Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SEC Thailand
•
ติดตาม
6 พ.ย. เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนสำหรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและเพิ่มการคุ้มครองผู้ลงทุน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สอดคล้องกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567
ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา
ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินผู้ลงทุน และเสริมสร้างความมั่นใจต่อคุณภาพและความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจในการประกอบธุรกิจ โดยมีเงินทุนเพียงพอรองรับการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและไม่เป็นภาระในการประกอบธุรกิจ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) ปรับปรุงเพิ่มทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว (paid-up capital) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้า
(2) ปรับปรุงเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน (net capital: NC) ได้แก่
เงินกองทุนขั้นต่ำคงที่ โดยกำหนดมูลค่าที่ต้องดำรงขั้นต่ำคงที่เท่ากับ 25 ล้านบาท กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้า และ 5 ล้านบาท กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่เก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้า
เงินกองทุนจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยกำหนดอัตรา NC ส่วนที่รองรับการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลใน hot wallet ให้แปรผันตามสัดส่วนการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า และปรับปรุงอัตรา NC ส่วนที่รองรับการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลใน cold wallet ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เก็บสินทรัพย์ดิจิทัลไว้กับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย จึงกำหนดอัตรา NC ต่ำกว่ากรณีที่ฝากกับผู้ให้บริการรับฝากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังกำหนดการดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading service risk) และเงินกองทุนส่วนที่รองรับการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไว้ใน hot wallet ในแต่ละกระเป๋าเกิน adjusted NC เพิ่มเติม
(3) ปรับปรุงเกณฑ์สัดส่วนการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า กรณีผู้ประกอบธุรกิจมีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้ารวมน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ให้เก็บรักษาใน hot wallet ได้ไม่เกินร้อยละ 50
(4) ปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการกรณีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (minimum requirement) เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะ คุ้มครองลูกค้า หรือป้องกันความเสี่ยงในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
(5) ปรับปรุงหลักเกณฑ์อื่น ๆ และแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การดำรงเงินกองทุนทางเลือกด้วยกรมธรรม์ประกันภัยหรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นชนิดเดียวกันกับของลูกค้า (same coin) การกำหนดรายละเอียดเพื่อเพิ่มความชัดเจนการใช้กรมธรรม์ประกันภัย การปรับปรุงระดับเตือนภัย (early warning) ของผู้ประกอบธุรกิจ และการปรับปรุงการจัดทำและจัดส่งแบบรายงานเงินกองทุน
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
เช่น ปรับปรุงเงินกองทุนขั้นต่ำที่ต้องดำรง ให้สอดคล้องกับสัดส่วนและแหล่งการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า และให้สะท้อนความเสี่ยงจากการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ปรับปรุงระดับ early warning และปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งการจัดทำรายงานเงินกองทุนให้สอดคล้องกับกรณีผู้ประกอบธุรกิจเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล* ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
ข่าว
การลงทุน
สินทรัพย์ดิจิทัล
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย