7 พ.ย. 2024 เวลา 06:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Variety เผย Riot ใช้ทุนสร้างซีรีส์ “Arcane” สองซีซั่น ทั้งหมดเกือบ $250 ล้านเหรียญ

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ที่กาลพลังแห่งอาร์เคนจะอุบัติ สำหรับซีรีส์แอนิเมชัน “Arcane” ซีซั่นสอง ซึ่งจะเป็นซีซั่นสุดท้ายที่สานต่อความสำเร็จระดับถล่มทลายของซีซั่นแรก ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างสถิติเปิดตัวขึ้นแท่น เป็นเนื้อหาซีรีส์อันดับ 1 ใน 85 ประเทศบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Netflix รวมถึงกวาดรางวัล Emmy กลับมาได้ถึง 4 สาขา และก็อาจเป็นความท้าทายที่ซีซั่นที่สอง จะขึ้นเทียบชั้นมาตรฐานอันยอดเยี่ยมกับซีซั่นแรก
ล่าสุดทาง Variety ได้เผยรายงานถึงเบื้องหลังและความทะเยอทะยานของการสร้างซีรีส์ “Arcane” ผลงานซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียว ที่ทาง Riot Games ได้อำนวยการสร้างออกมา ว่าทั้งสองซีซั่น ซึ่งกินความยาวถึง 18 ตอน ใช้ทุนสร้างและทุนการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ $250 ล้านเหรียญ และถือเป็นซีรีส์แอนิเมชันที่มีทุนสร้างที่สูงที่สุดที่เคยสร้างกันมา
ซึ่ง “Arcane” ถือเป็นผลผลิตปานลูกในไส้ของ คริสเตียน ลินเก้ และ อเล็กซ์ ยี ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายสนับสนุนผู้เล่นของ Riot โดยไร้ซึ่งประสบการณ์จริงในการผลิตผลงานรายการโทรทัศน์ แต่มีไอเดียที่จะสร้างซีรีส์โดยดึงเอาเรื่องราวมาจากภูมิหลังของเหล่าตัวละครจากเกม “League of Legends“
ก่อนที่ปี 2016 Riot จะมอบหมายงานและไฟเขียวให้ทั้งสองสร้างผลงานซีรีส์ชิ้นแรก ร่วมกับสตูดิโอแอนิเมชันสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Fortiche ซึ่งเคยทำงานกับ Riot ผ่านการสร้างผลงานมิวสิควิดีโอและชิ้นงานวิดีโอประชาสัมพันธ์ขนาดสั้นต่าง ๆ มาแล้วมากมาย
โดยรายงานยังเสริมด้วยว่า 9 ตอนของซีซั่นแรก ใช้งบประมาณในการสร้างกว่า $80 ล้านเหรียญ ขณะที่ 9 ตอนของซีซั่นสอง ใช้งบประมาณอยู่เกือบ ๆ $100 ล้านเหรียญ เลยทีเดียว ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทุนสร้างของซีรีส์ “Arcane” สูงกว่าการสร้างซีรีส์แอนิเมชันตามปกติ ก็มาจากสองปัจจัยอย่าง การใช้แรงงานคนที่เข้มข้น และปัญหาด้านทุนสร้าง ที่เกิดจากความล่าช้าของการส่งบท นั่นก็เพราะ ซีซั่นสองถูกประกาศงานสร้าง ขณะที่บทเพิ่งเขียนได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ รายงานยังเสริมด้วยว่า การใช้งบประมาณในการสร้างที่สูงทะยานฟ้าระดับนี้ ก็สะท้อนถึงความอ่อนประสบการณ์ของ Riot Games ในการจัดการซึ่งความซับซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการสร้างสื่อบันเทิง
นอกเหนือจากนี้ Variety ยังเผยถึงแหล่งรายงานภายในที่ว่า ในช่วงปี 2020 ทาง Riot ได้จัดการเข้าหาและเซ็นสัญญากับทางสองพี่น้อง แอนโทธี และ โจ รุสโซ่ ที่เคยทำหน้าที่กำกับและอำนวยการสร้าง “Avengers” ให้กับทาง Marvel Studios เพื่อมาพัฒนาโครงการหนังที่จะดึงเรื่องราวจากเกม “League of Legends” ด้วย
เพียงแต่ หลังจากนั้น Riot ทำการพิจารณาทิศทางการสร้างสรรค์งานที่ทาง สองพี่น้องรุสโซ่ เสนอใหม่ จนต้องมีการเจรจาข้อตกลงกันใหม่ ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่สู้ดีนัก เพราะทาง Riot ต้องจ่ายเป็นค่าเสียเวลาให้กับทางรุสโซ่ เป็นมูลค่ากว่า $5 ล้านเหรียญ เพื่อให้พวกเขาถอนตัวออกจากโครงการ นั่นเพราะเงื่อนไขสัญญาผูกพันตัว Riot กับตัวบทซึ่งทั้งสตูดิโอไม่ได้ต้องการอีกแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ทาง Riot ยังใช้งบประมาณของตนเอง ในการประชาสัมพันธ์ซีรีส์ “Arcane” ซีซั่นแรก ที่สูงมากถึง $60 ล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่างบประมาณประชาสัมพันธ์ปกติ ที่สตูดิโอสื่อบันเทิงจะใช้กับซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่จัดจำหน่ายเอง แถมงบตรงนี้ก็มากกว่างบประชาสัมพันธ์ที่ Netflix ทุ่มให้กับซีรีส์เสียอีก ขณะที่ซีซั่นสองนั้น อาจใช้งบประชาสัมพันธ์ที่น้อยกว่าซีซั่นแรกมาก
ตัวอย่างการใช้งบประชาสัมพันธ์ของซีรีส์ “Arcane” ซีซั่นแรก โดย Riot ก็คือ การฉายภาพซีรีส์ “Arcane” ขึ้นบนตึกเบิร์จคาลิฟา ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ด้วยงบประมาณที่สูงมาก ทำให้ซีรีส์ “Arcane” น่าจะไม่ใช่โครงการที่สร้างกำไรด้านเม็ดเงินให้กับทาง Riot อย่างแน่นอน แม้ว่าทาง Netflix จะจ่ายค่าจัดจำหน่ายทั่วโลก เป็นมูลค่า $3 ล้านเหรียญต่อตอน รวมถึง Tencent จะจ่ายค่าจัดจำหน่ายเฉพาะในประเทศจีน $3 ล้านเหรียญต่อตอนเช่นกัน
แต่ทาง Riot ก็จะใช้แหล่งรายได้เสริมจากทางอื่น เช่น การขายสกินตัวละครและสินค้าผลิตภัณฑ์ ที่ไม่เคยถูกวางขายในช่วงซีซั่นแรกของ “Arcane” เพื่อช่วยชดเชยงบดุลรายจ่ายที่ใช้ในซีซั่นสอง ดังนั้น สถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับด้านรายได้ คือท้ายที่สุด ซีรีส์จะทำรายได้ออกมาเท่าทุน
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิสัยทัศน์ของ ประธานคณะกรรมการของ Riot ในตอนนั้นอย่าง มิโคโล ลอว์เรนท์ วางเป้าหมายทางธุรกิจไว้อย่างชัดเจน ด้วยการวางแผนก่อร่าง Riot Games ในฐานะ “อาณาจักรสื่อบันเทิงของศตวรรษที่ 21“
ซึ่งถึงแม้ Riot Games จะเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเกม “League of Legends” ซึ่งสามารถเล่นได้ฟรีและไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เกมดังกล่าวก็ถือเป็นเรือธงของบริษัท ที่ทำกำไรในปีที่ผ่านมาได้สูงสุดถึง $3 พันล้านเหรียญ และแม้จะเป็นเปอร์เซ็นต์กำไรที่เล็กน้อยจากการขายสินค้าเสมือน แต่ค่าใช้จ่าย ก็ไม่ได้ทำให้บริษัทยี่หระในการเข้าสู่ฮอลลีวู้ดแต่อย่างใด
และด้วยความสำเร็จของซีรีส์ “Arcane” ทาง ลอว์เรนท์ ก็เล็งเห็นโอกาสในการขยับขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งหมายความถึงการเพิ่มพูนซึ่งคุณค่าของทาง Riot และสร้างความหลากหลายให้มากขึ้น ในวิถีเดียวกันกับที่บริษัทเคยนำตัวเกม “League of Legends” ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมอีสปอร์ตจนประสบความสำเร็จ
ด้าน มาร์ค เมอร์ริลล์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ ก็ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของทาง Riot ที่จะผลิตซึ่งภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ที่เปี่ยมคุณภาพ ซึ่งแม้ เมอร์ริลล์ จะปฏิเสธถึงตัวเลขทุนสร้าง $250 ล้านเหรียญ แต่เขาก็รับทราบถึงความยากง่ายจากการเรียนรู้ในการกระบวนการสร้างสื่อบันเทิง
“ความทะเยอทะยานของเราในสื่อบันเทิงไม่เคยเปลี่ยนแปลง เราไม่เคยตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ในวิถีขนบสตูดิโอด้วยตารางเวลาปกติทั่วไป แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป ขณะที่เราได้เรียนรู้ก็คือ ความคาดหวังที่พวกเรามีต่อตัวเราเอง เราได้ตระหนักว่า การทำให้มันออกมาถูกต้อง มันใช้เวลามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ และเราได้จัดการยกเครื่องฝ่ายพัฒนา เป้าหมายของผลผลิต และทีมงานที่มีเป้าเหล่านั้นอยู่ในใจ”
“เราพึงพอใจกับทุนที่ได้ทุ่มงบไป เพื่อนำมาซึ่งผลงานรายการโทรทัศน์ที่คุ้มค่าต่อผู้เล่นของพวกเรา” เมอร์ริลล์ กล่าวตอบกลับบทความ
ซึ่งกลยุทธ์ของทาง Riot ในการสร้างสื่อบันเทิงที่ดัดแปลงจากเกม ด้วยการใช้บุคลากรวงในของบริษัทผู้ผลิตเกมโดยตรงในการผลิตเนื้อหา และนำเอาบุคลากรภายนอก มาเสริมแกร่งในการถ่ายทอดองค์ความรู้ของขั้นตอนการผลิตสื่อบันเทิง แทนที่จะเป็นตามขนบอุตสาหกรรมฮอลลีวู้ด ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นของแสลง จนเริ่มมาประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในยุคหลัง แบบซีรีส์ “The Last of Us” และ “Five Nights at Freddy’s“
กระนั้นเอง ภายใน Riot เอง ก็ยังมีอุปสรรคจากวิสัยทัศน์ที่ ลอว์เรนท์ ได้วางไว้ ทั้งในแง่ที่ว่า ผู้บริษัทบางส่วนภายในบริษัทมองว่า การดัดแปลงเกมให้เป็นสื่อบันเทิง คือสิ่งที่อาจทำให้บริษัทไขว้เขวออกจากความสามารถที่แท้จริงของบริษัทไป
รวมถึงในช่วงภาวะปี 2023 ที่ ลอว์เรนท์ ลงจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการ และได้ ดีแลน เจอดีอา มาดำรงตำแหน่งแทน โดยที่วิสัยทัศน์ของ ลอว์เรนท์ ยังคงเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน ซึ่งทาง เมอร์ริลล์ ช่วยเสริมว่า คำกล่าวที่ว่า “อาณาจักรสื่อบันเทิงของศตวรรษที่ 21” นั้น ควรจะมาคู่กับ “โดยมีเกมเป็นศูนย์กลาง“
ยังไม่นับรวมถึง การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ของ Riot ในช่วงต้นปี 2024 ที่ผ่านมา จนส่งผลให้ทาง Riot ต้องจัดการปลดพนักงานออกมากถึง 530 ราย นั่นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของฝ่ายสื่อบันเทิง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้า “เสาหลัก” ฝ่ายปฏิบัติการของทาง Riot ด้วยการยุบแผนกนั้นลง ส่งผลให้หัวหน้าของแผนกกระจัดกระจายไปอยู่ในแผนกอื่น ๆ แทน
กระนั้นเอง แม้จะดูน่าหวาดหวั่น แต่ตัวแทนฝ่าย Riot ก็กล่าวว่า ขั้นตอนการปรับโครงสร้างภายในหลังยุบเสาหลักฝ่ายสื่อบันเทิงลง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ รวมถึงการปรับโครงสร้างด้วยการลดการให้ความสำคัญของฝ่ายสื่อบันเทิง ดูจะส่งผลดีต่อภายในองค์กรโดยรวมมากกว่า
ซึ่งหากกล่าวถึงในเชิงงบดุล เสาหลักฝ่ายสื่อบันเทิง ก็ไม่เคยเป็นฝ่ายหลักที่กระทบต่องบดุลของ Riot เลยด้วยซ้ำ โดยภายในเปรยว่า ฝ่ายสื่อบันเทิงใช้งบประมาณเพียง 2% จากค่าใช้จ่ายที่ Riot ใช้ในเชิงปฏิบัติการเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ความคาดหวังที่ผู้ชมมีต่อ ซีรีส์ “Arcane” ซีซั่นสองก็ยังคงสูงเสียดฟ้า ถึงแม้ตัวซีรีส์จะได้รับผลกระทบ จากการเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาของ Netflix ที่ถูกหลุดออนไลน์ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระนั้นเอง ทางด้าน เจอดีอา ประธาน Riot คนปัจจุบัน ก็ยังคงยึดมั่นในวิสัยทัศน์ที่ ลอว์เรนท์ ประธานคนก่อนได้วางไว้ ผ่านการคุมคุณภาพผลงาน แม้จะมีอุปสรรคในระหว่างการทำงานก็ตาม
“ความทะเยอทะยานของพวกเราในแวดวงสื่อบันเทิงยังคงสูงลิ่ว แต่การสร้างผลงานสื่อบันเทิงด้วยมาตรฐานที่เรายึดมั่น.. มันยากมากจริง ๆ” เจอดีอา กล่าวทิ้งท้าย
ซีรีส์ “Arcane” ซีซั่นสอง จะบอกเล่าบทสุดท้าย หลังการโจมตีของจิงซ์กับสภาสูง ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างพิลโทเวอร์กับซอนรุนแรงมากยิ่งขึ้น สร้างสรรค์โดย คริสเตียน ลินเก้ และ อเล็กซ์ ยี โดยได้ สตูดิโอแอนิเมชันสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Fortiche ผลิตแอนิเมชัน ให้เสียงพากย์โดย เฮย์ลี สไตน์เฟลด์, เอลลา เพอร์เนลล์ และ เคธี เหลิง
ซีรีส์ “Arcane” ซีซั่นสอง ซึ่งเป็นซีซั่นสุดท้าย มีกำหนดการสตรีมมิ่งทาง Netflix เป็นสามองก์ ในวันที่ 9, 16 และ 23 พฤศจิกายน 2024
โฆษณา