Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SpacenScience TH
•
ติดตาม
4 พ.ย. เวลา 07:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ระบบไตรดาราขนาดเล็กที่สุด
ระบบไตรดาราแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปเพียง 5 พันปีแสง ได้สร้างสถิติใหม่ขึ้นมา TIC 290061484 เป็นระบบของดาวที่ยึดเกาะกันด้วยแรงโน้มถ่วง ประกอบด้วยดาวคู่หนึ่งที่โคจรรอบกันและกันในระยะประชิดมาก โดยมีดาวดวงที่สามโคจรรอบคู่นี้อีกที โดยรวมแล้ว ทั้งสามดวงก็ยังอยู่ใกล้กันอย่างมาก จนทั้งระบบน่าจะอยู่ในวงโคจรดาวพุธรอบดวงอาทิตย์ได้
ยังไม่หมดแค่นั้น ไตรดาราที่แนบแน่นอย่างนี้ ดูจะมีเพื่อนอีก เมื่อมีร่องรอยของดาวดวงที่ 4 ซึ่งอยู่ในระยะทางที่ห่างไกลกว่ามาก ดาวทั้งสามในระบบไตรดาราแห่งนี้กำลังจะชนกัน โดยจะชน, ควบรวม และระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาที่จะเหลือดาวนิวตรอนดวงเดี่ยวๆ ไว้ในอีกราว 20 ล้านปีข้างหน้า
การค้นพบใหม่ทำโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศนักล่าดาวเคราะห์นอกระบบ TESS(Transiting Exoplanet Survey Satellite) ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงความสว่างอันน้อยนิดจากดาวฤกษ์ ซึ่งบ่งชี้ถึงพิภพที่โคจรอยู่รอบๆ ระบบดาวที่เกิดคราสซึ่งกันและกันตามแนวสายตาของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างด้วย เมื่อดาวฤกษ์ผ่านหน้ากันและกัน และกันแสงดาวอีกดวงไว้บางส่วน
การเปรียบเทียบระยะทางของดาวในระบบTIC 290061484 กับวงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์ตามสัดส่วนจริง
การสำรวจจาก TESS จึงตรวจจับการเปลี่ยนแปลงความสว่างนี้ได้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากในการค้นพบระบบลักษณะนี้ เนื่องจากจากระยะทางที่ไกลมาก พวกมันมักจะปรากฏเหมือนเป็นดาวฤกษ์ดวงเดี่ยวๆ ซึ่งก็เป็นกรณีของ TIC 290061484 ด้วย ระนาบการโคจรของพวกมันทั้งหมดเรียงตัวแทบจะหันข้าง(edge-on) พอดีกับแนวสายตาของเรา ซึ่งหมายความว่า เราได้เห็นคราสที่แตกต่างกันเกิดขึ้นเมื่อดาวทั้งสามเต้นรำไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Veselin Kostov นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่ศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา พบระบบแห่งนี้หลังจากทำการวิเคราะห์ข้อมูล TESS อย่างเข้มข้น โดยใช้อัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์เพื่อกรองข้อมูล เพื่อหาสัญญาณการเกิดคราสในระบบดาว จากนั้นก็ให้นักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนตรวจสอบอีกครั้ง
เรามองหาสัญญาณจากระบบพหุดาราขนาดกะทัดรัด, ดาวที่หดพองอย่างไม่ปกติในระบบคู่ และวัตถุแปลกๆ เป็นหลัก Saul Rappaport นักฟิสิกส์ที่เอ็มไอที กล่าว น่าตื่นเต้นที่จำแนกระบบอย่างนี้ได้เนื่องจากพบได้ยาก แต่พวกมันก็อาจจะมีอยู่มากกว่าที่เคยพบมา การจำแนกระบบลักษณะนี้ได้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอันนี้ จากนั้นนักวิจัยก็วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแสงเพื่อตรวจสอบคุณลักษณะของมัน
กราฟแสงของระบบไตรดารา
ดาวสองดวงที่จับเป็นคู่มีมวล 6.85 และ 6.11 เท่ามวลดวงอาทิตย์ โดยมีคาบการโคจรเพียง 1.8 วันเท่านั้น ดาวที่สามมีมวล 7.9 เท่าดวงอาทิตย์ และโคจรรอบคู่กลางด้วยคาบ 24.5 วันคาบที่สั้นเช่นนี้ทำลายสถิติไตรดาราที่มีขนาดเล็กที่สุดก่อนหน้านั้นซึ่งพบในปี 1956(Lambda Tauri ดาวดวงที่สามโคจรรอบคู่ด้วยคาบ 33 วัน) อย่างราบคาบ และดาวดวงที่สี่ ก็อาจมีมวลราว 6.01 เท่าดวงอาทิตย์ ซึ่งประเมินว่าโคจรรอบดาวทั้งสามด้วยระยะทางไกลมาก มีคาบราว 3200 วัน ระบบแห่งนี้อยู่ในทิศทางกลุ่มดาวหงส์(Cygnus)
ดาวฤกษ์ก่อตัวขึ้นจากพื้นที่ที่มีสสารหนาแน่นอย่างมาก ภายในเมฆก๊าซและฝุ่นก้อนมหึมา โดยปกติ เมฆลักษณะนี้จะระยิบระยับไปด้วยดาวทารกจำนวนมาก โดยบางส่วนที่เข้ามาใกล้กันมากพอก็จะควบรวม อีกบางส่วนจะใช้ชีวิตด้วยกันในวงโคจรรอบกันและกัน
Rappaport กล่าวว่า เราคิดว่าดาวก่อตัวขึ้นด้วยกันจากกระบวนการเดียวกัน ซึ่งน่าจะป้องกันไม่ให้มีดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นใกล้กับดาวฤกษ์ใดๆ เลย ซึ่งต่างจากระบบอย่างอัลฟา เซนทอไร(Alpha Centauri) ซึ่งคิดกันว่า พรอกซิมา(Proxima Centauri) เพิ่มถูกแรงโน้มถ่วงของคู่กลางดึงไว้ชั่วคราว แทนที่จะก่อตัวขึ้นพร้อมกับพวกมัน ระบบที่มีดาวก่อตัวและอยู่พร้อมหน้ากันสร้างความสนใจให้กับนักดาราศาสตร์ได้มากกว่าการจับแบบชั่วคราว
ดาวเกือบทั้งหมดในทางช้างเผือกก็อยู่ในระบบลักษณะนี้ เมื่อคุณมองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ดาวฤกษ์กว่าครึ่งที่มองเห็นแท้จริงแล้วเป็นพหุดารา(multiple star) ที่อยู่ห่างไกลเกินกว่าจะแยกแยะได้ เราทราบว่ามีพหุดาราอีกมากที่เรายังจำแนกไม่พบ การค้นพบนี้ได้บอกว่าอาจจะมีระบบลักษณะนี้มากกว่าที่เคยจินตนาการขึ้น ก้าวต่อไปก็คือ ใช้กล้องโรมัน เพื่อค้นหาพวกมัน เมื่อกล้องโทรทรรศน์ขึ้นสู่วงโคจรแล้ว
เปรียบเทียบพื้นที่ในกาแลคซีทางช้างเผือกที่กล้องเคปเลอร์, TESS และกล้องโรมันที่กำลังจะส่ง จะศึกษา กล้องโรมันจะสามารถตรวจสอบไปได้ถึงใจกลางกาแลคซีซึ่งเป็นที่อยู่ของดาวเกือบทั้งหมดในกาแลคซี
ดาวในระบบแห่งใหม่นี้ยึดเกาะกันด้วยใกล้ชิดจนสุดท้ายพวกมันจะควบรวมกัน เมื่อพวกมันอยู่ในสถานะยักษ์ ดาวที่มีขนาดใหญ่จะมีช่วงชีวิตที่สั้น ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ได้อีกราว 40 ล้านปี แต่ละดวงเองก็มีมวลสูงพอที่จะระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาแล้ว และมวลรวมก็มากเกินพอที่จะระเบิด
ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะพบระบบไตรดาราที่เกิดคราส เราก็ไม่เคยคาดว่าจะมีพวกมันอยู่ข้างนอกนั่น Tamas Borkovits นักดาราศาสตร์ที่หอสังเกตการณ์บาญา มหาวิทยาลัยเซเกต ในฮังการี กล่าว แต่เมื่อเราได้พบพวกมันแล้ว เราก็คิดว่าทำไมจะไม่มีอีก ซึ่งกล้องโรมันอาจจะเผยให้เห็นระบบและวัตถุที่จะสร้างความประหลาดใจให้กับนักดาราศาสตร์อย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อนได้อีก งานวิจัยนี้เผยแพร่ใน Astrophysical Journal
แหล่งข่าว
sciencealert.com
– record discovery: three large stars locked in a space smaller than Mercury’s orbit
iflscience.com
– three stars found in the closest ever recorded embrace
ดาราศาสตร์
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย