4 พ.ย. เวลา 14:59 • การเมือง

อ่านเกม “สี จิ้นผิง” เรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์โลก”

เกิดอะไรขึ้นบ้าง เขากำลังคิดอะไรอยู่
หลังจากเปิดเผยว่าเกาหลีเหนือส่งทหารของตนเข้าไปช่วยรัสเซียในสมรภูมิยูเครน (ยังไม่ข้ามดินแดนเข้าไปในยูเครน มีข่าวเพียงว่าใช้เพื่อผลักดันกองทหารยูเครนออกจากภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย) ฝ่ายตะวันตกก็เกิดอาการผวากลัวว่าจะลุกลามบานปลายเพราะมีมือที่สามของอีกฝ่ายเข้ามาร่วมวง ถึงแม้ว่าจีนจะอยู่เงียบๆ เฉยๆ ไม่ออกอาการอะไรมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่แล้วก็ถูกดึงเข้ามาในวงจรข่าวจนได้ สหรัฐกับเกาหลีใต้เรียกร้องแกมกดดันให้จีนใช้อิทธิพลช่วยปรามรัสเซียกับเกาหลีเหนือไม่ให้สงครามในยูเครนยกระดับ - อ้างอิง: [1]
สงครามยูเครนเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างขั้วตรงข้าม (รัสเซีย-จีน-อิหร่าน-เกาหลี) กับฝ่ายตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐ แน่นอนว่าจีนเป็นคนอุ้มเศรษฐกิจให้รัสเซียหลังโดนคว่ำบาตรหนัก ส่วนอิหร่านเป็นเจ้าหลักส่งโดรนและอาวุธบางส่วนเข้ามาช่วยรัสเซีย และล่าสุดเกาหลีเหนือส่งทหารเข้ามาช่วย
1
จนกระทั่งล่าสุดช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ วอชิงตันได้ออกมาตรการคว่ำบาตรบริษัทจีนที่ทำงานร่วมกับบริษัทรัสเซียในการซัพพลายส่วนประกอบในการผลิตโดรน ตามคำกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ – อ้างอิง: [2]
เครดิตภาพ: AP / Getty Images / Nikkei Asia
สื่อฝ่ายตะวันตกวิจารณ์มองว่าปูตินเลือกทำสงครามเพื่อขยายอำนาจ แต่กับเกาหลีเหนือและอิหร่านซึ่งยากจนถูกโดดเดี่ยวจากตะวันตกและต่อต้านอเมริกาอย่างสุดโต่ง แทบไม่มีสิ่งใดจะเสีย รอรับการช่วยเหลือจากรัสเซียโดยมีการแลกเปลี่ยน
แต่สำหรับจีนมีความซับซ้อนมากกว่า ถึงแม้ “สี จิ้นผิง” จะอยากเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกในปัจจุบัน ลดอิทธิพลของตะวันตก แต่ติดอยู่ที่ว่าเศรษฐกิจของจีนยังคงพึ่งพาสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรมากเกินไปจนเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรอย่างหนักหากมีการประกาศจัดส่งอาวุธให้กับปูตินอย่างโจ่งแจ้ง - อ้างอิง: [3]
ด้วยข้อจำกัดเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันเหล่านี้ ผู้นำจีนจึงใช้แนวทางที่ระมัดระวังในการดำเนินนโยบายในระดับโลกของเขา เห็นได้ชัดว่าเขามุ่งหวังที่จะรักษาเสถียรภาพระดับโลกในระดับหนึ่งเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกันเขาก็ได้ขยายอำนาจของจีนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในเวลาเดียวกันเขาก็ได้กระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียและอิหร่านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แม้ว่าผู้นำของทั้งสองประเทศจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในยุโรปและตะวันออกกลางก็ตาม
เครดิตภาพ: Photo illustration by Slate. Photos by AFP/Getty Images, Kevin Frayer/Getty Images, Majid/Getty Images, and Alexandr Demyanchuk/SPUTNIK/AFP via Getty Images
วอชิงตันกดดันปักกิ่งให้เข้าแทรกแซงและจำกัดความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซีย แต่ “สี จิ้นผิง” ไม่ได้แสดงความสนใจมากนัก (ไม่เล่นด้วย) ที่จะใช้อิทธิพลของตนเพื่อควบคุมพันธมิตรของเขา เขาได้พบกับปูตินเพียงหนึ่งวันก่อนที่ฝ่ายบริหารของไบเดนจะเปิดเผยถึงการมีอยู่ของกองทหารเกาหลีเหนือในรัสเซีย วอชิงตันก็ย่อมสงสัยว่าพวกเขาคุยอะไรกันและคิดไปด้วยว่าพวกเขาสมรู้ร่วมคิดกัน ในขณะที่กองทหารเกาหลีเหนือก็ยังคงอยู่และมีหลักฐานให้เห็น
สหรัฐย่อมคิดและอ้างได้ว่าจีนไม่เพียงแต่ยินยอม แต่ยังสนับสนุนเงินทุนโดยอ้อมให้เกิดความวุ่นวายทั้งหมดนี้ด้วย สหรัฐได้คว่ำบาตรทั้งรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ทำให้ทั้งสามประเทศต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก การค้าระหว่างจีนและรัสเซียสูงถึงระดับสูงสุดที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ธุรกิจของรัสเซียหันมาใช้สกุลหยวนแทนดอลลาร์ จีนซื้อน้ำมันส่งออกเกือบทั้งหมดของอิหร่าน และคิดเป็น 90% ของการค้ากับต่างประเทศของเกาหลีเหนือ - อ้างอิง: [4]
สี จิ้นผิง คิดว่าพวกเขาทั้งสามประเทศถ้าจะเดินทำสงครามต่อก็ขอให้ไม่มากระทบถึงเศรษฐกิจจีน เรื่องนี้มองว่าอาจเป็นชัยชนะของจีนถ้ามันทำให้ทรัพยากรของฝ่ายตะวันตกร่อยหรอลงและบั่นทอนอิทธิพลของฝ่ายตะวันตกลงได้ แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลย้อนกลับมาทำร้ายจีนได้เช่น สงครามที่ใหญ่โตขึ้นในตะวันออกกลางอาจเจาะตลาดพลังงานและทำร้ายเศรษฐกิจของจีน “สี จิ้นผิง” ไม่มีเจ้าหน้าที่การทูตคนสำคัญหรือด้านการทหารในตะวันออกกลางเพื่อควบคุมความเสียหาย
2
ในขณะเดียวกันการส่งกองกำลังของเกาหลีเหนือไปรัสเซียกำลังจะยกระดับสงครามในยูเครน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เตือนว่าโซลอาจตอบโต้ด้วยการส่งอาวุธโจมตีไปยังยูเครน ผู้นำจีนแทบไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากการที่พันธมิตรยุโรปและเอเชียของอเมริกามุ่งเป้าไปที่รัสเซีย หากสงครามขยายวงกว้างขึ้น ผู้นำอเมริกาและยุโรปอาจเพิ่มการคว่ำบาตรจีนเพื่อกดดันให้จีนลดการสนับสนุนรัสเซีย
เครดิตภาพ: Geography of Peace 1944
ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยุโรปโดยรวมกับจีนก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก สหภาพยุโรปประกาศใช้กำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพื่อช่วยผู้ผลิตของตนเอง แต่ก็ยังถือว่าเบากว่ามาตรการกำแพงภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนของอเมริกา เพื่อเป็นการตอบโต้จีนก็กำลังบีบยุโรปในตลาดของตน สินค้าเกษตรจากยุโรปก็ถูกโจมตีเช่นกัน และจะถูกคว่ำบาตรด้วยภาษีศุลกากร - อ้างอิง: [5]
1
มูลค่าการค้าของสหภาพยุโรปกับจีนอยู่ที่ประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ สงครามภาษีศุลกากรจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดความโกลาหล โดยที่ห่วงโซ่อุปทานที่อ่อนแอที่สุดในสามฝ่ายจะสูญเสียมากที่สุดนั่นคือ ยุโรปที่ติดอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาคอุตสาหกรรมอาจเผชิญวิกฤตหนักได้ - อ้างอิง: [6][7]
1
ปัญหาของนโยบายต่างประเทศของจีนก็คือ จีนต้องการล้มระเบียบโลกปัจจุบันที่นำโดยสหรัฐฯ ในระยะยาวและคงสถานะที่เป็นอยู่ไว้ในระยะสั้น ทางออกของ “สี จิ้นผิง” ก็น่าจะเป็นการลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกา และกำลังแสวงหา “ความสมดุล” และสนับสนุนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในด้านการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (ที่ยังไม่เลือกข้างอยู่ฝั่งไหนชัดเจน) เพื่อปลดแอกเศรษฐกิจจีนจากเทคโนโลยีและตลาดผู้บริโภคของตะวันตกให้ได้ก่อน แล้วจึงจะกระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นได้กับกลุ่มพันธมิตรอย่างรัสเซียและอิหร่าน
แน่นอนว่าฝ่ายตะวันตกคงอ่านเกมได้เหมือนกัน พวกเขาก็พยายามเติมความตึงเครียดให้กับจีน พยายามทำลายเศรษฐกิจจีนและทำให้การแก้โจทย์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนมันซับซ้อนยิ่งขึ้น เป็นการวัดฝีมือของ “สี จิ้นผิง”
1
เรียบเรียงโดย Right Style
4th Nov 2024
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: Ben Jones / The Economist>
โฆษณา