Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
8 พ.ย. เวลา 02:16 • ท่องเที่ยว
วัดระฆังโฆษิตตาราม วรมหาวิหาร .. วัดสวยริมเจ้าพระยา
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกายภาค 1 ..
.. เดิมเป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา ชื่อวัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินี ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดบางว้าใหญ่
.. ได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ปรากฏมีเสียงไพเราะกังวานมาก จึงโปรดเกล้าฯให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” เนื่องจากมีการขุดพบระฆังที่วัดนี้ และเพื่อตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดชื่อวัดระฆังเช่นเดียวกัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม” เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่าระฆัง) แต่ผู้คนไม่นิยมเรียกชื่อนี้ ยังคงเรียกว่าวัดระฆังต่อมาจนถึงปัจจุบัน
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทย มีสถาปัตยกรรมโบราณ วิหารและเจดีย์ที่งดงาม รวมถึงระฆังอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของวัด
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่ฝั่งธนบุรีมาอย่างยาวนาน .. สิ่งหนึ่งที่หลายคนต้องนึกถึงก็คือ หลวงพ่อโต และพระคาถาชินบัญชร เพราะหลวงพ่อโต หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะที่มีชื่อเสียงของวัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ท่านเป็นพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างมากในประเทศไทย
.. นอกจากท่านจะเป็นที่เคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก .. ท่านยังเป็นผู้ที่นำเอาบทสวดอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตกทอดมาจากลังกามาดัดแปลงแต่งเติมให้สมบูรณ์ขึ้น จนกลายเป็นพระคาถาชินบัญชรที่เราๆ รู้จักกันดี ซึ่งหากผู้ใดสวดเป็นประจำแล้วก็จะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
วัดแห่งนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของ “พระสมเด็จวัดระฆัง” หรือพระเครื่องรูปพระพุทธเจ้า หนึ่งในพระเครื่องที่ได้รับการยกย่องว่ามีค่าทางจิตใจและพุทธคุณสูงสุด ..
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างขึ้น ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 เซนติเมตร สีขาว ส่วนประกอบสำคัญในการสร้างคือ ปูนเปลือกหอย ข้าวก้นบาตร ผงวิเศษ 5 ชนิด และน้ำมันตังอิ๊ว ซึ่งสร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2409 ได้รับการยกย่องให้เป็นองค์พระประธานใน พระชุดเบญจภาคี หรือสุดยอดชุดพระเครื่องของไทย นับว่าเป็นพระเครื่องยอดนิยมอันดับ 1 ตั้งแต่มีวงการพระเครื่องมา
รูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา หน้าตักกว้าง 19 เมตร สูง 19 เมตร หล่อด้วยทองสำริด สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปี พ.ศ. 2167
โบราณสถานสำคัญในวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
พระอุโบสถ : เป็นทรงแบบรัชกาลที่ 1 หลังคาลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม
บริเวณมุขด้านหน้าและหลังทำปีกนกคลุมมุขอยู่ในระยะไขราหน้าจั่ว ตอนใต้จั่วหรือหน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทองอย่างประณีต เจาะเป็นช่องหน้าต่าง 2 ช่อง
เหนือประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถติดกระจังปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปซุ้ม บนบานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองมีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย
เพดาน .. หน้าทางเข้าพระอุโบสถ
พระประธานยิ้มรับฟ้า
ภายในพระอุโบสถของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารเป็นที่ประดิษฐาน “พระประธานยิ้มรับฟ้า” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ
.. เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท
พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ มาพระราชทานผ้ากฐิน และมีพระราชดำรัสว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที”
ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นามว่า “พระประธานยิ้มรับฟ้า” ตั้งแต่นั้นมา
ด้านในเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นระบายสีงดงาม บริเวณฝาผนังภายในพระอุโบสถโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องราวของต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก
.. ผนังด้านหน้าพระประธาน เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ และภาพเดียรถีย์ท้าแข่งรัศมีกับพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าจึงแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
.. ด้านหลังพระประธาน เป็นภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
.. เบื้องล่างเขียนภาพสัตว์นรกในอาการต่าง ๆ ซึ่งภาพเหล่านี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อราว พ.ศ. 2465 ครั้งมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถในรัชกาลนั้น
ผนังด้านข้างเบื้องบนเขียนเป็นรูปเทพชุมนุม .. ตอนล่างเขียนภาพทศชาติชาดก
คนวาด คือเสวกโท พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตร ซึ่งเป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2465 ครั้งมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถในรัชกาลนั้น
เรื่อง เนมิราชชาดก
พระเนมิราชผู้ยิ่งด้วยอธิฐานบารมี พระมาตลีเทพเป็นสารถีนำชมนรกและสวรรค์ของผู้ที่ได้ทำบุญและทำบาปไว้ เหล่าเทพบุตรกำลังเหาะเหินเดินฟ้ากันอย่างเกษมสำราญยิ่ง ตรงกลางภาพ เป็นปราสาทที่เขียนด้วยลวดลายวิจิตรพิสดาร ดูงดงามยิ่ง
.. โดยมีพระเนมิราชประทับอยู่ภายใต้พระบรมมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยอินทร์พรหมผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย นั่งเฝ้าแหนลดหลั่นกันลงมาตามลำดับขั้น เบื้องล่างอันเป็นพระราชฐานส่วนในนั้นเล่าก็แวดวงไปด้วยเหล่าเทพบุตรและเทพธิดานั่งพับเพียบพนมมือเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งซ้ายและขวา
บนพื้นปูลาดด้วยกระเบื้องที่มีลวดลายเป็นตารางสี่เหลี่ยม มีสรรมองดูเป็นลักษณะของเอกรงค์ พระราชฐานส่วนนอกซึ่งปูด้วยกระเบื้องสี่เหลี่ยมปราศจากลวดลายสลับด้วยสีน้ำตาลอ่อนแก่คล้ายตาหมากรุกเป็นที่ตั้งของศาลารายกระหนาบหราสารทอยู่สองข้าง เทพบุตรกำลังเยื้องย่างเข้าไปในบริเวณปราสาททางเบื้องซ้าย เหล่าเทพธิดาเสด็จเข้าทางเบื้องขวา
เรื่อง มโหสถชาดก วาดโดย พระวรรณวาดวิจิตร ใช้เวลาเขียน 4 ปีเต็ม : พระเจ้าจุลลนี กับกศัตริย์บริวาร กำลังไสช้างเข้าไปจะพังค่าย เหล่าทหารหาญชูหอกและปืนดาบศิลาอยูสลอน เหล่าแม่ทัพนายกองทั้งหลายกำลังตอบัญชาจากพระมโหสถ ซึ่งถทอพระขรรถ์เด่นเป็นสง่าในมือหนึ่ง ทำท่าห้ามทัพอยู่ภายใต้ร่มเงาของพระกลด .. บนเชิบเทินมีทหารกำลังเล็งปืนมายัวฝ่ายตรงข้าม .. นอกกำแพงมีทัพข้าง ม้า และทัพคน
เรื่อง สุวรรณสาม : สุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ถูกศรขอบกบิลยักษ์ในขณะที่ไปตักน้ำมาปรนนิบัติพระมารดา ผู้เป็นบาดสตาบอดทั้ง 2 ข้าง กลับคืนชีพ และในที่สุดตาที่มืดบอดของบิดามารดาก็กลับคืนดี .. ภาพตอนล่างสุดแสดงถึง พระสุวรรณสาม กำลังจะลงไปตักน้ำในบึงซึ่งเต็มไปด้วยบัวน้อยใหญ่ .. เหน่อขึ้นมา เป็นภาพพระสุวรรณสามถูกศรของกบิลยักษ์ล้มลง หม้อน้ำหกเรี่ยราด ทำให้กวางสามพ่อแม่ลูกที่และเล็มหญ้าอยู่ใกล้ๆตกใจ …
เรื่อง นารทชาดก : แสดงเรื่องราวของ พระพรหมนารถ ผู้ยิ่งด้วยอุเบกขาบารมี จำแลงกายลงมาทรมานพระเจ้าอังคติราข เพืีอใก้ละเบิกมิจฉามิฐิ
เรื่อง จันทกุมาร : พรรณาถึง กัณฑาบพราหมณ์ เมื่อยุแหย่พระเจ้าเอกราชจนสำเร็จ ก็เดินนำหน้าพา จันทรกุมาร ไปสู่หบึกประหารที่บูชายัญ .. ที่มุมขวาล่าง แสดงบรรยากาศแห่งความโกลาหล พระมารดากำบังประทัยอย่างคนไร้สติ เป็ดไก่วัวควาย ชาวช้านกำลังแตกตื่น ในขณะที่พระจันทกุมารพจมมือนิ่งในอาการสงบยิ่ง
เรื่อง พระภูริทัต : พระภูริทัต ผู้ยิ่งด้วยศีลบารมี แม้บำพายน หมองูพยายามจะทำร้ายจนหมดแรงแล้ว จัยไปแสดวปาหี่เพื่อหาเงิน ก็ไม่ทำอันตรายใดๆ เพราะกลัวศีลขาด
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง บางส่วน
ต้นไม้ตรัสรู้ ณ ตรวมุมหน้าต่าง ..ต้นไม้ที่สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไม่เหมือนกัน เป็น unseen ของวัดนี้ค่ะ
เมื่อออกมาจากพระอุโบสถแล้วจะเห็นว่า ด้านหน้ามีวิหาร 2 หลังตั้งอยู่
หลังหนึ่งนั้นเป็นวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์
ส่วนวิหารอีกหลังที่อยู่ตรงกันข้ามติดแอร์เย็นฉ่ำ เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัด นี้ไว้ 3 องค์ คือ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ซึ่งทั้งสามท่านนี้เป็นพระภิกษุที่มีคนเคารพนับถืออย่างมาก
พระปรางค์ : สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี)
.. เป็นพระปรางค์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบแผนที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นพระปรางค์แบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้น ที่มีทรวดทรงงดงามมาก จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา
หอพระไตรปิฎก : ตั้งอยู่ภายในเขตพุทธาวาส ทิศใต้ของพระอุโบสถ เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 ขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี เป็นรูปเรือน 3 หลังแฝด หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอกลางเป็นห้องโถง และหอด้านเหนือเข้าใจว่าเป็นห้องรับแขก ของเดิมเป็นหลังคามุงจาก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้อง ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะ ๆ
เปลี่ยนฝาสำหรวดไม้ขัดแตะเสียบกระแชงเป็นขัดด้วยหน้ากระดานไม้สักระหว่างลูกสกล ใช้แผ่นกระดานไม้สักเลียบฝาภายในแล้วเขียนรูปภาพต่าง ๆ บานประตูด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านตะวันออกแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ภายนอกติดคันทวยสวยงาม
ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ 2 ตู้ ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ 1 ตู้ หอด้านใต้ 1 ตู้
บันทึก
2
1
1
2
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย