู้ความจริงแล้ว ก็ให้ถอดเจ้าฟ้าน้อยออกจากตำแหน่งรัชทายาททันที และสั่งลงพระราชอาญาแต่ไม่ถึงกับประหารชีวิต โดยการโบยด้วยหวาย ให้ออกพระเพทราชาและพระปีย์ร่วมกันโบยเจ้าฟ้าน้อย ให้ถึงแค่ทรมาน แต่ก็พิการ ตัวบวม อ่อนเปลี้ยที่ขา และเป็นอัมพาตพูดไม่ได้
1
ส่วนท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้น ออกพระเพทราชาพี่ชายไม่เพียงมิได้ช่วยขอพระราชทานอภัยโทษ คงเสียใจแต่ทำอะไรไม่ได้ ซ้ำเพื่อปกป้องเกียรติของตนเองและวงศ์ตระกูล จึงกราบทูลให้ลงโทษประหารน้องสาวเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่เนื่องจากนางตั้งครรภ์อยู่ สมเด็จพระนารายณ์รอให้คลอดก่อนค่อยลงพระราชอาญา ซึ่งตามธรรมเนียมเวลาสนมเล่นชู้ คือการปล่อยให้เสือกินจนตาย
ส่วนพระโอรสที่เกิดกับนางและเจ้าฟ้าน้อยนั้น เนื่องจากเป็นการเล่นชู้ จึงไม่ได้รับการยกย่องเหมือนอย่างพระโอรสจากสนมองค์อื่น
1
เครดิตภาพ: IG @lakorn_online
■
จุดเปลี่ยนสู่การผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน
แต่ทว่าการนี้เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ออกพระเพทราชา สามารถปราบดาภิเษกขึ้นเป็นต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ได้ เพราะการที่เจ้าฟ้าน้อยหลุดจากวงอำนาจในฐานะรัชทายาท สมเด็จพระนารายณ์ที่มีแต่พระราชธิดากับพระราชโอรสบุญธรรม ไม่มีผู้มีสิทธิ์เต็มที่จะสืบราชสมบัติ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์เรื่องผู้สืบราชบัลลังก์ในตอนปลายรัชกาล
ปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มีพระดำริจะแต่งตั้งเจ้าฟ้าน้อยกลับมาเป็นรัชทายาทอีกครั้ง เป็นเหตุผลที่ครั้งนั้นไม่สั่งลงโทษถึงประหารชีวิต แต่ก็มีผู้ทูลขัดขวางพระองค์โดยใส่ความเจ้าฟ้าน้อยว่ายังทรงแค้นพระองค์ที่สั่งประหารท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หากพระองค์สวรรคต เจ้าฟ้าน้อยจะไม่เพียงไม่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงศพอย่างสมพระเกียรติ แต่จะทรงประจานพระบรมศพเป็นการแก้แค้น ด้วยที่มีหลายคนสังเกตว่าเจ้าฟ้าน้อยยังอาลัยอาวรณ์พระสนมผู้นั้นอยู่เสมอ
เมื่อไม่สามารถตั้งรัชทายาทได้ ออกพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ (ต่อมาคือ พระเจ้าเสือ) จึงปราบดาภิเษกยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ ถือเป็นราชวงศ์ที่ 2 ของกรุงศรีอยุธยาที่มาจากขุนนาง ในการยึดอำนาจนี้ เจ้าฟ้าน้อยพร้อมเจ้าฟ้าอภัยทศ พระปีย์ และฟอลคอน ต่างถูกนำตัวไปประหาร เพื่อไม่ให้มีเสี้ยนหนามต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวงต่อไปในวันข้างหน้า
2
การรัฐประหารพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2231 เครดิตภาพ: https://www.gotoknow.org/posts/709999
■
เชิงอรรถ:
https://www.matichonweekly.com/column/article_14930
ภูธร ภูมะธน, โกษาปาน ราชทูตกู้แผ่นดิน (กรุงเทพฯ: สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้), 2550), หน้า 33
ขจร สุขพานิช, ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2560), หน้า 222-226
เดอะ แบส, บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550)
เรื่องเดียวกัน, หน้า 97-99
นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557) หน้า 31-32
1
ขจร สุขพานิช, ออกญาวิไชยเยนทร์กับการต่างประเทศในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2527), หน้า 73; เดส์ฟาร์จ, ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, แปลโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี, หน้า 8-9
<ภาพปก: ภาพจิตรกรรมฝาผนัง หญิงนางในแอบออกจากวัง ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง เครดิต: Pinterest by IAmJudy>
ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ไทย
6 บันทึก
32
5
12
6
32
5
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย