เมื่อวาน เวลา 03:20 • ความคิดเห็น

เราควรทำงานกันเหมือนชินคันเซ็น

พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ เคยถามในคลาสเรียนตอนพี่จิกมาบรรยายเมื่อหลายปีก่อนว่า รู้มั้ยทำไมชินคันเซน รถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่นถึงเร็วมาก ในระดับ 300 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง…
หลายคนที่พอมีความรู้ทางวิศวกรรมหรือพอคิดไอเดียออกก็เริ่มตอบ มีตั้งแต่ชินคันเซนมีสถานีห่างกันมาก จึงเร่งความเร็วได้เต็มที่ เส้นทางเป็นเส้นตรงไม่ต้องเลี้ยวโค้ง มีรางของตัวเอง ออกแบบ aerodynamic ได้สุดยอด ใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ มีความเบา ฯลฯ ตอบที พี่จิกก็ผงกหัวที จนคำตอบมากันหมด พี่จิกก็บอกว่าถูกทุกข้อ
2
แต่หัวใจหลักสำคัญที่สุดของชินคันเซนที่ไม่มีใครนึกถึงและต่างจากรถไฟทั่วไปและทุกคนนึกไม่ถึงเพราะภาพจำของพวกเราต่อรถไฟก็คือมีหัวรถจักรแล้วลากโบกี้กันไป แต่ชินคันเซนมีเครื่องจักรทุกขบวน หัวรถจักรจะมีเครื่องยนต์ที่ใหญ่สุด แต่ทุกโบกี้จะมีเครื่องยนต์ของตัวเองในการขับเคลื่อนซึ่งทำให้ออกตัวได้เร็วและเร่งความเร็วได้มาก เพราะทำให้รถไฟมีแรงขับสูง เวลาขึ้นเนินก็จะมีแรงฉุดที่มากขึ้น กระจายน้ำหนักที่ดีขึ้นทำให้ไม่เป็นการ “ลาก” และทำให้ประหยัดพลังงานอีกด้วย
4
คนญี่ปุ่นถึงกับมีคำพูดที่ว่าเราควรทำงานแบบชินคันเซน ทุกคนควรทำหน้าที่ของตัวเอง รู้ว่างานที่สำเร็จคืออะไร มีความรับผิดชอบ ไม่ต้องคอยรอให้แต่หัวหน้ามาสั่งถึงจะทำนั่นเอง..
11
เมื่อไม่นานมานี้มีในบทสนทนาของนักธุรกิจรุ่นใหญ่ที่เก่งมากๆ มีท่านหนึ่งเพิ่งไปซื้อกิจการที่สิงคโปร์ ก็เลยมีคำถามว่าทีมงานที่สิงคโปร์เทียบกับที่ไทยเป็นยังไง มีความต่างกันตรงไหน
ท่านนั้นยิ้มแล้วตอบว่า.. ที่สิงคโปร์ ลูกน้องทำงานให้เรา ที่ไทยเราทำงานให้ลูกน้อง ซึ่งน่าจะหมายถึงว่าที่สิงคโปร์บอกไปคำเดียวว่าเป้าหมายคืออะไร ลูกน้องก็ไปลุยจนสำเร็จ ติดอะไรก็มาถาม แต่ที่ไทย (บริษัทของเขานะครับ ไม่ใช่หมายถึงทุกบริษัท งดดราม่า..) บอกแล้วก็ต้องคอยไปตาม ต้องจดแล้วไปเตือนว่าเสร็จหรือยัง บอกทุกอย่างจนบางครั้งต้องลงมือทำเอง ความแตกต่างก็ประมาณนั้น….
7
Everyone thinks of changing the world, but no one thinks of changing himself.
Leo Tolstoy
ถึงตรงนี้หลายคนน่าจะเริ่มวิเคราะห์ว่าทำไมทีมเรา บริษัทเราถึงวิ่งอืดเป็นรถไฟไทย ไม่ใกล้เคียงกับชินคันเซนบ้างเลย ตัวหัวหน้าก็คงพยักหน้าหงึกหงักว่าถ้าลูกน้องเราวิ่งได้เอง มีเครื่องจักรเองก็คงจะดี ไม่งั้นต้องให้จ้ำจี้จ้ำไชตลอด ตัวลูกน้องก็มองไปที่หัวรถจักร บ่นว่าถ้าไม่ติดเครื่องให้โบกี้ มันจะวิ่งเองได้ยังไง เอะอะก็ลงมาจี้ ลงมาสั่ง ไม่เชื่อใจ จะวิ่งเองผิดทีก็เป็นเรื่อง ต่างก็น่าจะโทษกันไปมาอยู่แบบนี้
4
คุณซิกเว่ เบรกเก้ อดีตซีอีโอดีแทค และคุณอาทิตย์ นันทวิทยา แห่ง SCB X เป็นสองผู้นำที่เวลาผมทำงานด้วยแล้วสนุกมาก ทั้งได้ทำงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และได้ผลงานที่ดีเสมอ ผมทำงานกับทั้งคู่มาคนละ 6 ปี จะรู้สึกตื่นเต้นและท้าทาย วิ่งเร็วเหมือนชินคันเซน เพราะรู้สึกได้ถึงความชัดเจนและความเชื่อใจที่ทั้งคู่มีให้ ผมพยายามคิดถึงวิธีอธิบายลักษณะการบริหารทีมของทั้งคู่ก็ยังอธิบายได้ไม่ดีนักจนได้ฟังคุณแทป รวิศ แห่ง mission to the moon ที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณซิกเว่เมื่อไม่นานมานี้
1
คุณแทปเล่าว่า ตอนสัมภาษณ์คุณซิกเว่นั้น ซิกเว่บอกว่าถ้าจำอะไรไม่ได้เลยจากการสัมภาษณ์นี้ให้จำแค่สามคำ ก็คือ tight – loose – tight ซึ่งเป็นวิธีการบริหารทีมที่คุณซิกเว่ใช้
4
tight แรกก็คือการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ชัดขนาดที่ไม่ต้องตีความ เดินออกจากห้องสิบคน ดึงตัวมาถามทีละคนต้องตอบได้เหมือนกันหมด ส่วน loose คือวิธีการทำงาน ไม่ต้องไม่ยุ่งกับทีมมาก ให้แค่กรอบกว้างๆ กับเครื่องมือพอ แต่ละคน แต่ละทีมก็ไปหาทางบรรลุเป้าหมายกันเอง ส่วน tight สุดท้ายคือวิธีการวัดผล ต้องเป๊ะมาก คุณซิกเว่เคยเล่าให้ผมฟังด้วยว่าอะไรที่วัดได้จะปรับปรุงได้และทำให้สำเร็จได้
1
ผู้บริหารนั้นมีหลายแบบ แบบ tight tight tight เลยก็เป็นแนวเผด็จการ มาสายหนึ่งนาทีก็เรียกมาด่า ควบคุมทุกอย่าง แบบนี้ลูกน้องก็จะกลัวไม่กล้าคิดอะไร ทำตามสั่งพอ loose loose loose ก็ทำงานด้วยความน่าเบื่อเพราะหัวหน้าไม่ชัดเจน ไม่รู้เอาอะไร ทำแล้วจะได้อะไร คนทำงานก็ไม่สนุก แบบ loose tight loose นี่ก็แอบนึกถึงการบริหารแบบราชการไม่ได้ ทำผิดคือซวยไม่ได้ดูผลลัพธ์ เป็นต้น
3
พอฟังคุณแทปสรุปจากซิกเว่อีกทีถึงเข้าใจได้ว่าทำไมเวลาทำงานกับคุณซิกเว่และคุณอาทิตย์ถึงสนุกมาก เพราะทั้งคู่เป็นคนชัดเจนว่ามีเป้าหมายอะไร อาจจะยากแต่ก็ชัด ส่วนวิธีการทำงานทั้งคู่ปล่อยอิสระมากด้วยความเชื่อใจ แต่ไปวัดผลเข้มข้นกันตอนจบ คนทำงานแบบผมก็ทำงานง่ายและคิดอะไรสนุกๆได้เยอะแต่ก็รู้ถึงความรับผิดชอบไปด้วยว่าต้องทำอะไรให้สำเร็จ
2
Tight loose tight ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างทีมชินคันเซนก็ได้ ตัวหัวรถจักรต้องนำทางแม่นๆเป็น tight ให้ทีมงานมีอิสระ เลือกคนให้ถูกที่ทำงานสำเร็จ ให้เขารับผิดชอบรายละเอียดเองเหมือนมีเครื่องยนต์เล็กของตัวเองที่ขับเคลื่อนได้ตามทิศทางที่หัวรถจักรกำหนด เป็น loose แล้วหัวหน้าก็จบด้วยการวัดผล อะไรที่วัดได้ปรับปรุงได้ ถ้ารถไฟวิ่งได้เร็ว ตรงเวลา ไม่เสีย เป็น tight ตอนจบ ก็ต้องประเมินและให้รางวัลตามนั้น
2
ก็น่าจะเป็นหลักการสร้างทีมชินคันเซนได้เหมือนกันนะครับ…
โฆษณา