9 พ.ย. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รวมโพส #ภาษี101

1. ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี?
ต้องเกริ่นก่อนว่า “ยื่นภาษี” กับ “เสียภาษี” ไม่เหมือนกันนะ หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ไม่ต้องยื่นแบบภาษี
แต่ความจริงแล้ว ทุกคนที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษี แม้เงินได้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ต้องยื่นแบบฯ
ถ้าหากเราละเลยไม่ยื่นภาษี หรือจงใจหลีกเลี่ยงภาษี ถือว่ามีความผิด และมีโทษปรับทางอาญา หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและไม่ทำผิดทางกฎหมาย เราจึงควรยื่นภาษีทุกปีที่มีรายได้นะ
2. ประเภทเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
ทางภาษีมีการแบ่งเงินได้ออกเป็นทั้งหมด 8 ประเภท โดยแบ่งตามการประกอบอาชีพ และในทางภาษีมองว่ามีต้นทุนในการได้มาของเงินได้นั้นไม่เท่ากัน จึงส่งผลการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทไม่เหมือนกัน
3. สรุปรายการลดหย่อนภาษี ปี 2567
ค่าลดหย่อนภาษีเป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ทุกคนสามารถใช้เพื่อลดภาษีได้
โดยรายการพื้นฐานที่ใช้สำหรับลดหย่อนภาษี แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ คือ
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว
2. ค่าลดหย่อนภาษี จากการซื้อประกัน การออมเงิน และการลงทุน
3. ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค
4. ลดหย่อนภาษีอื่นๆ ผ่านมาตรการรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในแต่ละปีภาครัฐอาจมีประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงควรติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่พลาดใช้สิทธิลดหย่อนเหล่านั้นด้วย
4. วางแผนภาษีดี มีเงินคืน !!
ถ้าเราวางแผนภาษีดี มีเงินคืนแน่นอน และที่สำคัญ ควรซื้อลดหย่อนภาษีด้วยจำนวนเงินที่พอดีเท่าที่เราไหวก็พอ อย่าซื้อเยอะเกินตัวจนกลายเป็นภาระ หรือมากระทบกับแผนการเงินของเราในอนาคตนะ
เรามองว่า การซื้อลดหย่อนด้วยจำนวนเงินประมาณ 10-20% ของรายได้ทั้งปี เป็นตัวเลขที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ซึ่งก็จะสอดคล้องกับอัตราส่วนเงินออมและลงทุนที่เราควรออมให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายได้ หรือถ้าใครเก็บออมได้มากกว่านั้นไปจนถึง 25-30% ของรายได้ ถือว่าเป็นคนที่มีสุขภาพการเงินที่ดีมากๆ
5. Final Tax เมื่อถูกหักภาษีแล้ว ไม่ต้องรวมยื่นภาษีสิ้นปีอีกก็ได้
มีเงินได้บางประเภทที่เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว เรามีสิทธิ์เลือกได้ว่านำมารวมยื่นหรือไม่รวมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีก็ได้
ปัจจุบัน เงินได้ที่ได้รับสิทธิ์ Final Tax และพบบ่อยๆ มี 5 ประเภท
1. ดอกเบี้ยต่างๆ (เช่น เงินฝาก พันธบัตรและหุ้นกู้) - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
2. ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตราสารหนี้ - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
3. กำไรจากการโอนขายตราสารหนี้ - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
4.เงินปันผล - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%
5.เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ (ได้ทางมรดก และไม่มุ่งค้าหรือหากำไร) - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นอัตราก้าวหน้า โดยสำนักงานที่ดินคิดภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้
ส่วนเงินได้บางประเภท เช่น เงินเดือน ค่าจ้างต่างๆ เป็นการหักจ่ายภาษีล่วงหน้าเท่านั้น และต้องนำรายได้ก้อนนั้นไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีสิ้นปีตามปกติด้วย
สนใจอยากได้คำปรึกษาวางแผนการเงินส่วนบุคคล
Direct message 📩 m.me/Cashury.th
โฆษณา