Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anontawong's Musings
•
ติดตาม
4 พ.ย. 2024 เวลา 00:57 • ความคิดเห็น
เราต้องพัฒนาตัวเองไปถึงเมื่อไหร่
ปีนี้เป็นปีที่ผมสนใจเรื่องการพัฒนาตัวเองน้อยลงไปพอสมควร แทบไม่ได้อ่านหนังสือหรือฟังพอดแคสต์ในหัวข้อเหล่านี้เลย
คนรอบตัวในโลกโซเชียลยังเขียนเรื่องพัฒนาตัวเองกันค่อนข้างเยอะ มีแนะนำแอปพลิเคชันและเทคนิคต่างๆ เห็นคนไปลงคอร์สและสรุปเรื่องราวที่ได้ฟังจากตัวท็อปในวงการ
ช่วงนี้ผมก็เลยคิดถึงประโยคหนึ่งเป็นพิเศษ เป็นคำของพี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร ที่เคยเปรยกับผมและเพื่อนอีกสองคนไว้เมื่อปีที่แล้วว่า
"บางทีเรียนมาเยอะๆ ก็เอาไปใช้ไม่ทันเหมือนกันนะ"
1
-----
ผมเพิ่งกลับมาจากเมืองเพิร์ธ ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย
ทุกครั้งที่ไปเที่ยวต่างประเทศ ผมมักจะแวะเวียนไปร้านหนังสือ สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือหนังสือประเภท how-to นั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือนิยาย สุขภาพ การเลี้ยงลูกเสียมากกว่า
ถ้าเรากลับมาดูหนังสือแนว how-to ในบ้านเรา จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แปลมาจากนักเขียนในอเมริกา ญี่ปุ่น หรือไม่ก็เกาหลีใต้
ทั้งสามประเทศนี้มีความเหมือนกัน คือแม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ผู้คนก็ยังต้องแข่งขันกันสูง ผิดกับยุโรป ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ที่เราแทบไม่เคยเห็นหนังสือแนว how-to มาจากนักเขียนสัญชาติเหล่านี้เลย ถ้าจะมีเล่มไหนที่โด่งดังหน่อยในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาผมก็คิดออกแค่เรื่อง Four Thousand Weeks ที่ผู้เขียนเป็นชาวอังกฤษ แต่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ก็แตกต่างจากฝั่งอเมริกาอย่างชัดเจน
ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรป น่าจะมี social safety net ที่ดีพอสมควร ประชาชนเลยไม่รู้สึกว่าต้องพยายามเป็นคนที่เก่งขึ้นอยู่ร่ำไป
ผิดกับคนไทย ที่รู้สึกว่าถ้าเราไม่เก่งขึ้น ไม่พัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเวลา นั่นคือความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวง เพราะเราอาจโดนทิ้งไว้ข้างหลัง
-----
ในหนังสือ "Between Hello and Goodbye. ครู่สนทนา" ของคุณจิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ เคยสัมภาษณ์คุณภิญโญเมื่อปี 2560 เอาไว้ว่า
[ถาม]: คุณคิดว่าหนังสือ ปัญญาอนาคต และ ปัญญาอดีต ขายดีมาก มันเกิดจากการตลาดอันแม่นยำหรือคนกำลังโหยหาปัญญาจริงๆ
[ตอบ]: อาจจะเป็นอย่างหลังมากกว่า สินค้าที่ขายดีตามหลักการตลาดคือสิ่งที่คนไม่มี คุณต้องขายสิ่งที่คนอยากได้แต่เขาไม่มี ถ้าพูดอย่างแหลมคม สิ่งนั้นก็คืออนาคต ประเทศนี้ไม่มีอนาคต เวลาคุยกันในวงเหล้า เราก็คุยกันว่าเฮ้ย ประเทศนี้ไม่มีอนาคต ผมเลยขาย future ไง ขายสิ่งที่คนอยากได้แล้วไม่มีในประเทศ ถามว่าแล้วทำไมยังขายได้เรื่อยๆ ก็ตอนนี้มันยังไม่มีอยู่ (หัวเราะ)
-----
ที่ปากซอยบ้านผมเป็นห้างโลตัส มีพื้นที่จอดรถมากมาย และมีอาคารหนึ่งชั้นที่เคยเป็นเนอสเซอรี่มาก่อน แต่ก็ถูกทิ้งร้างมานาน
เมื่อประมาณต้นปีนี้ ก็มีกิจการมาเปิดใหม่และคึกคักมาก ระดับต้องพึ่งตำรวจจราจรมาช่วยอำนวยความสะดวกช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
กิจการที่ว่าคือโรงเรียนกวดวิชาให้เด็กประถม วันที่โรงเรียนเปิดนี่มีพ่อแม่ผู้ปกครองมาอออยู่หน้าอาคารไม่ต่ำกว่า 50 คน เป็นธุรกิจที่มี demand สูงจริงๆ
เมื่อเดือนที่แล้ว พื้นที่ข่าวในเมืองไทยถูกครอบครองด้วยธุรกิจขายตรงแบบ MLM* ที่มีดาราเป็นพรีเซนเตอร์ แต่มีคนเสียหายมากมาย สุดท้ายจึงนำไปสู่การจับกุมเจ้าของและผู้เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อย
ผมเคยได้เข้าไปฟังธุรกิจขายตรงอยู่หลายเจ้า และได้คำตอบว่าเขาไม่ได้ขายสินค้า สิ่งที่เขาขายจริงๆ คือความฝันว่าวันหนึ่งคนธรรมดาอย่างเราจะมีอิสรภาพทางการเงิน
2
แม้กิจการที่เป็นข่าวจะถูกจัดการไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะมีกิจการคล้ายๆ กันเกิดขึ้นมาอีก เพราะ "อนาคตที่ดีกว่านี้" เป็นสิ่งที่คนไทยขาดแคลนเสมอ
-----
มีอาจารย์คนหนึ่งเคยเล่าเรื่องติดตลกไว้ว่า
นักเรียนเกรด A จะได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาก็รับราชการและออกกฎหมายและกำกับดูแลความเป็นไปในสังคม
นักเรียนเกรด B มักจะทำธุรกิจ ซึ่งก็ถูกควบคุมโดยกฎหมายและกฎกติกาที่เขียนโดยนักเรียนเกรด A
นักเรียนเกรด C โตมาเป็นนักการเมือง แล้วก็ได้รับเลือกตั้ง/แต่งตั้งมาคุมกระทรวง มีนักเรียนเกรด A เป็นลูกน้อง
ส่วนนักเรียนเกรด D นั้นเป็นหมอดู ที่นักการเมืองเชื่อถือและขอคำปรึกษาอยู่เสมอ
นักเรียนเกรด C และ D จึงคุมประเทศ โดยมีนักเรียนเกรด A และ B ทำงานให้
-----
เมื่อประเทศไทยเป็น (เสีย) อย่างนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหนังสือ how-to ถึงขายดี ทำไมโรงเรียนกวดวิชาถึงมีคนเรียนเยอะ และทำไมธุรกิจที่ใช้ความร่ำรวยเป็นจุดขายและคนธรรมดากลายเป็นเหยื่อจึงจะเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป
กลับมาที่คำถามที่ว่า เราต้องพัฒนาตัวเองไปถึงเมื่อไหร่
1
ผมคิดว่าหากชีวิตวัยทำงานของเราเพิ่งเริ่มต้น การมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองก็ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เราต้องพึ่งพาตัวเองเพราะเราไม่สามารถฝากความหวังไว้กับรัฐบาลได้มากนัก
แต่หากชีวิตของใครเดินทางมาถึงจุดที่โอเคระดับหนึ่ง เราอาจไม่จำเป็นต้องยึดการพัฒนาตัวเองเป็นสรณะ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในความหมายที่คุ้นเคยในหนังสือ how-to ที่เน้นความ productive และสร้างความร่ำรวย
ไม่อย่างนั้นเราจะเสพติดการพัฒนาตัวเอง กว้านซื้อหนังสือ เข้าคอร์ส ฟังพอดแคสต์ โดยที่เราอาจลืมตั้งคำถามเป็นครั้งคราวว่าที่ "เราวิ่ง" อยู่ทั้งหมดนี้นั้นทำไปเพื่ออะไร
และที่สำคัญกว่านั้น คือเรายังต้องการชุดความรู้เหล่านี้อยู่จริงหรือเปล่า คนที่เราติดตามและยึดว่าเป็นไอดอลนั้นเขาอยู่ stage ชีวิตเดียวกับเราหรือไม่ และสิ่งที่เราขาดไปคือความรู้แน่หรือ?
บางที สิ่งที่เราขาดแคลนอาจไม่ใช่ความรู้ แต่คือสติและความกล้า
5
กล้าที่จะลงมือทำ กล้าที่จะปฏิเสธ กล้าที่จะดูไม่ดี
3
เมื่อเราหมั่นตั้งคำถามและมีความชัดเจนกับตัวเอง สิ่งที่เราเคยคิดว่าต้องทำมาโดยตลอดอาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้นอีกต่อไปครับ
10 บันทึก
23
1
8
10
23
1
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย