8 พ.ย. เวลา 20:28 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

รีวิว โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: ภาคล่าสุด - บรรเลงดนตรีกู้โลกในทิศทางที่แปลกใหม่แต่ยังสนุกเหมือนเดิม

ไม่น่าแปลกใจถ้าโดราเอมอนเดอะมูฟวี่ในครั้งนี้จะแบ่งผู้ชมเป็นสองฝั่งชัดเจน คือ ชอบและไม่ชอบ เพราะการหยิบยืมเอา “ดนตรี” มาสร้างเป็นเรื่องราวนั้น มันค่อนข้างมีความเฉพาะตัวอยู่สูง โดยเฉพาะถ้าตัวเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีอยู่แล้ว ก็จะชวนให้เกิดอาการฝืนขึ้นมาแปลกๆ กับการต้องนำเสนอ ทั้งเครื่องดนตรีที่ปกติแล้วตัวละครพวกนี้แทบจะไม่ได้ยุ่ง หรือคำศัพท์ต่างๆ เช่น forte fortissimo crescendo maestro หรือ virtuoso ที่พวยพุ่งขึ้นมาประหนึ่งเข้าคลาสเรียนดนตรีสากล
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
ชื่อภาค “โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ” แน่นอนว่าต้องหนีไม่พ้นการได้เจอเครื่องดนตรีและคำศัพท์แสงต่างๆ สอดแทรกอยู่ตามการเล่าเรื่อง เริ่มจากการผูกปมเรื่องเข้ากับโนบิตะให้มีเหตุที่ต้องเล่นดนตรี เพื่อชักนำไปสู่ปัญหาของผู้มาเยือนอย่าง “มิกกะ” (นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส) เด็กสาวลึกลับที่พยายามกอบกู้อาณาจักรแห่งเสียงดนตรี “วิหารฟาร์เร่” ตามคำทำนายที่บอกว่าพวกโนบิตะ คือ “เวอร์ทูโอโซ” หรือผู้กอบกู้ที่ว่า ระหว่างทางจึงเป็นเรื่องของโนบิตะและผองเพื่อนที่ต้องพัฒนาความสามารถทางดนตรีเพื่อเป็นผู้กอบกู้ตามคำทำนายให้ได้
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
ใจความหลักของภาคนี้ คือ การเฝ้ามองพัฒนาการด้านดนตรีของพวกโนบิตะ อันที่จริงก็ต้องเน้นที่โนบิตะ ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่าเขาต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการจะประสบความสำเร็จในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว การได้เห็นโนบิตะมาเล่นดนตรีก็น่าสนใจว่าเขาจะทำได้ดีแค่ไหน น่าสนใจตรงที่ตัวเรื่องไม่ได้อยู่ๆ ก็ใช้ของวิเศษของโดราเอม่อน เพื่อให้ทุกคนเก่งขึ้นแบบก้าวกระโดดกลายเป็นระดับโปรในทันที...
...แต่มันเป็นการค่อยๆ เก่งขึ้นทีละขั้น โดยมีของวิเศษ “ใบประกอบอาชีพนักดนตรี” เลือกเครื่องดนตรีให้กับทุกคน และบอกเลเวลของพวกโนบิตะอยู่เรื่อยๆ ว่า พัฒนาขึ้นแค่ไหนแล้ว (ซึ่งมันแทบไม่ใช่ของวิเศษเลย)
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
การให้โนบิตะมีเครื่องดนตรีประจำตัวอย่าง รีคอร์เดอร์ (Recorder) หรือเรียกบ้านๆ ก็ขลุ่ยนี่แหละ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะนี่เป็นเครื่องดนตรีเบื้องต้นสำหรับเด็กๆ ที่ใช้ฝึกสอนกันทั่วไปอยู่แล้ว แต่ก็นึกตลกว่า คนที่เล่นดนตรีเป็นประจำ(เก่งบ้างไม่เก่งบ้าง)อย่างชิซุกะ กลับถูกเลือกให้เล่นเครื่องประกอบจังหวะ เพอร์คัชชัน (percussion) เฉยเลย แทนที่จะเล่นไวโอลินที่เคยเล่นประจำ กลายเป็นซุเนโอะที่ได้เล่นไวโอลินแทน ส่วนใจแอนท์เล่น ทูบา (tuba) ซึ่งดูเหมาะกับเจ้าตัวดี
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
เข้าใจได้ว่าเรื่องราวของความตั้งใจ ความพยายาม เป็นเรื่องราวที่อนิเมชั่นญี่ปุ่นมักจะนำเสนออยู่บ่อยครั้ง แต่กับกรณีของโนบิตะในครั้งนี้ กลายเป็นว่าตัวเขาถูกทำให้กลายเป็นพวก “ไม่ได้เรื่อง” เกินความจำเป็นไปหน่อย แน่นอนว่าคาแรคเตอร์ของโนบิตะ คือ เด็กไม่เอาไหน ไม่เก่ง ไม่พยายาม ซึ่งในภาคนี้เขาก็แก้ไข โดยการพยายามมากเล่นขลุ่ยมากขึ้นไปแอบซ้อมคนเดียวบ้าง แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ โนบิตะก็ไม่ได้เก่งขึ้นเท่าคนอื่นสักที และมีโน้ตตัว “โน” ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาโนบิตะเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
โน้ตตัว “โน” เข้าใจว่าเป็นการพ้องมาจากชื่อของ โนบิตะ และเป็นการสื่อถึงตัวตนของเขาที่ขนาดเป่าขลุ่ยยังมีเสียงเป็นชื่อตัวเองออกมาเลย และมันเป็นโน้ตที่เพี้ยนไม่ไพเราะไม่ประสานกับเพื่อน ซึ่งหากมองตามความเป็นจริง คุณจะเป่าขลุ่ยเพี้ยนได้ขนาดนี้มันไม่เกี่ยวกับความเก่งไม่เก่งแล้ว มันอาจจะเกิดจากกรณีแรก คือ ลมของโนบิตะที่เป่าแรงเกินไป ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่โนบิตะจะไม่รู้ตัวแล้วเป่าโพล่งๆ ออกมาโดยไม่พัฒนาเลยจนจบเรื่อง (ถ้าเป็นแบบนั้นก็เกินเยียวยา)
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
แต่อีกกรณีคือ ขลุ่ยอาจจะชำรุดหรือพังบางจุด ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด แต่ตัวเรื่องกลับสื่อไปในทำนองว่า มันคือความไม่เก่งของโนบิตะอย่างเดียวที่เป่าขลุ่ยเพี้ยน โดยไม่มีใครสังเกตเลยว่า ขลุ่ยของโนบิตะอาจจะพังหรือมีปัญหารึเปล่า มันเป็นจุดที่รู้สึกได้ว่าตัวเรื่องพยายามยัดเยียดความไม่เก่งให้โนบิตะมากเกินไป จนไม่ได้สนใจความเป็นไปได้อื่นๆ เลย (เพื่อนก็ไม่เอะใจด้วยนะ)
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
อย่างที่บอกไปว่าความเฉพาะตัวของเรื่องดนตรีจะแบ่งคนที่ชอบและไม่ชอบออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ถ้าตัดความชอบไม่ชอบออกไปก็บอกได้ว่า “โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ” มีการดำเนินเรื่องที่ใช้ได้เลยทีเดียว การค่อยๆ ฟื้นฟูวิหารฟาร์เร่ไปพร้อมๆ กับเผยประวัติของมิกกะ ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของพวกโนบิตะที่ค่อยๆ เล่นเครื่องดนตรีได้เก่งขึ้น และนำไปสู่การค้นหาต้นตอของปัญหา “นอยซ์” ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
โดยเฉพาะการพยายามเชื่อมโยงประวัติศาสตร์การใช้เครื่องดนตรีของมนุษย์ให้กลายเป็นเส้นเรื่องที่เข้ากันกับเนื้อเรื่องเพื่อจะบอกว่า ไม่ว่าจะยุคใดมนุษย์ก็ไม่สามารถขาดเสียงดนตรีไปไม่ได้ ดังจะเห็นว่าเมื่อวิหารฟาร์เร่ขาดเสียงดนตรีไปก็กลายเป็นเมืองร้างไร้ชีวิตไปเลย ซึ่งเป็นจุดที่ทำได้มีพลังและเป็นแก่นสำคัญของเรื่อง รวมถึงการใช้ของวิเศษของโดราเอม่อนที่มีลูกพลิกแพลงเชื่อมโยงกันให้จุดไคล์แมกซ์มีความตื่นเต้นได้ด้วย ซึ่งเป็นกลเม็ดที่เห็นหลายครั้งแล้วแต่ก็ยังสร้างความมีมิติได้ทุกครั้ง
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
และต้องยอมรับว่าฉากแอคชั่นที่เคยสนุกก็ดูอ่อนแรงลงไปพอสมควร แม้จะพยายามสร้างฉากแอคชั่นจากการบรรเลงดนตรีของพวกโนบิตะให้ออกมาเป็นรูปธรรมแบบสุดๆ แล้วก็ตาม แต่มันก็คงไม่สนุกตื่นเต้นเท่ากับการขับหุ่นรบไปถล่มฐานศัตรู หรือนั่งพรมบินหนีแม่มดจากดินแดนปีศาจ เว้นแต่ว่าจะใช้ไฟฉายขยายส่วน ขยายเครื่องดนตรีของพวกโนบิตะแล้วฟาดใส่ศัตรูตรงๆ ไปเลย ซึ่งก็คงไม่น่าดูแน่ๆ
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
ยังดีที่การดนตรีประกอบและงานสร้างสามารถพาตัวหนังให้ไปอยู่ในจุดที่เรียกว่าคุณภาพได้ เกิดเป็นสุนทรียภาพที่สอดประสานกับดนตรีอันไพเราะ ช่วยขับเน้นพลังของเรื่องได้เป็นอย่าางดี ในขณะที่ลายเส้นตัวละครมีความน่ารัก ดูสะอาดตา ทั้งตัวละครใหม่มิกกะ และชาเปกกุ(พนาวรรณ ศรีวะโลสกุล) ผู้ติดตาม ส่วนแก๊งค์ตัวป่วนที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีก็มีการปรับเปลี่ยนไปในแต่ละภาคอยู่แล้ว
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
สำหรับแฟนๆ ชาวไทย เรื่องเสียงพากย์ก็ยังคงได้ทีมพากย์ชุดเดิมจากช่อง 9 การ์ตูน กลับมาทั้งหมดเช่นเคย นำโดย น้าติ๋ม-ฉันทนา ธาราจันทร์ พากย์เสียง โดราเอมอน, น้านิด-ศันสนีย์ วัฒนานุกูล พากย์เสียง โนบิตะ, น้าฝึ้ง-ศรีอาภา เรือนนาค พากย์เสียง ชิซุกะและมอร์ทเชล, น้าตุ๊ก-อรุณี นันทิวาส พากย์เสียง ซึเนโอะ และ น้าต๋อย-นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์ พากย์เสียง ไจแอนท์ ซึ่งเป็นเหมือนงานเลี้ยงประจำปีที่ทำให้เราได้ฟังเสียงเหล่าน้าๆ อีกครั้ง...
...เพราะพวกน้าไม่ได้รับงานพากย์กันแล้ว ก็ต้องอวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง และขอขอบคุณที่อยู่คู่กับโดราเอมอนมากว่า 40 ปี เป็นตำนานของประเทศไทยที่ไม่มีที่ไหนอีกแล้ว
โดราเอมอนเดอะมูฟวี่: โลกแห่งซิมโฟนี่ของโนบิตะ
โฆษณา