8 พ.ย. เวลา 04:47 • ข่าวรอบโลก

สงครามการค้า “สหรัฐอเมริกา” และ “สหภาพยุโรป” ในยุคทรัมป์ 2.0

หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 หลายคนเริ่มสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ความครุ่นคิดหนักกำลังมาเยือนไม่เพียงแต่ผู้นำของยูเครน “โวโลดีมีร์ เซเลนสกี” เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “เพื่อน” และ “หุ้นส่วนพันธมิตร” ล่าสุดของวอชิงตันที่กำลังครุ่นคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น นักการเมืองในยุโรปก็กังวลไม่แพ้ฝ่ายพรรคเดโมแครตของอเมริกา
ตอนนี้หลายสิ่งหลายอย่างจะแตกต่างไปจากเดิมเมื่อช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ ทั้งในเรื่องการจัดการกับสงครามที่ดำเนินกันอยู่และในด้านการค้าซึ่งเป็นหัวข้อที่แยกออกจากการนองเลือดแต่ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน บทความนี้ถือว่าเป็นตอนที่ 2 เกี่ยวกับประเด็นนี้ที่ทางเพจได้เขียนไว้ สามารถอ่านตอนแรกได้จากบทความตามลิงก์ด้านล่างนี้
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส “เอ็มมานูเอล มาครง” ได้เคยเรียกร้องให้เพื่อนร่วมสหภาพยุโรปพัฒนากลยุทธ์ในกรณีที่ทรัมป์ได้รับชัยชนะ เพราะชนชั้นนำทางการเมืองของยุโรปจะไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ตามหลักการ “ทุกคนต้องพึ่งตนเอง”
มาครงเป็นผู้ที่ได้รับโทรศัพท์จาก “โอลาฟ โชลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี หลังจากรู้ว่าทรัมป์จะได้รับชัยชนะ และหลังจากนั้นพวกเขาก็แสดงความยินดีกับประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่แต่หน้าเดิม เขาแสดงความหวังว่า “เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาจะยังคงส่งเสริมการพัฒนาเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสำหรับพลเมืองของตนต่อไป” แต่ไม่รู้ว่าโชลซ์จริงใจอย่างที่พูดหรือไม่ หรือว่าเขากลัวอนาคตทางการเมืองและสถานการณ์ในเยอรมนี - อ้างอิง: [1]
เครดิตภาพ: GIS Dossiers
วอชิงตันโพสต์ (WaPo) ได้เคยเขียนรายงานว่า พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของวอชิงตันในยุโรปกำลังเตรียมรับมือกับการแตกหักที่อาจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ข้ามหากันระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติก (อเมริกา-ยุโรป) ตอนนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะแล้ว “อังเกลา แมร์เคิล” ซึ่งตามรายงานของ WaPo ระบุว่าเป็น “ตัวถ่วงดุลยุโรปของทรัมป์” ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของเขา ตอนนี้เธอไม่ได้อยู่ในภาพการเมืองของยุโรปอีกแล้ว – อ้างอิง: [2]
เครดิตภาพ: John Macdougall / AFP / Getty Images
Politico เคยรายงานเมื่อสมัยทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกว่า ในปี 2018 เขาตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กของอเมริกาอยู่ที่ 25% และภาษีนำเข้าอลูมิเนียมอยู่ที่ 10% ครั้งนี้สถานการณ์อาจเลวร้ายลงไปได้อีกหรือไม่ สมัยนั้นทรัมป์บอกว่าจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กเพื่อแก้ไข “สถานการณ์การค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง” ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ โดยเขาย้ำตัวอย่างคือกลุ่มสหภาพยุโรป – อ้างอิง: [3]
Bloomberg รายงานเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟเรื่องนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่าก่อนหน้านี้ทรัมป์ชี้ให้เห็นถึงการขาดดุลการค้ากับสหภาพยุโรป 3 แสนล้านดอลลาร์ และขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีครั้งใหม่ 10-20% กับสินค้านำเข้ามาในสหรัฐอเมริกาหลายรายการ ดูแล้วตัวเลข 20% ซึ่งอาจกลายเป็นจริงได้ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมในยุโรปที่วิกฤตอยู่แล้วอาจถึงขั้นล่มสลายหรือไม่ - อ้างอิง: [4]
เครดิตภาพ: Shutterstock
เยอรมนีจะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่รู้สึกถึงระเบียบโลกใหม่ได้หลังทรัมป์เข้ามา แนวโน้มของสงครามการค้าทำให้ความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเยอรมนีทวีความรุนแรงขึ้น สถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมันเคยเตือนว่ากำแพงภาษีของทรัมป์อาจทำให้บริษัทในเยอรมนีสูญเสียเงิน 1.62 แสนล้านดอลลาร์ - อ้างอิง: [5]
1
ไมเคิล โรท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของพรรค SPD (เยอรมนี) กล่าวว่าทรัมป์ได้ชี้แจงให้ชาวยุโรปทราบอย่างชัดเจนว่าพวกเขาควรต้อง “ระวังเรื่องของตัวเองให้ดี” เพราะเขา (ทรัมป์) “จะไม่หยิบเกาลัดออกมาจากกองไฟเพื่อคนอื่น” - อ้างอิง: [6]
เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปกำลังรวบรวมรายการกำหนดภาษีเพื่อตอบโต้ พวกเขาตั้งใจที่จะเสนอแผนความร่วมมือกับผู้นำคนใหม่ของอเมริกา “เพื่อต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน” (โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่) และสัญญาว่าจะเพิ่มการนำเข้าของสหรัฐฯ เป็นการแลกเปลี่ยน ตามแผนของนักทฤษฎีของบรัสเซลส์ ทั้งหมดนี้เพื่อหวังทำให้อเมริกาพอใจ? – อ้างอิง: [7]
ยุโรปอยู่ในภาวะซบเซามาเป็นเวลานานแล้ว The Guardian สื่อของอังกฤษรายงานว่า “สงครามการค้าของทรัมป์อาจผลักดันให้ยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มรูปแบบ” - อ้างอิง: [8]
เครดิตภาพ: Cryptopolitan
นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตกับพันธมิตรดั้งเดิมของวอชิงตันบางส่วน รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับฝ่ายขวาจัดในยุโรป ความไม่สงบและการจลาจลครั้งใหม่ก็อาจจะเกิดขึ้น
สื่อตะวันตกเตือนว่าทรัมป์ยังมีคนโปรดอยู่ในยุโรปด้วย เช่น “วิกเตอร์ ออร์บัน” ผู้นำของฮังการี ศูนย์วิเคราะห์การเมืองแคปิตอลซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในบูดาเปสต์เชื่อว่าตอนนี้ยุโรปสามารถ “เจรจา” กับสหรัฐฯ ผ่านผู้นำฮังการีคนนี้ได้ แต่ฮังการีจะอยากเป็นคนกลางให้กับยุโรปทั้งหมดที่มีบางคนชอบกดขี่ฮังการีอยู่หรือไม่ – อ้างอิง: [9]
เครดิตภาพ: Viktor Orban / X
เรียบเรียงโดย Right Style
8th Nov 2024
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: Centre for European Reform>
โฆษณา