11 พ.ย. 2024 เวลา 00:00 • หนังสือ

การทำสมาธิไม่มีจุดหมายปลายทาง

นักปรัชญาอังกฤษ อลัน วัตต์ส มีวิธีการย่อยหลักปรัชญาตะวันออกให้เข้าใจง่ายขึ้น ด้วยสาธกที่ง่าย ๆ เขายกตัวอย่างซิการ์ มันมีสองปลายเสมอ แต่เป็นวัตถุชิ้นเดียวที่เราไม่สามารถแยกสองปลายออกจากกันได้ เราอาจตัดปลายหนึ่งทิ้ง แต่ก็จะปรากฏปลายใหม่ขึ้นมาทันที มันแยกไม่ได้
1
ประโยคหนึ่งที่เขาบอกและสะดุดหูผมไปนานคือ “การทำสมาธิไม่มีจุดหมายปลายทาง”
1
วัตต์สมักยกตัวอย่างเปรียบการเดินธรรมกับการเดินทาง เขาบอกว่า เวลาเราเดินทางจากจุด ก. ไปจุด ข. จุดหมายคือจุด ข. เราต้องการไปถึงให้เร็วที่สุด การเดินทางจาก ก. ไป ข. ที่เร็วที่สุดก็ถือว่าเป็น “การเดินทางที่ดี”
1
แต่เวลาเราฟังเพลง เราจะอยู่กับดนตรีและเนื้อเพลงทีละชั่วขณะ เราดื่มด่ำกับเพลงนั้นโดยไม่สนใจจะรีบไปให้ถึงท่อนจบของเพลง เราอยู่ใน ‘ปัจจุบัน’ ของเพลง ไม่มีใครบอกให้เล่นเพลงให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะจบให้เร็วที่สุด เพราะหากเราวัดคุณค่าเพลงอย่างนั้น นักดนตรีที่เล่นเพลงเร็วที่สุดก็คือนักดนตรีที่เก่งที่สุด
ในการเต้นรำ เราไม่มีตำแหน่งที่ต้องไปถึง สาระของการเต้นรำก็คือชั่วขณะที่เต้นรำ ไม่ใช่จุดหมายที่ต้องไปถึง เพราะมันไม่มีจุดหมาย
สาระของการเต้นรำก็คือการเต้นรำ
สาระของการเดินทางก็คือการเดินทาง
การทำสมาธิก็เช่นกัน มันไม่มีจุดหมายที่ต้องไปถึง สาระของการทำสมาธิก็คือชั่วขณะปัจจุบันนั้น และมันทำให้เราพบสันติของใจ
1
มุมมองและการเปรียบเทียบเหล่านี้ทำให้เห็นภาพธรรมที่เราเรียนมาได้ชัดขึ้น ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน และมันไม่มีเชื้อชาติ วัฒนธรรม โลกตะวันออกหรือตะวันตกมากำหนด
ดังนั้นจะเห็นว่า ครูเป็นใครไม่สำคัญ จะเป็นคนไทย คนจีน คนเวียดนาม ฝรั่ง ก็ไม่สำคัญ สำคัญที่เนื้อหาของคำสอน
2
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราไม่ได้ดูว่าใครเทศน์ แต่ดูว่าเราเข้าใจอะไร
2
จาก หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ / วินทร์ เลียววาริณ
1
สนใจหนังสือเล่มนี้ ตอนนี้มีโปรโมชั่นชุด S10
Shopee คลิกลิงก์ https://shope.ee/1LIFbnHXOK?share_channel_code=6
โฆษณา