6 พ.ย. เวลา 06:45 • ประวัติศาสตร์

‘พม่าเสียเมือง’ มองเพื่อนบ้านหลังอาณานิคม จากทัศนะ ‘มิกกี้ ฮาร์ท’ คนพม่าในประเทศไทย

บทความโดย ตรีโรจน์ ไพบูลย์พงษ์
เรียบเรียงเมื่อ 4 ก.พ. 2559
คุณมิกกี้ ฮาร์ท
เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ ‘พม่าเสียเมือง’ : เมืองพม่าหลังถูกยึดครองในยุคอาณานิคม โดยได้รับเกียรติจากคุณ ‘มิกกี้ ฮาร์ท’ ชาวพม่าผู้อาศัยอยู่ในเมืองไทย ซึ่งสนใจและได้เขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์ ไทย-พม่า ตั้งแต่สมัยเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๑ จนถึงพม่าเสียเมืองให้กับอังกฤษผ่านหนังสือวารสารมิวเซียมสยาม ‘โยเดียกับ
ราชวงศ์พม่า: เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้’มาเป็นวิทยากรบรรยายถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์การล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ในราชวงศ์Konbaungหรือ Alaungpayaของพม่า มาติดตามกันดูว่าเมื่อพม่าเสียเมืองให้ฝรั่งแล้ว การเขียนประวัติศาสตร์ โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมพม่าเป็นไปเช่นไร
“แรงบันดาลใจที่ทำให้ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มนี้ ก็เพราะครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเห็นนักท่องเที่ยวคนไทยคนหนึ่งไปเที่ยวประเทศพม่า เพื่อจะไปไหว้พระทำบุญให้เกิดสิริมงคล แต่พอลงจากเครื่องบินเหยียบแผ่นดินพม่าครั้งแรก เขาก็ใช้เท้ากระทืบแผ่นดินสามครั้ง ข้าพเจ้าถามว่าทำไม เขาตอบว่า มันเคยเผาบ้านเผาเมืองกู กูจะแช่งให้มันจมดินไปเลย (คงลืมไปว่าจะมาทำบุญ ?) หรือกลุ่มคณะทัวร์ไทยไปเที่ยว
พระราชวังพระเจ้าบุเรงนองที่หงสาวดี ประเทศพม่า เมื่อไปถึงก็เกิดอาการของขึ้นทันที พุ่งเข้าไปทำลายต้นไม้ประดับและสวนดอกไม้ที่อยู่รอบๆ พระราชวัง ใช้เท้ากระทืบพระตำหนักไม่หยุดเลย เจ้าหน้าที่ดูแลพระราชวังออกมาขอร้องก็ไม่หยุด สุดท้ายเจ้าหน้าที่สั่งเด็ดขาดให้มัคคุเทศก์ของบริษัททัวร์นำคณะออกไปจากพระราชวังทันที มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย ข้าพเจ้าเห็นแล้วก็นึกเสียใจยิ่งนัก
อีกเรื่องหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยพบหลายครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทยพม่า เล่าให้ฟังว่า พวกเขาพี่น้องท้องเดียวกัน แต่กลับถือคนละสัญชาติ เพราะวันดีคืนดีผู้มีอำนาจก็มาตีเส้นแบ่งเขตและแบ่งชาติ ปัจจุบันตระกูลของสองพี่น้องนี้กลายเป็นคนละชาติ อยู่กันละฟากไปแล้ว ไม่รู้จักกันยังไม่พอ ถือเป็นศัตรูกันโดยปริยาย เพราะเรื่องราวของสองชาติที่ไม่ค่อยจะลงรอยกัน”
บางส่วนจากบทนำหนังสือ ‘โยเดียกับราชวงศ์พม่า : เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้’ : มิกกี้ ฮาร์ท
เป็นที่ทราบกันดีว่ามุมมองของคนไทยที่มีต่อประเทศพม่ามักหนีไม่พ้นความเป็นอริศัตรูของชาติอย่างล้ำลึก ซึ่งสามารถเห็นได้จากประวัติศาสตร์พงศาวดาร มหากาพย์ นวนิยาย และภาพยนตร์ ที่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากการมองผ่านการบันทึกของฝ่ายไทยเองแต่เพียงด้านเดียว ทำให้คุณมิกกี้ ฮาร์ท เกิดความสนใจที่จะนำเสนอ
ประวัติศาสตร์พม่าผ่านมุมมองของคนพม่าเอง โดยอ้างอิงจากพงศาวดารของพม่าโดยตรง ไม่ใช่ที่มาจากการบันทึกของชาวต่างชาติอย่างอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมของพม่าที่สามารถบิดข้อมูลประวัติศาสตร์และเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกอย่างไรก็ได้
คุณมิกกี้ ฮาร์ท ได้เริ่มต้นการบรรยายว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ของพม่าส่วนใหญ่ที่ได้รับการเผยแพร่อยู่ในปัจจุบันเป็นหนึ่งใน ‘ประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม’ ที่ได้รับการวางรากฐานจากเจ้าอาณานิคมชาวตะวันตกอย่าง ประเทศอังกฤษ เพื่อใช้ในการ
อ้างความชอบธรรมทางการเมืองในการเข้ายึดครองพม่า ซึ่งนักศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ของพม่าที่ได้รับการศึกษาตามแบบหลักสูตรของอังกฤษล้วนได้รับอิทธิพลและให้ความเชื่อถือ ‘งานวิชาการ’ ที่เขียนขึ้นโดยชาวตะวันตกหรือชาวอังกฤษเอง มากกว่าที่จะเชื่อในประวัติศาสตร์พงศาวดารพื้นถิ่นของพม่าเอง
คุณมิกกี้ ฮาร์ท ได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์พงศาวดารพม่าที่เป็นของชาวพม่าเอง อย่าง ‘พงศาวดารพม่าโคนบ่องเซก มหาราชวงศ์หลวง’ ที่ได้รับการบันทึกโดยเจ้าชายมองติน ผู้เป็นเจ้าชายในราชวงศ์ Konbaung องค์หนึ่งของพม่า ที่มีมุมมองที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์พงศาวดารพม่าในปัจจุบันที่ได้รับการปรุงแต่งและปลูกฝัง ‘วาทกรรมอาณานิคม’ จากอังกฤษ โดยนำข้อมูลจากพงศาวดารนี้มารวบรวมและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของฝั่งไทยและลาว เพื่อประมวลข้อมูลให้ประวัติศาสตร์พม่านี้มีความถูกต้องแม่นยำที่สุด
พงศาวดารพม่า ‘โคนบ่องเซกมหาราชวงศ์หลวง’ ที่ได้รับการบันทึกโดยเจ้าชายมองติน ผู้เป็นเจ้าชายในราชวงศ์ Konbaung (ที่มาภาพ : Aliz in Wonderland พม่าเสียเมือง ฉบับ"คนพม่า"บันทึก’ www.pantip.com )
โดยสาเหตุที่พม่าเสียเมืองในสายตาการรับรู้ของคนทั่วไปนั้น มักมาจากการมองผ่านของชาวตะวันตกที่มองว่าการสูญเสียเอกราชและการล่มสลายของราชวงศ์พม่าเกิดขึ้นเพราะความฟอนเฟะและความล้มเหลวในการบริหารประเทศของราชสำนักพม่าเพียงอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วการที่พม่าต้องเสียเมือง เสียเอกราช กษัตริย์
ราชวงศ์สูญสิ้นไปจากประเทศ เป็นผลมาจากการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของอังกฤษที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอลองพญา บรรพกษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ Konbaung หรือ Alaungpaya และเป็นผู้นำทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา (ก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๒)
ในช่วงแรกในสมัยที่พระเจ้าอลองพญาทำสงครามรวบรวมดินแดนพม่าให้เป็นปึกแผ่น ชาวตะวันตกทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสได้เข้ามาทำการสนับสนุน ‘ชาวมอญ’ แห่ง ราชอาณาจักรหงสาวดี เนื่องจากในสายตาของอังกฤษและฝรั่งเศสมองว่า ชาวมอญนั้นมีโอกาสที่ดีและได้เปรียบที่จะชนะชาวพม่ามากกว่า แต่หลังจากที่กองทัพพม่า
ของพระเจ้าอลองพญาได้ตีราชอาณาจักรหงสาวดีแตก อังกฤษและฝรั่งเศสต่างพากันกลับลำให้การสนับสนุนและเจรจาทำการค้าขายกับพม่านับแต่นั้นมา ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ชาติตะวันตกอย่างอังกฤษ เริ่มที่จะเข้ามามีอิทธิพลในพม่าและทำการแทรกแซงอำนาจในเวลาต่อมา
การที่ชาติตะวันตกอย่างอังกฤษให้ความสนใจต่อพม่า เนื่องจากมีความต้องการแหล่งทรัพยากรที่มีค่า อย่าง แร่หินรัตนชาติ ทรัพยากรป่าไม้ และน้ำมัน รวมถึงการเป็นเส้นทางสู่จีนผ่านแม่น้ำอิระวดี
แผนที่แสดงกลุ่มราชธานีโบราณของพม่าในสมัยราชวงศ์คองบอง (พ.ศ. 2295-2428) (ที่มาภาพ : D.G.E. Hall, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ), ประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549, หน้า 392.)
๑.เริ่มแรกขอเข้ามาเป็นไมตรี
๒.ขอทำการค้าขายโดยอิสระ
๓.เมื่อมีอิสระแล้วจึงเริ่มทำการแทรกแซงอำนาจ
วิธีการของอังกฤษนี้เป็นวิธีการที่อังกฤษใช้ในการเข้ายึดและแพร่ขยายอาณานิคมของตน ซึ่งพม่าในสมัยพระเจ้าอลองพญานั้นล่วงรู้ถึงวิธีการนี้และไม่ได้วางใจกับการเข้ามาขอทำการค้าของอังกฤษเป็นทุนเดิม เนื่องจากอังกฤษนั้นได้แปรพักตร์มาหาพม่าอย่างรวดเร็วในคราวที่รบกับชาวมอญหงสาวดี ทำให้พม่าในช่วงเวลานั้นยังคงทำการค้าอย่างระมัดระวังตัวกับอังกฤษ ปฏิบัติการแทรกแซงอำนาจพม่าของอังกฤษจึงยังไม่สามารถกระทำได้
จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของ ‘พระเจ้าจักกายแมง’ หรือ ‘บายีดอ’ กษัตริย์ราชวงศ์ Konbaung องค์ที่ ๗ ผู้ขึ้นครองราชย์ต่อจาก ‘พระเจ้าปดุง’ กษัตริย์ที่คนไทยรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีในคราว ‘สงครามเก้าทัพ’ทำการขยายพระราชอำนาจไปยังทางทิศตะวันตก รับสั่งให้ ‘มหาพันธุละ’ แม่ทัพที่ได้รับการยกย่องว่า มีฝีมือแกร่งกล้าในสมัย
นั้น เข้าตีและยึดแคว้นมณีปุระ จนกระทั่งแผ่ขยายมาถึงบริเวณแคว้นกะจาร์ แคว้นอัสสัม ทั้งนี้ แคว้นอัสสัมเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่แล้ว จึงทำให้เกิด ‘สงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ ๑’ ขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๖๗ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวของสยามในสมัยนั้น
ในช่วงแรกของสงครามการรบครั้งนี้ กองทัพอังกฤษได้ตกเป็นฝ่ายที่แตกพ่ายยับเยิน ด้วยเหตุที่ไม่มีการจัดเจนในสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และยุทธวิธีการรบ เพราะกองทัพอังกฤษนั้นเก่งการรบแบบกองเรือ ขณะที่พม่าเก่งการรบทางบก รวมถึงมีความจัดเจนในสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศในพื้นที่อยู่แล้ว ส่งผลให้กองทัพพม่าบุกตีกองทัพอังกฤษแตกอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งแตกหนีไปจนถึงเมืองจิตตะกอง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศบังกลาเทศ)
ผลจากการแตกพ่ายส่งผลให้อังกฤษปรับยุทธวิธีใหม่ ด้วยการส่งกองทัพเรือมาทางบริเวณเกาะเนเกร ( Nagai Island ) เพื่อตีเมืองย่างกุ้ง กองทัพเรืออังกฤษได้แสดงศักดานุภาพด้วยเทคโนโลยีการรบและความช่ำชองในยุทธวิธีทางน้ำ ส่งผลให้กองทัพพม่านั้นแตกพ่าย มหาพันธุละ ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่พม่าตายในการรบและเมืองย่างกุ้งถูกตีแตก
ด้วยความสูญเสียอย่างย่อยยับ ทำให้พม่าต้องส่งราชทูตไปทำสัญญาสงบศึกกับทูตจากอังกฤษที่หมู่บ้าน ‘ยันดาโบ’ หรือ ‘รันตาโบ’ ใน พ.ศ. ๒๓๖๘ เรียกกันว่า ‘สนธิสัญญายันดาโบ‘ (Treaty of Yandabo) ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ ๔ ข้อ คือ
๑. อังกฤษจะผนวกเอาดินแดนแคว้นยะไข่หรืออาระกัน และแคว้นตะนาวศรีที่ประกอบไปด้วยเมืองท่าสำคัญชายฝั่งทะเลอันดามัน อย่าง มะริด และทวาย นอกจากนั้นพม่าต้องไม่เข้าไปยุ่งกับกิจการของดินแดนทางทิศตะวันตก อย่าง แคว้นอัสสัม แคว้นกะจาร์ แคว้นซินเตียร์ และแคว้นมณีปุระ
๒. พม่าต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้อังกฤษเป็นเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์สเตอร์ลิง
๓. พม่าต้องยินยอมให้อังกฤษตั้งสถานกงสุลในกรุงรัตนปุระอังวะ
๔. พม่าต้องรับรู้ว่าสยามกับอังกฤษเป็นมหามิตรต่อกัน
ความพ่ายแพ้ต่อสงครามในครั้งนี้ของพม่าถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อพม่าและราชวงศ์ Konbaung ที่นับแต่นี้พม่าจะไม่สามารถแสดงแสงยานุภาพหรืออิทธิพลของความเป็นรัฐที่มีอำนาจสูงสุดในเอเชียอาคเนย์ และนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ Konbaung รวมถึงการเสียเมืองให้อังกฤษในเวลาต่อมา
หลังจากที่พม่าได้สูญเสียดินแดนทางตะวันตกอย่าง แคว้นอาระกัน (ยะไข่) และดินแดนริมฝั่งทะเลอันดามัน อย่าง แคว้นตะนาวศรีไปให้กับอังกฤษจากการพ่ายศึกแล้ว ในกาลต่อมาพม่าก็ได้สูญเสียดินแดนทางตอนใต้บริเวณลุ่มน้ำอิระวดีไปให้กับ
อังกฤษอีก อันประกอบไปด้วย เมืองเมาะตะมะ เมืองบาสแซง เมืองย่างกุ้ง เมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองแปร จากการพ่ายแพ้ในสงครามพม่า – อังกฤษ ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๓๙๕ ในรัชสมัย ‘พระเจ้าปะกันเมง’ หรือ ‘พุกามแมง’ กษัตริย์องค์ที่ ๙ ราชวงศ์ Konbaung ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของสยาม
ชนวนเหตุของการเกิดศึกสงครามรอบสองนี้ มีที่มาจากการที่เจ้าเมืองหงสาวดีได้ทำการกุมตัวกัปตันเรือชาวอังกฤษ ๒ คน ในข้อหาทำการข่มเหงรังแกพ่อค้าชาวพม่า เป็นผลให้รัฐบาลอินเดีย (ที่อยู่ในอาณัติของอังกฤษ) ส่งราชสาส์นมายังราชสำนักพม่าว่าให้จัดการถอดถอนเจ้าเมืองหงสาวดีที่ทำการกุมตัวเจ้าหน้าที่ของอังกฤษออกไป พร้อมทั้งเรียกร้องให้จ่ายค่าปรับจำนวนมาก ซึ่งทางราชสำนักพม่ายินยอมทำตามโดยดี
แม้ว่าราชสำนักพม่าจะยอมทำตามข้อเรียกร้องทุกอย่างเรียบร้อย กระนั้นทางรัฐบาลอินเดียยังคงไม่พอใจและได้ทำการเรียกร้องเพิ่มเติม ส่งผลให้พระเจ้าปะกันเมงนั้นเกิดความไม่พอใจ จึงทำตามประกาศสงครามกับอังกฤษเป็นคำรบสอง โดยผลของสงครามครั้งนี้ จบลงด้วยการที่พม่าพ่ายศึกและสูญเสียดินแดนให้แก่อังกฤษอีกครั้ง รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กษัตริย์พม่าจากพระเจ้าปะกันเมงซึ่งถูกบีบให้สละราชสมบัติแก่ ‘พระเจ้ามินดง’ผู้เป็นพระอนุชาองค์หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๙๖
พระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่าผู้มีดำริให้ปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย และปรับท่าทีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ในรัชสมัยของพระเจ้ามินดงมีการย้ายราชธานีจากรัตนปุระอังวะไปสู่ ‘มัณฑะเลย์’ มีการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยตามตะวันตกมากขึ้น และมีการปรับท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการส่งคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นมีฝรั่งเศสชาติมหาอำนาจอีกแห่งที่มีอิทธิพลการเป็นเจ้าอาณานิคมอยู่เหนือดินแดนอินโดจีนและเข้ามามีความสัมพันธ์กับพม่าอย่างเป็น
ทางการ รวมทั้งได้เข้ามามีบทบาทการเจรจากับพม่าอย่างเด่นชัด มีการร่างข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาประเทศระหว่างราชสำนักพม่ากับรัฐบาลฝรั่งเศส ต่อมาจึงเป็นในรัชสมัยของ ‘พระเจ้าธีบอ’หรือ ‘สีป่อ’ และถือเป็นองค์สุดท้ายของราชวงศ์ Konbaung ที่ถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดระบอบราชาธิปไตยในพม่าอย่างเป็นทางการ
การเข้ามามีบทบาทของฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าธีบอนี้ถือเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษนั้นตัดสินใจที่จะเข้ายึดครองพม่าให้อยู่ในอาณัติเร็วขึ้น เนื่องจากกลัวว่าฝรั่งเศสจะเข้ามายื้อแย่งผลประโยชน์ในพม่าไปจากอังกฤษ ซึ่งจะเห็นได้จากหลักฐานในหนังสือ ‘A LORD RANDOLF CHURCHILL’ เขียนโดย ‘วินสตัน เชอร์ชิล’ (WINSTON CHURCHILL) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
ที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ต้องมีการเตรียมการยึดทัพประเทศพม่าโดยด่วน เนื่องจากได้มีการแทรกแซงจากรัฐบาลฝรั่งเศสที่ต้องการเข้ามายื้อแย่งผลประโยชน์ในพม่า”(ลอร์ด ลันดอลฟ์ เชอร์ชิล ที่อ้างถึงนั้นมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการรัฐอินเดีย (SECRETARY FOR THE STATE OF INDIA) และมีศักดิ์เป็นพ่อของวินสตัน เชอร์ชิลอีกด้วย – ผู้เขียน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลอังกฤษจึงมีความพยายามในการดำเนินการขัดขวางทุกอย่างไม่ให้รัฐบาลฝรั่งเศสกับราชสำนักพม่าร่วมมือกันได้สำเร็จ มีการใช้การเจรจาด้านการทูตกดดันทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสและราชสำนักพม่าไม่ให้มีการทำข้อตกลงระหว่างกัน รวมถึงพยายามที่จะทำการเปิดศึกกับพม่าทุกวิถีทางเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ายึดพม่าได้
ในห้วงเวลานั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์ที่เอื้อโอกาสให้กับอังกฤษในการเปิดศึกกับพม่าได้สำเร็จ เมื่อเจ้าหน้าที่กรมการตรวจสอบการตัดไม้ของพม่าได้ตรวจพบว่าบริษัทบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burma Trading Corporation, Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทอังกฤษที่ได้รับการสัมปทานการตัดไม้จากราชสำนักพม่า ได้ทำการโกงไม่ยอมจ่ายภาษีตัดไม้ จึงได้ส่งรายงานฟ้องต่อ ‘ศาลลูกขุนหลุดดอ’ ของพม่า โดยศาลได้มีคำตัดสินว่าบริษัทบอมเบย์เบอร์มานั้นมีความผิดจริง จึงมีคำตัดสินให้ชำระภาษี และจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน ๒,๓๐๐,๐๐๐ รูปี
บริษัทบอมเบย์เบอร์มาไม่พอใจในคำตัดสินของศาลลูกขุนหลุดดอ จึงนำเรื่องนี้ไปฟ้องต่อรัฐบาลอังกฤษว่าราชสำนักพม่าได้ทำการรังแกและไม่มีความยุติธรรม ทำให้รัฐบาลอังกฤษส่งราชสาสน์มายังราชสำนักพม่า โดยในราชสาสน์นั้นมีเนื้อใจความสำคัญอยู่ ๔ ข้อ ด้วยกัน
๑. สำหรับคดีการโกงภาษีตัดไม้ ราชสำนักพม่าต้องรอผู้แทนที่รัฐบาลอังกฤษส่งมาไต่สวน
๒.ห้ามทำการไต่สวนก่อนที่ผู้แทนนั้นมาถึง
๓.รัฐบาลพม่าต้องอนุญาตผู้แทนที่รัฐบาลอังกฤษส่งมา สามารถเข้ามาในเมืองมัณฑะเลย์พร้อมอาวุธครบมือ
๔.รัฐบาลอังกฤษขอเป็นผู้ควบคุมดูแลการติดต่อระหว่างประเทศของพม่าแต่ผู้เดียว
ทันทีราชสำนักพม่าทราบถึงเนื้อความในราชสาส์นนั้น ก็เกิดความไม่พอใจในทันที โดยเฉพาะ ‘พระนางศุภยาลัต’ผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าธีบอ ถึงกับประกาศว่าจะรบกับอังกฤษ เพราะการกระทำเช่นนี้ของอังกฤษจ้องจะกดขี่ และ กอบโกยผลประโยชน์จากพม่าอยู่ถ่ายเดียว ด้วยเหตุนี้ ‘สงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ ๓’ จึงอุบัติขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๒๘
สุดท้ายแล้วด้วยศักยภาพทางการรบและยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่ากองทัพพม่า และการอาศัยช่องโหว่ที่ชนชั้นสูงของพม่านั้นไม่ลงรอยกัน[i]ส่งผลให้กองทัพอังกฤษนั้นสามารถเอาชนะกองทัพพม่าและเข้ายึดเมืองมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ พระราชวังที่ประทับของพระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยาลัตถูกปิดล้อมเป็นเหตุให้ต้องยอมจำนนต่อกองทัพอังกฤษ นำมาซึ่งการเสียเมืองและตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ หรือที่เรียกว่า ‘พม่าเสียเมือง’
ภาพวาดของ Saya Chone บันทึกเหตุการณ์ภายในราชสำนักที่มีการสังหารเชื้อพระวงศ์เป็นจำนวนมาก หลังพระเจ้ามินดงสิ้นพระชนม์ ว่ากันว่าการสังหารหมู่ดังกล่าวใช้เวลาอยู่สามวันจึงสังหารได้หมด เป็นเหตุการณ์ที่ถูกเน้นในการเขียนประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตก และถ่ายทอดถึงคนไทยอย่างแยบยลผ่านวรรณกรรม ‘พม่าเสียเมือง’ อันเป็นฝีมือการประพันธ์ระดับครูของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ทำให้ภาพของพระนางศุภยาลัตเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ และพระเจ้าธีบอกลายเป็นกษัตริย์ที่ไม่เอาไหนไปในที่สุด
จะเห็นได้ว่า การสูญเสียเอกราชและการสิ้นสุดของราชวงศ์คองบองของพม่านั้นไม่ได้เป็นเรื่องของความแตกแยกและความฟอนเฟะของราชสำนักพม่าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะผลจากการที่อังกฤษนั้นมีการวางแผนอย่างมีขั้นตอน โดยค่อยๆเริ่มรุกล้ำแทรกแซงพม่าทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดินแดน สิทธิทางการค้า และการ
ทูต รวมถึงการใช้กลอุบายต่างๆที่ทำให้เกิดการหาเหตุพิพาทกับพม่า แล้วจึงใช้แสนยานุภาพทางกองทัพที่เหนือกว่าบีบให้พม่าทำตามในสิ่งที่ต้องการ ดั่งที่เห็นจากการก่อสงครามกับราชสำนักพม่า ๓ ครั้ง จนกระทั่งสามารถยึดเอาพม่ามาเป็นส่วนหนึ่งในจักรวรรดิอาณานิคมของตนเองได้ในที่สุด
สื่อและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทยรบพม่า
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งทรงประมวลเรื่องราวจากพงศาวดารหลายฉบับแล้วนำมาเรียงร้อยขึ้นใหม่ด้วยสำนวนภาษาที่อ่านง่าย เป็นวรรณกรรมที่บอกเล่าเหตุการณ์สงครามระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเกิดขึ้นสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และอาจกล่าวได้ว่าพระนิพนธ์เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างสำนึกความเป็นรัฐชาติไทยอันเป็นผลจากยุคล่าอาณานิคมของยุโรป โดยกำหนดให้รัฐชาตินั้นเป็นดินแดนของชนชาติใดชนชาติหนึ่งซึ่งเป็นการคิดอย่างยุโรปที่มีเส้นกั้นอาณาเขตตายตัว
สุจิตต์ วงศ์เทศ เคยอธิบายเพิ่มว่า ความจริงแล้วสมัยกรุงศรีอยุธยายังไม่มี ‘รัฐชาติ’ สงครามที่เกิดขึ้นล้วนเป็นความขัดแย้งของพระเจ้าแผ่นดิน โดยที่พลเมืองส่วนมากไม่ได้ขัดแย้งกัน แล้วไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของพระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้น ไทยรบพม่า ที่หมายถึงประเทศไทยรบกับประเทศพม่า อย่างเข้าใจกันทุกวันนี้จึงไม่ถูกต้อง ถ้าจะให้ถูกต้องควรหมายถึง กรุงศรีอยุธยารบกรุงหงสาวดี หรือสงครามของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าแผ่นดินกรุงหงสาวดี
( ที่มา :เอกสารของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ย่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ I ๒๕ เมษายน ๒๕๕๒ I)
เที่ยวเมืองพม่า
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์เชิงสารคดีเรื่องนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงเป็นหนังสือสำคัญที่ทำให้เห็นภาพอดีตของพม่าภายใต้อาณานิคม เมื่อ ๗๐ ปีก่อน รวมทั้งทัศนะของท่านที่มีส่วนในการสร้างความรู้สึกถึงความเป็นชาติ และเป็นแรงบันดาลใจให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนหนังสือเรื่อง ‘พม่าเสียเมือง’ ในเวลาต่อมา
พม่าเสียเมือง
เขียนขึ้นโดย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งนอกจากมีแรงบันดาลใจจากพระนิพนธ์เชิงสารคดี ‘เที่ยวเมืองพม่า’ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯแล้ว ข้อมูลอีกส่วนยังมาจากจากบันทึกและเอกสารของฝรั่ง แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นหนังสือของใคร อย่างไรก็ตาม ก็พอจะกล่าวได้ว่า มุมมองที่มีพม่าในหนังสือเล่มนี้เป็นส่งผ่านการมองจากสายตาฝรั่งที่ถ่ายทอดมาถึงคนไทยด้วยฝีปากกานักประพันธ์ระดับครูของท่าน จึงเป็นวรรณกรรมที่มีส่วนสร้างให้ภาพของราชสำนักของพม่ารวมทั้งพระนางศุภยาลัตกลายเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองถึงแก่กาลล่มสลาย
หนังสือ ‘พม่าเสียเมือง’เล่าถึงความผันแปรในประเทศพม่า ที่เริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้ามินดงเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าสีป่อ และพระนางศุภยาลัต พระมหเสี ที่ราชอาณาจักรพม่าต้องตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิอังกฤษ อีกทั้งยังบรรยายถึงภาพ
ความโหดร้ายของการแย่งชิงสมบัติในราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ในขณะที่มีปัญหาภายในราชสำนักที่ทำให้เกิดการฆ่ากันครั้งใหญ่ในวังหลวงทั้งที่สถานการณ์ภายนอกยังไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะอังกฤษที่คอยจ้องมองดังเสือที่ซุ่มรอเหยื่อ สุดท้ายเสือตัวนี้ก็ได้ตะปบเหยื่ออย่างเต็มเขี้ยว และราชวงศ์พม่าก็สิ้นสุดลงอย่างไม่มีวันหวนกลับมายิ่งใหญ่ได้อีก
นอกจากนี้ ‘พม่าเสียเมือง’ ยังเป็นเค้าโครงเรื่องของละครโทรทัศน์เรื่อง ‘เพลิงพระนาง’ ออกฉายครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๓๙
พม่ารบไทย
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขียนหนังสือนี้ซึ่งว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า แต่แตกต่างไปจากการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาก่อนหน้านี้นั่นคือการใช้หลักฐานจากฝั่งพม่ามาเป็นข้อมูลสำคัญในการให้ภาพประวัติศาสตร์ที่เขียนแตกต่างกันระหว่างไทยกับ เช่น กรณีสงครามยุทธหัตถีที่เขียนไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและชำระขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนจะถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนที่มี
อิทธิพลต่อสังคมในวงกว้าง อาทิ ลิลิตตะเลงพ่าย พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพระนิพนธ์ไทยรบพม่า และพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเรื่องนี้หากไปดูจากพงศาวดารพม่า เช่น ฉบับอูกาลาและฉบับหอแก้ว จะพบว่า ผิดแผกไปจากหลักฐานข้างฝ่ายไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านสมรภูมิรบและการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชที่ระบุว่า ต้องพระแสงปืนจนสิ้นพระชนม์ซบกับคอคชาธาร
รศ. ดร.สุเนตร ให้ความเห็นต่อปัญหาการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาว่า จำเป็นต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง จะอาศัยความสอดคล้องระหว่างพงศาวดารพม่าและบันทึกฝรั่งต่างชาติที่มีอายุร่วมสมัยกับเหตุการณ์เป็นบรรทัดฐานตัดสิน คงไม่ได้ เพราะหากจะใช้หลักฐานฝรั่งต่างชาติเป็นเกณฑ์กัน ก็ยังมีหลักฐานเก่าแก่ อาทิ
บันทึกของฝรั่งโปรตุเกส ที่ถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย A. Macgregor ในชื่อ "A Brief Account of the Kingdom of Pegu..." คาดว่ามีอายุไม่ต่ำไปกว่า ค.ศ. ๑๖๒๑ (พ.ศ. ๒๑๖๔) ยืนยันชัดเจนว่าสงครามยุทธหัตถี เป็นการรบอย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อหน้าทหารของทั้งสองฝ่าย โดยสมเด็จพระนเรศทรงมีพระราชสาสน์ท้าพระมหาอุปราชา ให้ออกมากระทำยุทธหัตถีอย่างสมพระเกียรติ
รศ.ดร.สุเนตร ชี้ว่า ความขัดแย้งที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมา คือ ภาพสะท้อนของการเผชิญกันระหว่างจารีตของสงครามในรูปแบบเก่าคือ การรบกันตัวต่อตัวบนหลังช้างกับการแพร่กระจายของอาวุธสมัยใหม่คือปืนไฟ แม้ว่าในที่สุด ปืนไฟจะได้ทำให้ธรรมเนียมนิยมของการทำยุทธหัตถีหมดไป แต่ในสมัยพระนเรศนั้น ธรรมเนียมนิยมของการทำยุทธหัตถียังไม่หมดไปเสียทีเดียว และนี่คือสีสันของประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าต้องการมากกว่าความสนุกสนาน จะต้องศึกษาจากหลายๆ แหล่งข้อมูล.
บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาพประกอบการบรรยายสาธารณะ ‘พม่าเสียเมือง’
เปิดประเด็น : พม่ากับไทย ใครจน
[1]ราชสำนักพม่ามีความขัดแย้งในช่วงการผลัดแผ่นดินปลายรัชกาลของพระเจ้ามินดงพระนางอเลนันดอได้เรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานและประกาศตั้งเจ้าฟ้าสีป่อเป็นรัชทายาท และให้จับกุมบรรดาเจ้าฟ้าและขุนนางในฝ่ายอื่นๆไปมากมาย เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว จึงสนับสนุนให้เจ้าฟ้าสีป่อขึ้นเป็นกษัตริย์ หลังขึ้น
ครองราชย์จึงมีการจัดการสังหารบรรดาพี่น้องและกลุ่มขุนนางประวัติศาสตร์ช่วงนี้ที่ถูกสร้างให้รับรู้กันทั่วไปมากจากบันทึกของฝรั่งคือ ว่ากันว่าพระนางศุภยาลัตทรงโปรดให้จัดงานปอยตลอดสาม เพื่อ ให้ชาวเมืองเที่ยวงานให้สนุก พระเจ้าธีบอก็จัดให้ดื่มน้ำจัณฑ์จนเมามายเพื่อไม่ให้สนใจการสังหารครั้งนั้น เมื่อสังหารแล้วก็จับโยน
ใส่หลุมใหญ่ข้างวังรวมกัน แล้วเอาดินกลบ แต่พอพ้นสามวัน ศพเหล่านั้นเริ่มขึ้นอืดจนเนินหลุมที่ฝังพูนขึ้น ก็เอาช้างหลวงมาเหยียบย่ำให้ดินที่นูนขึ้นมานั้นแบนราบลง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปิดบังหลุมใหญ่นั้นได้ เพราะจำนวนศพมีมากจนดันเนินดิน
ให้นูนขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ต้องให้ขุดศพใส่เกวียนไปฝังบ้าง ทิ้งน้ำบ้างจนเป็นเรื่องที่มีการเล่าขานมากที่สุด เล่ากันว่าคืนนั้นสุนัขเห่าหอนทั้งคืน จนชาวเมืองผวาไม่เป็นอันหลับอันนอน พระนางจัดให้เอาวงดนตรีปี่พาทย์ การแสดงต่าง ๆ มาบรรเลงในวังตลอดเวลาที่ทำการสำเร็จโทษพวกเจ้านาย เพื่อให้เสียงดนตรีปี่กลอง
กลบเสียงกรีดร้องขอชีวิต หากดังไม่พอ เสียงฮาจะช่วยได้มาก พระนางตรัสให้คนร้องร้องดังขึ้น เล่นตลกให้ดังขึ้น และพระสรวลดังๆ แต่บางครั้งมีเสียงหวีดมาแต่ไกล พระเจ้าสีป่อจึงหันไปทางต้นเสียง พระนางศุภยาลัตก็หันมาถลึงพระเนตรกับปี่พาทย์ ส่วนนางพนักงานก็รินน้ำจัณฑ์ใส่ถ้วยทองถวายถึงพระหัตถ์พระเจ้าสีป่อส่วนบันทึกนในประวัติศาสตร์พม่านั้นเชื่อว่าพระนางอเลนันดอ และเกงหวุ่นเมงจีอยู่เบื้องหลังการสั่งฆ่าโอรสธิดา(ที่มา : th.wikipedia.org/wiki/พระนางศุภยาลัต)
โฆษณา