Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
chatchawassa
•
ติดตาม
7 พ.ย. เวลา 05:45 • สิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาวิกฤติแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน (ท่าจีนตอนล่าง)
แม่น้ำท่าจีนเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญอันดับสองของประเทศและลุ่มน้ำภาคกลางรองจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนแยกจากฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท
ตอนต้นของแม่น้ำเรียกว่าคลองมะขามเฒ่า ช่วงไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่าแม่น้ำสุพรรณ เมื่อไหลผ่านจังหวัดนครปฐมเรียกว่าแม่น้ำนครชัยศรี และไหลออกสู่อ่าวไทยบริเวณจังหวัดสมุทรสาครมีความยาวทั้งหมด 325 กิโลเมตร มีประชากรในพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 2 ล้านคนซึ่งมีการกระจายตัวส่วนใหญ่ตามริมแม่น้ำท่าจีน มีการใช้ประโยชน์คือการเกษตร 76% ป่าไม้ 7.5% อุตสาหกรรม 0.1% (ปัจจุบันเพิ่มขึ้นปีละกว่า 18%) ชุมชน 13% แหล่งน้ำ 1% อื่นๆ 2.4%
แม่น้ำท่าจีนตอนล่างตั้งแต่ภายในจังหวัดนครปฐมไปจนถึงจังหวัดสมุทรสาครมีความเสื่อมโทรมมากจัดให้อยู่ระดับ 5 ในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตนั้นอยู่ในระดับ 4 โดยเฉพาะคลองบางแก้วและคลองเจดีย์บูชามีคุณภาพน้ำที่วิกฤติคือมีปัญหากลิ่นเหม็น แมลงวันและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่
แหล่งกำเนิดน้ำเสียในพื้นที่ประกอบไปด้วยแหล่งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม การเกษตร (ฟาร์มเลี้ยงหมูและการ เกษตรเชิงพาณิชย์ที่ใช้สารเคมี) และวัชพืชในคูคลอง
เหตุผลที่ผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาควรเลือกแนวคิดยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่มาใช้ในการแก้ปัญหา
ด้วยอัตราความเจริญเติบโตของประชากรมนุษย์เพิ่มมากขึ้นความต้องการทางด้านที่อยู่อาศัย การบริโภค อุปโภคของมนุษย์จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่นการทำฟาร์มสุกรในพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม การทำการเกษตรจากวิถีดั้งเดิมที่เปลี่ยนมาเป็นเชิงพาณิชย์ ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยของชุมชน
ถึงแม้ว่าเราสามารถเพิ่มกิจกรรมดังที่กล่าวมานี้ได้แต่ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมก็มีขีดจำกัดในการรองรับของเสียที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมเหล่านั้น มนุษย์จึงมีความคิดที่จะควบคุมระบบนิเวศแทนธรรมชาติเพื่อสนองต่อความต้องการ
แต่เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการควบคุมระบบนิเวศของมนุษย์โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นจะเป็นการเลื่อนเวลาของผลกระทบออกไป หรือเป็นแค่เพียงย้ายผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมไปไว้ในพื้นที่อื่น ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่ตำบลแพรกหนามแดงในสมัยก่อน
ในระยะแรกๆ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ส่งผลทันที แต่จะส่งผลในระยะต่อมาเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างการทำลายสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดตามมาไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเส้นตรง
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือแม่น้ำท่าจีนตอนล่างมีการจัดการแบบ Open Access คือไม่มีการจัดการปัญหา การแย่งชิงทรัพยากรจึงทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมเพราะผู้ใช้ทรัพยากรดังกล่าวจะตักตวงผลประโยชน์เฉพาะหน้าก่อนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาว รวมถึงการที่ชุมชนดังกล่าวไม่เข้มแข็งหมายถึงแรงจูงใจในการช่วยกันอนุรักษ์ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่การแก้ปัญหาของภาครัฐก็ไม่ได้ผลเนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้งบประมาณที่นำไปใช้แก้ไขปัญหาสูญเสียไปอย่างไร้ประโยชน์
ยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่นี้จะทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ดังต่อไปนี้
1. การสร้างขอบเขตของทรัพยากรและสมาชิกผู้ใช้ทรัพยากร
2. การจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น
3. การมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากร
4. การตรวจสอบและติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
5. การสร้างกฎ ควบคุมและลงโทษภายในชุมชน
6. การจัดการแก้ไขความขัดแย้ง
7. การพึ่งพาตนเอง
8. การสร้างเครือข่ายภายนอก ภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้ความรู้และสนับสนุนการจัดการของชุมชน
จากการเรียนรู้ดังกล่าวจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนแบบแผนของความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การจัดการทรัพยากรร่วม นำมาซึ่งการเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของสมาชิกในชุมชน
หลักการและแนวทาง
การแก้ปัญหาวิกฤติของ แหล่งน้ำโดยทั่วไปจะดำเนินโดยฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว ถึงแม้ว่าจะให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมบ้างแต่ประชาชนเหล่านั้นก็ต้อง ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ของรัฐ จุดด้อยของยุทธศาสตร์นี้ก็คือหน่วยงานรัฐที่เข้าไปกำหนดแผนงานต่างๆ ไม่ มีความเข้าใจสภาพพื้นที่ ความเป็นอยู่และความต้องการของประชาชน รวมถึงวัฒนธรรมในชุมชนนั้นๆ จึงเป็นเหตุให้ยุทธศาสตร์แบบเดิมๆ ล้มเหลว
ที่จริงแล้วประชาชนในพื้นที่รับรู้มาตลอดถึงปัญหา สถานการณ์และผลกระทบที่เกิดกับพวกเขา แต่ประชาชนเหล่านั้นไม่ได้ตระหนักหรือไม่สามารถที่จะประมวลความรู้สึกและ ความคิดออกมาเป็นฐานความคิดและกระบวนการในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากสาเหตุที่ว่า "ธุระไม่ใช่ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ปัญหาและบริการประชาชน"
ด้วยความคิดแบบนี้เอง ภาครัฐจึงต้องตามแก้ปัญหาและสิ้นเปลืองงบประมาณไม่มีวันที่สิ้นสุด ถึง แม้ทุกวันนี้จะมีเครือข่ายภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ศึกษาและแก้ปัญหาลุ่มน้ำท่าจีนก็ตามแต่ก็เป็นหน่วยงานหรือบุคคลที่มาจาก พื้นที่อื่น มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นประชาชนในพื้นที่
ท่าน คิดว่าประชาชนส่วนน้อยที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมอยู่ในเครือ ข่ายต่างๆ นี้ได้รับรู้ถึงความต้องการและปัญหาของประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดหรือไม่?
ท่านคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่มีความคิดว่า ธุระไม่ใช่เป็นจุดสำคัญที่สุดของอุปสรรค์ในการแก้ปัญหาหรือไม่?
ท่านคิดว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ที่นำโดยภาครัฐจะสามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนหรือไม่?
แนวคิดยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่เน้นที่การศึกษาวิจัยด้วยตนเองของประชาชนใน พื้นที่ เป้าหมายก็เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะให้คำตอบของคำถามด้านบนได้ทั้งหมด
การให้ความรู้และพัฒนาฐานความคิดของประชาชนในพื้นที่โดยภาครัฐ เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่ จุดประสงค์ก็เพื่อให้ประชาชนได้รู้ถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับ พวกเขา รวมถึงเหตุแห่งปัญหา วิธีการแก้ไขและผลลัพธ์ที่พวกเขาจะได้เมื่อปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขแล้ว
การให้ความรู้จะทำให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันสร้างองค์กรที่เข้มแข็งในการร่วมกันเฝ้าระวังเหตุ แห่งปัญหาที่จะเกิดขึ้น (ดังตัวอย่างที่ตำบลแพรกหนามแดงและป่าชุมชนภาคเหนือ) ด้วยตัวของพวกเขาเองโดยอัตโนมัติ
จากการให้ ความรู้ดังกล่าวจะทำให้เกิดปราชญ์ชาวบ้าน เขาเหล่านี้เป็นผู้ที่สั่งสมประสบการณ์และความรู้ต่างๆ ไว้มากมายตลอดชีวิต แนวทางการแก้ไข นวัตกรรมและเทคโนโลยีชาวบ้านก็จะได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้วย นอกเหนือจากวิธีแก้ไขและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ภาครัฐนำมาใช้จึงทำให้เกิดการ ผสมผสานเทคโนโลยีขึ้นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผลที่ได้จากยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่ก็คือ ภาครัฐจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำและความรู้แก่ประชาชน ในขณะที่ประชาชนก็จะเป็นผู้กำหนดวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวของพวกเขาเอง รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับพื้นที่ต้นน้ำด้วย
งบประมาณที่รัฐจะต้องจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาก็เปลี่ยนมาเป็นงบประมาณเพื่อพััฒนาคน ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วจะใช้งบประมาณที่น้อยกว่า และถ้ามีการตั้งกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยได้รับการบริจาคจากประชาชน เจ้าของพื้นที่ ก็จะทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวน้อยลงไปอีก
เมื่อประชาชนมีความรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนสำคัญและมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเองก็จะเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ขอบคุณภาพจาก มติชนออนไลน์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย