7 พ.ย. เวลา 11:00 • ธุรกิจ

คุณถือหุ้นเท่าใด? ใน "ธุรกิจครอบครัว”

หุ้น คือ ทรัพย์สินที่มา (Source) จากเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น เพื่อใช้เป็น “ทุนของบริษัท” (Company Capital) แบ่งเป็น “หน่วยเท่ากัน” (หุ้น) ตามกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัทต่างๆ อาจกำหนดให้มี “มูลค่าหุ้นที่ตราไว้เมื่อจัดตั้งบริษัท” คือ Par Value ไม่เท่ากัน เช่น 5 บาท (จำนวนต่ำสุดตามกฎหมายบริษัท) 10 บาท 100 บาท หรือ 1,000 บาท (ไม่มีกฎหมายกำหนดจำนวนเงินสูงสุด)
“ค่าหุ้น” ที่บริษัทเรียก “เงินลงทุน” จากผู้ถือหุ้นอาจไม่เท่ากันในแต่ละคราวหลังจากจัดตั้งบริษัทแล้ว คือ “หุ้นที่มีส่วนล้ำมูลค่าหุ้น” (Share Premium) เช่น Par Value 100 บาท ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งบริษัท ต่อมาอีกหลายปี บริษัทออก “หุ้นเพิ่มทุน”​ กำหนดให้ “หุ้นใหม่” มี Share Premium 900 บาทต่อหุ้น เพื่อ “ปรับฐาน” มูลค่าหุ้นใหม่ให้มี Share Value เทียบเคียงกับมูลค่าหุ้นเดิม ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท
ดังนั้น ผู้ถือหุ้นที่ลงทุนในหุ้นใหม่ที่เพิ่มทุน จึงต้องชำระเงินลงทุนให้แก่บริษัท 1,000 บาทต่อหุ้น (100+900) ประกอบด้วย Par Value 100 บาทและ Share Premium 900 บาท เหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นกับ “ผู้ถือหุ้นใหม่” ที่ร่วมทุนในบริษัทและมักพบได้ในบริษัทร่วมทุน Joint Venture Co เพื่อ “ปรับมูลค่าหุ้น” ระหว่าง “ผู้ถือหุ้นเดิม” และ “ผู้ถือหุ้นใหม่” ให้เท่าเทียมกัน (Equity Equalization)
หุ้นบริษัทในแต่ละช่วงเวลาของการเพิ่มทุนพบว่าบริษัทร่วมทุนหลายแห่งใช้ “หุ้น” ที่แตกต่างกันตามกฎหมายบริษัท เช่น หุ้นสามัญ (Common Share) และ หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share) เพื่อกำหนด “ความต่างของเงินลงทุน” ในแต่ละหุ้นเหล่านั้น
ธุรกิจครอบครัวสามารถใช้ “หุ้น” เพื่อออกแบบและแยกแยะ รายละเอียดต่าง ๆ ในบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ คือ
(1) ความเป็นเจ้าของในบริษัท (Ownership)
(2) อำนาจบริหารงานในบริษัท (Management Power)
(3) เงินปันผลรับจากบริษัท (Dividend Right)
(4) การบริหารสภาพคล่องจากหุ้นบริษัท (Liquidity Management)
(5) ความมีส่วนร่วมในทรัพย์สินบริษัท (Asset Participation)
หุ้นบริษัทในธุรกิจครอบครัวที่นิยมใช้กันมากในโลกนี้รวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์ คือ การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อกรรมการหรือพนักงาน (ESOP: Employee Stock Options) สิ่งที่แตกต่างคือ กฎหมาย หลักการบัญชี และภาษีที่เกี่ยวข้อง
ประเทศไทยมี โครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (EJIP: Employee Joint Investment Program) ที่ “นายจ้าง” ออกเงินสมทบให้ลูกจ้างร่วมลงทุนกับเงินเดือนของลูกจ้างด้วยทุกเดือน “แบบเฉลี่ยต้นทุน” (DCA: Dollar Cost Average) ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในบริษัทนายจ้างด้วย
กรณีธุรกิจครอบครัวต่างประเทศมีความหลากหลายในหุ้นบริษัท ที่ส่งเสริมให้สมาชิกครอบครัว และลูกจ้าง หรือ ผู้บริหาร ถือหุ้นบริษัทด้วยกันให้มี “ผลประโยชน์ร่วมกัน” (Common Interest) เช่น หุ้นสามัญ (Common Share) หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share) หุ้นเงา (Phantom (Shadow) Share) หุ้นทองคำ (Golden Share) หุ้นผู้ก่อตั้ง (Founder Share)
ความแตกต่างหลากหลายของหุ้นบริษัทในธุรกิจครอบครัวต่างประเทศ พบได้ใน Cargill Family (US) ที่ไม่ได้นำหุ้นบริษัทธุรกิจครอบครัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Privately Owned Family Business) แต่ใช้ “ความหลากหลายของหุ้น” เพื่อกำหนดบทบาท สิทธิ (ออกเสียง/ไม่มีเสียง) หน้าที่ ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (สิทธิรับเงินปันผล/ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล) แต่ละแบบ แต่ละกลุ่มที่เป็นทั้ง Family Members และ Non-Family Members
นอกจากนั้น ยังใช้ความหลากหลายของหุ้นดังกล่าว เชื่อมโยงกับ Family Trust หากเป็นสมาชิกครอบครัว เพื่อแยกแยะผู้ถือหุ้นและการโอนหุ้นออกจาก “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัว
กรณี “หุ้นบริษัทไทย” มีข้อจำกัดด้านกฎหมายบริษัท คือ หุ้นทุกหุ้นต้องมีสิทธิออกเสียง และสิทธิรับเงินปันผล แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนสิทธิ และสิทธิไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ดังนั้น บริษัทจะกำหนดให้หุ้นบริษัท No Vote & No Dividend ไม่ได้ แต่สามารถกำหนด Low Vote & Low Dividend ได้ผ่านหุ้นบุริมสิทธิ และส่วนล้ำมูลค่าหุ้น
ในทางกลับกัน หุ้นบุริมสิทธิอาจมีจำนวนหุ้นน้อย (%) แต่มี “สิทธิออกเสียง” และ “สิทธิรับเงินปันผล” สูง (High Vote & High Dividend) เพื่อการควบคุมกิจการของบริษัทผ่าน “หุ้นน้อย” และเพื่อการ “วางแผนภาษีมรดก” ในระยะยาวที่จำกัดมูลค่าหุ้นไม่ให้สูงเกินไป
ข้อควรระวังคือ “ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น” ที่อธิบายไม่ได้ถึง “มูลค่ารองรับ” (Underlying Economic Value) ใน Share Premium นั้น ในอดีตมีคดีภาษี 2 รายที่บริษัทขาดทุนหลายร้อยล้านบาท แต่ใช้ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่สูงมาก สุดท้ายกลายเป็นรายได้ต้องเสียภาษี เพราะมุมมองภาษี กรณี Share Premium ไม่ใช่ “เงินทุน” เสมอไปแต่อาจเป็น “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี” (Taxable Income)
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
โฆษณา