Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
•
ติดตาม
8 พ.ย. เวลา 03:00 • สิ่งแวดล้อม
สื่อสารอย่างไร ? เมื่อ “ประเพณีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม?”
นับวันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ฤดูร้อนที่ร้อนยาวนานจนเกิดความแห้งแล้ง ปัญหาอุทกภัย แผ่นดินถล่มจากฝนตกหนัก ภาวะฝนทิ้งช่วงจนกลายเป็นปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรม เป็นต้น
จึงเกิดกระแสรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นำไปสู่การตั้งคำถามต่อประเพณี “สงกรานต์” การสาดน้ำเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำที่คุ้มค่าหรือไม่ ประเพณี “ลอยกระทง” ที่กระทงกลายเป็นขยะเต็มแม่น้ำลำคลอง ทำอย่างไรจึงยังสาดน้ำในวันสงกรานต์ และ ลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน 12 ได้ โดยที่ยังคงคุณค่าและความยั่งยืนทั้งประเพณีและสิ่งแวดล้อม
การสนทนากับ ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ทำให้รู้ว่า เดิมยุคทางธรณีวิทยา เช่น ยุคน้ำแข็ง “ไพลสโตซีน (Pleistocene)” ยุค “โฮโลซีน” (Holocene) เมื่อโลกอุ่นขึ้น จะถูกแบ่งแยกไปตามการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
“ภายหลังการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในปี 2493 เป็นต้นมา ประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ต้องผลิตอาหารมากขึ้น เลี้ยงสัตว์มากขึ้น การขยายตัวด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เครื่องยนต์หรือยานยนต์ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอน มีเธน ไปจนถึงการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น ทำให้เกิดการสะสมมลภาวะที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่บางอย่างเริ่มแก้ไขไม่ได้ เพราะโลกต้องปรับสมดุลตัวเองไปสู่สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับมนุษย์ไปแล้ว” ดร.ตรงใจ กล่าว
นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่มจึงนิยามโลกท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายในปัจจุบันว่า “แอนโทรโพซีน” (Anthropocene) หมายถึง ฤดูกาลที่ภาวการณ์ของโลกถูกเปลี่ยนแปลงโดยพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งแม้ยังไม่ได้รับการยอมรับเข้ามาอยู่ในธรณีกาล แต่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และนักธรณีวิทยาบางส่วนเริ่มตระหนักถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมถูกทำลายโดยมนุษย์
เมื่อกาลเวลาพากิจกรรมไปไกลจากแก่นของประเพณี
มนุษย์เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมบนวิถีดำรงชีวิตที่สัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ เช่น ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์กับสังคม มนุษย์กับธรรมชาติ โดยคนส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นความดีงามต่อสังคม อาทิ ประเพณีลอยกระทงและสงกรานต์ ซึ่งสัมพันธ์กับทรัพยากรน้ำ ทั้งการใช้ประโยชน์และเทศกาลรื่นเริง
อย่างแก่นของประเพณีลอยกระทง คือ “การเห็นความสำคัญของน้ำการสำนึกบุญคุณของน้ำ” แก่นของประเพณีสงกรานต์ คือ “การให้ความสำคัญกับครอบครัวการทำบุญกราบไหว้บรรพบุรุษในวันปีใหม่ไทย” ในสมัยก่อนที่ประชากรยังไม่มาก การจัดงานประเพณีลอยกระทงหรือเล่นน้ำสงกรานต์ เป็นเสมือนศูนย์รวมใจด้านวัฒนธรรมของชุมชนเล็ก ๆ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าปัจจุบันที่ประเพณีเหล่านี้ถูกจัดวางให้อยู่ในรูปแบบของมหกรรมแห่งชาติ กลายเป็นวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
แม้งานลอยกระทงหรือสงกรานต์ประกอบด้วยเรื่องพิธีกรรมและงานรื่นเริงในตัว แต่การให้น้ำหนักกับการจัดงานรื่นเริงเพื่อสร้างรายได้หรือทำแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว การปรับเปลี่ยนรูปแบบจนแทบไม่เหลือเค้าของวัฒนธรรมสงกรานต์แบบเดิม แต่เป็นเหมือนเทศกาลใหม่ที่เอาปืนฉีดน้ำมาเล่นกันเพื่อความสนุกสนาน ส่วนประเพณีลอยกระทงซึ่งจัดขึ้นในยุคที่จำนวนประชากรมากกว่าอดีต ทำให้จำนวนกระทงที่เดิมลอยไม่กี่พันชิ้นกลายเป็นแสนชิ้นล้านชิ้น ซึ่งเป็นขยะทั้งนั้น
สงกรานต์กับลอยกระทงแม้จะเป็นประเพณีที่ไม่ควรละเลย แต่ก็ถือเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เป็นแอนโทรโพซีนที่แม้จะดูเล็กในสเกลใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ฝุ่น PM2.5 ดังนั้น สังคมจึงต้องทำความเข้าใจทั้งบริบทเชิงวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมตลอดจนการปลูกจิตสำนึกจากทั้งสองวัฒนธรรม ถึงแม้จะไม่สามารถหยุดยั้งการทำลายสภาพแวดล้อมแต่ก็ช่วยโลกให้ดีขึ้นได้บ้าง
“ผมไม่โลกสวยในการมองว่าปัญหาทุกอย่างแก้ได้ อะไรที่แก้ไม่ได้คือแก้ไม่ได้ เพราะเมื่อโลกปรับตัวแล้วจะปรับเลยโดยไม่สนใจมนุษย์และมนุษย์ไม่สามารถสั่งโลกได้ มนุษย์จึงต้องปรับตัวท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเพื่ออยู่อย่างไรไม่ให้ตาย ซึ่งเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน”
ยกตัวอย่าง การตระหนักเรื่องฝุ่น PM2.5 เดิมเรียกว่าหมอกเคมี (Smog) ซึ่งเกิดในประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2523 เพราะรูปแบบเมืองที่เป็นกึ่งอุตสาหกรรม มีการใช้รถยนต์หนาแน่น แต่ไทยเพิ่งมาตระหนักว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเมื่อไม่นานมานี้
ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาโดยการพ่นน้ำลดฝุ่น หยุดการใช้รถ ไม่ได้ทำให้ปัญหาจบ เพราะนอกจากควันรถแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวข้อง เช่น การเผาในพื้นที่การเกษตรที่เปิดมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม
มนุษย์จึงต้องสร้างการตระหนักรู้และหาวิธีป้องกันตนเอง เช่น ออกนอกอาคารให้ใส่หน้ากาก เป็นต้น เพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบางอย่างเป็นปัญหาระดับมหภาค ระดับโลก ซึ่งผู้คนมีความตระหนัก เช่น การเกิดแคมเปญเรื่องคาร์บอนเครดิต แม้จะยังแก้ไม่ได้ก็ต้องพยายามลด ตัวอย่างเช่นในอดีตคนตระหนักถึงการเกิดรูรั่วในชั้นโอโซนก็ตื่นตัวรณรงค์เพื่อแก้ปัญหา พอเริ่มแก้ไขจริงจังรูรั่วก็ลดลง
คุณค่าของประเพณีที่แปรเปลี่ยนตามบริบททางสังคม
ดร.ตรงใจ ขยายความเพิ่มเติมว่า คุณค่าหลักของประเพณีสงกรานต์เป็น “วันแห่งครอบครัว” มาจากรากเหง้าของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว เป็นวาระที่ทุกคนกลับบ้านไปรวมตัวกัน ทำบุญร่วมกัน และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ส่วนการสาดน้ำเดิมเป็นเพียงการละเล่นที่เด็ก ๆ อยากออกไปสนุกสนานกัน ดังนั้น ต้องแยกชัดว่า “สงกรานต์ไมใช่การสาดน้ำ” แต่การสาดน้ำเป็นงานรื่นเริงที่มาพร้อมกับคุณค่านี้
ด้วยบริบทที่เปลี่ยนไปการสาดน้ำสงกรานต์กลับกลายเป็นจุดขาย สะท้อนถึงความเป็นสังคมทุนนิยมที่จัดงานเหล่านี้เพื่อสร้างรายได้ให้จังหวัดหรือพื้นที่
ซึ่งไม่ผิดเพราะเมื่อจัดงานแล้วมีคนมาแสดงว่าเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ที่ไป ส่วนคนที่ไม่อยากไป ไม่ชอบเที่ยวสงกรานต์ เพียงแต่สื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพความรื่นเริงจากการเที่ยวสงกรานต์ แต่ไม่ได้ภาพต่างมุมของคนในสังคมบางส่วนที่มองคุณค่าของสงกรานต์เป็นวันหยุดพักผ่อนวันหนึ่ง เบื่อหน่ายกับการเที่ยวสงกรานต์เพราะไม่อยากเปียกน้ำ มองการเล่นสงกรานต์เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ หรืออาจมีเหตุผลอื่นที่น่ารับฟัง ซึ่งสื่อควรนำเสนอเปรียบเทียบ
“ถามว่าการจัดงานสงกรานต์กระทบกับทรัพยากรน้ำที่เราอุปโภคบริโภคไหม อันนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ถ้าเป็นสมัยก่อนเขาเล่นกันตามมีตามเกิด พื้นที่ไหนไม่มีน้ำก็ไม่เล่น แต่ตอนนี้ประเพณีสงกรานต์กลายเป็นภาพจำร่วมของคนส่วนใหญ่ว่า ขึ้นชื่อว่าประเทศไทยต้องเล่นสงกรานต์กันทุกที่ ทั้ง ๆ ที่บางพื้นที่อาจไม่เล่นสงกรานต์กันเลยก็ได้ แต่ประเด็นคือถ้าเขายังจัดงานเล่นสาดน้ำกันได้แสดงว่าเขายังมีน้ำใช้พอเพียง แค่เราต้องการบอกว่าแก่นของประเพณีสงกรานต์ไม่จำเป็นต้องสาดน้ำ”
สิ่งที่ทำได้คือการตั้งข้อสังเกตให้คนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างพอเหมาะพอสมในการเล่นสงกรานต์ รวมถึงบทบาทของสื่อมวลชนในการช่วยฉายภาพพื้นที่น้ำแล้งที่เกิดขึ้น ณ ปีนั้น ๆ เพื่อรณรงค์การเล่นสงกรานต์แบบประหยัดน้ำ
“อย่างไรก็ตาม ในแง่การจัดการพื้นที่ถือว่าดีขึ้นมากตรงที่มีการจัดโซนการละเล่นในเมือง ไม่ใช่สาดน้ำกันตรงไหนก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐตระหนักว่าต้องมีการบริหารจัดการ เพราะการจัดงานที่มีคนเข้าร่วมมากนั้นควบคุมยาก เช่น การประแป้งที่เลยเถิดเป็นการลวนลาม เพียงแต่ไม่ใช่เป็นการตระหนักเพื่อให้หยุดหรือไม่หยุดมีงานประเพณี เพราะในมุมมองของวัฒนธรรมต้องเป็นไปโดยการเห็นพ้องของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่การสั่งการโดยอำนาจรัฐหรือใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อต้องจัดก็ต้องจัดให้ปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ”
ส่วนคุณค่าหลักของประเพณีลอยกระทง ดร.ตรงใจ เล่าว่า ในทางตำนานแบ่งเป็น 2 สาย ได้แก่ สายพุทธหมายถึงการบูชาพระพุทธเจ้าจากรอยพระบาทที่ปรากฎบนฝั่งน้ำ และสายฮินดูหมายถึงการบูชาพระแม่คงคา เมื่อนำมาอธิบายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม แก่นของการลอยกระทงก็คือ “การเห็นคุณค่าของน้ำและขอบคุณน้ำ” เป็นการนำพาความเคารพไปสู่พระพุทธเจ้าตามหลักพุทธหรือทวยเทพตามหลักฮินดู เพราะในโลกของฮินดูปรากฎการณ์ทางธรรมชาติถูกแปลความให้เป็นเทพเพื่อให้จับต้องได้ในเชิงความคิดและการให้ความเคารพ ซึ่งพระแม่คงคาเป็นตัวแทนของน้ำอยู่แล้ว
การสื่อสารและการศึกษาเพื่อธำรงทั้งประเพณีและสิ่งแวดล้อม
ดร.ตรงใจ กล่าวว่า สื่อมวลชนสามารถย่อยเรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นความรู้ที่คนยุคปัจจุบันจับต้องได้ว่าน้ำคือรากเหง้าที่เป็นแก่นแท้ของประเพณีลอยกระทง เพื่อให้คนตระหนักในคุณค่าของน้ำโดยไม่จำเป็นต้องนำกระทงไปลอยในแม่น้ำก็ได้ หากคนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการลอยกระทงสร้างขยะและมลพิษทางน้ำ การลอยกระทงอาจถูกปรับเปลี่ยนไปในเชิงสัญลักษณ์หรือพิธีกรรมว่าเคยมีประเพณีแบบนี้เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์น้ำ
“โดยส่วนตัวผมเป็นคนไม่ลอยกระทง รู้สึกว่าสร้างมลภาวะ แต่มุมมองของผมต่อประเพณีเหล่านี้คือการตระหนักรู้ว่าน้ำสำคัญกับชีวิต ซึ่งง่ายต่อการทำความเข้าใจมากกว่าสงกรานต์ที่เป็นเหมือนมหกรรมของชาติ ภาพ “สงกรานต์” ที่ถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนทำให้ดูเหมือนมีงานรื่นเริงกันทั้งเมืองทั้งที่ยังมีคนอีกมากเลือกที่จะอยู่บ้านหรือกลับไปหาครอบครัว”
สื่อมวลชนสามารถนำเสนอปรากฏการณ์ความรื่นเริงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ควรให้มุมมองที่สมดุลในมิติอื่น ๆ อาทิ การให้ข้อมูลความรู้กับสังคมให้รู้ลึกถึงรากเหง้า เข้าใจถึงคุณค่าของทั้งสองวัฒนธรรม การตั้งประเด็นใหม่เพื่อเปลี่ยนความคิดและการกระทำ
เช่น การนำเสนอข่าวหรือรายงานข่าวเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในมิติของ “วันครอบครัว” การนำเสนอประเด็นปัญหาด้านมลภาวะ ปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขตชลประทานในพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ ผ่านความคิดเห็นของเกษตรกรที่รอฝนเพื่อให้สังคมโดยรวมเกิดการตระหนักกันเองว่า “สงกรานต์” ควร ลด เลิก หรือ เล่นกันแต่พอดี
นอกจากสื่อมวลชนแล้ว ดร.ตรงใจมองว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนที่ต้องปรับความเข้าใจในภาพรวมทั้งหมด เช่น นอกจากมองการลอยกระทงหรือสงกรานต์เป็นประเพณีที่ดีงามแล้ว ยังต้องตระหนักเรื่องคุณค่าของน้ำควบคู่ไปด้วย ผ่านการนำเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มาสู่การเรียนวัฒนธรรม เพื่อขยายมุมมองไปสู่ความเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและต่อยอดไปถึงความเข้าใจโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญปัญหามลภาวะ
รวมถึงการชี้ให้เห็นรากเหง้าดั้งเดิมของวัฒนธรรมซึ่งมาจากการเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและปรับโลกทัศน์ให้เหมาะสม เช่น เมื่อประเพณีลอยกระทงสอนให้รู้จักคุณค่าของน้ำก็ต้องใช้น้ำอย่างมีคุณค่า
สำหรับ “องค์กรเอกชน” ซึ่งมุ่งดำเนินแนวนโยบายการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ถือเป็นอีกหน่วยหนึ่งที่สามารถช่วยเสริมการปลูกจิตสำนึกให้กับสังคม
เช่น ประเพณีสงกรานต์ ถ้าจับไปที่แก่นของ “ครอบครัว” อาจทำแคมเปญเน้นการช่วยเหลือครอบครัวที่มีปัญหาโดยเชิญหน่วยงานด้านการพัฒนาสังคมหรือเชิญครอบครัวที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้วมาร่วมช่วยกันหาทางออก ส่วนประเพณีลอยกระทงซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาจทำแคมเปญขุดลอกคูคลอง บำบัดน้ำเสีย การให้องค์ความรู้ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การให้ทุนโครงการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเผยแพร่ภาคอุตสาหกรรมที่มีโครงการหรือเทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีให้เห็นเป็นแบบอย่าง
การรณรงค์ลดขยะผ่านแคมเปญการลอยกระทงเชิงสัญลักษณ์ การลอยกระทงออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันแทน หากอยากลอยกระทงจริงอาจร่วมกันหาแนวทางในการผลิตวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เลย เพราะถึงจะมีการรณรงค์ลดจำนวนกระทงในทุกปี แต่การผลิตกระทง 1 ใบ ประกอบด้วยวัสดุที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมหลายอย่างทั้งพลาสติก โฟม ขนมปัง เข็มหมุด ลวดเย็บกระดาษ ถึงต่อให้ทำจากวัสดุธรรมชาติ สุดท้ายก็ยังเป็นขยะอยู่ดี ซึ่งวัสดุเหล่านี้หากไม่ไช้ทำกระทง สามารถนำไปทำประโยชน์ด้านอื่นได้อีกมากมาย
“เรื่องนี้มองได้ 2 มุม คือ คนผลิตกระทงมีรายได้ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าสื่อนำเสนอภาพปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทุกปี ฉายภาพกระบวนการทำลายทิ้งที่ยากลำบาก จนคนส่วนใหญ่เห็นว่าสร้างปัญหาจริง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ไปลอยกระทงหรือไปเที่ยวแต่ไม่ลอยกระทง พอคนขาย ๆ ไม่ได้ก็จะลดและเลิกไปในที่สุด”
ดร.ตรงใจ กล่าวต่อไปว่า การจัดงานเทศกาลงานประกวดนางนพมาศ ประกวดกระทงยักษ์ สามารถดำเนินการให้เป็นกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ประเด็นคือไม่ต้องลอยน้ำจริง ลอยอย่างจำกัด หรือ ลอยเป็นสัญลักษณ์ก็ได้ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยยึดติดพิธีกรรม ต้องการประหยัด และต้องการแค่ความสนุกสนานรื่นเริง
“ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามบริบท สมัยผมยังเด็กทั้งสองประเพณีไม่ได้จัดใหญ่ขนาดนี้ แต่ตอนนี้ต้องแข่งกันจัดงานแข่งกันรายงานว่าใครจัดได้ใหญ่กว่ากัน จนทำให้คุณค่าทางวัฒนธรรมถูกกลบโดยคุณค่าทางทุนนิยม พอพูดถึงสงกรานต์คือสาดน้ำ พูดถึงลอยกระทงคือปล่อยกระทงลงน้ำ”
นอกจากนี้ ยังเป็นหน้าที่ของ “นักวิชาการ” ในการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนเพื่อส่งต่อความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผลให้สื่อนำไปย่อยเป็นข้อมูลที่เสพง่ายส่งต่อให้กับมวลชน
ในฐานะที่ทำงานด้านวัฒนธรรม ดร.ตรงใจ กล่าวว่า นักวิชาการทำได้แค่ให้ความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล แต่ไม่สามารถชี้ชัดว่าประเพณีนี้ควรมีอยู่ต่อไปหรือถูกยกเลิก เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การปรับเปลี่ยนยกเลิกต้องเป็นไปตามธรรมชาติ หมายความว่าเมื่อประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็จะค่อย ๆ ลด ละ เลิกไปโดยปริยาย
อีกทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวแปรสำคัญของการเกิดมลภาวะต่าง ๆ แนวทางแก้ไข คือ การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้คนส่วนใหญ่ในสังคมจนกว่าพวกเขาจะตระหนักได้ด้วยตัวเองเพราะประเด็นด้านวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจะถูกยกเลิกปรับเปลี่ยนหรือบรรเทาลงได้เพราะคนส่วนใหญ่มี “องค์ความรู้” นั่นเอง
สื่อทางเลือก
ประเพณี
สิ่งแวดล้อม
5 บันทึก
14
5
5
14
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย