Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Right Style by Bom+
•
ติดตาม
6 พ.ย. เวลา 09:14 • ข่าวรอบโลก
เอกสารเจรจาฉบับแรกหลังเกิดสงครามยูเครน เผย “เงื่อนไขหยุดยิงของปูติน”
“ตอนนั้น” กับ “ตอนนี้” เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด
RFE/RL องค์กรสื่อระหว่างประเทศในยุโรปที่ได้รับทุนจากรัฐบาลอเมริกันได้เผยแพร่รายงานเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2024 เกี่ยวกับ “ข้อตกลงหยุดยิงในยูเครนของรัสเซีย” โดยทีมสืบสวนที่เข้าไปค้นหาความจริงที่ชื่อว่า Systema - อ้างอิง: [1]
พวกเขาได้รับสำเนาเอกสารข้อเสนอเบื้องต้นของรัสเซียสำหรับ “ข้อตกลงหยุดยิงกับยูเครน” ซึ่งเครมลินร่างขึ้นไม่นานหลังจากเปิดฉากสงครามเต็มรูปแบบกับยูเครนในปี 2022 เอกสารดังกล่าวเปิดเผยอย่างชัดเจนว่ารัสเซียต้องการอะไรในช่วงสัปดาห์แรกของสงครามเต็มรูปแบบ และคาดการณ์อนาคตของยูเครนอย่างไรหากพวกเขายอมจำนน
รายงานการสืบสวนดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึง “เจตจำนงของปูติน” และข้อเรียกร้องของฝ่ายรัสเซียว่ามีพัฒนาการไปอย่างไรในช่วงหลายเดือนต่อมา เนื่องจากรัสเซียไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในสนามรบได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ตอนแรก
ปูตินแถลงเปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน เมื่อปี 2022 เครดิตภาพ: Russian Presidential Press Service
ทีมข่าวที่ทำรายงานเรื่องได้รับเอกสารข้อตกลงฉบับแรกที่รัสเซียได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อยูเครนหลังจากเปิดฉากสงครามเต็มรูปแบบ รัสเซียได้นำเสนอข้อเสนอซึ่งประกอบด้วยรายการเงื่อนไขสำหรับการหยุดยิงและข้อตกลงสันติภาพต่อคณะผู้แทนยูเครนในระหว่างการเจรจารอบที่สามในเบลารุสเมื่อ 7 มีนาคม 2022 พวกเขาได้รับเอกสารดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ยูเครนที่มีส่วนร่วมในการเจรจา และแหล่งข่าวจากฝ่ายรัสเซียก็ได้ยืนยันความถูกต้องตรงกัน
การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างผู้เจรจาของรัสเซียและยูเครนเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากเริ่มต้นสงครามเต็มรูปแบบ คณะผู้แทนยูเครนซึ่งนำโดย “เดวิด อาราคาเมีย” รองประธานสภายูเครนได้เดินทางไปยังโปแลนด์ก่อนจะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังบ้านพักในเมือง Lyaskovichi ของ “อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก” ประธานาธิบดีเบลารุส ใกล้ชายแดนโปแลนด์-เบลารุส ที่นั่นกลุ่มผู้แทนยูเครนได้พบปะกับคณะผู้แทนรัสเซียซึ่งนำโดย “วลาดิเมียร์ เมดินสกี” ผู้ช่วยของปูติน
1
วลาดิเมียร์ เมดินสกี (ซ้าย) ตัวแทนฝ่ายรัสเซียซึ่งเป็นผู้ช่วยของปูติน, เดวิด อาราคาเมีย (ขวา) ตัวแทนฝ่ายยูเครน เครดิตภาพ: Ukrainian Presidential Press Service Handout / EPA
เอกสารดังกล่าวประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 6 หน้าของร่างข้อตกลงและเอกสารแนบ 4 หน้า ประเด็นทั้งหมด 18 หัวข้อของข้อเสนอครอบคลุมประเด็นต่างๆ มากมาย รวมถึง “ข้อกำหนดความเป็นกลางของยูเครน” การวางแนวชายแดน และข้อกังวลด้านมนุษยธรรม เช่น ภาษา ศาสนา และประวัติศาสตร์
1
ข้อเสนอนี้เขียนขึ้นมานานก่อนที่รัสเซียจะผนวกดินแดนยูเครนตะวันออก 4 ภูมิภาคเมื่อเดือนกันยายน 2022 ดังนั้นเนื้อหาจึงยังไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่เคอร์ซอนและซาปอริซเซีย อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ยังรวมถึงข้อเรียกร้องที่ยาวนานของรัสเซียให้ยูเครนสละการอ้างสิทธิ์ในไครเมียและเซวาสโทโพล ตลอดจนพื้นที่โดเนตสค์และลูฮันสค์ทั้งหมด
ในข้อตกลงหยุดยิงฉบับแรก รัสเซียยังยืนกรานให้ยูเครนปลดอาวุธเกือบทั้งหมดให้อยู่ภายใต้การดูแลของมอสโก แยกตัวประเทศออกจากความช่วยเหลือจากตะวันตก และไฟเขียวให้กองทัพรัสเซียเข้ามาประจำการในดินแดนที่ยึดมาได้ในช่วงสัปดาห์แรกของสงคราม ข้อเรียกร้องบางส่วนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกระบวนการเจรจาทั้งหมด
1
เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2022 คณะผู้แทนยูเครนได้ตกลงอย่างชั่วคราวต่อสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นข้อเรียกร้องหลักของรัสเซีย นั่นคือการเป็น “รัฐที่เป็นกลางอย่างถาวร” ที่จะไม่เข้าร่วมนาโตหรืออนุญาตให้กองกำลังต่างชาติประจำการในดินแดนของตน ตลอดกระบวนการเจรจาในปี 2022 จนกระทั่งการเจรจาถูกคว่ำไปในเดือนเมษายน โดยตอนนั้นยังไม่มีฝ่ายใดโต้แย้ง
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเงื่อนไขระหว่างฉบับแรกนี้กับครั้งหลังๆ ที่ตามมาเมื่อสงครามดำเนินมาเนิ่นนานแล้ว ทีมสืบสวนที่ทำเรื่องนี้บอกว่ามีเงื่อนไขหลายข้อที่หายไปหรือได้รับการแก้ไขอย่างมาก หรือเป็นเพราะคณะผู้แทนยูเครนได้ปฏิเสธที่จะหารือต่อกับทางรัสเซีย
ภาพหน้าแรกของเอกสารการเจรจาฉบับแรกระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ RFE/RL ได้มา เครดิตภาพ: RFE/RL
★
ข้อเรียกร้องของ “รัสเซีย” ต่อ “ยูเครน” ที่ระบุไว้ในเอกสารการเจรจาฉบับแรก
●
กองทัพยูเครนจะต้องลดขนาดลงเหลือขั้นต่ำ 50,000 นาย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ 1,500 นาย (ลดขนาดลงเมื่อเทียบกับที่มีอยู่ในปี 2022 ถึง 5 เท่า)
●
ยูเครนจะต้องไม่ “พัฒนา ผลิต ประดิษฐ์ หรือติดตั้งอาวุธขีปนาวุธใดๆ ที่มีพิสัยไกลกว่า 250 กิโลเมตรในดินแดนของตน” รัสเซียยังสงวนสิทธิ์ในการห้ามยูเครนใช้ “อาวุธประเภทอื่นๆ ที่อาจพัฒนาขึ้นเป็นผลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต”
1
●
ยูเครนจะต้อง “ยอมรับเอกราช” ของสาธารณรัฐโดเนตสค์และลูฮันสค์ (ดอนบาส) ซึ่งรวมถึงดินแดนทั้งหมดภายในพรมแดนของภูมิภาคโดเนตสค์และลูฮันสค์ของยูเครน (แม้ว่ารัสเซียจะควบคุมเพียงส่วนหนึ่งของดินแดนเหล่านี้ในตอนนั้นรวมถึงในตอนนี้)
●
ยูเครนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดในดอนบาสที่ถูกทำลายตั้งแต่ปี 2014
●
ยูเครนและพันธมิตรต้องยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซียและถอนฟ้องคดีทั้งหมดกับรัสเซียที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2014
●
ยูเครนต้องประกาศให้ “ภาษารัสเซียเป็นภาษาทางการ” อีกภาษา และฟื้นฟูสิทธิในทรัพย์สินทั้งหมดของคริสตจักรออร์โธดอกซ์ยูเครนแห่งมอสโก
●
ยูเครนต้อง “ยกเลิกและห้ามใช้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับลัทธินาซีอย่างถาวร” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องทำให้สัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียตและคอมมิวนิสต์ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง
1
สติ๊กเกอร์ “ยูเครนต้องเป็นยูเครน” พบแปะอยู่บนฐานน้ำพุในเมืองโอเดสซาเมื่อเมษายน 2014 สติกเกอร์นี้สื่อว่า ยูเครนไม่ได้หมายถึงทั้ง นาซี โซเวียต หรือจักรวรรดิรัสเซีย (ธงสีดำ เหลือง และขาวเป็นธงของจักรวรรดินิยมและใช้โดยกลุ่มนิยมกษัตริย์) เครดิตภาพ: Deborah Jones
■
ยูเครนจะได้อะไรตอบแทนคืนบ้างถ้าทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซียข้างบน
ในช่วงแรกของการเจรจานั้นเป็นการพูดถึงเรื่อง “การหยุดยิงและพักรบ” แต่ไม่มีพูดถึงการถอนทหารรัสเซียออกจากดินแดนยูเครนที่บุกเข้ามายึดได้ในตอนนั้น รัสเซียเพียงให้คำมั่นว่าจะไม่ยึดดินแดนเพิ่มมากกว่าที่ควบคุมไว้อยู่แล้วในตอนนั้น (ดอนบาส + ไครเมีย)
ในขณะเดียวกันรัสเซียต้องการให้ยูเครนถอนกำลังของตนทั้งหมดกลับไปยังฐานทัพถาวรของตนเอง (หรือที่รัสเซียกำหนดให้) และให้พันธมิตรตะวันตกของเคียฟยุติความช่วยเหลือทั้งหมดต่อยูเครนทันที และถอนกำลังทหารพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังยูเครนรวมถึงที่ปรึกษาทางทหารออกไปจากยูเครนด้วย
1
กองกำลังรัสเซียจะต้องคงอยู่ในดินแดนยูเครนที่ยึดไว้จนกว่า “เงื่อนไขทั้งหมดของข้อตกลงนี้จะถูกทำตาม” เนื่องจากเงื่อนไขเหล่านี้มันรวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งใหญ่ของยูเครน การปลดอาวุธ และข้อตกลงความมั่นคงระดับนานาชาติ ข้อตกลงดังกล่าวจึงอาจส่งผลให้กองทัพรัสเซียประจำการใกล้เคียฟได้เป็นเวลาหลายปี รัสเซียยังเสนอให้ควบคุมกระบวนการถอนทหาร โดยให้ยูเครนและเลขาธิการสหประชาชาติเข้ามาเกี่ยวข้องหากจำเป็น
เครดิตภาพ: Chingis Kondarov / Reuters
เอริก เซียราเมลลา ผู้เชี่ยวชาญด้านยูเครนและรัสเซียจากศูนย์คาร์เนกีกล่าวกับทีมทำข่าวนี้ด้วยว่า “ควรแยกแยะระหว่างคำแถลงต่อสาธารณะของปูตินเกี่ยวกับเป้าหมายของปฏิบัติการทางทหารกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของเขา ซึ่งมันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ” ในขณะที่ปูตินใช้คำว่า “ยูเครนต้องเป็นกลาง” ในคำแถลงต่อสาธารณะ คำดังกล่าวกำลังปกปิดเป้าหมายที่แท้จริงของเขาคือ ไม่ต้องการให้ยูเครนเข้ากับฝ่ายตะวันตกแต่อยู่ภายใต้อิทธิพลควบคุมของรัสเซีย
เซียราเมลลาตีความได้อย่างนั้นเพราะ ข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ให้ลดจำนวนกองทัพยูเครนเหลือ 50,000 นาย ถ้าเป็นไปตามกรอบแนวคิดนี้แล้ว ยูเครนจะไม่มีความสามารถในการป้องกันตัวเองเลย ข้อเรียกร้องของรัสเซียทำเหมือนกับว่ายูเครนเป็นฝ่ายรุกรานรัสเซียและพ่ายแพ้ในสนามรบ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ยูเครนยอมรับไม่ได้ เขาพยายามสื่อว่า “ถ้ายูเครนเป็นกลางแล้ว แต่ปกป้องตัวเองไม่ได้ มีรัสเซียคอยคุมประกบแน่น จะเรียกว่าเป็นกลางได้อย่างไร”
เครดิตภาพ: Glib Albovsky on Unsplash
■
เงื่อนไขของรัสเซียเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตามสถานการณ์
มีการเปิดเผยว่าการเจรจาในช่วงสัปดาห์แรกหลังสงครามยูเครน 2022 เกิดขึ้นนั้นเข้มข้นมาก หลังจากการประชุมครั้งแรกที่มินสค์เมื่อต้นเดือนมีนาคม คณะผู้แทนรัสเซียและยูเครนมักจะโทรศัพท์ แลกเปลี่ยนข้อเสนอ และบันทึกข้อเสนอฉบับใหม่และฉบับแก้ไขเป็นประจำรายวัน เพื่อหาทางออกร่วมกัน
นักการเมืองยูเครนที่รู้เกี่ยวกับการเจรจาในครั้งนั้นให้ข้อมูลว่า “ชัดเจนว่าปูตินเป็นคนควบคุมดูแลกระบวนการเจรจาของฝั่งรัสเซียด้วยตัวเอง บางครั้งเมื่อคณะผู้แทนยูเครนเสนออะไรบางอย่าง หัวหน้าคณะผู้แทนรัสเซียเมดินสกีจะลุกขึ้นและออกไปโทรศัพท์ ซึ่งชัดเจนว่าโทรกลับไปหาปูตินที่มอสโก จากนั้นเขาจะกลับมาและบอกถึงจุดยืนของปูตินในเรื่องที่เสนอมา”
เมื่อเทียบกับข้อเสนอการเจรจาฉบับถัดมาที่เป็นรูปธรรมคือของวันที่ 15 เมษายน 2022 (อ้างอิง: [2]) จะเห็นได้ว่าคณะผู้แทนยูเครนสามารถโน้มน้าวรัสเซียให้ลดข้อเรียกร้อง
และเปลี่ยนแปลงประเด็นสำคัญได้โดยเฉพาะเรื่องของ “การรับประกันด้านความมั่นคงของยูเครนหากเป็นกลาง” จากประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงซึ่งเสนอในตอนนั้น คือ อังกฤษ จีน สหรัฐฯ และฝรั่งเศส รัสเซียยังเสนอให้รวมเบลารุสด้วย ในขณะที่ยูเครนเสนอให้รวมตุรกี (คล้ายกับมาตรา 5 นาโต หากยูเครนถูกโจมตีในอนาคต จะต้องมีคนอื่นเข้ามาช่วยปกป้อง) สรุปง่ายๆ คือ ไม่ปล่อยให้ยูเครนโดดเดี่ยว
5
ประธานาธิบดีตุรกี “เออร์โดกัน” ร่วมเป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างตัวแทนของรัสเซียและยูเครนที่อิสตันบูล เมื่อ 29 มีนาคม 2022 เครดิตภาพ: Xinhua via Getty Images
ในข้อตกลงเมื่อเมษายน 2022 คณะผู้แทนยูเครนและรัสเซียยังคงตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับ “ขนาดกองทัพในอนาคตของยูเครน” ยูเครนยืนกรานว่าต้องมีกำลังพล 250,000 นาย (ซึ่งเป็นขนาดโดยประมาณก่อนรัสเซียบุกเข้ามา) อ้างอิง: [3] ในขณะที่รัสเซียเสนอให้จำกัดจำนวนไว้ที่ 85,000 นาย (ยอมให้มีมากขึ้นกว่าข้อเสนอแรกที่ 50,000)
1
นอกจากนี้ฝ่ายรัสเซียยังเรียกร้องให้กองทหารยูเครนปลดอาวุธและกลับไปยังค่ายทหารของตน ฝ่ายยูเครนจึงตอบโต้ด้วยข้อเรียกร้องที่เท่าเทียมกันว่า กองทหารรัสเซียก็ต้องปลดอาวุธและกลับไปยังฐานทัพตัวเองเช่นกัน เมดินสกีรู้สึกประหลาดใจกับข้อเสนอนี้ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเล่าว่า “เขาบอกว่ารู้สึกเหมือนกับว่ากองทหารยูเครนกำลังยืนอยู่ที่จัตุรัสแดง ขณะที่รัสเซียคาดว่าจะโบกธงขาวจากเครมลิน คำตอบ [จากฝ่ายยูเครน] คือ ‘เราแค่ขอสิ่งเดียวกับที่คุณขอจากเรา’” ในที่สุดคณะผู้แทนก็ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในประเด็นการถอนทหารได้
■
สิ่งที่ “ปูติน” ต้องการในวันนี้
สื่อฝ่ายตะวันตกประโคมข่าวกันว่า “เป้าหมายของปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนของรัสเซีย มันไม่มีอยู่จริง” แต่มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของปูตินเป็นหลักและความพึงพอใจของเขาในผลลัพธ์ที่สนามรบ เขาสามารถประกาศผลลัพธ์ใดๆ ที่เขาเลือกเพื่อให้ถือเป็นชัยชนะของเขาและการบรรลุเป้าหมายของเขาได้ตลอดเวลา
ถ้ามองใจเป็นกลาง คำถามที่เราอยากรู้คือเมื่อใดที่ปูตินจะตัดสินใจยุติสงคราม และเงื่อนไขสนามรบใดที่จำเป็นเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมากกว่า อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าปูตินจะต้องการอย่างไร เพราะสถานการณ์ในสนามรบมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเป็นช่วงๆ
ในช่วงฤดูร้อนปี 2024 ปูตินกล่าวว่าหากการเจรจาใดๆ จะเริ่มขึ้น ยูเครนจะต้องตกลงว่าไครเมีย รวมถึงภูมิภาคโดเนตสค์ ลูฮันสค์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่ทว่าหลังจากที่ทหารยูเครนบุกข้ามพรมแดนเข้ามาในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย ปูตินได้ถ่ายทอดความรู้สึกไปยังกลุ่มคนใกล้ชิดของเขาว่ารัสเซียจะสู้จนกว่ายูเครนจะยอมแพ้โดยสมบูรณ์
2
บทความต้นเรื่องอ้างอิงได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
https://www.currenttime.tv/a/dogovor-project-systema/33185521.html
เครดิตภาพ: RFE/RL
เรียบเรียงโดย Right Style
6th Nov 2024
■
เชิงอรรถ:
[1]
https://www.currenttime.tv/a/dogovor-project-systema/33185521.html
[2]
https://www.nytimes.com/interactive/2024/06/15/world/europe/ukraine-russia-ceasefire-deal.html
[3]
https://ru.slovoidilo.ua/2022/10/14/infografika/bezopasnost/kak-menyalas-chislennost-vooruzhennyx-sil-ukrainy
<เครดิตภาพปก: Historydraft>
ยูเครนรัสเซีย
russia
ข่าวรอบโลก
บันทึก
30
13
4
30
13
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย