7 พ.ย. เวลา 03:00 • ธุรกิจ

รวมไอเดีย สร้างรายได้จาก TikTok, YouTube, Facebook นอกเหนือจาก โมเดลการขายโฆษณา

โดยปกติ หากเราพูดถึงวิธีการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์ เรามักนึกถึงการทำคอนเทนต์ และการสร้าง Personal Branding ให้น่าสนใจ
เพื่อดึงดูดให้แบรนด์หันมาจ้างให้ครีเอเตอร์คนนั้น ทำคอนเทนต์เพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการ
แล้วครีเอเตอร์ก็รับค่าจ้างเป็นค่าโฆษณาในการทำคอนเทนต์รีวิว การพูดถึง หรือการไทอินสินค้าเข้าไปในคอนเทนต์
ซึ่งเราจะเรียกโมเดลแบบนี้ว่า โมเดลการขายโฆษณา หรือ Advertorial Content
แต่จริง ๆ แล้ว ครีเอเตอร์ยังมีวิธีอื่น ๆ ในการสร้างรายได้ ได้อีกหลากหลายรูปแบบ
โดยเฉพาะวิธีการที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ คิดค้นขึ้นมา เพื่อทำให้ครีเอเตอร์ สามารถสร้างรายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการจ้างงานโดยตรงจากแบรนด์ต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว
มีวิธีอะไรบ้างนั้น เรามาดูไปพร้อม ๆ กัน โดยแยกเป็นแต่ละแพลตฟอร์ม
TikTok
- TikTok Creator Marketplace
คือแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางระหว่างแบรนด์ กับครีเอเตอร์บน TikTok
เพื่อให้แบรนด์สามารถค้นหาครีเอเตอร์ที่ต้องการร่วมงานกับแบรนด์ เช่น โปรโมตสินค้า หรือทำแคมเปญการตลาด บน TikTok
โดย TikTok Creator Marketplace จะมีการระบุข้อมูลสถิติของครีเอเตอร์แต่ละคนเอาไว้อย่างละเอียด เช่น จำนวนผู้ติดตาม ยอดวิว และเอนเกจเมนต์เฉลี่ย
ซึ่งครีเอเตอร์ที่ต้องการใช้งาน TikTok Creator Marketplace จะต้องทำการลงทะเบียนก่อน เพื่อให้แบรนด์สามารถหาครีเอเตอร์บน TikTok Creator Marketplace พบ
- LIVE Gifts และ Video Gifts
LIVE Gifts และ Video Gifts ก็คือการส่งของขวัญ เช่น หัวใจ ไอศกรีม ดอกกุหลาบ หรือสติกเกอร์ของขวัญรูปแบบอื่น โดยมีราคาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 1 เหรียญ ไปจนถึงหลายหมื่นเหรียญ
โดยผู้รับชมที่ต้องการส่งของขวัญให้กับครีเอเตอร์ จะต้องทำการซื้อเหรียญของ TikTok ก่อน โดยสามารถซื้อได้เริ่มต้นที่ 30 เหรียญ ในราคา 11.38 บาท (ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2567)
ส่วนครีเอเตอร์ที่ได้รับของขวัญจากผู้รับชม ก็สามารถสะสมของขวัญ แล้วนำมาแลกเป็นเงินจริง ๆ ได้ ตามอัตราที่ TikTok กำหนด
- TikTok Subscription
เป็นระบบที่ทำให้ครีเอเตอร์เจ้าของช่อง TikTok สามารถเปิดรับสมาชิก (Member) ที่จ่ายเงินค่าสมาชิกรายเดือน เพื่อแลกกับการเข้าถึงคอนเทนต์แบบพิเศษ
เช่น คลิปวิดีโอ ไลฟ์ แช็ต คอมเมนต์ สติกเกอร์ และสัญลักษณ์ (Badges) สำหรับสมาชิกเท่านั้น
- TikTok Series
เป็นระบบที่ทำให้ครีเอเตอร์เจ้าของช่อง TikTok สามารถรวบรวมคลิปวิดีโอต่าง ๆ ใน TikTok เป็นชุด ๆ (Series)
แล้วขายคลิปวิดีโอชุดนั้น เป็นเอกซ์คลูซิฟคอนเทนต์ ให้กับผู้รับชมที่สนใจ ตามราคาที่ครีเอเตอร์เป็นผู้กำหนด
เช่น การขายคลิปวิดีโอชุด ที่มีลักษณะเหมือนคอร์สเรียนออนไลน์ ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ
- TikTok Affiliate
เป็นโมเดล Affiliate Marketing ของ TikTok Shop ที่มอบค่าคอมมิชชัน หรือส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าต่าง ๆ บน TikTok Shop เมื่อมีผู้รับชมคอนเทนต์ ซื้อสินค้าผ่านช่องทาง หรือลิงก์ของครีเอเตอร์
YouTube
- Ad Revenue
เป็นวิธีการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์ โดยการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ YouTube Partner Program เพื่อรับเงินส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาที่แสดงอยู่ในคลิปวิดีโอต่าง ๆ ทั้งคลิปวิดีโอแบบปกติ และคลิปวิดีโอแบบสั้น หรือ YouTube Shorts
โดยคร่าว ๆ คือ YouTube จะจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาให้กับครีเอเตอร์ในสัดส่วน 55% สำหรับคลิปวิดีโอแบบปกติ และ 45% สำหรับคลิปวิดีโอ Shorts
และมีเงื่อนไขปลีกย่อยอื่น ๆ คือ ช่องของครีเอเตอร์ต้องมีจำนวนผู้ติดตาม 1,000 คนขึ้นไป และมีชั่วโมงการรับชมคลิปวิดีโอที่เป็นสาธารณะ 4,000 ชั่วโมงขึ้นไป ในรอบ 365 วัน
หรือมียอดการรับชมคลิปวิดีโอ Shorts สะสม 10 ล้านวิวขึ้นไป ในรอบ 90 วัน จึงจะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ YouTube Partner Program ได้
- YouTube Premium Revenue
เป็นวิธีการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์ ที่แตกต่างจากวิธีแรก คือแทนที่ครีเอเตอร์จะได้รับเงินส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาที่แสดงอยู่ในคลิปวิดีโอต่าง ๆ ของ YouTube
แต่หากผู้รับชมคอนเทนต์คนใดสมัครใช้บริการ YouTube Premium ซึ่งไม่มีการแสดงโฆษณา มารับชมคลิปวิดีโอของครีเอเตอร์ ครีเอเตอร์ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าบริการ YouTube Premium ที่ผู้ใช้แต่ละคนจ่ายด้วย
แต่ทั้งนี้ YouTube ไม่ได้มีการระบุตรง ๆ ว่าครีเอเตอร์จะได้ส่วนแบ่งมากน้อยเพียงใด
โดยบอกแต่เพียงว่า ยิ่งมีผู้ที่สมัคร YouTube Premium รับชมคอนเทนต์มากเท่าใด ครีเอเตอร์ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าบริการ YouTube Premium มากเท่านั้น
ส่วนเงื่อนไขการรับส่วนแบ่งจากค่าบริการ YouTube Premium ของครีเอเตอร์ ก็เหมือนกับการรับส่วนแบ่งจากค่าโฆษณา
คือ ช่องของครีเอเตอร์ต้องมีจำนวนผู้ติดตาม 1,000 คนขึ้นไป และมีชั่วโมงการรับชมคลิปวิดีโอที่เป็นสาธารณะ 4,000 ชั่วโมงขึ้นไป ในรอบ 365 วัน หรือมียอดการรับชมคลิปวิดีโอ Shorts สะสม 10 ล้านวิวขึ้นไป ในรอบ 90 วัน
- Channel Memberships
ทำความเข้าใจง่าย ๆ ว่า Channel Memberships ก็คือระบบที่ทำให้ครีเอเตอร์สามารถเปิดรับสมัครสมาชิก (Member) ที่จ่ายเงินรายเดือน แลกกับการเข้าถึงคอนเทนต์แบบเอกซ์คลูซิฟ ที่หารับชมแบบฟรี ๆ ไม่ได้
โดย Member จะต้องจ่ายเงินเป็นรายเดือน ตามอัตราที่ครีเอเตอร์กำหนด โดยเริ่มต้นที่ 20 บาท/เดือน
ซึ่ง YouTube จะหักส่วนแบ่งรายได้ไว้ 30% ในขณะที่ครีเอเตอร์จะได้เงินค่าสมัครสมาชิกจาก Member ในสัดส่วน 70%
โดยมีเงื่อนไขคือ ช่องของครีเอเตอร์ต้องมีจำนวนผู้ติดตาม 500 คนขึ้นไป ต้องอัปโหลดคลิปวิดีโอที่เป็นสาธารณะอย่างน้อย 3 คลิปวิดีโอ ในระยะเวลา 90 วันที่ผ่านมา
และต้องมีระยะเวลาการรับชมคลิปวิดีโอรวม 3,000 ชั่วโมง ในรอบ 365 วัน หรือมีจำนวนการรับชมคลิปวิดีโอ Shorts อย่างน้อย 3 ล้านวิว ในรอบ 90 วัน
- Super Chat & Super Stickers
คือฟีเชอร์ที่ทำให้ผู้รับชมสามารถจ่ายเงิน เพื่อทำให้ข้อความที่ส่งในกล่อง Live Chat ระหว่างที่ครีเอเตอร์ทำการไลฟ์ หรือเผยแพร่คลิปวิดีโอแบบพรีเมียร์ มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการไฮไลต์สี และปักหมุดข้อความไว้ในระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงส่งสติกเกอร์น่ารัก ๆ เป็นการให้กำลังใจครีเอเตอร์
โดยราคาของ Super Chat จะเริ่มต้นที่ 20 บาท ไปจนถึง 10,000 บาท (ยิ่งแพง ยิ่งปักหมุดนาน และพิมพ์ข้อความได้ยาวมากขึ้น)
ส่วนราคาของ Super Stickers จะเริ่มต้นที่ 19 บาท ไปจนถึง 1,000 บาท
ซึ่ง YouTube จะหักส่วนแบ่งรายได้ไว้ 30% ในขณะที่ครีเอเตอร์จะได้เงินค่าสมัครสมาชิกจาก Member ในสัดส่วน 70%
- Super Thanks
คือฟีเชอร์ที่ทำให้ผู้รับชมสามารถจ่ายเงิน เพื่อทำการขอบคุณครีเอเตอร์เป็นการพิเศษได้ โดยที่ผู้ที่ซื้อ Super Thanks จะมีการแสดงแอนิเมชันสวย ๆ ที่หน้าจอ 1 ครั้ง พร้อมกับสามารถพิมพ์คอมเมนต์ที่มีการไฮไลต์ด้วยสีสันที่เด่นกว่าคอมเมนต์อื่น ๆ
ซึ่ง Super Thanks นั้น มีราคาเริ่มต้นที่ 20 บาท ไปจนถึง 10,000 บาท โดยครีเอเตอร์จะได้รับส่วนแบ่งที่ผู้รับชมซื้อ Super Thanks ให้ จาก YouTube ในสัดส่วน 70%
Facebook
- In-Stream Ads
เป็นวิธีในการสร้างรายได้บน Facebook ของครีเอเตอร์ ด้วยการเปิดให้แสดงโฆษณาแทรกอยู่ในคอนเทนต์ประเภทคลิปวิดีโอ ทั้งโฆษณาที่แสดงก่อนเริ่มคลิปวิดีโอ แทรกระหว่างคลิปวิดีโอ หรือหลังคลิปวิดีโอจบ
ซึ่งครีเอเตอร์จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ค่าโฆษณา ตามยอดวิวที่เข้าเงื่อนไข ในเรตที่ Facebook เป็นผู้กำหนดขึ้น
โดยครีเอเตอร์ที่จะสามารถสร้างรายได้ด้วยวิธีนี้ได้ จะต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญ ๆ คือ ต้องมียอดผู้ติดตามเพจ 10,000 คนขึ้นไป และมีการรับชมคลิปวิดีโอสะสม 600,000 นาที ในรอบ 60 วัน
- Ads on Facebook Reels
มีลักษณะคล้ายกับ In-Stream Ads แต่จะเป็นโฆษณาที่แสดงแทรกอยู่ในคอนเทนต์ประเภท Facebook Reels
โดยที่ครีเอเตอร์ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ค่าโฆษณา ตามเงื่อนไขที่ Meta เป็นผู้กำหนดขึ้นเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ Ads on Facebook Reels เป็นวิธีการหารายได้ที่ครีเอเตอร์ต้องได้รับคำเชิญจาก Facebook เป็นรายบุคคลเท่านั้น
ไม่ได้เปิดให้สมัครเข้าร่วมโครงการเหมือนอย่างวิธีการหารายได้อื่น ๆ
- Subscriptions
เป็นระบบที่ทำให้ครีเอเตอร์เจ้าของเพจ สามารถเปิดรับสมัคร Member ซึ่งเป็นสมาชิกที่ยอมจ่ายเงินรายเดือน แลกกับการเข้าถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ครีเอเตอร์กำหนดขึ้น
เช่น สัญลักษณ์ (Badge) ที่แสดงสถานะ Member การเข้าถึง Facebook Group คอนเทนต์พิเศษ และไลฟ์เฉพาะ Member เท่านั้น
ซึ่งครีเอเตอร์จะได้รับเงินค่าสมาชิกจาก Member 100% โดยที่ Facebook ไม่ได้หักส่วนแบ่งใด ๆ เลย หาก Member สมัครสมาชิกผ่านเว็บเบราว์เซอร์ (จนถึงสิ้นปี 2567)
แต่หาก Member มีการสมัครสมาชิกผ่านระบบ Android หรือ iOS จะมีการหักค่าธรรมเนียม In-App Purchase ในสัดส่วน 30%
- Stars
มีลักษณะเช่นเดียวกับการให้ของขวัญ เพื่อเป็นกำลังใจในการผลิตคอนเทนต์ของครีเอเตอร์ โดย Stars นั้น สามารถให้ได้ทั้งคอนเทนต์คลิปวิดีโอแบบปกติ Reels หรือไลฟ์ก็ได้
โดย Stars ที่ผู้รับชมให้ครีเอเตอร์นั้น จะมีมูลค่า 0.01 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30 สตางค์) ต่อ Stars 1 ดวง
Instagram
- Subscriptions
มีลักษณะคล้ายกับระบบ Subscriptions ของ Facebook ที่เปิดให้ผู้ติดตามสมัครเป็น Member โดยการจ่ายเงินรายเดือน เพื่อเข้าถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ครีเอเตอร์กำหนดขึ้น
เช่น สัญลักษณ์ (Badge) ที่แสดงสถานะ Member ไลฟ์ สตอรี โพสต์ และ Reels พิเศษสำหรับ Member เท่านั้น
- Gifts on Reels
เป็นการให้ของขวัญเพื่อให้กำลังใจในการผลิตคอนเทนต์ของครีเอเตอร์ แบบเดียวกับ Stars ของ Facebook แต่จะสามารถให้ Stars ได้เฉพาะกับคอนเทนต์ประเภท Reels เท่านั้น
โดย Stars ที่ผู้รับชมให้ครีเอเตอร์นั้น จะมีมูลค่า 0.01 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30 สตางค์) ต่อ Stars 1 ดวง
อ้างอิง :
- ข้อมูลจากเว็บไซต์ของแต่ละแพลตฟอร์ม
โฆษณา