6 พ.ย. เวลา 03:16 • ข่าวรอบโลก

เสริมพลังศักยภาพการแข่งขันด้วย PCA กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-อียู

หากพูดถึง “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” เราอาจจะนึกถึงการรวมกลุ่มระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด เป็นหนึ่งในสามของศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก มีการเดินทางระหว่างกันด้วยวีซ่าเชงเกน มีการใช้เงินยูโร มีสถาบันการศึกษาและแหล่งวิทยาการที่ทันสมัย แต่ในแง่ความสัมพันธ์กับไทยอาจจะมีคนพูดถึงไม่มากนัก เพราะแท้จริงแล้ว ไทยกับอียูมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นเวลา 62 ปี อียูถือว่ามีความสำคัญทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไทยไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในโลกเลยทีเดียว
ในด้านเศรษฐกิจนั้น อียูเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งอียูยังเป็นนักลงทุนอันดับที่ 6 ของไทย
ดังนั้น การที่ไทยร่วมมือกับอียูผ่านการจัดทำ “กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน” (Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “PCA” จะช่วยสร้างและต่อยอดโอกาสให้กับภาคธุรกิจและประชาชนไทยได้อย่างมหาศาลในอนาคต เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย - อียูในทุกๆ มิติ และช่วยสนับสนุนการเจรจา “ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - อียู” อีกด้วย
นับตั้งแต่ปี 2547 ไทยและอียู ได้เจรจากรอบความตกลง PCA กันมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ การที่รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบความตกลงฯ นับเป็นหมุดหมายสำคัญของความสัมพันธ์ไทย - อียู ในการก้าวสู่ความสัมพันธ์ยุคใหม่ที่ได้รับการยกระดับและมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรฐานและการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ไปอีกระดับ
การร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-อียู (Thai-EU Senior Officials’ Meeting) ครั้งที่ 17 (ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ)
“กรอบความตกลง PCA” จะเป็นประโยชน์ในด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ให้กับประเทศและประชาชนไทย เนื่องจากเป็นความตกลงที่ไทยสามารถยกระดับความร่วมมือและความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรปคราวเดียวกันถึง 27 ประเทศ
กรอบความตกลง PCA ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างดุลยภาพของไทยในภูมิรัฐศาสตร์โลก ช่วยเพิ่มโอกาสในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุน และกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และสร้างแบบแผนระยะยาวบนหลักการที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐและนิติธรรม เศรษฐกิจที่เปิดเสรี การพัฒนาที่ยั่งยืน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ กรอบความตกลง PCA ยังเป็นกลไกสำคัญให้ไทยสามารถพูดคุยเจรจากับฝ่ายอียูได้บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เพิ่มโอกาสในการผลักดันสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเจรจา FTA ไทย - อียู ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทำการค้าขายที่สะดวกและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น จึงนับว่า ความตกลง PCA ไม่ได้เป็นเพียงหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แต่เป็นโอกาสเชิงกลยุทธ์และเป็นการลงทุนในอนาคตของประเทศไทยด้วย
1
กระทรวงการต่างประเทศร่วมจัดกิจกรรมเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “ก้าวสู่สัมพันธ์ไทย-EU ยุคใหม่: ไทยจะได้อะไรภายใต้ PCA” (ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ)
แล้วไทยจะสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านใดบ้าง?
“ด้านการเมืองระหว่างประเทศ”
การมีความตกลง PCA เป็นการประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าไทยพร้อมกลับเข้ามาอยู่ในจอเรดาร์ของโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะจอเรดาร์ของประเทศสมาชิกอียู ด้วยการตั้งมั่นยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนตามที่ความตกลง PCA ได้ระบุไว้
พัฒนาการในระยะที่ผ่านมาของไทยถือเป็นข้อพิสูจน์ให้นานาประเทศได้เห็นแล้วว่า ไทยมีความก้าวหน้าและมีบทบาทที่แข็งขันในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” หรือ “Human Rights Council” วาระปี ค.ศ. 2025-2027 ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้เมื่อเสริมเข้ากับความตกลง PCA แล้วจะช่วยปูทางให้ไทยกลับมามีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ อียูยังได้เสนอความช่วยเหลือด้านเทคนิคให้แก่ฝ่ายไทยในการเตรียมความพร้อมสมัครเป็นสมาชิก “OECD” ของไทย ซึ่งสะท้อนว่า อียูพร้อมเป็นหุ้นส่วนในการยกระดับการพัฒนาและมาตรฐานขั้นสูงของไทยให้ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ในโลก
ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 (ที่มา X: @UN_HRC)
“ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ”
ความตกลง PCA จะช่วยเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานภาครัฐของไทย โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงให้สามารถรับมือกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซนเตอร์ อาชญากรรมไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ การทุจริตคอร์รัปชั่น การฟอกเงิน การก่อการร้าย และยาเสพติด ผ่านแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือในหลายสาขา เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance) และความมั่นคงทางทะเลของไทย
“ด้านทุนมนุษย์”
อียูมีโครงการและงบประมาณที่จะช่วยยกระดับทักษะของบุคลากรในด้านต่างๆ และความตกลง PCA ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ไทยสามารถขยายและเข้าถึงโครงการและงบประมาณเหล่านี้ได้มากขึ้น ทั้งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสามารถเข้าถึง sharing research infrastructure ของอียู เช่น โครงการ Southeast Asia-Europe Joint Funding Scheme for Research and Innovation (JFS) ความร่วมมือกับ European Research Council ด้านการแลกเปลี่ยนฝึกฝนนักวิจัย และ Horizon Europe ทุนวิจัยใหญ่ของยุโรป
รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งเงินสนับสนุนและทุนการศึกษาของอียู เช่น โครงการ Global Gateway ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความเชื่อมโยงในระดับโลกที่ยั่งยืนและปลอดภัย ที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาและการวิจัย และโครงการ Erasmus Mundus หรือ ERASMUS plus ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในกลุ่มเยาวชนไทย เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในกลุ่มประเทศยุโรป เป็นการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของเยาวชนไทย
“ด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม”
อียูมีความเอาจริงเอาจังในการผลักดันให้คู่ค้ามีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ทัดเทียมกับตนเอง ในบางครั้งจึงหมายถึงต้นทุนที่แต่ละประเทศคู่ค้าของอียูต้องแบกรับมากขึ้น
ดังนั้น การที่ไทยมีกรอบความตกลง PCA กับอียูจะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียวร่วมกับอียูได้ดียิ่งขึ้น ผ่านเวทีในการหารือเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการตามกฎหมายและมาตรการของอียู โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) และกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (European Union Deforestation-free Products Regulation: EUDR) ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย
นอกจากนี้ ไทยและอียูสามารถมีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานรูปแบบใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยี Carbon Capture โดยจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายใน ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ภายใน ค.ศ. 2065 ซึ่งเป็นทั้งเป้าหมายระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับประชาคมโลกด้วย
รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม ASEAN Circular Economy Forum 2024 (ที่มา Delegation of the European Union to Thailand)
“ด้านการค้าและการลงทุน”
ความตกลง PCA จะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมและมาตรฐานด้านการค้าของไทยให้มีคุณภาพมากขึ้นและให้เทียบเท่าระดับสากล โดยเฉพาะในเรื่องการค้าดิจิทัล การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทย - อียู
ปัจจัยที่กล่าวมาจะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จในการเจรจา FTA ไทย - อียูในอนาคต ซึ่งมาตรฐานทางการค้าที่สูงขึ้นนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับไทยและช่วยรองรับการเจรจา FTA ไทย - อียู รอบที่ 4 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน อียูเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ผลการศึกษาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพบว่า FTA ฉบับนี้จะช่วยทำให้ GDP ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.28 ต่อปี และการส่งออกของไทยขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ต่อปี รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสและกระจายความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนให้กับไทยท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์
ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับสมาชิกอียูอีก 27 ประเทศ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในเรื่องการลดภาษี เนื่องจากไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากอียูตั้งแต่ปี 2558
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศพบเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ติดตามความคืบหน้า FTA ไทย-อียู (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
ก้าวต่อไปของไทย?
หากโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย ณ ตอนนี้คือการทำให้ไทยกลับมาปรากฏบนจอเรดาร์ของโลกอีกครั้ง การมีกรอบความตกลง PCA จะเป็นใบเบิกทางให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชน ทุกภาคส่วนของไทยจะได้รับการยกระดับให้มีความชำนาญและความโดดเด่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิใจ
ก้าวต่อไปของไทยต่อจากนี้ จึงเป็นการจับมือเดินร่วมกับอียูไปตามเส้นทางที่ได้วางเอาไว้ร่วมกัน พร้อมกับการยืนหยัดรักษาผลประโยชน์ของไทยโดยใช้กรอบความตกลง PCA เครื่องมือเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ
โฆษณา