8 พ.ย. เวลา 03:30 • กีฬา

มองโลกแบบทุนนิยม : ถ้วยแชมป์หรือโควต้าแชมเปี้ยนส์ลีก อะไรสำคัญกว่ากันในฟุตบอลยุคนี้ ? | Main Stand

เอริค เทน ฮาก บอกว่า 2 ถ้วยแชมป์ใน 2 ปีของเขาคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แต่ แอนจ์ ปอสเตโคกลู กุนซือของ สเปอร์ส กลับบอกตรงข้าม และบอกว่าถ้าถ้วยแชมป์สำคัญจริง เทน ฮาก คงไม่ออกจากตำแหน่งแบบจบไม่สวยเช่นนี้
เอาล่ะ เราจะลองหาคำตอบแบบรอบด้าน เอามาวัดกันทุกเหลี่ยมมุม ถ้วยแชมป์ หรือโควต้าแชมเปี้ยนส์ลีก ที่หลายทีมพยายามแย่งกันแทบตาย ... สรุปอะไรสำคัญกว่ากว่ากัน ?
หาคำตอบกับ Main Stand ที่นี่
โลกยุคเก่า - โลกยุคใหม่
ถ้าคุณถามคำถามนี้สัก 40-50 ปีก่อน แน่นอนว่าคำตอบร้อยทั้งร้อยของสโมสรต่าง ๆ คงบอกว่า ถ้วยแชมป์คือสิ่งที่ยอดเยี่ยม เป็นเกียรติยศ ถูกจดจำ และเป็นความสำเร็จที่พวกเขาพร้อมแลกด้วยทุกอย่าง
ส่วนโควต้าสโมสรยุโรปนั้น มีการเปิดโดยเว็บไซต์ www.footballbenchmark.com ว่า เงินรางวัลของรายการสมัยยังใช้ชื่อ ยูโรเปี้ยน คัพ ในช่วงยุคการเริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี 1955 ถือเป็นช่วงเวลาที่มีผลตอบแทนให้กับสโมสรต่าง ๆ ไม่มากพอ หรือแทบจะไม่คุ้มกับค่าเดินทางไปแข่งขันตามประเทศต่าง ๆ ในแมตช์เยือน เรียกว่ายุคนั้น เรื่องสื่อ และรายได้ส่วนต่าง ๆ ของสโมสรไม่ได้มีมูลค่ามากเหมือนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับเรื่องการเดินทางที่เป็นค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ซึ่งแพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องขึ้นเครื่องบินไปแข่ง
เรื่องนี้ขยายความโดย ไซม่อน สโตน นักข่าวรุ่นใหญ่ของ BBC ว่า การเปลี่ยนแปลงจริง ๆ มาเริ่มในช่วงปลายยุค 1980s ที่ทีมใหญ่ ๆ เริ่มมองว่า ควรเพิ่มมูลค่าและมอบเงินรางวัลให้เหมาะสมกับทีมที่มาแข่งมากกว่านี้ โดย ณ ตอนนั้น เอซี มิลาน ในยุค ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ถือเป็นตัวตั้งตัวตี
สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็มาถึงในปี 1992 ที่มีการปรับระบบการแข่งขันใหม่ รีแบรนด์เป็น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และกลายเป็นเป็นรายการที่เน้นการตลาดมากขึ้น ปรับระบบการแข่งขันที่เอื้อต่อการถ่ายทอดสด และทำให้มีมูลค่ามากขึ้น
"ย้อนกลับไป ณ ตอนนั้น เราตระหนักว่าการแข่งขันฟุตบอลถ้วยยุโรปเริ่มเสียความน่าดึงดูดไป ซึ่งรูปแบบเก่ามันทำได้ยากมากกว่า มีการให้สิทธิ์การแข่งขันของทีมในลีกใหญ่ที่มีคนสนใจมากขึ้น ทำให้สามารถขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้แพงขึ้น และจากนั้นมันก็เริ่มประสบความสำเร็จทันที" เกอร์ฮาร์ด ไอน์เนอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการของยูฟ่าตั้งแต่ปี 1989 ถึง 2003 กล่าว
เมื่อมีเงินมากขึ้น การเล่นในรายการนี้ก็สำคัญขึ้นเป็นเงาตามตัว และหลังผ่านยุค 2010s เป็นต้นมา ฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ก็เป็นรายการที่สามารถทำเงินได้มากกว่าฟุตบอลถ้วยใด ๆ ในโลกทั้งสิ้น
โดยปัจจุบันมีการเปิดเผยว่า การได้เล่นในโควต้าแชมเปี้ยนส์ลีก (รอบลีก) แต่ละทีมจะได้เงินอย่างน้อยราว 20 ล้านปอนด์ นับเป็นเงินรางวัลอย่างเดียวเท่านั้น ขณะที่ทางยูฟ่า จะแบ่งเงินให้อีก 15% จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ขายได้ให้แต่ละทีมอีก รวมเป็นเงินราว 50-60 ล้านปอนด์เป็นอย่างน้อย และยิ่งเข้ารอบลึกเท่าไหร่ก็จะได้เงินมากกว่า โดยอ้างอิงจากแชมป์ในฤดูกาล 2023-24 อย่าง เรอัล มาดริด นั้น สามารถทำเงินได้ถึง 127 ล้านปอนด์ ตลอดการแข่งขัน และทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่มีรายรับมากที่สุดในโลกในปีนี้
ด้วยจำนวนเงินทั้งหมดที่ว่ามา และมีการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี มันค่อนข้างชัดว่า ถ้าคุณอยากจะได้เงิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรันสโมสรให้เดินหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน การได้ไปเล่นฟุตบอลสโมสรยุโรปถ้วยใหญ่ คือทางออกที่ดีที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่มีถ้วยรางวัลใดมากแลกได้
อย่างไรก็ตาม เราจะพูดแบบนี้ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะคำถามนี้มันขึ้นอยู่กับว่าคุณถามใคร และฟุตบอลก็มีอะไรมากกว่าแค่เรื่องเงิน ต่อให้จะเป็นฟุตบอลในยุคทุนนิยมก็ตาม
บอลถ้วยในประเทศมีเพื่ออะไร ?
เราคงไม่ต้องนับถ้วยบอลลีก เพราะมันการันตีว่าคุณจะได้ไปเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกโดยอัตโนมัติ ดังนั้นมันมีค่าอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราจะโฟกัสคือ ฟุตบอลถ้วยในประเทศ ที่นับวันดูเหมือนความสำคัญของมันจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ
เรื่องนี้ราชาแห่งฟุตบอลยุคใหม่อย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เป็นคนพูดออกมาเองเลยด้วยซ้ำว่า ฟุตบอลถ้วยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายการ คาราบาวคัพ หรือ เอฟเอคัพ คือถ้วยที่เขาให้ความสำคัญน้อยมาก โดยเฉพาะคาราบาวคัพนั้น เขาไม่สนใจเลย จนถึงขั้นที่เขาใช้คำพูดว่า "เสียพลังงานเปล่า ๆ ในการเล่นรายการนี้" นั่นคือเหตุผลที่ในยุคหลังพวกเขาชิงตกรอบไปก่อนตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่นเดียวกันกับในฤดูกาล 2024-25
ที่ เป๊ป พูดแบบนั้นก็อาจจะหมายความได้ว่า ทีมของเขาการันตีความสำเร็จที่ใหญ่กว่าบอลถ้วยในประเทศอยู่แล้ว ในแง่ของเงินรางวัลและรายรับ อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น หากแมนฯ ซิตี้ ได้แชมป์บอลลีก พวกเขาก็จะได้เงินสองเด้ง ทั้งรางวัลในลีกและรางวัลจากโควต้าได้เล่นในฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ ดังนั้นคงไม่จำเป็นที่พวกเขาจะเน้นกับคาราบาวคัพ ที่มีเงินรางวัลสำหรับทีมแชมป์แค่ 100,000 ปอนด์ เท่านั้น เงินจำนวนนี้น้อยกว่าค่าแรงนักเตะตัวท็อปของพวกเขาสัปดาห์เดียวด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม กลับกัน หากคุณถามทีมในระดับที่เล็กลงมา ทีมที่ลุ้นท็อป 4 ยาก หรือแม้แต่ทีมที่กำลังสร้างขึ้นมาใหม่ ถ้วยแชมป์มันไม่ได้หมายความเพียงแค่เงินเท่านั้น เพราะถ้วยแชมป์เป็นสิ่งที่การันตีว่า ทีม ๆ นี้ได้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะถ้วยเล็กถ้วยใหญ่ ยังไงก็คือแชมป์ และการที่นักเตะในทีมมีประสบการณ์การเป็นแชมป์ จะสามารถต่อยอดทำให้พวกเขากลายเป็นนักเตะที่ดีขึ้นได้ ไม่สั่น ไม่ลนลานเวลาที่เกมใหญ่ ๆ เกมสำคัญมากถึง
ยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือ ถ้าคุณถามแฟนบอลของ สเปอร์ส ทีมที่มักจะโดนล้อเลียนเรื่องการไร้ถ้วยรางวัลมากที่สุดในลีกอังกฤษ คุณจะสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า พวกเขาพยายามที่จะเป็นแชมป์สักรายการ เพื่อเป็นจุดเริ่มต่อและต่อยอดไปในระดับที่สูงขึ้น ที่สำคัญคือ ความกดดันที่แบกมาตลอดหลายปีก็จะยุติลง ... นั่นแหละคือความสำคัญที่แท้จริงของฟุตบอลถ้วย
อย่างไรเสีย การเป็นแชมป์ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกทีมต้องการ เพราะในโลกฟุตบอล มีแต่ทีมที่ชนะ และทีมที่เป็นแชมป์เท่านั้นที่จะถูกจดจำ เวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรืออีก 100 ปี ผู้คนจะจดจำทีมที่ได้แชมป์ฟุตบอลถ้วย มากกว่าทีมที่ได้โควต้าแชมเปี้ยนส์ลีกแน่นอน เพราะถ้วยแชมป์คือประวัติศาสตร์ และทีมที่ต้องการจะเป็นทีมใหญ่ ก็ต้องเริ่มจากการสะสมถ้วยแชมป์ด้วยกันทั้งนั้น
แม้กระทั่ง เป๊ป ที่บอกว่าฟุตบอลถ้วยคือการเสียพลังงานเปล่า ๆ แต่ย้อนกลับไปในช่วงที่เขาเข้ามาทำแมนฯ ซิตี้ ใหม่ ๆ นั้น คาราบาวคัพนี่แหละ ที่ช่วยให้ทีมของเขาเริ่มสะสมประสบการณ์การเป็นแชมป์ และต่อยอดไปเรื่อย ๆ
อย่าลืมว่าแม้แต่ ซิตี้ ผู้ยิ่งใหญ่ ก็เคยเป็นทีมที่ครองแชมป์ คาราบาวคัพ ติดต่อกัน 4 สมัยมาแล้ว ... และการได้แชมป์ 4 สมัย แสดงให้เห็นว่ามันคงไม่ใช่เรื่องฟลุกอย่างแน่นอน มันเกิดจากความตั้งใจ และถ้วยเล็ก ๆ เหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้พวกเขาเดินสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในเวลานี้
โลกฟุตบอลยุคใหม่บีบให้เป็นแบบนั้น
คุณไม่ต้องสงสัยเลยว่า โลกฟุตบอลแทบจะเป็นทุนนิยมไปทั้งหมด ทุกลีกบนโลก แม้กระทั่งลีกเยอรมัน ที่พยายามบอกว่าตัวเองคือฟุตบอลของประชาชน แต่ปัจจุบันก็มีเรื่องเสียงแตกเกิดขึ้นมากมาย การกำเนิดของ แอร์เบ ไลป์ซิก, การเป็นเจ้าของสโมสร ฮอฟเฟ่นไฮม์ ของ ดีตมาร์ ฮอปป์ ที่ใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะได้ถือครองแต่เพียงผู้เดียว และล่าสุด เยอร์เก้น คล็อปป์ กับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ เรดบูล กรุ๊ป กลุ่มทุนที่แฟนบอลเยอรมันเกลียดมากที่สุด
ไม่มีใครสามารถหยุดกงล้อแห่งเงินตราได้ เงินคือสิ่งที่ทุกสโมสรจำเป็นต้องใช้ในยุคที่ค่าจ้างนักฟุตบอลแพงหูฉี่ ดังนั้นทีมที่พอจะมีศักยภาพที่จะลุ้นแชมป์ลีก พวกเขาก็จะมองข้ามฟุตบอลถ้วย หากสถานการณ์บีบบังคับ
ขณะที่ในพรีเมียร์ลีกนั้น ทุกวันนี้ แม้แต่การรอดตกชั้นก็ยังเป็นความสำคัญระดับแรก ๆ ก่อนฟุตบอลถ้วยในประเทศด้วยซ้ำ คุณจะเห็นว่าทีมระดับล่างของพรีเมียร์ลีก จะจัดตัวสำรองแบบพร้อมทิ้งในฟุตบอลถ้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ล่าสุดก็คือ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่โดน แมนฯ ยูไนเต็ด อัดไป 5-2 ในคาราบาวคัพ โดยที่พวกเขาส่งผู้เล่นที่ปกติเป็นตัวสำรองลงเป็นตัวจริงในเกมนั้นถึง 10 ตำแหน่งในเกมนั้น และ สตีฟ คูเปอร์ กุนซือของทีมก็ให้สัมภาษณ์หลังเกมว่า "เราส่งทีมที่ดีที่สุดลงเล่นตามสถานการณ์นั้น ๆ" ซึ่งถ้าจะพูดตรง ๆ คือ พวกเขาอยากจะอยู่รอดมากกว่า เพราะมันการันตีเงินเกิน 100 ล้านปอนด์ และมันก็เป็นเรื่องที่แฟนบอลของพวกเขายอมรับได้ ไม่มีใครบ่น
นอกจากเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แล้ว ยังมีเรื่องของโปรแกรมการแข่งขันที่ถี่ยิบ ฟุตบอลในสมัยนี้ 1 ซีซั่น นักเตะระดับท็อปยังมีโอกาสลงเล่นมากถึง 70 เกม ทั้งบอลลีก บอลถ้วย บอลยุโรป และบอลทีมชาติ ... เยอะเกินไปมาก และนักเตะทุกคนก็พยายามเรียกร้องของให้ลดโปรแกรมที่ไม่จำเป็น เพราะมันส่งผลกับสุขภาพกายและใจของพวกเขาด้วย
พวกเขาประท้วง และเรียกร้องสิทธิ์เหล่านี้ที่พวกเขาพึงได้ เพราะพวกเขารู้ว่าการจับปลาสองมือจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ไม่ว่าจะกับทีมหรือกับตัวพวกเขาเอง ... ดังนั้นเมื่อมีทางเลือก พวกเขาย่อมเลือกทางที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง สิ่งใดที่รู้สึกว่าเหนื่อยเปล่า และไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ในจุดนั้นอีกแล้ว พวกเขาก็สามารถทิ้งมันไปได้ง่าย ๆ และสิ่งที่ยืนยันชัดเจนที่สุดก็คือ หลายทีมในยุโรป ใช้ฟุตบอลถ้วยในประเทศ เป็นเวทีสำหรับตัวสำรองได้ออกมายืดเส้นยืดสายไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม กับคำถามว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ถ้วยรางวัล หรือตั๋วไปแชมเปี้ยนส์ลีก เรื่องนี้คงตอบแบบฟันธงไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าคุณถามใคร ... ถ้วยรางวัล เป็นเกียรติสำหรับนักเตะทุกคน และทำให้พวกเขาถูกจดจำเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ มันจึงสำคัญมากถ้าพวกเขาไม่เคยได้มันมาก่อน และแน่นอนว่าถ้ากลับกัน สำหรับผู้ยิ่งใหญ่ ในสถานการณ์ที่โลกฟุตบอลมันจำเป็นต้องเลือกแบบนี้ ถ้าพวกเขาต้องสู้เพื่อเงินระดับ 50 ล้านปอนด์ กับเงิน 100,000 ปอนนด์ คงไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาจะเลือกสิ่งไหนกันแน่
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา