5 พ.ย. เวลา 14:25 • ประวัติศาสตร์

“เหล้า” “ร้านเหล้า” “ยาสูบ” “หมากพลู”

พิธีกรรม-การเข้าสังคม-การเมืองในสมัยอยุธยา
  • “เหล้า” เครื่องดื่มมึนเมาในสมัยอยุธยา
จากบันทึกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดย ลา ลูแบร์ หรือ แชร์แวส และพระสังฆราชแห่งเบริธ กล่าวเหมือนกันว่า “น้ำเปล่าธรรมดาเป็นเครื่องดื่มหลักตามปกติของคนอยุธยาสมัยนั้น” (มีน้ำมะพร้าวด้วยรองลงมา) “คนอยุธยาแต่เดิมไม่สู้ดื่มสุราเท่าใดนัก” (ในยามปกติ)
ลา ลูแบร์ กล่าวว่า “การบริโภคสุรา เป็นเรื่องน่าละอายในสังคม”
แชร์แวส กล่าวว่า “นักเลงสุราถือว่าเป็นความชั่ว ไม่ใช่คุณสมบัติของสาธุชน ต้องแอบกินอย่างซุกซ่อน”
คนจีนดื่มชา แขกมัวร์ดื่มกาแฟซึ่งนำมาจากอาหรับ ชาวโปรตุเกสดื่มโกโก้นำมาจากมะนิลา (อาณานิคมของสเปนสมัยนั้น)
จาก “จดหมายเหตุโจวต้ากวาน” คณะทูตจีนที่เดินทางมายังนครธม เมื่อ พ.ศ. 1839 กล่าวถึงวิธีหมักเหล้าโบราณตามแบบพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ไว้ และพูดถึงสุราพื้นเมือง 4 ชนิด ได้แก่
  • “สุราน้ำผึ้ง” ทำจากยาหมักเชื้อผสมน้ำผึ้ง ผสมน้ำครึ่งต่อครึ่ง
  • “เผิงหยาซื่อ” ไม่รู้คำเรียกแบบอยุธยา เป็นสุราสกัดได้จากใบไม้ชนิดหนึ่ง
  • “เปาหลิงโก๊ะ” เป็นสุราทำจากข้าวสารหรือข้าวสุกที่เหลือจากการกินปกติ
  • “สุราน้ำตาล” ทำจากน้ำตาล
ส่วนเหล้าที่นิยมในอยุธยาสมัยนั้น ได้แก่
  • “เหล้ากระแช่” หรือที่เรียกว่า “น้ำตาลเมา” ทำจากน้ำตาลสด (มะพร้าวหรือตาลโตนด) ตรงกับสุราพื้นเมืองประเภท 4 ที่ระบุในจดหมายเหตุของโจวต้ากวานด้านบน เหล้าชนิดนี้ขึ้นชื่อว่ารสแรง เมาง่าย
  • “อุ” เป็นเหล้าชนิดเก่าแก่หมักโดยใช้ ข้าวเหนียวกล้อง
  • “สาโท” และน้ำขาว จากข้าว เหล้าชนิดนี้เป็นต้นแบบของ “สาเก” ในญี่ปุ่นอีกด้วย จากการเข้ามาติดต่อของคนญี่ปุ่นในสมัยอยุธยา แล้วนำกลับไปดัดแปลงหมักเองที่ญี่ปุ่น
  • “เหล้าองุ่น” หรือ “ไวน์” นั่นเอง เนื่องจากมีหลักฐานการขุดค้นพบทางโบราณคดีที่บ้านฮอลันดาแล้วพบขวดแก้วใส่ไวน์ สอดคล้องกับที่ ลา ลูแบร์ เล่าว่า อังกฤษกับฮอลันดานำเอา “เหล้าองุ่น” เข้ามาจากยุโรปและเมืองซีราซในเปอร์เซีย
การขุดค้นพบทางโบราณคดีที่บ้านฮอลันดา จ.อยุธยา พบขวดแก้วใส่ไวน์ ที่มารูปภาพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) db.sac.or.th
บันทึกของ ลา ลูแบร์ มีระบุถึงเมรัยหรือสุราอีก 2 ชนิด ที่คนอยุธยาดื่มกัน ไว้ว่า
“…ชาวสยามดื่มเมรัยอีก 2 ชนิด เรียกกันว่า ตารี (Tari) กับ เนรี (Neri) ทำจากต้นไม้ 2 ชนิดเรียกว่า ปาลมิสต์ (Palmiste) อันเป็นนามเรียกต้นไม้ทุกชนิดบรรดาที่มีใบใหญ่เหมือนต้นปาล์ม วิธีทำเครื่องดื่มชนิดนี้ก็คือในตอนเย็นๆก็เอามีดไปปาดกาบต้นไม้ที่คอต้นใกล้ยอด แล้วเอาขวดผูกรองไว้คะเนให้ปากขวดชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลางทีก็เอาดินเหนียวล้อมยาไว้เพื่อมิให้อากาศเข้า รุ่งเช้าขวดนั้นก็เต็ม ขวดที่ว่านี้ตามธรรมชาติก็ใช้กระบอกไม้ไผ่ลำเขื่องๆ ปล้องนั้นคือก้นกระบอก
เครื่องดื่มทั้งสองชนิดนี้อาจทำในเวลากลางวันก็ได้เหมือนกัน แต่ว่ากันว่ามันมีรสเปรี้ยว และใช้กันเป็นน้ำส้มสายชู ตารีนั้นทำจากต้นมะพร้าวป่าพันธุ์หนึ่ง ส่วนเนรีนั้นทำจากต้นหมากชนิดหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงในโอกาสข้างหน้า”
  • “ร้านเหล้า” ในสมัยอยุธยา
ชุมชนชาวยุโรปในอยุธยาโดยเฉพาะบ้านโปรตุเกสและบ้านฮอลันดา มีความน่าจะเป็นไปได้ว่าคือสถานที่สำหรับดื่มกินของชาวต่างชาติในสมัยนั้น แต่กลับถูกเรียกว่า “สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า” เพราะเจ้าของบาร์ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสเป็นคนใจบุญรับเลี้ยงเด็กลูกครึ่งกำพร้าที่พ่อให้กำเนิดกับแม่ซึ่งเป็นหญิงพื้นเมือง ไม่สามารถนำร่วมออกนอกราชอาณาจักรได้นั่นเอง มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นเรื่องฝ่าฝืนกฎหมาย มีความผิดร้ายแรงและไม่สามารถกลับเข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาได้อีก
นอกจากร้านเหล้าของชาวต่างชาติในอยุธยาแล้ว สำหรับคนพื้นเมืองและชาวอยุธยาทั่วไปก็จะนิยมไปซื้อตามร้านเหล้า ซึ่งเปิดเป็นอาคารและคนขายเป็นชาวจีน เห็นได้จากหลักฐานที่เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดอ่างแก้ว เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ที่มา: ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์
  • “เหล้า” พิธีกรรมความเชื่อ หรือ การเข้าสังคม
เมื่อมีเทศกาลงานบุญประเพณีหรืองานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ก็จะมีการดื่มเหล้าควบคู่กับเนื้อสัตว์ต่างๆ ถือว่าเป็นการกินในโอกาสพิเศษ งานศึกษาของ Anthony Reid อธิบายว่า เหล้าในเอเชียอาคเนย์มีคุณสมบัติพิเศษทางวัฒนธรรมความเชื่อ เพราะเดิมมีความเชื่อในหมู่ชาวพื้นเมืองว่า “เหล้ากับเนื้อสัตว์เป็นของคู่กัน” ในงานเลี้ยงฉลอง สัตว์เลี้ยงจะถูกฆ่ากินเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยแก่ผีแก่เทพ เมื่อผีเมื่อเทพกินเสร็จ คนก็กินต่อ
เหล้ามีความหมายในงานพิธีกรรม เพราะทำให้ตกอยู่ใน “ภวังค์” มีความเชื่อมาแต่เดิมว่าเหล้าเป็นสื่อนำวิญญาณของ “ร่างทรง” ผู้เชื่อว่าสามารถติดต่อกับผีได้ การเมามายเป็นหนทางให้คนได้ติดต่อกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือภูตวิญญาณ พุทธศาสนาก็ห้ามเรื่องเหล้า ระบุอยู่ในศีล 5 ชัดเจน แต่เหล้าไม่เคยหายไปจากสังคม เพราะงานบุญประเพณีแบบพุทธ-ผี ยังจำเป็นต้องมีเหล้าในการเฉลิมฉลอง
เหล้าใช้เป็นเครื่องมือในงานเข้าสังคมหรืองานเลี้ยงรื่นเริง ผู้คนในสมัยนั้นจึงนิยมดื่มกินร่วมกันเป็นหมู่คณะมากกว่าดื่มคนเดียวโดดเดี่ยวเดียวดายอย่างที่พบในยุโรป
จิตรกรรมฝาผนัง หนุ่มอยุธยาดื่มเหล้าสังสรรค์ ภายในอุโบสถวัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี ที่มา: silpa-mag.com
  • “เหล้า” กับแวดวงสังคมชนชั้นสูง
ในยุคเริ่มแรกของสังคมชนชั้นสูงอยุธยา “ของมึนเมา” มีความอ่อนไหวต่อสถานภาพความเป็นสมมติเทพมากเป็นพิเศษ โดยปกติแล้วกษัตริย์และชนชั้นสูงอยุธยามีธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะต้องหลีกเลี่ยงการแตะต้อง “ของมึนเมา” ในที่สาธารณะ เพราะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในฐานะสมมติเทพ
ต่อมาเมื่อมีคนต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายในอยุธยามากขึ้น ช่วงคริสต์ศตวรรษ 17-18 สมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยนี้เหล้าเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของอยุธยา ด้วยเหตุผลที่ว่าสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน (ตามคตินิยมของต่างชาติ)
จากบันทึกของพ่อค้าฮอลันดาอย่าง ฟาน ฟลีต ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่าทรงเป็นนักดื่ม พระองค์โปรดปรานเหล้าแปลกๆ ใหม่ๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พระราชทานเลี้ยงขุนนางและแขกคนสำคัญในบางโอกาส ทรงสร้างไมตรีกับโชกุนญี่ปุ่น ด้วยการส่งข้าวพันธุ์ดีไปให้หมักเหล้าสาเก
เครดิตภาพ: ศิลปวัฒนธรรม
ความหมกหมุ่นในสุราของมึนเมา ยิ่งหากควบคู่กับความประพฤติในเรื่องนารีด้วยแล้ว ยิ่งบั่นทอนความเป็นสมมติเทพลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมวัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย และการตกอยู่ในอำนาจของสิ่งมึนเมา นำมาใช้เป็นข้ออ้างถึงความไม่เหมาะสมของกษัตริย์เพื่อความชอบธรรมในการเปลี่ยนแผ่นดินอีกด้วย ตัวอย่างเช่น
  • “การปฏิวัติ 1688” ชื่อเรียกของบันทึกชาวต่างชาติ หรือเหตุการณ์การผลัดเปลี่ยนกษัตริย์จากราชวงศ์ปราสาททองมาเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกรณีข้อครหาเรื่องความทารุณและกดขี่ในการจัดเตรียมงานต้อนรับชาวต่างชาติในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยมีประเด็นเกี่ยวกับ “ของมึนเมา” ถูกนำมาเชื่อมโยงกับการเมืองภายในราชสำนัก
  • การชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่มีการกล่าวโจมตีกษัตริย์อยุธยาตอนปลายหลายพระองค์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับชนชั้นนำ เช่น สมเด็จพระเจ้าเสือได้ถูกตำหนิอย่างมากเรื่องสุราและนารี กับความประพฤติต่างๆที่ไม่เหมาะสม หรือการตกอยู่ในอำนาจของสุราและนารีในกรณีสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นเหตุให้เสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310
ในสมัยอยุธยานอกจากเหล้าที่ใช้เป็นเครื่องรับรองและเลี้ยงฉลองแล้ว ยังพบว่าชาวอยุธยานิยมใช้หมากพลูหรือยาสูบเป็นเครื่องผูกมิตรอีกด้วย
  • หมากพลูกับการเข้าสังคม
ชาวอยุธยามีธรรมเนียมคือ การให้ชานหมากที่เป็นพืชจากอินเดีย (ตอนนั้นที่จีนและญี่ปุ่นก็มีกินหมาก)
ถ้าคนคุยด้วยเป็นแขก (ไม่ใช่เชื้อชาติแขก แต่ความหมายคือ Visitor) เจ้าบ้านก็จะแสดงไมตรีจิต โดยการป้ายหมากม้วนพลูยื่นให้แก่แขก หากแขกไม่รับ จะถือว่าไม่มีมารยาทไม่ให้เกียรติเจ้าบ้าน และการพูดคุยก็จะไม่เกิดขึ้นหรือเป็นไปได้โดยไม่ราบรื่น
ดังนั้นชาวอยุธยาเลยต้องฝึกเชี่ยนหมากทำฟันให้ดำตั้งแต่เล็ก ถือเป็นการสอนเข้าสังคมรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ค่านิยมการมีฟันสีดำทั้งชายหญิง ก็เพื่อสะดวกแก่การกินหมากและบ้วนน้ำหมาก ยังใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งหากฟันเป็นสีขาวจะดูสกปรกมาก เพราะน้ำหมากเป็นสีแดง เมื่อบ้วนน้ำหมากทิ้งจะทำให้ริมฝีปากติดสีแดงชัด
  • หมากพลูกับมิตรภาพทางการเมือง
แม้แต่ในหมู่กษัตริย์ของเอเชียอาคเนย์ด้วย ครั้งตอนเสียกรุงฯครั้งที่ 1 ตอนที่สมเด็จพระมหินทราธิราชไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนอง หลังจากกองทัพหงสาวดีได้ชัยชนะเข้ามายึดครองอยุธยาได้แล้ว พระเจ้าบุเรงนองแสดงความยินดีและความเป็นกันเองด้วยการพระราชทานพระศรี (หมาก) ให้แก่สมเด็จพระมหินทราธิราช
ฉากตอนหนึ่งที่พระเจ้าบุเรงนองยื่นพระศรี (หมาก) ให้สมเด็จพระมหินทราธิราช หลังเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เครดิต: ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1
โดยพระเจ้าบุเรงนองได้หยิบพระศรีในพานยื่นให้ สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงรับไว้ครู่หนึ่งแล้วจึงเสวย แล้วพระเจ้าบุเรงนองจึงหยิบเอาที่บ้วนพระโอษฐ์ยื่นให้ แต่สมเด็จพระมหินทราธิราชก็มิได้บ้วน แล้วทั้ง 2 พระองค์จึงเจรจาความการบ้านการเมืองกันต่อไป
เหตุการณ์นี้ในพระราชพงศาวดารสะท้อนให้เห็นการขัดขืนไม่เต็มพระทัยที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ของสมเด็จพระมหินทราธิราช แต่เมื่อตกอยู่ในสถานะเชลยศึกแล้ว พระองค์ก็จึงต้องยอมรับความจริง
  • หมากพลูเป็นยาชูกำลัง
ในหมู่ไพร่ทาสผู้ใช้แรงงานยังมีความเชื่อว่าพลูสามารถกระตุ้นความขยันในการทำงานได้ คงเป็นความเชื่อของเจ้านายด้วย จึงอนุญาตให้ไพร่ทาสในสังกัดของตนได้กินพลูในระหว่างพักการทำงาน โดยงานเขียนของตุรแปงได้มีระบุไว้ว่า
“ดูเหมือนคนชาวสยามจะอดพลูได้ยากกว่าอดข้าวเสียอีก พลูมีสรรพคุณเช่นเดียวกับยาสูบในทวีปยุโรป กระตุ้นให้เกิดน้ำลาย ป้องกันความเจ็บป่วย ซึ่งธรรมดามักเกิดในประเทศร้อนจัด ทุกวันพวกทาสมีพลูจำนวนหนึ่งสำหรับกินกระตุ้นความขยันและเพื่อไม่ให้อยากขโมยพลู เพราะถ้าอยากขึ้นมาแล้ว เขาจะต้องพยายามหามากินให้ได้โดยทุกวิถีทาง”
  • หมากพลู คนอยุธยาใช้จีบกัน
หนุ่มสาวชาวอยุธยาจีบกัน ก็บอกความในใจโดยการให้หมากพลูกัน ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือ กรณีท้าวศรีสุดาจันทร์ให้หมากพลูแก่ขุนวรวงศาธิราช (ตอนนั้นเป็นพันบุตรศรีเทพ พราหมณ์ขับเสภา)
ตามบันทึกของตุรแปงเชื่อว่า หมากพลูมีคุณสมบัติทำให้ลมหายใจสดชื่น ผ่อนคลาย ช่วยเรื่องความสุขทางจมูก อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าหมากพลูช่วยดับความร้อนก่อนมีเพศสัมพันธ์
ฉากตอนหนึ่งที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้บ่าวรับใช้ยื่นมอบห่อหมากพลูแก่พันบุตรศรีเทพ เครดิต: ภาพยนตร์สุริโยไท
  • หมากพลูกับประเพณีในวัง
มีประเพณีที่กษัตริย์พระราชทานหีบทองแก่ขุนนางไว้ใส่พลู โดยห้ามมิให้ขุนนางที่ได้รับหีบทองนี้มีหีบใส่พลูอย่างอื่นที่เหมือนกับของพระราชทานนี้ เมื่อขุนนางคนนั้นถึงแก่กรรม หีบดังกล่าวจะต้องถูกส่งกลับคืนไปถวายกษัตริย์ พร้อมกับของพระราชทานอย่างอื่น
เมื่อชาติตะวันตกเดินทางเข้ามาในอยุธยา ยาสูบก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชานหมาก เห็นได้จากงานเขียนของตุรแปง หรือเมื่อชาวเปอร์เซียเข้ามา กุหลาบก็ถูกนำมาใช้ควบคู่กับใบพลูในหมู่คนหนุ่มสาวชาวอยุธยาด้วย
  • ยาสูบสมัยอยุธยา ยิ่งฉุน ยิ่งดี
งานเขียนของตุรแปงมีปรากฏความว่า
“ชาติที่เกียจคร้านชอบสูบยาจนติดเป็นนิสัย การสูบยาเช่นนี้ ทำให้เขามึนเมา แล้วความมึนเมาก็ช่วยให้เขาลืมความไร้ประโยชน์ของเขา หญิงชาวสยามก็ชอบสูบยาเหมือนกับผู้ชาย และยายิ่งฉุน เขาก็เห็นว่ายิ่งสูบอร่อย”
1
ในสังคมอยุธยา ความนิยมในยาสูบมีทั้งในชายและหญิงเท่าๆ กัน เหมือนกับกรณีของหมากพลู ไม่ได้ถูกใช้เป็นของแสดงถึงความเป็นชาย แต่ใช้เป็นเครื่องแสดงความเป็นผู้ใหญ่
ยังมียาสูบอีกประเภทที่เรียกว่า “มอระกู่” หรือ “บาระกู่” แต่ไม่ได้เป็นที่นิยมในการเสพมาก และไม่ถูกนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการต้อนรับของชาวอยุธยา อาจเป็นเพราะว่า มอระกู่เป็นยาสูบที่มีอุปกรณ์ของตัวเอง ไม่สามารถจัดวางอยู่ในสำรับหรือชานหมากได้นั่นเอง
  • เชิงอรรถ:
ประวัติศาสตร์การบริโภคสุราในประเทศไทย โดย พระไพศาลวิสาโล ด้วยการริเริ่มให้มีการศึกษา ของ คณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2538
กำพล จำปาพันธ์, มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex (กรุงเทพฯ : มติชน, 2563) หน้า 210-211
โจวต้ากวาน, บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ, แปลโดย เฉลิมยง บุญเกิด (กรุงเทพฯ : มติชน, 2557) หน้า 76-77
เดอ ลา ลูแบร์, จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, หน้า 80-81
แอนโทนี รีด, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า พ.ศ. 1450-1680 เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม, แปลโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ และคณะ (เชียงใหม่: ชิลด์วอร์มบุ๊คส์, 2548) หน้า 41
เรื่องเดียวกัน หน้า 42
Michael Smithies, ed., History of Siam in 1688 (Chiangmai: Silkworm Books, 2003): George Sioris, Phaulkon: The Greek First Counsellor at the Court of Siam (Bangkok: The Siam Society, 1998), pp. 93-105
กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2507), หน้า 118-119
ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย ปอล ซาเวียร์, หน้า 78, 136-137
กรมศิลปากร, “จุลยุทธการวงศ์ ความเรียง (ตอนต้น) ปริเฉทที่ 1-2” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, หน้า 64-65
<ภาพปก: (บน-ล่าง) ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดหนองโนเหนือ อ.เมือง จ.สระบุรี ที่มา: ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์>
โฆษณา