Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นครพนมโฟกัส
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 12:17 • ข่าว
ส่องอาชีพสุดแปลก อ.นาหว้า จ.นครพนม ส่งขาย “ไส้เดือนตากแห้ง”
ก่อนอื่นต้องบอกทุกคนว่าหากใครที่กลัวไส้เดือนก็ขออภัยเพราะอาจทำให้คุณขนลุกเอาได้ “ไส้เดือน” หรือแถวภาคอีสานเรียกว่า “ขี้ไก่เดือน” เป็นสัตว์ที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ ให้ประโยชน์มากกว่าให้โทษต่อมนุษย์ เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องจักรกลในธรรมชาติเพื่อการเกษตร ด้วยการชอนไชของไส้เดือนสามารถทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น นั่นก็คือ ทำให้ดินร่วนซุย ระบายน้ำ และทำให้อากาศไปสู่ดินได้ดีขึ้น หรือจะเรียกว่าเป็นนักไถพรวนดินตามธรรมชาติก็ว่าได้
จากข้อมูลสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ไส้เดือนนอกจากเป็นผู้ย่อยสลายซากอินทรีย์ในระบบนิเวศ มูลของไส้เดือนยังช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ ด้วยการช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารแก่ดิน และยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ดีอีกด้วย อีกทั้ง ปัจจุบันทั่วโลกยังพบไส้เดือนมากถึงประมาณ 4,400 ชนิด
ไส้เดือนออกเยอะมาก
แต่ทว่า ในระบบนิเวศตามธรรมชาติไม่ได้มีสิ่งมีชีวิตแค่กลุ่มเดียว การดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจึงมีความสำคัญ เกิดเป็นวัฏจักรวงจรชีวิตในระบบ แน่นอนว่าเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ซึ่งบทความชิ้นนี้ไม่ต้องการให้เกิดการเปรียบเทียบ หรือความขัดแย้งทางด้านความคิด แต่จะเป็นช่องทางการสื่อสารเรื่องราวให้ทุกคนได้เข้าใจบทบาทของคำว่า “วิถีชีวิต”
ผมพาทุกคนมาที่บ้านดอนแดง ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เรียนรู้อาชีพสุดแปลกที่ไม่ค่อยมีใครทำ แต่สามารถสร้างรายได้มหาศาล และอาชีพที่ว่านี้ คือ การส่งออก “ไส้เดือนตากแห้ง” ต่างประเทศ ซึ่งคนในพื้นที่ทำมานานหลายสิบปี เรียกว่าเป็นฤดูกาลสร้างเงินให้กับชุมชนเลยก็ว่าได้ เพราะ 1 ปี มีแค่ครั้งเดียว เราได้คนนำทาง คือ พี่เจี๊ยบ (เกศินี กินนารีแซ) ที่จะพาไปรู้จักกับอาชีพสุดแปลกนี้กัน เราเดินทางด้วยรถ 3 ล้อพ่วงข้าง ของตาเพียด อายุวัย 67 ปี ไปที่ ดอนเมียด-ดอนยาง ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่อยู่ติดกัน
ทีมงานพี่เจี๊ยบและชาวบ้าน
เพราะเมื่อถึงช่วงฤดูฝน หรือช่วงน้ำหลาก (ประมาณเดือนกันยายนของทุกปี) ระดับน้ำจะท่วมสูงขึ้นมายังพื้นที่ดังกล่าว ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ดินอย่าง “ไส้เดือน” จำนวนมาก มุดออกจากใต้ดินที่ถูกน้ำท่วมเพื่อย้ายมาอยู่พื้นที่สูง จึงเป็นจังหวะของชาวบ้านในพื้นที่ ปรับเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เก็บไส้เดือนเพื่อนำมาขายสร้างรายได้
เราพูดคุยกับ แม่เพชร (นางเพชร ปัญญาสาร) อายุ 60 ปี บอกว่า ทำอาชีพนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เป็นฤดูกาลทำเงินให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี โดยตนพร้อมกลุ่มเพื่อนบ้านจะพากันออกมาเก็บไส้เดือนตั้งแต่ 6 โมงเช้า จนถึงประมาณเที่ยงกว่า ๆ เพราะหากมาในช่วงสาย ๆ ไส้เดือนจะหนีกลับเข้าใต้ดินก่อนซึ่งจะเก็บได้น้อย
แม่เพชร
การเก็บแต่ละครั้งจะได้จำนวนไม่เท่ากัน อย่างครั้งนี้ที่มาเก็บตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยง ได้ประมาณ 20 กิโลกรัม แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะทุกครั้งที่ออกมาเก็บจะได้ 20 กิโลกรัม เป็นจำนวนขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนไส้เดือนที่เก็บจะเป็นไส้เดือนทาม (ไส้เดือนดำ) ลักษณะตัวใหญ่และมีสีดำเข้มมันวาว คล้ายกับงูดิน
ส่วน ตาเพียด (นายเพียด คะสุดใจ) คนนำทางขับสามล้อพ่วงพาเรานั่งเข้ามา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากการเก็บช่วงกลางวัน ยังมีคนบางกลุ่มออกก้านเก็บไส้เดือนในช่วงตอนกลางคืน (ก้าน = ส่องไฟ) เพราะอากาศเย็นไส้เดือนจะออกเยอะกว่า อีกทั้งยังได้จำนวนเยอะกว่าคนอื่น ๆ ที่ตามเก็บทีหลัง ตาเพียด บอกว่า ไส้เดือนจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ ไส้เดือนคอลาย และ ไส้เดือนแดง
พื้นที่น้ำท่วม
ไส้เดือนคอลาย หากขายแบบสดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ขณะที่ไส้เดือนแดง จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท และการเก็บไส้เดือนของคนที่นี่จะต้องเก็บตั้งแต่ที่มีขนาดเท่าไม้ตะเกียบขึ้นไป ส่วนตัวที่เล็กกว่าไม้ตะเกียบจะถูกปล่อยให้สืบพันธุ์คงอยู่กับระบบนิเวศธรรมชาติต่อไป เพราะเมื่อน้ำลดลงไส้เดือนที่เหลือดังกล่าวจะตามน้ำลงไปอยู่ในพื้นที่ลุ่มและแฉะเพื่อดำรงชีวิต
เมื่อเก็บไส้เดือนได้จำนวนมาก ชาวบ้านจะนำมาขายให้คนอีกกลุ่มหนึ่งในหมู่บ้าน ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้จะเรียกว่า ขั้นตอนการผลิต หรือการแปรรูปไส้เดือน เราสอบถาม คุณสุวรรณชัย ใจกระจ่าง ผู้ทำหน้าที่ในขั้นตอนการตากแห้งไส้เดือน บอกว่า ขั้นตอนนี้จะนำมาล้างน้ำทำความสะอาด ก่อนจะนำเข้าเครื่องผ่าไส้ออก เครื่องนี้เป็นเครื่องจักรขนาดเล็กที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ มีใบมีดทำหน้าที่ผ่าไส้ออก ซึ่งเครื่องนี้สามารถหย่อนไส้เดือนได้ครั้งละ 1 ตัว หากมีออเดอร์มากก็จะทำทั้งวันทั้งคืนเลยทีเดียว
กระบวนการรีดไส้ออก
เมื่อนำไส้ออกหมด ขั้นตอนต่อไปคือการนำไปล้างน้ำอีกประมาณ 2-3 น้ำ เพื่อให้สะอาด ก่อนเข้าสู่กระบวนการตากให้แห้ง (ราคาขายแบบแห้ง กิโลกรัมละ 550 - 620 บาท) ขั้นตอนการตากให้แห้งมี 2 วิธี คือ แบบตากแดด และ อบด้วยควันไฟ การเลือกตากด้วยแดดจะใช้เวลา 1 วันเต็ม ๆ ถึงจะแห้งกลายเป็นไส้เดือนแดดเดียว ส่วนการอบด้วยควันไฟ จะใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง
ตากแดด
กระบวนการทำให้แห้งก็มีส่วนสำคัญ หากตากแดดให้แห้งสนิทอย่างดี (2 วันขึ้นไป) จะได้ราคาสูงถึง 620 บาท ถือเป็นแรงจูงใจสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ คุณสุวรรณชัย ยังบอกอีกว่า เมื่อตากแห้งสนิทแล้ว กลิ่นของไส้เดือนแห้งจะคล้ายกับกลิ่นปลาตากแห้ง หากปิดตาดมแทบจะแยกไม่ออกเลยทีเดียว ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการทำความสะอาดด้วย
อบรมควัน
ส่วนการจำหน่ายของไส้เดือนตากแห้งจะถูกส่งขายให้กับนายทุนหรือพ่อค้าคนจีน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานหรือโกดังจีน เข้ามาเปิดรับซื้อในพื้นที่ 3-4 เจ้าแล้ว โดยมีข้อมูลพบว่า ชาวบ้านตาลและบ้านดอนแดงในอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ส่งออกไส้เดือนตากแห้ง มากถึงปีละ 100 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออกทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างดี และปลายทางของ “ไส้เดือนตากแห้ง” คือ ประเทศจีน และไต้หวัน เชื่อว่านำไปเป็นยาโดฟ ยาชูงกำลัง เพื่อเพิ่มสมรรถภาพให้กับร่างกาย
ภาพ/บทความ : นครพนมโฟกัส
#นครพนมโฟกัส #สร้างสรรค์พื้นที่สื่อโฟกัสตรงประเด็น #NKPFOCUS #บทความ #สื่อสร้างสรรค์ #ข่าวนครพนม #ข่าวท้องถิ่น #ข่าวอีสาน #สื่ออีสาน #นครพนม #อาชีพแปลก #ไส้เดือน #ขี้ไก่เดือน #ส่งขายไส้เดือน
นครพนม
วิถีชีวิต
อาชีพ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย