Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
chatchawassa
•
ติดตาม
7 พ.ย. เวลา 07:10 • สิ่งแวดล้อม
เมื่อโชติช่วงชัชวาลในยุค 80 ทำให้เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมาบรรจบกันที่มาบตาพุดในยุคปัจจุบัน
ท่านผู้อ่านที่อายุ 45 ปีขึ้นไป น่าจะยังจำเหตุการณ์ตอนที่พบก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยครั้งแรกได้ การพบก๊าซนี้ทำให้เกิดวลีที่โด่งดังในยุคนั้นก็คือคำว่า "โชติช่วงชัชวาล"
การค้นพบก๊าซธรรมชาตินี่เองทำให้รัฐมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โดยกำหนดให้เป็นฐานการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมต้นน้ำและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเพื่อพัฒนาบ้านเมืองในยุคนั้น
ในยุคแรกประมาณปี พศ. 2530 ที่มีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ผมจำได้ว่ามีอยู่แค่ไม่กี่บริษัทเท่านั้นครับที่ไปตั้งโรงงานที่นั่น บริษัทที่สำคัญในยุคแรกนั้นก็คือ บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ เป็นบริษัทที่จัดการเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคและผลิตภัณฑ์ต้นน้ำครับ หมายถึงผลิตน้ำ ไฟฟ้า ไอน้ำและสารตั้งต้นที่จำเป็น เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตสินค้าปลายน้ำในด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอื่นๆ ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีโรงงานที่เข้ามาตั้งในนิคมอตุสาหกรรมมาบตาพุดเพิ่มมากขึ้น โรงงานเหล่านั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานเพิ่มมากขึ้นตามเศรษฐกิจที่ได้เจริญเติบโต นักศึกษาวิศวกรจบใหม่ ช่างฝีมือต่างๆ ก็นิยมไปทำงานกันที่นั่น เนื่องจากเงินเดือนสูงมาก สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดเสียอีก
นอกจากเงินเดือนจะสูงแล้วยังมีค่าตอบแทนอื่นๆ อีกเช่น ค่าเสี่ยงภัย เบี้ยกันดารและเงินช่วยค่าเช่าบ้าน ซึ่งในความเห็นของผมเงินส่วนนี้ก็มีมูลค่าสูงมากเช่นกัน ยกตัวอย่างสมัยเมื่อ 20 ปีก่อน วิศวกรจบใหม่ไม่มีประสบการณ์เงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 18,000-20,000 บาท ค่าตอบแทนอื่นๆ อีก 6,000-8,000 บาทซึ่งเงินค่าตอบแทนนี้สามารถนำไปผ่อนบ้านที่ระยองได้สบาย
จากรายรับที่สูงนี่เองจังหวัดระยองจึงเป็นศูนย์รวมของนักวิศวกรรมและช่างฝีมือรวมทั้งแรงงานไร้ฝีมือที่มากที่สุดของประเทศ จึงเป็นเหตุให้เมืองระยองเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดีมากเมืองหนึ่งของประเทศไทย ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของพนักงานโรงงานซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่เองรวมถึงภาษีจากทางโรงงานต่าง ๆ
การที่คนที่มาจากทุกสารทิศ ร้อยพ่อพันแม่มาอยู่รวมกันทำให้เกิดความสับสนทางสังคมเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนระยอง วันจันทร์มาทำงาน วันเสาร์-อาทิตย์ก็กลับบ้าน ความรักถิ่น ความผูกพันกับถิ่นที่ทำมาหากินจึงไม่ลึกซึ้งเท่าชาวระยองซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน มันก็เหมือนกับคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ
ผมปูพื้นเรื่องบริบทของมาตาพุดมาพอสมควรเข้าเรื่องกันดีกว่า
พื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมในสมัยก่อนอยู่ไกลจากชุมชนและผู้คนมาก ดังนั้นพื้นที่รอบๆ โรงงานจึงเป็นเขต Buffer Zone ในการป้องกันมลพิษที่จะส่งผลกระทบกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อมีโรงงานเข้ามาตั้งกันเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ก่อสร้างโรงงานก็ได้ขยายออกไปในขณะที่พื้นที่ของนิคมยังคงเท่าเดิม ทำให้ Buffer Zone นั้นหดตัวลงและไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพดังสมัยก่อน
อีกประการหนึ่งก็คือการขยายตัวของชุมชนรอบ ๆ นิคมอุตสาหกรรมที่เข้ามาประชิดติด เนื่องจากต้องการที่จะเข้ามาค้าขายกับโรงงานต่าง ๆ ที่อยู่ในนิคมฯ ความเจริญรอบ ๆ นิคมฯ นี้จึงเป็นตัวทำให้มลพิษจากโรงงานส่งผลกระทบต่อผู้คนในบริเวณนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าถามว่ามลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่เป็นจริงหรือไม่และอย่างไร ผมขอตอบว่าจริงครับ เพราะสารเคมีที่ใช้ในโรงงานแต่ละโรงงานนั้นล้วนก่อให้เกิดอันตรายจนถึงตายได้ครับ
ตัวอย่างเช่นสาร VCM ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต PVC แม้ว่า Final Product คือ PVC นั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน แต่ VCM นั้นเป็นสารก่อมะเร็งตับเลยทีเดียว สารนี้มีกลิ่นหอม หวาน แหลม แต่ผลกระทบต่อสุขภาพไม่หอมหวานเหมือนกลิ่น
หรือจะเป็น HCL ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนโดนเมื่อไหร่อวัยวะถึงแหว่งได้เมื่อนั้น ถ้าหายใจเอาละอองฟูมของมันเข้าไป ปอดก็คงไม่เหลือ แต่อย่างไรก็ตามโรงงานต่าง ๆ ก็ได้มีการป้องกันมลพิษเหล่านี้แพร่สู่ชุมชนอยู่แล้วครับเนื่องจากระบบป้องกันต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกออกแบบไว้และมูลค่าลงทุนค่อนข้างสูง
ถ้าถามว่าก็ในเมื่อมีระบบป้องกันต่างๆ อยู่แล้วทำไมชาวบ้านจึงได้รับผลกระทบอีก คำตอบก็คือมันเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ผู้ควบคุม ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ได้ 100% ถ้าว่ากันตามหลักของวิศวกรรมแล้วระบบป้องกันอาจจะ 100% แต่ผู้ควบคุมอาจจะไม่ 100% ความเผอเรอ ความประมาท ความขี้เหนียวที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันราคาถูกไม่มีคุณภาพก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ได้
อย่างเช่นกรณีท่อส่งสารเคมีรั่ว ระบบป้องกันไม่ทำงาน หรือถังเก็บสารเคมีระเบิด ทำให้พนักงานต้องเข้าโรงพยาบาลกันเป็นทิวแถว นี่ก็เพราะความผิดพลาดของมนุษย์ผู้ดูแลทั้งสิ้น
ที่เขียนมาข้างต้นเป็นระบบป้องกันอุบัติภัยอันเกิดจากการคาดไม่ถึง นอกจากระบบนี้แล้วยังมีระบบป้องกันอีกระบบหนึ่ง เรียกว่าระบบป้องกันมลพิษที่เกิดจากการผลิต จะเป็นพวกอากาศเสีย น้ำเสียและขยะอันตราย
ท่านผู้อ่านที่เคยผ่านไปแถว ๆ โรงงานที่มาบตาพุดเคยเห็นปล่องสูง ๆ ที่โรงงานปล่อยอากาศเสียออกมาเป็นควันสีขาวหรือดำมั้ยครับ ควันดังกล่าวสามารถกำจัดได้ด้วยวิธีการเผาตามหลักวิศวกรรม ถ้าท่านผู้อ่านเห็นมีเปลวไฟลุกที่ปากปล่องควันก็แสดงว่าโรงงานนั้นกำลังกำจัดอากาศเสียที่เกิดจากการผลิตอยู่ครับ แต่ถ้าไม่เห็นเปลวไฟแล้วที่ปล่องมีควันลอยออกมานั่นก็แสดงว่ามีการปล่อยอากาศเสียสู่ภายนอกโดยไม่มีการกำจัด
ถ้าท่านผู้อ่านถามว่าทำไมถึงไม่กำจัด ผมก็จะตอบอีกว่าค่ากำจัดแพงครับ ต้องใช้น้ำมันหรือแก๊สที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในปริมาณสูงมาก ความร้อนที่เกิดขึ้นต้องเกิน 1,000 องศาเซลเซียส ถึงจะทำให้โมเลกุลของอากาศเสียแตกตัวได้ โดยส่วนใหญ่แล้วโรงงานที่ไม่มีธรรมาภิบาลก็จะแอบปล่อยอากาศเสียกันช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานหรือกรมควบคุมมลพิษมาตรวจครับ แต่ถ้ามีเจ้าหน้าที่มาตรวจท่านผู้อ่านคงจะเห็นเปลวไฟเหนือปล่องควันกันเกือบทุกโรงงานเป็นแน่แท้
ช่วงที่นิยมแอบปล่อยอากาศเสียกันอีกช่วงหนึ่งก็คือวันที่อากาศปิดครับ ลมสงบ ท้องฟ้ามึนทึม ช่วงนี้ก็จะแอบปล่อยกันมาก เมื่อไม่มีลมพัดอากาศเสีย ชาวชุมชนที่อยู่ไกลออกไปก็จะไม่ได้รับผลกระทบนี้ แต่ชุมชนใกล้ๆ ที่อยู่ประชิดติดกับนิคมอุตสาหกรรมรับไปเต็ม ๆ
ทีนี้มาพูดถึงน้ำเสีย โรงงานในนิคมฯ นั้นบางโรงงานก็มีระบบบริหารงานแบบธรรมาภิบาลเพื่อภาพพจน์ของตนเอง บางโรงงานก็ไม่มีเอาเสียเลย โรงงานที่มีชื่อเสียงก็จะมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีมาตรฐาน การปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงานก็จะได้ค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนโรงงานไหนที่ไม่มีมาตรฐานก็จะปล่อยน้ำเสียที่มีค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เกินจากกฎหมายกำหนด น้ำเสียนี้จะไหลรวมลงสู่คลองตากวน คลองนี้จึงเป็นที่รวมน้ำที่มีอันตรายมากที่สุดในประเทศไทย
เหมือนกันครับถ้ามีเจ้าหน้าที่มาตรวจก็จะปล่อยน้ำเสียที่มีค่าเป็นมาตรฐานกันเป็นทิวแถว น้ำจากคลองตากวนจะไหลลงสู่ทะเล ส่งผลให้กุ้ง หอย ปู ปลา ในแถบมาบตาพุด รวมถึงระยองด้วย สะสมพิษของสารเคมีพวกนี้เอาไว้ ถ้าสัตว์น้ำเหล่านี้ไม่ตายด้วยพิษจากสารเคมีก็จะถูกมนุษย์หรือชาวประมงพื้นบ้านจับมาขาย ก็ลองนึกภาพดูก็แล้วกันครับว่า ห่วงโซ่อุปทานขั้นรองสุดท้ายคือมนุษย์รับประทานเข้าไปจะเป็นอย่างไร
ต่อมาก็ถึงคิวของขยะอันตราย ขยะที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีหรือตะกอนเคมีจากระบบบำบัดน้ำเสียถือว่าเป็นขยะอันตราย โรงงานจะต้องส่งขยะเหล่านี้ไปกำจัดด้วยวิธีพิเศษคือถ้าไม่เผาก็ต้องฝังกลบ ค่าใช้จ่ายในการเผาและฝังกลบนี้ก็เป็นต้นทุนของโรงงานครับ
หน่วยงานเอกชนที่รับกำจัดขยะพวกนี้มีหลายเจ้าและมีการแข่งขันด้านราคากันสูง บางรายจะเสนอค่ากำจัดด้วยราคาถูกเพื่อให้โรงงานสนใจเรียกใช้บริการของตนเอง เป็นการตัดราคาคู่แข่งไปในตัว
ผลก็คือเมื่อราคาถูก เอกชนรายนั้นก็จะไม่นำไปกำจัดหรอกครับแต่จะนำไปแอบทิ้งตามพื้นที่ของชาวบ้านแถบนั้น ไม่ว่าจะเป็นแถวๆ ป่าใกล้เคียง ไร่มันของชาวบ้าน หรือที่รกร้างของทางราชการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือดินบริเวณนั้นจะปนเปื้อนสารเคมี และเมื่อเวลาฝนตก น้ำฝนจะพาสารเคมีเหล่านี้ลงไปในชั้นน้ำบาดาลด้วยครับ
ทำให้มีการร้องเรียนของชาวบ้านเสมอและก็หาตัวผู้ที่แอบนำมาทิ้งไม่ได้สักที มีข่าวซุบซิบกันว่ามีบริษัทหนึ่งผูกขาดการบริการนี้ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ชื่อดัง ก็แอบนำกากขยะอันตรายพวกนี้ไปทิ้งเหมือนกัน
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าแล้วพนักงานโรงงานได้รับผลกระทบเหมือนชาวบ้านบ้างหรือไม่ ผมขอตอบว่าได้รับผลกระทบเช่นกันครับ เพราะพนักงานส่วนใหญ่แล้วจะอาศัยอยู่ในตัวจังหวัดระยองซึ่งห่างจากมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร ได้รับทั้งฝุ่น ทั้งกลิ่น เพราะที่ระยองต้องรับศึก 2 ด้านครับ ทั้งมลพิษที่ลอยมาตามลมจากมาบตาพุด และลอยมาจากอีกฝั่งหนึ่งใกล้ ๆ ซึ่งก็คือ IRPC หรือ TPI เดิม
แต่พนักงานโรงงานส่วนใหญ่จะมีประกันสุขภาพครับ เป็นอะไรก็รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำที่มีชื่อเสียงได้ฟรี อีกทั้งมีการตรวจสุขภาพทุกปี จะได้รู้ตัวก่อนและรักษาทัน ผิดกับชาวบ้านที่ใช้บัตรทอง ซึ่งได้รับการรักษาที่ค่อนข้างไม่ดีเท่าที่ควร และชาวบ้านเหล่านี้ไมได้ตรวจสุขภาพครับกว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยอีกว่าถ้าทุกโรงงานมีระบบป้องกันภัยที่ดี มีการปล่อยน้ำเสีย อากาศเสียตามมาตรฐานของกฏหมายทุกโรงงาน ปัญหาผลกระทบจากมลพิษคงไม่น่าจะเกิด ท่านผู้อ่านคิดถูกแล้วครับ แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะถึงแม้ว่าทุกโรงงานจะปล่อยของเสียออกมาตามค่าที่กำหนดไว้ แต่ผลของการสะสมพิษในพื้นที่ยังมีอยู่ เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ในการรองรับมลพิษนั่นเอง ซึ่งผมมั่นใจว่ายังไม่มีผู้ศึกษาหรือทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ก็น่าเห็นใจชาวบ้านที่รับผลกระทบจากมลพิษนี้ครับ แต่จะทำอย่างไรได้เพราะความเจริญเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่ได้ถูกวางแผนไว้ในสมัยก่อนอาจจะเป็นเพราะหน่วยงานของรัฐขาดความรู้และความต้องการของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เข้มข้นเหมือนปัจจุบันนี้ อีกทั้งการต่อต้านโครงการเมื่อสมัยก่อนยังไม่มี ดังนั้นนิคมฯ แห่งนี้จึงเติบโตแบบไร้ทิศทางและทำให้เกิดผลกระทบอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
มีคนที่มีความรู้บางคนถามผมว่าควรจะปิดโรงงานหรือควรจะย้ายชาวบ้านดี ผมก็ตอบเขาว่าไม่ว่าจะย้ายใครก็เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม เพราะถ้าจะให้ปิดโรงงานคงจะยุ่งกันใหญ่เพราะโรงงานหนึ่งลงทุนไม่ต่ำกว่า พันล้าน หมื่นล้าน และถ้าจะให้ย้ายชาวบ้านก็คงจะยุ่งอีกเหมือนกันเพราะชาวบ้านทุกคนเขารักถิ่นเกิดและที่ดินของตัวเองทั้งนั้น เพราะติดที่ข้อจำกัดนี้แหละครับปัญหาจึงยังไม่มีที่สิ้นสุดซักที
ถึงแม้ว่าจะมี NGO หลายองค์กรเข้ามาช่วยดูแลแต่ดูเหมือนว่าจะไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมมากนักเนื่องจาก NGO เหล่านั้นแสดงบทบาทผิดหน้าที่มาตั้งแต่ต้น แทนที่จะช่วยหาจุดที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาให้โรงงานกับชาวบ้านอยู่ร่วมกันได้แบบ win-win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่กลับไปเป็นหัวขบวนหรือเป็นผู้นำชาวบ้านประท้วงเสียเอง นอกจากจะไม่ได้อะไรแล้วยังทำให้กระบวนการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับโรงงานไม่มีจุดจบ
สำหรับการที่จะปรับเปลี่ยนให้นิคมฯ แห่งนี้ให้เป็นไปตามความต้องการของบางกลุ่มแบบหน้ามือเป็นหลังมือก็เป็นไปได้ยากเพราะระบบของนิคมได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว
สิ่งที่ทำได้ก็คือหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องรีบดำเนินการหาวิธีแก้ไขสถานะการณ์ รวมถึงจัดระบบ Zoning ซึ่งหมายถึงหยุดการขยายกำลังการผลิตของโรงงานในนิคมฯ และหยุดการสนับสนุนการสร้างโรงงานใหม่ๆ จนกว่าจะแก้ไขปัญหา และจัดทำแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำเร็จ อีกทั้งต้องเข้มงวดกับของเสียที่ออกมาจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมรวมถึงการตรวจสอบระบบป้องกันอุบัติภัยอย่างเข้มข้นเพื่อปัองกันสิ่งที่คาดไม่ถึงที่จะทำให้สารเคมีรั่วไหลออกสู่ชุมชน
แต่สิ่งที่รัฐควรจะตระหนักถึงถ้ามีโครงการพัฒนาใหม่ๆ ที่เสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ก็ควรจะใช้เครื่องมือหลักอย่าง SEA ในการประเมินก่อนตัดสินใจนะครับท่านนายกฯ
ขอขอบคุณภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย