Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wichai Purisa
•
ติดตาม
5 พ.ย. เวลา 11:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
The real reasons women are losing more sleep than men
สาเหตุที่แท้จริงที่ผู้หญิงนอนไม่หลับมากกว่าผู้ชาย
วัยหมดประจำเดือน การตั้งครรภ์ และฮอร์โมนล้วนส่งผลอย่างมากต่อการนอนหลับของผู้หญิง
ในการนอนหลับนั้น มีโอกาสที่คุณจะนอนหลับไม่เพียงพอ อาจเนื่องมาจากความเครียด คาเฟอีน หรือการเลื่อนดูหน้าจอในช่วงดึก ตามตัวเลขของประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่าผู้คน 1 ใน 3 นอนหลับไม่เพียงพอ
คนเหล่านี้ บางคนอาจจะเป็นโรคนอนไม่หลับ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอน เป็นโรคที่สามารถจะลดประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลในวันถัดไป เป็นเวลาสองถึงสามคืนทุกสัปดาห์ เป็นระยะเวลานานกว่าสามเดือน
ใครๆ ก็อาจนอนไม่หลับได้ แต่ผู้หญิงมักมีความเสี่ยงนอนไม่หลับมากกว่าผู้ชาย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงมีอัตราของการนอนไม่หลับมากถึง 58 เปอร์เซ็นต์
ทำไม ถึงแม้ว่าการทำวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับจะยุ่งยากซับซ้อน และสาเหตุที่ไปรบกวนการนอนหลับมีอยู่หลายปัจจัย แต่การขึ้นๆ ลงๆ ของฮอร์โมนตลอดช่วงอายุของผู้หญิงนั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อคุณภาพ และระยะเวลาการนอนหลับของผู้หญิง
ผู้หญิงที่มีรอบประจำเดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายชนิดตามวัฏจักรของรอบเดือน ในช่วงหลายวันก่อนที่จะมีประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนี้ จะแสดงให้เห็นจากอาการต่างๆ มากมาย ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ เรียกรวมกันว่า กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือชื่อย่อว่า พีเอ็มเอส PMS
ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ คือราว 80% มักประสบกับปัญหานี้ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20-40 ปี อาการที่สังเกตได้คือ การรู้สึกเหมือนว่าตัวเองป่วย ไม่สบายตัว มีอารมณ์หงุดหงิด เหวี่ยงวีนง่ายกว่าปกติ และมักเป็นในช่วงก่อนจะมีประจำเดือนประมาณ 5-11 วัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มดีขึ้น และหายได้เองหลังประจำเดือนมาแล้ว 4-7 วัน
หรือโรคผิดปกติก่อนมีประจำเดือน หรือ พีเอ็มดีดี PMDD เป็นอาการที่รุนแรงกว่ากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ผู้หญิงที่มีอาการ พีเอ็มดีดี มักจะรู้สึกโมโห ซึมเศร้ารุนแรงกว่าทั่วไป โดยผู้หญิงราว 2% จะมีอาการ พีเอ็มดีดี เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนี้ อาจทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างผสมผสานกัน เช่น นอนหลับยาก ตื่นบ่อย นอนหลับไม่สนิท และฝันร้าย
การนอนหลับไม่เพียงพอกับการตั้งครรภ์นั้นเป็นของคู่กัน จากรายงานพบว่าการนอนหลับยาก จะเริ่มตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ และจะแย่ลงไปตลอด ผลจากการวิจัยที่ติดตามรูปแบบการนอนหลับของสตรีในช่วงไตรมาสแรก แสดงให้เห็นว่า ตื่นบ่อยมากขึ้น และคุณภาพการนอนหลับแย่ลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนตั้งครรภ์
ในไตรมาสที่ 3 โดยปกติ จำนวนการตื่นในตอนกลางคืน จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ครั้งต่อคืน ในช่วงเวลานี้ ผู้หญิงจะพบกับความฝันที่รบกวนจิตใจมากขึ้น และคุณภาพและระยะเวลาการนอนหลับก็แย่ลงมาก ซึ่งสอดคล้องกับการวินิจฉัยทางคลินิกเรื่องการนอนไม่หลับ
สิ่งนี้นำไปสู่ผลกระทบที่สำคัญต่อการทำงานในเวลากลางวัน โดยในเวลากลางวันความตื่นตัวจะลดลง และมีความต้องการที่จะนอนหลับในตอนกลางวันเพิ่มขึ้น เนื่องจากการนอนหลับไม่ดีในระหว่างตั้งครรภ์ จึงทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของทั้งมารดาและทารกในครรภ์เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงสภาวะการอักเสบที่เพิ่มขึ้นในผู้หญิง และเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
หลังจากนั้น ผู้หญิงก็จะมีวัยหมดประจำเดือน ดังที่คุณคงทราบดีว่า การเปลี่ยนผ่านของฮอร์โมนครั้งยิ่งใหญ่นี้ เมื่อรังไข่ทำงานลดลง และในที่สุดประจำเดือนก็หมด จะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อร่างกายของผู้หญิง แม้ว่าจะไม่ได้พูดถึงมากนัก แต่ในการเปลี่ยนแปลงมากมายเหล่านี้ จะรวมถึงการรบกวนการนอนหลับด้วย รายงานในผลการวิจัยพบว่า การนอนไม่หลับในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบได้สูงถึงร้อยละ 60
ในกรณีนี้ การนอนหลับจะได้รับผลกระทบจากอาการต่างๆ ที่เกิดมาจากการเปลี่ยนของฮอร์โมน รายงานที่พบบ่อยที่สุดคือ เหงื่อออกตอนกลางคืน เนื่องจากศูนย์ควบคุมอุณหภูมิที่อยู่ในสมอง ได้รับผลกระทบจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ขึ้นๆ ลงๆ
อาการที่เกิดเป็นระยะๆ ตามระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ขึ้นๆ ลงๆ เหล่านี้ ได้ก่อกวนจิตใจผู้หญิงเป็นอย่างมาก เช่น เกิดความกลัวอย่างรุนแรง รวมถึงเหงื่อออกมากจนเปียกผ้าปูที่นอน จะนอนต่อก็ยาก และโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงจะประสบกับอาการเหล่านี้ เป็นเวลาอย่างน้อยสี่หรือห้าปีตลอดช่วงวัยหมดประจำเดือน
นอกจากนี้ อาการที่กล่าวมาเหล่านี้ ยังพบได้บ่อยตลอดช่วงระยะก่อนหมดประจำเดือน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากระดับฮอร์โมนที่ขึ้นๆ ลงๆ และระดับฮอร์โมนที่ลดลง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ในสมองของผู้หญิง มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่อย่างหนาแน่น และความหนาแน่นจะเปลี่ยนแปลงไป ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางด้านความจำและอารมณ์
นอกจากนี้ ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจของอาการวัยหมดประจำเดือน ยังนำไปสู่ความวิตกกังวล ซึ่งทำให้ผู้คนหลับได้ยากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่การตื่นตอนเช้าตรู่อีกด้วย ดังนั้น ในความเป็นจริง การขึ้นๆ ลงๆ ของฮอร์โมน โดยเฉพาะตลอดในช่วงระยะก่อนวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากระยะเวลาที่อาการแสดงออกมา อาการต่างๆ ที่แสดงออก และความรุนแรงของอาการที่แสดงออก ส่งผลให้คุณภาพและปริมาณการนอนหลับแย่ลงเป็นสองเท่า
แม้ว่าปัญหาการนอนหลับจะส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่ผู้หญิง ต้องเผชิญกับความท้าทายดังที่กล่าวมานี้ตลอดช่วงชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพการนอนหลับ และระยะเวลาของการนอนหลับ การตระหนักถึงปัญหาเฉพาะทางเพศเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับทั้งผู้หญิง และผู้ที่ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ในการที่จะพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปรับปรุงสุขภาพการนอนหลับ และสุขภาวะโดยรวม
ผู้เขียน : Michelle Griffin (obstetrician and gynaecologist)
แปลไทยโดย : Wichai Purisa (senior scientist)
อ้างอิง :
https://www.sciencefocus.com/the-human-body/gender-sleep-gap-women
ข่าวรอบโลก
การเงิน
ธุรกิจ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย