8 พ.ย. เวลา 05:20 • ท่องเที่ยว

หอพระไตรปิฏก วัดระฆังโฆษิตาราม วรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตาราม แต่เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร
พุทธศักราช ๒๓๑๑ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรี ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๑
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงครองราชย์แล้ว ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง
พุทธศักราช ๒๓๑๒ มีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าข้าศึก มีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นเสียให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราช พร้อมกันนั้นได้อาราธนาพระอาจารย์สีขึ้นมาด้วย
แต่เดิมพระอาจารย์สีผู้นี้ อยู่ประจำที่วัดพนัญเชิง อยุธยา เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกทั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิปัสนาธุระ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ท่านหลบลงไปอยู่นครศรีธรรมราช
เมื่อพระอาจารย์สีมาอยู่ที่วัดบางหว้าใหญ่แล้ว จึงทรงสถาปนาพระอาจารย์สีขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้วให้จัดประชุมพระเถรานุเถระทำสังคายนาพระไตรปิฎก ขณะนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรับราชการอยู่ในพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา มีพระชนมายุได้ ๓๓ พรรษา
ทรงย้ายบ้านมาจากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อรับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งหลังคามุมจาก ฝาสำหรวด กั้นด้วยกระแชง มาปลูกถวายวัดบางหว้าใหญ่
ตำหนักจันทน์ หรือ หอพระไตรปิฎก
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา ได้ทรงปรารภถึงพระตำหนักและหอประทับนั่งหลังนั้น
ทรงใคร่จะปฎิสังขรณ์ให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น และมีพระราชประสงค์จะให้เป็นหอพระไตรปิฎก
รับสั่งให้ขุดสระลงในที่นั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมก่ออิฐกรุไม้กั้นโดยรอบเพื่อกันทลาย แล้วรื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด
ห้องกลางเป็นห้องโถง เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้องชายคา มีกระเบื้องกระจังดุนรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดและฝากั้นกระแชงเป็นฝาไม้สักลูกฟัก ลูกฟักปกนภายในเรียบเขียนรูปภาพ
.. บานประตูหอด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางโถง แกะเป็นนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานประตูนอกชานแกะเป็นนาคลายกนกเครือวัลย์ มีซุ้มข้างบนเป็นลายกนกเครือวัลย์เหมือนกัน ภายนอกติดคันทวยสวยงาม
เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีมหกรรม และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง แล้วได้ทรงปลูกต้นจันทน์ไว้ในทิศทั้ง ๘ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงอิศรสุนทรและครูช่างอยุธยา
เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศเป็นหอพระปิฎก (แต่มีผู้เรียกว่า ตำหนักต้นจันทน์ จนทุกวันนี้) กับได้ทรงขอระฆังเสียงดีไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสนดาราม และได้ทรงสร้างระฆังมาพระราชทานแทนไว้ ๕ ลูก เพราะเหตุนี้วัดบางหว้าใหญ่จึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดระฆังโฆสิตาราม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ หลัง ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือและหอด้านใต้ ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้ทรงอำนวยการสร้างโดยเฉพาะลายรดน้ำและลายแกะ นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านกับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา
ศิลปกรรมในหอพระไตรปิฎก
สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมของหอพระไตรปิฎกหลังนี้ .. ลักษณะแบบเรือนไทยโบราณศิลปะแบบอยุธยา เป็นเรือนไทยโบราณยกพื้นสูง ใต้ถุนโล่ง .. เป็นตำหนักไม้แฝด 3 หลัง แบ่งเป็น หอนอน หอกลาง และหอนั่ง
การต่อเสาจะบากไม้ประกบกัน โดยใช้สลักเหล็กแทนเดือยไม้ พื้นก็ปูกระดานขนาดใหญ่หาดูยาก หย่องหน้าต่างเป็นลูกมะหวด กลึงสวยงามทุกช่อง
ฝาปกนด้านนอกนั้นลูกตั้งและลูกเซ็นมีบัว แต่ฝาปกนด้านในต่างกับของเรือนโบราณ เพราะเป็นฝาเรียบเสมอกันตลอด มีตัวอย่างที่หอสวดของวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี อีกแห่งหนึ่งเหมาะจะเขียนจิตรกรรมภายในอย่างยิ่ง
ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องขอ ชายคาติดกระเบื้องเป็นกระจังลายเทพพนมที่ทำขึ้นใหม่ให้คล้ายของเดิมตามศิลปะสมัยอยุธยา มีคันทวย (ไม้เท้าแขนที่รับชายคากับตัวบ้าน) ขนาดใหญ่รูปพญานาคลงรักปิดทองประดับกระจกสีเขียว รองรับชายคาโดยรอบ .. ตอนปั้นลมโบกปูนหุ้มไว้ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์แต่อย่างใด
งานแกะสลักไม้ที่มาประกอบกันขึ้นเป็นหอพระไตรปิฎกนั้น มีอยู่ทั้งภายนอกตลอดไปถึงภายใน นอกจากตัวเรือนที่เป็นสามหลังแฝดแล้วยังมีชานชาลายื่นออกมา ..
ด้านหน้าต่อกับบันไดทางขึ้นชานชาลา .. มีบานประตูแกะฉลักไม้ต้นจันทร์ ในประวัติว่ามีอยู่ทั้งแปดทิศ เวลานี้มีอยู่เหลืออยู่เพียงต้นเดียวอยู่ด้านหน้า
ใกล้บันไดที่จะย่างเข้าไป มีชานชาลา บานประตูเป็นไม้แผ่นหนาฉลักเป็นลายกระหนก มีนาคพันอยู่ที่โคน ประดับกระจกสีเขียวตามช่องไฟ เหนือบานประตูขึ้นไปเป็นแผ่นไม้หนา รูปทรงคล้ายหน้าบัน แกะลายอย่างบานประตูเข้าชุดกัน สวยงามพิศดาร ลงรักปิดทอง .. ไม้นั้นกร่อนเพราะตากแดดตากฝนมาไม่ต่ำกว่าสามชั่วอายุคน
ประตูตรงทางเข้าหอกลาง .. เป็นสิ่งแรกที่ดูโดดเด่น จำหลักเป็นลายกนกก้านขด ตอนล่างของบานจำหลักเป็นลายนกวายุภักษ์และลายกนกเครือเถาสวยงามมาก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยพระนารายณ์ นำมาจากหอไตรเดิมมาประกอบเขากับหอไตรใหม่
หน้าต่างตั้งอยู่ในกรอบเช็ดไม้ (วงกบ) ตัวบานเป็นไม้แผ่นใหญ่เปิดเข้าข้างใน ใช้เดือยแทนบานพับ ตรงกลางบานติด อกเลา ตอนล่างมีหย่อง (ขอบล่างของหน้าต่าง) แบบลูกกรงตามแบบสมัยต้นกรุงนัตนโกสินทร์ .. หน้าบานเขียนลายรดน้ำรูปเทวดายืนบนแท่น พระหัตถ์ถือพระขรรค์วางบนบ่า ในลักษณะกำลังย่างก้าว
ลักษณะภายในหอพระไตรปิฎก แต่ละหลังมีความยาว 3 ห้อง หรือ 3 ช่วงเสา พื้นปูด้วยแผ่นไม้สักทองขนาดใหญ่ .. ระหว่างหอนั่ง และหอกลางเปิดโล่ง มีลูกกรงไม้เตี้ยๆกั้น มีเสาไม้กลึงรูปหัวเม็ดเม็ดทีงมัณฑ์เป็นช่องทางเข้า
ห้องซ้าย ขวา ของเรือน .. ตั้งตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
หอพระไตรปิฏกนี้ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และยังเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2530 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
"จิตรกรรมฝาผนังในหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร"
รูปภาพจิตรกรรมที่มีเขียนไว้ในหอพระไตรปิฎกนี้ มีปรากฏอยู่เกือบทุกส่วนของหอ เมื่อเข้ามาภายในหอแล้วจะเป็นหอกลาง ขวามือคือหอนั่ง ซ้ายมือคือหอนอน
... ฝาในของประตูหอกลางเป็นภาพเขียนระบายสี รูปยักษ์สองตน เขียนรูปใหญ่เต็มบานยืนเท้ากระบองอยู่บานละตน รูปร่างหน้าตาท่าทางถมึงทึง น่าเกรงขาม ผิดกับรูปยักษ์อื่นๆที่เคยเห็นตนหนึ่งผิวกายขาวคือ สหัสเดชะ ตนหนึ่งผิวกายเขียวคล้ำคือ วิรุฬจำบัง
ขณะนี้เรายืนอยู่ในหอกลาง เราหันหลังให้ประตู เบื้องหน้าสู่ทิศตะวันตก ฝาด้านตรงหน้ามีหน้าต่างสองบาน ซ้ายมือเป็นหอนอน ขวามือคือหอนั่ง หอนอนเป็นฝาลูกสกล เขียนลายทองรดน้ำ ลายพุ่มทรงข้าวบัณฑ์ ประตูลายก้านขดปิดทองรดน้ำ
หอกลาง ภาพเรื่องรามเกียรติ์ฝีมือพระอาจารย์นาค
ภายในหอกลาง ภาพจิตรกรรมเป็นฝีมือพระอาจารย์นาคทั้งสองฝา เขียนเรื่องรามเกียรติ์
ศึกกุมภกัณฐ์ที่ด้านประตูทางเข้า .. เหนือประตูเป็นรูปสุครีพกำลังถอนต้นรัง ด้วยเรี่ยวแรงแข็งขัน ต่อไปขวามือ กุมภกัณฐ์เข้ารบรับขับเคี่ยวกับสุครีพ จนสุครีพเสียท่าเพราะหมดกำลัง ถูกกุมภกัณฐ์จับหนีบรักแร้พาตัวไปได้
.. ล่างลงมากำแหงหนุมานเหาะลงมาช่วยสุครีพเข้ารบกับกุมภกัณฐ์รุกรบตีด้วยต้นไม้ จนกุมภกัณฐ์พ่ายหนีไปได้ ช่วยสุครีพไว้ได้ .. น่าเสียดายที่ตอนนี้ภาพชำรุดมาก
ภาพศึกกุมภกัณฐ์ตอนพญาสุครีพถอนต้นรัง อยู่ติดกับทางออก ถ้าคิดให้ดีคือภาพเตือนใจไม่ให้ประมาท เพราะสุครีพแพ้กุมภกัณฐ์ก็เพราะความประมาท เขียนภาพแทนหนังสือตรงกับอัปปมาทธรรมพระปัจฉิมพุทธพจน์นั้นเอง
ด้านตรงกันข้าม เป็นตอนศึกอินทรชิตรบกับพระลักษณ์ ..ซีกช้าย เป็นทัพอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พรั่งพร้อมด้วยยักษ์แปลงเป็นเทพวัน ประดับธงทิวริ้วไสวสะบัดชายเรืองรอง เหมือนกองทัพเต็มอัตราอิสริยยศอันเกรียงไกรของพระอินทร์
ซีกขวาเป็นทัพพระลักษมณ์อนุชาของพระราม .. กำลังประทับเงื้อง่าพระแสงศรอยู่บนราชรถเทียมม้า มีฉัตร พัดโบก จามรกางกั้น มีพญาหนุมานชามภูวราช สุครีพ และวานรเป็นพลพรรค
น่าเสียดายที่ ฝากระดานทิศตรงข้ามคือทิศตะวันตก ด้านนี้ถูกน้ำฝนโชกโชนชั่วนาตาปี ทั้งความร้อนของแดดอันระอุอ้าว ทำให้ฝากกระดานชำรุด เกือบปะติดปะต่อไม่สำเร็จ
หอนั่ง
หอนั่ง กั้นด้วยราวลูกกรงเตี้ยบนพื้นหอที่ยกสูงกว่าหอกลางเล็กน้อยตรงกลางตั้งเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์แบบเก่าคู่หนึ่ง เป็นช่องทางสำหรับขึ้น ทาสีแดงชาดที่ราวลูกกรง หัวเม็ดปิดทอง รูปทรงหัวเม็ดคู่นี้งดงามมาก
หอกลาง กับ หอนั่ง จึงมองดูโล่งตลอดถึงกัน มองเห็นหน้าต่างโดยรอบ .. จำนวนหน้าต่างในหอนั่งมีเท่ากับ หอนอน ด้านกว้างสองหน้าต่าง ด้านยามสาม รวมเป็นเจ็ด ยกหอกลาง ขนาดแคบกว่าหอทั้งสองเล็กน้อย มีด้านเดียวสองหน้าต่าง คือด้านทิศตะวันตก ส่วนด้านทิศตะวันออกเป็นประตูที่เข้ามา ... บานหน้าต่างเขียนทั้งสองด้าน ด้านนอกเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเทวดา ด้านในเป็นรูปเทวดาเขียนสอดสี
เหนือหน้าต่างขึ้นไปเป็นภาพเทพชุมนุมเขียนสอดสีทั้งสามด้าน เริ่มจากขวามาซ้าย เทวดาชั้นจตุมหาราช ยักษ์ ครุฑ นาค คนธรรมพ์ เทพ อินทร์ พรหม เป็นที่สุด คล้ายกันกับเทพชุมนุมที่พระที่นางพุทไธสวรรย์ แต่ที่นี่มีแถวเดียว พื้นฝาระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพต้นไม้ ป่า เขา นก และสัตว์ต่างๆ
มีตู้พระธรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เป็นของสร้างมาพร้อมกับหอไตร ใหญ่จนยกออกประตูไม่ได้ เป็นตู้พระธรรมเขียนลายรดน้ำ
หอนอน
ฝาหอนอนเป็นฝาปกนด้านในเรียบ ด้านนอกเขียนลายทองพุ่มข้าวบิณฑ์ ..
บานประตูก็เขียนรายรดน้ำก้านขด พื้นหอนอนก็ยกสูงกว่าหอกลางเท่ากับหอนั่ง บานประตูก็เขียนลายรดน้ำก้านขด พื้นหอนอนก็ยกสูงกว่าหอกลางเช่นเดียวกับหอนั่ง
เมื่อก้าวเข้าไปแล้วปิดประตู บานประตูด้านในเป็นภาพเขียนระบายสี มองไปเต็มไปด้วยภาพเขียนระบายสีทั้งห้อง
.. บานประตูด้านในเขียนภาพระบายสีเป็นภาพต้นไม้ใหญ่สองต้น ใต้ต้นไม้มีพระภิกษุกำลังเจริญอสุภกรรมฐาน เป็นการเขียนภาพต้นไม้ขนาดใหญ่ด้วยฝีแปรงเฉียบขาด
ฝาด้านซ้ายมือบนฝากระดานใหญ่ เขียนบรรยายด้วยภาพอย่างพิสดาร เรื่อง ไตรภูมิ .. เขียนวิมานเทพดา บนยอดเขาสัตตปริภัณฑ์ อัน ล้อมเขาพระสุเมรุราช
มีฉากป่าเขาหิมพานต์ปราสาทที่อยู่ของเทพ ของอสูร ตามภูมิ ตามชั้นต่าง ๆ ภาพเหล่าสิงห์สาราสัตว์ เช่น ช้าง ม้า โค ราชสีห์ จาค นกยุง กินรี กินรา จับกลุ่มระบำรำฟ้อน
ชีกด้านขวาสอดแชกเรื่อง เวสสันดรชาดก คาบเรื่องไปถึงข้างบานประตูด้วย พระเวสสันดร กับ พระนางมัทรีและสองพระกุมารประทับอยู่ใต้ต้นไม้ที่ออกดอกแดงสล้าง น่าชมมาก
.. เหนือขึ้นไปแถวบนสุดเขียนเหล่าฤๅษี นักสิทธิวิชาธรเหาะเหินเดินอากาศมาไหว้พระจุฬามณี
มฆมานพกับภริยาสร้างศาลาทาน
ภาพเขียนบนฝากระดานใหญ่ด้านขวา เขียนบรรยายเรื่องในพระธรรมบท เรื่องของท้าวสักกะ หรืออัมรินทร์ เทวาธิราช หรือประวัติของมฆมานพ ก่อนที่จะได้บังเกิดเป็นพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
มฆมานพ มีภริยาสี่คน คือ นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา … สามนางแรกล้วนใจบุญสุนทาน ร่วมจิตใจกับสามีสร้างศาลา ช่อฟ้า สระน้ำ และสวนดอกไม้ เพื่อให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ
ส่วนภริยาอีกคนคือนางสุชาดา.. ไม่มีจิตร่วมกุศล คิดว่าสามีทำกุศลเราก็ได้รับผลเหมือนกัน จึงสาละวนอยู่กับการแต่งตัว
.. ในภาพจะเห็นศาลาหลังใหญ่สวยงาม มีนายช่างผิวพรรณดี ยืนสง่าอยู่ในศาลา (นายช่างผู้นี้ เมื่อหมดอายุแล้วไปเกิดเป็นวิศณุกรรมเทพบุตร)
ด้วยผลบุญกุศลที่ช่วยกันสร้าง .. มฆมานพได้เกิดเป็นท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์เป็นใหญ่ในดาวดึงส์ ภริยาทั้งสามก็ไปเกิดเป็นมเหสีพระอินทร์ จากผลบุญบารมีที่ได้สร้างศาลา สระโบกขรณี และสวนดอกไม้ เป็นมหาทาน
ส่วนนางสุชาดา .. ไปเกิดในภพต่างๆเป็นนกกระยาง เป็นธิดาช่างปั้นหม้อ และเป็นธิดาอสูรเวปจิตติ ฯลฯ มฆมานพแม้จะเป็นใหญ่ในสวรรค์แล้ว ก็ไม่วายเป็นทุกข์เป็นห่วงนางสุชาดาภริยาผู้หลงผิด ต้องร้อนใจติดตามลงมาช่วยนางอยู่หลายชาติ
รายละเอียดจากเรื่องมฆมานพสร้างศาลา
เรื่องของพระอินทร์ เทวาธิราช ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ ณ ฝากระดานด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออก
เหนือหน้าต่างอันมีเนื้อที่แคบแต่ยาวนี้มีภาพเขียนเป็นทัพอสูร ด้วยท่าทางเงื้อง่าอาวุธ ขี่สัตว์ประหลาด ๆ ผาดเผ่นโผนโจนทะยาน เหาะมาจากฟากฟ้าทางขวามาซ้าย มาสุดฝากระดานตรงเรื่องมมานพพพอดี
ห้องตรงที่สุดนี้เป็นฉากการต่อสู้รบอย่างฉกาจฉกรรจ์ เห็นเป็นรูปราชรถทรง มีภาพนางอัปสรอยู่ด้วย มีรูป ๆ หนึ่งอยู่บนราชรถทรง กำลังต่อกรกับอสูรขี่หลังเสือ ด้วยการขว้างจักรสู้กับแสงศร เสียดายที่ชำรุด ดูยาก
.. ถ้าคิดไม่ผิด ต้องเป็นจอมอสูรเวปจิตติยกทัพอสูรไล่ติดตามพระอินทร์ที่ปลอมแปลงเป็นอสูรแก่ มาลักพานางสุชาดาหลังจากเป็นธิดาช่างปั้นหม้อ แล้วมาเป็นธิดาอสูรเวปจิตติ
ตู้พระธรรมในหอนอน
มีผู้พระธรรมสำหรับเก็บพระไตรปิฏก ใบใหญ่ใบหนึ่งเขียนลายรดน้ำภาพเทพดาขนาดใหญ่ ยืนบนพระแท่น มีอสูรและกระบี่ เป็นผู้แบก เขียนเต็มขนาดใหญ่ของตู้ สี่ด้าน ลงรัก ปิดทองงามวิจิตรพิสดารยิ่ง
Ref : จิตรกรรมในหอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆษิตาราม โดย เฟื้อ หริพิทักษ์ : จัดพิมพ์ในวารสารสังคมปริทัศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2512
โฆษณา