Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
7 พ.ย. เวลา 06:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
พัฒนาการเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือกับการเติบโตอย่างยั่งยืน
“เศรษฐกิจชายแดน” เครื่องยนต์เล็กที่ทรงพลัง ร่วมผลักดันเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาคเหนือและจังหวัดชายแดนของไทยยังคงเติบโต แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศ แต่...กำลังเติบโตในอัตราที่ชะลอลง พบกับหลากหลายมุมมองต่อ “โอกาสและความท้าทาย” ในการยกระดับเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ผ่าน 4 คำถามในบทความนี้
Q1: ภาพรวมเศรษฐกิจชายแดนของภาคเหนือที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ?
เศรษฐกิจชายแดนเติบโตสูงกว่าภาคเหนือ แต่เริ่มชะลอลง
●
ช่วงปี 2556-2565 เศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ ซึ่งครอบคลุมจังหวัดเชียงรายและตาก เติบโต 0.8% และ 2.0% ตามลำดับ ซึ่งชะลอลงจากช่วงปี 2546-2555 ที่เติบโตเฉลี่ยถึง 4.5% และ 3.8% อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตนี้ยังสูงกว่าของภาคเหนือซึ่งอยู่ที่ 0.6% (รูปที่ 1)
●
โดยภาคเศรษฐกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงรายและตาก คือ ภาคเกษตร แต่ภาคเศรษฐกิจอันดับ 2 และ 3 ได้แก่ ภาคการผลิตและการค้า (รูปที่ 2) ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี หลังผ่านพ้นวิกฤต เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเชียงรายชัดเจนกว่าตากด้วยแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว (รูปที่ 2 และ 3)
Q2: การค้าชายแดนของภาคเหนือ โตช้าลงเหมือนแนวโน้มเศรษฐกิจหรือไม่ ?
การค้าชายแดนภาคเหนือเติบโตเฉลี่ยถึง 11% ต่อปี ในช่วง 10 ปีล่าสุด
●
ภาคเหนือได้ดุลการค้าเฉลี่ย 90,000 ล้านบาทต่อปี โดย 86% ของมูลค่าการค้าอยู่ในพื้นที่จังหวัดตากและเชียงราย และส่วนใหญ่เป็นการค้ากับเมียนมา (รูปที่ 5 และ 6)
●
78% ของการส่งออกไทย-เมียนมา เป็นการส่งผ่านด่านชายแดนภาคเหนือ และส่วนใหญ่ส่งทางด่านแม่สอด จังหวัดตาก (รูปที่ 4 และ 7) ที่เป็นประตูเชื่อมไปยังเมืองสำคัญของเมียนมาได้สะดวกรวดเร็ว ตามความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง และเคมีภัณฑ์ ด้านการค้ากับจีน เติบโตตามการส่งออกผลไม้ผ่านทางถนนเส้นทาง R3A ขณะที่การค้ากับ สปป.ลาว ยังมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและน้ำมันเชื้อเพลิง
●
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การค้าชายแดนเติบโต ได้แก่ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ตัวกลางในการรวบรวมสินค้าตามคำสั่งซื้อ มีทำเลที่ตั้งที่สะดวก และทำการค้ามายาวนานจนกลายเป็นพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง
●
ทั้งนี้ การค้าชายแดนยังเผชิญความท้าทายหลายประการ อาทิ สินค้าจีนที่มีราคาถูกเข้ามาตีตลาด การที่ผู้ผลิตไทยเข้าไปลงทุนผลิตหรือเพิ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าไทยในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงความไม่สงบบริเวณชายแดน และการอ่อนค่าลงของสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นเชิงเปรียบเทียบ
Q3: เราเห็นพัฒนาการที่สำคัญด้านใดบ้างในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน ?
เศรษฐกิจชายแดนเติบโต
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนขยายตัว จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น มูลค่าการค้าเฉลี่ยเติบโตขึ้น
แต่พื้นที่ยังได้รับประโยชน์จากการค้าชายแดนน้อยกว่าประเทศ
60-70% ของมูลค่าส่งออกและนำเข้าผ่านด่านชายแดนในภาคเหนือ มาจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในส่วนกลาง (รูปที่ 8)
●
สินค้าส่งออกไม่ได้ผลิตในพื้นที่ และวัตถุดิบที่นำเข้ามาไม่ได้นำมาผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่เป็นหลัก ทำให้ประโยชน์ของการค้าชายแดนตกสู่พื้นที่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
พื้นที่ความเป็นเมืองขยายตัว
พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง อาทิ อาคารโรงงานและบ้านจัดสรรในบริเวณพื้นที่ชายแดนขยายตัว และการใช้พลังงานแสงไฟที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2560 โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
แต่ความเป็นเมืองเติบโตกระจุกตัวบริเวณพื้นที่ชายแดน พื้นที่ใกล้เคียงยังได้ประโยชน์น้อย
โอกาสและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากกว่าในบริเวณชายแดน อาทิ
●
มีโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคม บริการสาธารณสุข จากภาครัฐที่ดีกว่า
●
เพิ่มโอกาสในการทำงาน ทำให้รายได้เฉลี่ยของประชากรสูงกว่าพื้นที่อื่นที่อยู่ใกล้เคียง
●
ธุรกิจในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มแรงงาน จากการย้ายเข้ามาทำงานของแรงงานมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีการค้าชายแดน
โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ได้รับการพัฒนา
โครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนาให้รองรับการขนส่งและกิจกรรมการนำเข้า-ส่งออก ที่หนาแน่นขึ้น อาทิ การสร้างและพัฒนาด่านศุลกากรในจุดสำคัญ (ด่านศุลกากรอำเภอแม่สอดแห่งที่ 2 และด่านศุลกากรและศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า อำเภอเชียงของ) การขยายเส้นทางหลวงที่เชื่อมโยง และการเกิดเส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 2
แต่ต้นทุนขนส่งยังสูง กิจกรรมยังน้อยกว่าศักยภาพ
กิจกรรมที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของมีน้อยกว่าศักยภาพ จากการที่ สปป.ลาว ปรับกฎระเบียบด้านการขนส่งตั้งแต่ ปี 2563 ทำให้รถบรรทุกสินค้าของไทยเข้าไปได้เพียงแค่ห้วยทราย (แขวงบ่อแก้ว) จากเดิมที่สามารถไปได้ถึงชายแดนลาว-จีน ทำให้ต้องพึ่งบริการรถบรรทุกลาวที่จุดเปลี่ยนหัวลากในห้วยทราย (double handling) ส่งผลให้ต้นทุนและเวลาขนส่งเพิ่มขึ้น
บริการด้านสุขภาพและการแพทย์ เติบโตและเป็นที่นิยม ในเพื่อนบ้าน
การลงทุนเกี่ยวกับโรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว และมีการกำหนดนโยบายแผนงานที่อิงพื้นที่ อาทิ ภาครัฐมีแผนปฏิบัติการระดับชาติ เขตสุขภาพพิเศษ (ด้านสาธารณสุขชายแดน) ปี 2562-2565 และมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาสาธารณสุขในพื้นที่ร่วมกัน 3
แต่สาธารณสุขชายแดนยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน
●
โรงพยาบาลชายแดน ยังต้องแบกรับต้นทุนจากปัญหา ภาระค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้ของคนต่างด้าว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้าน การเคลื่อนย้ายประชากรข้ามแดน ความซับซ้อนของระเบียบ ข้อบังคับ ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ โดยในปี 2566 เป็นจำนวนเงินสูงถึง 2,054 ล้านบาท 4
●
ความเสี่ยงจากโรคระบาดตามแนวชายแดน
Q4: ข้อเสนอจากพื้นที่ - ทำอย่างไร...เศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือจึงจะเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน ?
สร้างความพิเศษ ให้พื้นที่ชายแดน เพื่อช่วยเสริมแกร่งการค้าดึงดูดการลงทุน
●
เพิ่ม สิทธิประโยชน์การทำธุรกิจในพื้นที่ชายแดน ผู้ประกอบการเห็นว่า สามารถเพิ่มแรงจูงใจในการทำธุรกิจในบริเวณที่กำหนดเป็น SEZ โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม ครบวงจร และมีอำนาจตามกฎหมาย จะช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานและการจัดสรรทรัพยากร
●
ปรับ สิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับ EEC ที่มีกฎหมายเฉพาะรองรับ และมีความคล่องตัว ผู้ประกอบการเห็นว่า ควรมีบทบังคับ/เกณฑ์ปฏิบัติที่ชัดเจนสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของพื้นที่และมีความต่อเนื่องในระยะยาว
●
เพิ่ม การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นแถบชายแดน ที่มีความเข้าใจบริบทเฉพาะของพื้นที่ ทั้งด้านงบประมาณ กฎหมายและบริหารงานบุคคล คล้ายกรณี EEC เพื่อให้จัดการปัญหาได้รวดเร็ว ทันการณ์
ใช้ประโยชน์ จากการเจรจากับทุกประเทศบนเส้นทางการค้า
ครอบคลุม ทั้งมิติการค้า การผ่านแดน การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ในทุกรูปแบบการขนส่งทั้ง รถ เรือ ราง และอากาศ
พิจารณา มาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barrier) ให้เอื้อต่อการค้า ผู้ประกอบการเห็นว่า สามารถป้องกันและลดปัญหาความเข้าใจหรือตีความแตกต่างกันในทางปฏิบัติได้ด้วยการเจรจาข้อตกลงกับทุกประเทศบนเส้นทางการค้า อาทิ การค้าชายแดนกับจีนในเส้นทางที่ต้องผ่าน สปป.ลาว
ส่งเสริม บริการแบบ one stop
เพิ่ม ความง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ด้วยการมีบริการภาครัฐ แบบ one stop เพื่อลดต้นทุน ลดเวลาในการติดต่อขออนุญาต ยื่นคำร้อง หารือ ให้ข้อมูลกับทุกหน่วยงานภาครัฐใน supply chain
เพิ่ม ความสะดวกในการใช้บริการ อาทิ ลดขั้นตอนและเอกสารตลอดจนมีข้อตกลงการให้บริการ (SLA – service level agreement)ที่ชัดเจน
สร้าง Roadmap การพัฒนาในระยะยาวที่บูรณาการ เชื่อมโยง สอดรับ ในทิศทางเดียวกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
1. ปรับแผน กำหนด Positioning และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ใหม่ ให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งของคู่ค้าและผู้บริโภค อาทิ
ผลักดันพื้นที่เชียงของเป็นประตูการค้ารองรับสินค้าเกษตรพรีเมี่ยม และสินค้ากลุ่ม cross-border e-commerce (CBEC) อาทิ ครีมบำรุงผิว สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สปา ที่มีระบบโลจิสติกส์ข้ามแดนที่ได้มาตรฐาน โดยใช้ประโยชน์จาก free zone CBEC ที่ด่านคุนหมิง และ one stop service ที่ด่านโม่ฮาน
พัฒนาด่านศุลกากร อ.เชียงของ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน เชื่อมเชียงของ-ห้วยทราย (แขวงบ่อแก้ว)-เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น-บ่อหาน (โม่ฮาน) รองรับเส้นทางขนส่งทางบกใหม่ทั้งทางถนนและทางราง
ปรับการใช้งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของเป็นศูนย์โลจิสติกส์ระดับภูมิภาค เพื่อรับและส่งต่อสินค้าภายในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเชื่อมจุดสิ้นสุดรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ เข้าไปถึงในศูนย์ฯ และกำหนดให้เป็นเขตตรวจปล่อยสินค้าตามกฎหมายศุลกากร
ปรับยุทธศาสตร์รถไฟเส้นทางเด่นชัย-เชียงของ ให้เห็นทิศทางและหมุดหมายที่ชัดเจนครบวงจรยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถวางแผน เตรียมความพร้อม เพื่อเก็บเกี่ยวโอกาสจากเส้นทางรถไฟได้อย่างเต็มศักยภาพ
2. สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในการรับชำระเงินค่าสินค้าจากคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือกับธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศในอาเซียนช่วยกันผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
3. สร้างและผลักดัน branding การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (partnership) กับภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงกันให้ครบวงจร อาทิ กลุ่มผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (โรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ สปา) กลุ่มผู้ให้บริการที่พัก (โรงแรม รีสอร์ต) กลุ่มผู้ให้บริการเดินทางและโลจิสติกส์ (บริษัททัวร์ สายการบิน รถโดยสาร) รวมทั้ง กลุ่มร้านอาหารและบริการด้านอาหาร
ที่มา : จากสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน ที่เข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการสัญจร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567
ผู้เขียนขอขอบคุณ ผู้เข้าร่วมให้ความคิดเห็นในงานสัมมนาวิชาการสัญจรทุกท่าน ผู้บริหารและคณาจารย์จากสำนักวิชาการจัดการ มฟล. หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี และหัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูล ความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะ มา ณ ที่นี้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย