7 พ.ย. 2024 เวลา 06:07 • สิ่งแวดล้อม

ขุนสมุทรจีน แผ่นดินของเรากับความหวังอันเลือนราง

หมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้ปัจจุบันนี้พื้นดินส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจมหายไปกับทะเล
“ในอดีตบริเวณนี้มีแผ่นดินเต็มไปหมด ปัจจุบันทะเลรุกเข้ามาหลายกิโลเมตร ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ หมู่ 8 หายไปจากแผนที่ประเทศไทยแล้ว” นี่คือคำทักทายเมื่อแรกพบของผู้ใหญ่สมร
ในอดีตชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเป็นชุมชนชายฝั่งที่หากินกับทะเล พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ ทุกคนจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีที่ทำกินเป็นของตนเอง มีเพียงที่ปลูกบ้าน ที่อยู่อาศัยก็เพียงพอแล้ว
“ผู้คนที่นี่มีแต่ที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน ซึ่งก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเพราะแค่ออกไปหาหอย หาปู ก็พออยู่พอกินซึ่งถือว่าพอเพียงแล้ว ได้วันละ 200-300 บาท วันไหนได้น้อย 50-60 บาทก็ไม่ขาดทุนเพราะเราไม่มีต้นทุน ไม่ได้ใช้เครื่องมือที่ต้องใช้น้ำมัน พูดง่ายๆ คือใช้มือเก็บสัตว์น้ำนั่นเอง” ผู้ใหญ่สมร บอกกับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
แต่ปัญหาใหญ่สุดที่ชาวบ้านและผู้ใหญ่สมรต้องเผชิญอยู่ก็คือปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่นับวันยิ่งจะรุนแรงขึ้นทุกทีเนื่องจากภูมิศาสตร์องศาระนาบของพื้นทะเลของที่นี่อยู่ในเกณฑ์ที่ชันมาก
เมื่อถามว่าปัญหาการกัดเซาะได้เริ่มขึ้นเมื่อใด ผู้ใหญ่สมรบอกว่า เริ่มมาตั้งแต่อดีตแล้วมันเป็นภัยธรรมชาติ โดยดูได้จากลึกลงไปในทะเลบริเวณ 2-3 เมตรก็มีการขุดพบชุมชนโบราญชุมชนหนึ่งซึ่งสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า มีการกัดเซาะชายฝังหรือแผ่นดินมาตั้งแต่ครั้งโบราณเลยทีเดียว
เสาไฟฟ้ากันคลื่น
ผู้ใหญ่สมรได้เปรียบเทียบระยะการกัดเซาะให้เราฟังว่า ในอดีตประมาณ 30-40 ปีที่แล้วจะพบว่าชายฝั่งทะเลอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตรกว่า หลังหมู่บ้านก็จะเป็นวัดขุนสมุทราวาส ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณ กิโลเมตรกว่า ๆ
ตรงนี้เคยเป็นแผ่นดิน
ในปัจจุบันนี้วัดขุนสมุทราวาสได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนกลายเป็นเกาะไปแล้ว จากเนื้อที่วัดเป็น 100 ไร่ ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5 -6 ไร่ เมื่อรวมระยะการกัดเซาะที่เปรียบเทียบพื้นที่จากอดีตที่มีหลักฐานภาพถ่ายก็พบว่าน้ำทะเลได้กัดเซาะเข้ามาเป็นระยะกว่า 5 กิโลเมตรแล้ว นี่ยังไม่รวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกว่าเคยมีการกัดเซาะมากกว่า 10 กิโลเมตรในอดีต
สาเหตุหลักของการกัดเซาะ ผู้ใหญ่สมรเล่าให้เราฟังว่า โดยหลักใหญ่แล้วเกิดจากธรรมชาติและภูมิศาสตร์ของชายฝั่งเอง
ตะกอนที่ดักได้พร้อมจะปลูกป่าทดแทน
ส่วนที่มีผู้บอกว่าเกิดจากตัดไม้ทำลายป่าและทำบ่อเลี้ยงกุ้งของชาวบ้านในพื้นที่นั้นเป็นความจริงบางส่วน อย่าลืมว่าการตัดไม้ในพื้นที่นั้นเป็นการใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่ได้สอนเราว่า เวลาตัดไม้ไปใช้ให้แบ่งป่าไม้ออกเป็นแปลงๆ อย่าตัดทีเดียวหมด เมื่อตัดแปลงที่หนึ่งแล้วให้ปลูกเสริมรอโต ในขณะที่เราตัดแปลงที่สองและที่สามได้อีก และเมื่อแปลงที่หนึ่งโตแล้ว เราก็หมุนเวียนมาตัดใหม่อีก
อีกอย่างหนึ่งก็คือป่าถูกทำลายโดยน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามา ชาวบ้านถึงไปตัดไม้ที่มันล้มอยู่ ส่วนการทำนากุ้งนั้น อย่าลืมว่าเราไม่มีที่ทำกิน ดังนั้นการทำบ่อเลี้ยงกุ้งจึงเป็นของนายทุนซึ่งเราไม่สามารถไปยับยั้งได้ แต่ปัจจุบันนี้นากุ้งในเขตพื้นที่ของขุนสมุทรจีนไม่มีแล้วเนื่องจากพื้นที่ถูกกัดเซาะไปหมด
การแก้ปัญหาของพื้นที่นี้ในช่วงแรกๆ เป็นการนำหินไปถมบริเวณชายฝั่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการถมหินอยู่ จะเห็นได้จากวัดขุนสมุทรจีนที่มีกำแพงหินล้อมรอบ “ พวกเราทอดผ้าป่า ทอดกฐินที่วัด ได้เงินมาเท่าไหร่ก็ไปซื้อหินมาลงหมด เพราะเราต้องการรักษาพื้นที่วัดตรงนี้ไว้ ” ผู้ใหญ่สมรพูดด้วยแววตาที่มีความวิตกกังวล
ส่วนในช่วงเวลาต่อมาก็มีการใช้ไม้ไผ่ปัก แต่ว่าไม้ไผ่ไม่สามารถป้องกันแรงคลื่นได้ เนื่องจากคลื่นลมที่นี่แรงมาก ปักไม้ไผ่ไว้แล้วก็หลุดไปตามกระแสน้ำ
อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานราชการและเอกชนต่างๆ ผลที่ได้กลับมาก็คือ บางหน่วยงานก็ไม่สนใจ หน่วยงานที่สนใจก็ไม่ได้ทำความต้องการของชาวบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ไส้กรอกทราย ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เท่าที่ควร เวลาไส้กรอกทรายแตกจะทำให้ทรายในถุงไหลออกมาปนเปื้อนกับหาดโคลนทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนไป ซึ่งรวมไปถึงเศษถุงที่ห่อหุ้มทรายจะกลายเป็นขยะในทะเลอีกด้วย
ความจริงแล้วที่ชาวบ้านต้องการ คือ เสาไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อนำมาปักไว้เป็นเขื่อนชะลอคลื่นต่างหาก ซึ่งการปักเสาไฟนี้เป็นความคิดของชาวบ้านเอง และมันก็สามารถที่จะต้านทานคลื่นได้
อย่างไรก็ตามได้มีนักวิชาการได้ออกแบบเขื่อนสลายกำลังคลื่นรูปแบบนี้ชาวบ้านได้ยอมรับถึงประสิทธิภาพโดยดูได้จากชั้นตะกอนหลังเขื่อนที่เพิ่มขึ้น และสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้เห็นเป็นรูปธรรม แต่น่าเสียดายงบประมาณสำหรับ งานวิจัยนี้ได้หมดลง แล้ว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการเนื่องจากความยาวของบ้านขุนสมุทรจีน มีมากกว่า 2 กิโลเมตร
ดังนั้นชาวชุมชนทั้งหลายเลยช่วยตัวเองด้วยการขอการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างๆ ซึ่งชาวชุมชนก็ยังรองบประมาณนี้ด้วยจิตใจที่มีความหวังว่าจะหยุดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งในขณะเดียวกันก็เพิ่มแผ่นดินและป่าชายเลนให้กับประเทศชาติ
คุณวิษณุ บอกกับเราว่า “หลายคนมาทำงานวิจัยที่นี่แล้วก็เงียบไป มีแต่ความคิดในอนาคต แต่เราอยู่กับพื้นที่ที่นี่ เรารอพวกนี้ไม่ได้ นักวิจัยบางท่านกล่าวว่า ถ้าจะแก้ไขที่นี่ต้องอีกประมาณ 50ปี แต่ผมว่าถ้ารออีก 50 ปี รับรองว่าบ้านขุนสมุทรจีนหายออกไปจากแผนที่ประเทศไทยแน่นอน”
แนวคิดของคุณวิษณุก็คือแทนที่จะเสียงบวิจัยเพื่อขุนสมุทรจีน สู้เอางบตัวนี้มาทำเขื่อนสลายคลื่นดีกว่า แล้วทยอยปลูกป่าชายเลนที่หลังเขื่อน ซึ่งคุณวิษณุก็ได้ชี้ให้ดูพื้นที่หลังเขื่อนซึ่งมีตะกอนมาพักบริเวณนี้เต็มพื้นที่ ซึ่งการชะลอการกัดเซาะและเร่งปลูกป่าชายเลนเป็นตัวเสริมสร้างความแข็งแรงของชายฝั่งเพื่อรักษาแผ่นดินดินของชุมชนที่เหลืออยู่ เป็นวิธีที่แก้ปัญหาที่ดีที่สุดในเวลานี้
ขอขอบคุณผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน
คุณวิษณุ เข่งสมุทร นักวิจัยชุมชนท้องถิ่น บ้านขุนสมุทรจีน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ปีที่ 3 ฉบับที่ 28
โฆษณา