10 พ.ย. 2024 เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ลุ้นค่าไฟปี 68 แพงขึ้นสูงสุด 5.49 บาท/หน่วย เหตุเร่งทยอยคืนหนี้ กฟผ.

กกพ.เสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟงวด ม.ค. - เม.ย. 68 ที่ 4.18 - 5.49 บาท/หน่วย มองต้นทุนค่าไฟลดลงจากเงินบาทแข็งค่า เป็นจังหวะดีเร่งใช้คืนหนี้ กฟผ.แสนล้าน
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. ครั้งที่ 49/67 มีมติให้ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 68 แบ่งเป็น 3 กรณีอยู่ที่ 4.18 - 5.49 บาทต่อหน่วย โดยมองว่าแนวโน้มต้นทุนค่าไฟลดลงจากเงินบาทแข็งค่า ถือเป็นจังหวะดีที่จะเร่งใช้คืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงคงค้างที่ยังสูงกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงให้ระบบ
พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ กกพ.
กรณีที่ 1 : ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 170.71 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.49 บาท/หน่วย (ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 31%)
- ชำระภาระต้นทุนการจัดการไฟฟ้าคงค้าง กฟผ. ภายในงวดเดียว รวมทั้งสิ้น 85,236 ล้านบาท
- ชำระภาระต้นทุนการจัดหาก๊าซคงค้างของ กฟผ. และ ปตท.รวมทั้งสิ้น 15,084 ล้านบาท
กรณีที่ 2 : ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 147.53 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.26 บาท/หน่วย (ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 26%)
- ชำระภาระต้นทุนการจัดการไฟฟ้าคงค้าง กฟผ. ภายในงวดเดียว รวมทั้งสิ้น 85,236 ล้านบาท
- ยังมีภาระต้นทุนการจัดหาก๊าซคงค้างของ กฟผ. และ ปตท.รวมทั้งสิ้น 15,084 ล้านบาท
กรณีที่ 3 : ตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 39.72 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 4.18 บาท/หน่วย
- ทยอยชำระภาระต้นทุนการจัดการไฟฟ้าคงค้าง กฟผ. คิดเป็นจำนวนเงิน 15,094 ล้านบาท *ตามข้อเสนอ กฟผ.
- คาดว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 68 จะมีภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. และ ปตท. คงเหลืออยู่ที่ 85,226 ล้านบาท
ลุ้นค่าไฟปี 68 แพงขึ้นสูงสุด 5.49 บาท/หน่วย เหตุเร่งทยอยคืนหนี้ กฟผ.
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวด้วยว่า จากแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจากงวดก่อนหน้า 3.27 บาท/เหรียญสหรัฐ (งวด ก.ย. - ธ.ค. 67) เป็น 33.36 บาท/เหรียญสหรัฐ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีความพร้อมในการผลิตเพิ่มขึ้น สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ในตลาดโลกปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากงวดก่อนหน้า 0.2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
และปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งอ่าวไทยซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มต้นทุนจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุมดีขึ้นส่งผลต่อแรงกดดันการเพิ่มค่าไฟลดลง
ปัจจัยที่ยังไม่สามารถทำให้ค่าไฟลดลง
ยังคงมาจากภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงสะสมในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา แม้ลดลงจากงวดก่อนหน้าไปบ้างแต่ยังอยู่ในระดับสูง และต้องได้รับการดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย
จากสาเหตุหลักซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับตัวลดลง แต่เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้คงค้างที่ยังสูง ส่งผลให้ค่าไฟช่วงต้นปี 68 อาจปรับเพิ่มค่าเอฟทีขึ้นสู่ระดับ 147.53 - 170.71 สตางค์/หน่วย ทำให้เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาท/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด ม.ค. - เม.ย. 68 เพิ่มขึ้นเป็น 5.26 - 5.49 บาท/หน่วย หรือหากตรึงค่าเอฟทีไว้ที่ 39.72 สตางค์/หน่วย
โดยทยอยคืนหนี้คงค้างควบคู่ไปกับการลดผลกระทบการปรับค่าไฟฟ้าเพื่อลดภาระประชาชนค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย เท่ากับปัจจุบัน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/236230
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา