6 พ.ย. 2024 เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรท.มั่นใจฝ่ามรสุมดันส่งออกทั้งปี 67 โตมากกว่า 2%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ เผย 9 เดือนปี 67 “ส่งออก-นำเข้า” ยังขยายตัวต่อเนื่อง มั่นใจส่งออกทั้งปีโตมากกว่า 2% จับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ เชื่อไทยได้อานิสงส์
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ย. 67 ว่า ส่งออกมีมูลค่า 25,983 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.1% คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 889,074 ล้านบาท หดตัว 0.8% นำเข้ามีมูลค่า 25,589 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.9% คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 886,336 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยเกินดุล 394.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,738 ล้านบาท
ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท.
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย 9 เดือนปี 67
ส่งออกมีมูลค่า 223,176 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.9% คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 7,957,895 ล้านบาท ขยายตัว 8.6% นำเข้ามีมูลค่า 229,132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.5% คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 8,264,589 ล้านบาท ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยช่วง 9 เดือนขาดดุล 5,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 306,694 ล้านบาท
ส่วนความเห็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มองว่าสงครามการค้าของทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ช่วง 7 ปีที่ผ่านมาไทยได้รับอานิสงส์ชัดเจนจากยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะไทยวางตัวเป็นกลางและรักษาสมดุลด้านการผลิตไม่ให้สูงเกินไป
ต้องจับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เพราะมีความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะความร่วมมือการค้า รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงผันผวนแม้อ่อนค่าลงเล็กน้อย ผู้ส่งออกไทยควรเร่งปรับตัวเพื่อตั้งรับกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้น.....ดร.ชัยชาญ กล่าว
ทั้งนี้ สรท.คาดการณ์ส่งออกทั้งปี 67 โตไม่ต่ำกว่า 2% โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ : การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า มาตรการกำแพง และของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ การค้า ไม่เฉพาะจีนเท่านั้น รวมไปถึงสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ
ดัชนีภาคการผลิต : ยังชะลอตัวในตลาดสำคัญ
ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนภาคการผลิต : ค่าเงินบาทที่ยังผันผวนแม้อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งล่าสุด, เฟดมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลงอีก, ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลเริ่มผ่อนคลายและปรับลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังหลายสัญญาณที่อาจเกิดขึ้นช่วงปลายปีอีกครั้ง และราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่องแต่จากความยืดเยื้อของสงครามในตะวันออกกลางที่ครุกกรุ่นเป็นระยะ ส่งผลให้ทิศทางราคายังผันผวน
มาตรการทางการค้าที่ต้องเฝ้าระวัง : การยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดียกระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย และ EUDR เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นปี 69 กระทบราคาและการส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา
ข้อเสนอแนะของ สรท.
  • เฝ้าระวังค่าระวางการขนส่งสินค้าทางทะเล
  • เฝ้าระวังความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน เตรียมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง และรักษาเสถียรภาพการเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป
  • เร่งรัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในกลุ่มประเทศศักยภาพ รวมถึงการเจรจาการค้าเสรี และการทำข้อตกลงเพื่อความร่วมมือทางการค้า
ช่วง 9 เดือนยอดส่งออกไทยโตเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ไตรมาส 4 หากค่าเงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 35-38 บาทต่อดอลลาร์ เชื่อว่าส่งออกทั้งปี 67 จะยังโตถึง 2% มูลค่าเงินบาทรวมน่าจะถึง 10 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ผันผวน จึงอยากให้ ธปท.กำกับดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม .....ดร.ชัยชาญ กล่าว
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/236013
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา