9 พ.ย. เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์

ย้อนรอย “ยุคทองชุบ” ยุคสมัยที่ “เศรษฐกิจ” โตพอ ๆ กับ “การคอร์รัปชั่น”

ไหน ๆ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็จบลงด้วยชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์เจ้าเดิม ผู้ที่นำเอาสโลแกน “Make America Great Again” มาใช้ใหม่จนเป็นที่ติดหูของผู้คน
เจ้าสโลแกนนี้มันเป็นอะไรที่ใช้มาตั้งแต่ยุค 80s ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายความว่าอเมริกาเคย “Great” มาก่อนแล้วหลายครั้ง แน่นอนว่าเราอาจจะรู้จักกับความ “Great” ของอเมริกามาหลายด้านตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ายุคเก่ากว่านั้นอเมริกาไม่เคย “Great” มาก่อนแต่อย่างใด
โดยในช่วง All About History ในสัปดาห์นี้ Bnomics จะขอพาย้อนกลับไปดูหนึ่งในความ “Great” (และไม่ Great ในช่วงเวลาเดียวกัน) ของอเมริกาในศตวรรษที่ 19 กัน กับยุคสมัยที่มีชื่อเรียกว่า “ยุคทองชุบ”
⭐ ยุคทองชุบ ชุบแบบใด
บางคนอาจจะสงสัยว่า”ยุคทองชุบ” (Gilded Age) คืออะไร? แน่นอนว่าเราอาจจะรู้สึกคุ้นหูกับคำว่า “ยุคทอง” (Golden Age) กันมากกว่า ทำให้เราอาจจะตีความไปว่ายุคทองชุบคงจะเป็นยุคทองปลอม ๆ หรือเปล่านะ? ก็จริงในส่วนหนึ่ง โดยชื่อของยุคทองชุบนี้เป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์ช่วงยุค 1920s ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้กล่าวถึงยุคหลังสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้
โดยเอาที่มาของชื่อมาจากนิยายของมาร์ก ทเวนที่มีชื่อว่า The Gilded Age: A Tale of Today ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีถึงการคอร์รัปชั่นในการเมืองอเมริกายุคหลังสงครามกลางเมือง
ซึ่งสาเหตุที่ทเวนเอาคำนี้มาตั้งชื่อก็ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมของเชคสเปียร์ ซึ่งทองชุบในเล่มของเชคสเปียร์ไม่ได้หมายถึงทองชุบที่ไส้ในเป็นโลหะอื่น แต่เป็นทองที่ชุบทองซ้ำไปอีกทีซึ่งมองว่ามันเป็นความสิ้นเปลือง โดยในส่วนของทเวนได้เอาทองชุบมาตีความว่าหมายถึงยุคทองที่ไม่ได้เป็นทองผุดผ่องอย่างแท้จริงเพราะยังมีการคอร์รัปชั่นอยู่มากในยุคดังกล่าว
⭐ สงครามกลางเมืองกับการก้าวกระโดดของเศรษฐกิจ
เราต่างรู้จักคอนเซ็ปเบื้องต้นของสงครามกลางเมืองอเมริกาเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสงครามระหว่างฝ่ายเหนือที่สนับสนุนการเลิกทาส กับฝ่ายใต้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลิกทาส ด้วยความที่ว่ามันเป็นสงครามกลางเมือง ทำให้เกิดการหยิบเอาเม็ดเงินมาลงทุนในประเทศเพื่อทำสงคราม มันเกิดอุปสงค์ต่าง ๆ ภายในประเทศซึ่งแต่ละรัฐล้วนแต่ต้องการเอามาใช้ในสงคราม
ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม, ปศุสัตว์, อุตสาหกรรม, เมื่ออุปสงค์มากขึ้นก็เกิดการเพิ่มกำลังผลิต ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาในยุคสงครามกลางเมืองไม่ได้ย่ำแย่ แต่ก้าวกระโดด โดยหนึ่งในสิ่งที่พัฒนามากที่สุดในช่วงสงครามกลางเมืองก็คือ “รถไฟ” ของฝ่ายเหนือซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้ทั้งขนส่งกำลังพลและเสบียงได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
1
เศรษฐกิจที่มั่นคง มีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่หลากหลายกว่าของฝ่ายเหนือก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายเหนือชนะสงครามด้วย
ครั้นเมื่อสงครามจบลง ก็ไม่ได้หมายความว่าความรุ่งเรืองต่าง ๆ จะจบตาม โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ยังคงรุ่งโรจน์อย่างต่อเนื่องในยุคหลังสงครามกลางเมือง
เมื่อภาคการผลิตขยายตัว การนำเข้าแรงงานก็มีมากขึ้น ซึ่งเปิดรับผู้อพยพให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นคนจากยุโรป, ชาวจีน, ไปจนถึงชาวยิว นอกจากนี้แล้วอัตราค่าแรงขั้นต่ำในอเมริกาช่วงนั้นก็นับว่าสูงกว่าในยุโรปด้วย มีเศรษฐีหน้าใหม่มากมายที่ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลในสังคม ที่เราพอจะคุ้นชื่อก็อย่างเช่น ร็อกกี้เฟลเลอร์ เป็นต้น
⭐ เมื่อสิ่งที่โตไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ขยายตัวกลับไม่ใช่เพียงแค่เศรษฐกิจ หากแต่ยังมีการ “คอร์รัปชั่น” ซึ่งมีอยู่มากมาย มีการวิ่งเต้นหรือการล็อบบี้ จ่ายส่วยให้เจ้าพนักงาน เป็นต้น ตลอดจนหลายครั้งนักการเมืองก็พากันเข้าหาเหล่าเศรษฐีเพื่อขอการสนับสนุนโดยแลกกับการเอื้อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้กับเหล่าเศรษฐีด้วย
หนึ่งในข่าวฉาวเรื่องใหญ่ของยุคนี้ เห็นทีก็คงหนีไม่พ้นเรื่องฉาวในรัฐบาลของประธานาธิบดีแกรนต์ (Ulysses S. Grant) ซึ่งมีสมาชิกในรัฐสภาหลายคนมีความเกี่ยวข้องกับคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ถึงอย่างนั้นประธานาธิบดีแกรนต์ก็มีความพยายามในการทำลายปัญหาคอร์รัปชั่นในสภาของเขาอยู่เหมือนกัน
⭐ เมื่อยุคสมัย กลายเป็นเบ้าหลอมสังคม
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญก็คือการที่เศรษฐกิจในช่วงนี้ได้ส่งผลต่อค่านิยมและรสนิยมของคนในสังคมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับพวกเศรษฐีใหม่ ที่พยายามจะโอ้อวดไลฟ์สไตล์สุดหรูหรา ทำให้เกิดการใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยจำนวนมากเพื่อสร้างภาพลักษณ์ และที่ยืนในสังคม
เป็นการพยายามสร้างรสนิยมผู้ดีแบบชาวยุโรป มีการสร้างสถาปัตยกรรมแบบยิ่งใหญ่ เป็นบ้านที่พักที่ดูเหมือนกับตำหนักในพระราชวังยุโรป มีรสนิยมสะสมงานศิลปะ และใช้เครื่องเรือนแบบยุโรป รวมไปถึงไลฟ์สไตล์แบบผู้ดียุโรปอย่างการไปดูโอเปร่า ฟังออร์เครสตรา ซึ่งถ้าใครเคยดูซีรีส์เรื่อง The Gilded Age น่าจะพอนึกภาพออกกันว่าไลฟ์สไตล์ของเหล่าเศรษฐีใหม่กลุ่มนี้เป็นอย่างไร
นอกเหนือจากการแสดงฐานะทางสังคมผ่านรสนิยมแล้ว การบริจาคเงินเพื่อให้มีชื่อติดในแผ่นประกาศผู้มีอุปการะคุณก็นับว่า เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับความนิยม เกิดการสร้างมูลนิธิเพื่อการกุศลมากมายในยุคนี้
1
⭐สรุป
ยุคชุบทองถึงแม้ว่ามันจะมีความเป็นเพียงทองชุบที่ดูดีจากภายนอกในฐานะของเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง แต่ทว่าการเมืองกลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด แค่ถึงอย่างนั้นมันก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่ายุคทองชุบมันก็มีความ “Great” ในตัวของมันเองในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว หรือในเรื่องของวัฒนธรรมที่เกิดการสร้างรสนิยมขึ้นมา
ตลอดจนมูลนิธิการกุศลที่เกิดขึ้นจากแสดงฐานะของเหล่าเศรษฐีที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงนี้ก็มีความสำคัญในการสร้างความ “Great” ให้กับอเมริกาจนเป็นที่มั่งคั่งได้จนถึงปัจจุบัน
… แต่ถึงอย่างนั้นมันก็น่าคิดเหมือนกันว่าถ้าหากไม่มีการคอร์รัปชั่น อเมริกาในยุคนั้นจะสามารถก้าวไปได้สูงไกลกว่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มากแค่ไหนกัน…
โฆษณา