4 พ.ย. เวลา 09:00 • ถ่ายภาพ
อำเภอ โคกโพธิ์

ประเพณีชักพระโคกโพธิ์ มรดกที่สืบทอดมากว่า 150 ปีที่ชายแเดนใต้ และคำชม? #ส๊วยเหมือนเรือพร้ะ

ภาพปกด้านบนที่ทุกท่านเห็นนั้น เรียกว่า "เรือพระทรงพุ่มยอดแหลม" มีลักษณะทรงสูง ประดิษฐ์ประดอยอย่างงดงามจากช่างในท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนลากพระจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดปัตตานีที่มาร่วมงาน "ประเพณีชักพระอำเภอโคกโพธิ์" ครั้งที่ 75 ระหว่างวันที่ 13-24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
เรือพระประเภทความคิดสร้างสรรค์
ประชาชนจะนำเงินมาร่วมทำบุญ โดยใส่ลงในบาตรพระที่วางอยู่ด้านหน้าเรือพระ
ประเพณีชักพระ หรือลากพระ เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาในท้องถิ่นภาคใต้ มีชื่อเสียงที่สุดคือประเพณีชักพระของ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วงเวลาของประเพณีนี้ตรงกับวันออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 การชักพระนั้นมาจากความเชื่อที่ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์  ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธ เจ้าขึ้นประทับบนบุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง
ดังนั้นการชักพระคือการที่ชาวบ้านพากันลากบุษบกที่ปัจจุบันใช้รถยนต์แทนที่ตกแต่งอย่างสวยงาม โดยด้านบนบุษบกมีพระพุทธรูปของวัดต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่ ไปตามถนนหนทางต่าง ๆ ต่อมาก็มีการประชันขันแข่งกันก่อเกิดเป็นประเพณีในท้องถิ่นขึ้น
โนราและเรือพระ
ประเพณีชักพระของอำเภอโคกโพธิ์นั้น เป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2409 โดยพระอธิการแดงสุนทรโร (หลวงปู่แดง) เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทอง และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน นับเวลาก็ 158 ปีแล้ว นับเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาในชายแดนใต้ที่น่าสนใจที่ยังคงดำรงและรักษาไว้โดยพุทธศาสนิกชนท่ามกลางเพื่อนพ้องต่างศาสนิกในพื้นที่ชายแดนใต้
หมายเหตุ
ด้วยเรือพระมีการตกแต่งอย่างสวยงาม ชาวใต้จึงมีคำชมถึงความสวยที่เปรียบเทียบกับเรือพระ เช่น สวยเหมือนเรือพระ หมายความว่า มีความสวยงดงามวิจิตรดั่งเรือพระ แต่บางครั้งก็ใช้สำหรับการประชดประชันได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของการพูด
โฆษณา