Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ก
ก่อนกลับดาว
•
ติดตาม
10 พ.ย. เวลา 03:18 • ความคิดเห็น
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
คิดถึง “งานวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ครั้งที่ 10 ณ สวนกุหลาบวิทยาลัย 2518 ปากคลองตลาด”
**ข้อมูลอาจจะมีผิดพลาดบ้างเพราะนำมาจากความทรงจำในสมอง ไม่ได้จดบันทึกไว้**
ผมเข้า ส.ก.ปี 2518 ด้วยอายุราว 13 ปลายๆ ด้วยความภาคภูมิใจที่เด็กมาจากต่างจังหวัดได้สองปีสามารถสอบเข้าโรงเรียนดังได้ แต่ที่ผ่านมาสองปี 2516-17 ก็เป็นปีที่ยากลำบากในเรื่องการใช้ชีวิตจนแม้แต่ตอนเข้าสวนฯ มาแล้วชีวิตก็ยังทุลักทุเลอยู่
เท่าที่จำได้ วันแรกพี่เต้ย-มรว.รณจักร์ จักรพันธุ์ ได้กรุณาพาผมมามอบตัวหรือทำอะไรสักอย่างที่โรงเรียน ซึ่งตอนนั้นพี่เต้ยก็อาจจะอยู่ราว ม.ศ.3 ได้เดินไปเดินกลับจากซอยข้างวัดประยูรฯ ด้วยกันในวันนั้น
ปี พ.ศ.2518 ตอนนั้นเด็กสวนฯ สามารถไว้ผมยาวได้ ผมก็ได้เปลี่ยนจากหัวเกรียนมาไว้ผมรองทรง เช้าๆ ก็เดินจากซอยข้างวัดประยูรฯ ข้ามสะพานกรุงเทพซึ่งไม่ไกลมากก็ถึงโรงเรียน ผมได้อยู่ชั้น ม.ศ.1/4 ห้องอยู่ชั้นบนของตึกสวนกุหลาบรำลึกหลังเก่า ด้านล่างเป็นสหกรณ์ ครูประจำชั้นคือคุณครูฟรายด์ ชาแสน ที่ห้องน่าจะมีราว 44 คนหรือใกล้เคียง
คุณครูฟรายเดย์ ชาแสน จำปีไม่ได้ น่าจะอยู่ระหว่าง 2557-2559 นัดกลุ่มที่เรียน ม.ศ.1/4 ที่ร้านอาหารของกฤษณ์ กิจเจริญ
เพื่อนที่จำชื่อได้ก็มีนามสกุลดังอยู่ 2 คนคือ จิตติณ ติณสูลานนท์, กฤษฎา บุญบันเทิง และเพื่อนที่สนิทที่ไม่ได้เจอกันตั้งแต่ปี 2518 คือ ชนะ นานาวราทร สมโชค (จำนามสกุลไม่ได้) และน่าจะมี กฤษณ์ กิจเจริญ ด้วย เข้าไปใหม่ๆ ผมก็ได้เข้าชมรมดนตรีไทยด้วยพอมีพื้นฐานซอด้วงอยู่บ้าง ที่ชมรมนี้ผมได้พบคนที่จะมีชื่อเสียงต่อมาคนนึงคือ ประดิษฐ์ ปราสาททอง (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ละครร่วมสมัย) ปี 2565) ซึ่งยังจำหน้าเขาตอนนั้นได้ดีว่าเขามีหนวดบางๆ แล้ว ในขณะที่ผมยังโตไม่พอที่จะมีเลย
ตั้ว-ประดิษฐ์ ปราสาททอง ที่ยังมีเค้าเดิมมาก
ด้วยปัญหาชีวิตที่ยังคงอยู่ เรียนไปไม่เท่าไรก็เริ่มใจแตกจาก “พรรคเที่ยง” พรรคการเมืองในโรงเรียน ตอนนั้นมีการรับสมัครผู้แทนนักเรียน ผมก็ถูกดึงดูดให้เข้าไปเป็นผู้สมัคร ตอนปี 2518 เป็นยุคที่สังคมได้รับผลกระทบจากชัยชนะของนักศึกษาและประชาชนในการต่อสู้เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 กระแสซ้ายได้แพร่ขยายไปอย่างกว้างขวางในหมู่นักเรียนกรุงเทพฯ เข้าไปเรียนสวนฯ ไม่กี่วันก็มีงานรับน้องด้วยวงดนตรี โคมฉาย ซึ่งช่วงนั้นวงดังๆ ก็จะมีกงล้อ คาราวาน กรรมาชน ต้นกล้า ....
เทปวงโคมฉาย วงนี้เริ่มก่อตั้งปี 2518
ผมบังเอิญได้พบกระดาษถ่ายเอกสารที่มาจากหนังสือรุ่นหรือหนังสืออะไรสักอย่างนานมาแล้ว เป็นภาพผมกำลังยืนหาเสียงอยู่หน้าโพเดียมบนเวทีหอประชุม นั่นเป็นการเปิดซิงการใจแตกครั้งแรกที่มีผลมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนหาพูดหาเสียงก็มีการติดป้ายขอคะแนน ซึ่งผมได้แต่งกลอน 1 บทที่จำไม่ได้แล้ว และโคลงอีก 1 บทพอจำได้กระท่อนกระแท่นว่า “ไข่หลานใครลุกได้ ดูไป “เที่ยง” รบจนสุดใจ ไข่ตั้ง เสียเนื้อเลือดปัสสาวะไหล .....”
ภาพบนซ้ายสุดน่าจะเป็นผมที่กำลังหาเสียงตัวแทนนักเรียน ม.ศ.1 พ.ศ.2518
หัวหน้าพรรคเที่ยงตอนนั้นน่าจะอยู่ม.ศ.5 รูปหล่อ ใส่รองเท้าหนัง แต่งตัวเนี้ยบ ขับรถเก๋งมาโรงเรียน ชื่อ สหัส ตันติคุณ ได้พบพี่เขาอีกครั้งก็อีกนานมาก ไปเจอหน้า ม.ธ.ท่าพระจันทร์ เขากำลังเรียนปริญญาโท
ผลจากการเลือกตั้งก็คือตก แต่ความมันได้เต็ม ผู้ที่ได้ตำแหน่งคือกลุ่มอิสระ ซึ่งเดาว่ากลุ่มนี้เป็นติ่งของพี่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล(ตอนนั้นพี่เขาน่าจะอยู่ ม.ศ.5 และเป็นคนดังไปแล้วตั้งแต่ปี 2517 หรือก่อนหน้านั้น จากการจัดทำหนังสือวันสมานมิตร ชื่อ “ศึก” ที่ก่อให้เกิดการตะลุมบอนระหว่างเด็กสวนฯ ด้วยกัน)
หล่อตั้งแต่เด็กนะครับ พี่สหัส ตันติคุณ
จากนั้น ผมได้เริ่มทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ใช้การเรียน เช้ามาก็แต่งตัวมาเรียน เข้ามาในโรงเรียนแต่ไม่เข้าห้องเรียน ไปตีเนียนกับรุ่นพี่ เขาไปเที่ยวกันเฉพาะ ม.ศ.2 ก็แฝงตัวไปเที่ยวกับเขาด้วย ได้ร้อง “โอ้มวลสวนกุหลาบ ....” ก่อนเพื่อนที่ยังเรียน ม.ศ.1 ได้ไปเป็นลูกมือช่างภาพชมรมวิทยาศาสตร์ ฝึกใช้กล้องตัวแรกคือ Pentax Spotmatic ทำให้อาศัยเป็นข้ออ้างทำกิจกรรมไปต่างๆ นาๆ
Credit: Wikipedia
ผ.อ.โรงเรียนตอนนั้นคืออาจารย์สุวรรณ จันทร์สม ผมได้ถ่ายภาพการประท้วงอะไรสักอย่างที่เกิดระหว่างนักเรียนสวนฯ รุ่น ม.ศ.ปลายกับทางโรงเรียน เหตุการณ์อาจจะอยู่ในช่วงเดียวกันกับการจัดงานวิทยาศาสตร์สัมพันธ์เพราะมีภาพนักเรียนหญิงโรงเรียนอื่นนั่งฟังอยู่ด้วย คนที่ขึ้นไปพูดอยู่บนโต๊ะน่าจะชื่อ วรวิทย์ หรืออะไรประมาณนั้น ถือว่าเป็นมือวางอันดับสองรองจากท่านสมศักดิ์ เจียมฯ
การประท้วงที่สนามฟุตบอล มีนักเรียนฟังอยู่หลายโรงเรียน ช่วงนั้นการกบฏเป็นเรื่องที่แพร่หลายในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา
และแล้วก็ถึงหัวข้อที่คิดถึง นั่นเป็นช่วงที่ได้ทำกิจกรรมที่มีความสุขมาก คือ งานวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ครั้งที่ 10 ซึ่งปี 2518 สวนกุหลาบเป็นเจ้าภาพ งานนี้จัดติดต่อกันมาเป็นปีที่สิบ โดยมีโรงเรียนน่าจะเกือบทั้งหมดของกทม.และปริมณฑลเข้าร่วม คงจะราว 50 โรงเรียน และก็เป็นช่วงที่น้ำท่วมด้วย แต่ช่วงจัดงานน้ำจะไม่ได้ท่วมตลอดหรือท่วมนิดหน่อยเป็นเวลาไม่นาน แต่ก็ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมที่สนามฟุตบอล
วันงาน จัดบูธกระจายไปทุกตึกของโรงเรียน และมีการแสดงที่หอประชุมสวนกุหลาบรำลึกเก่า
ความสนุกสนานดำเนินไปท่ามกลางฝนพรำและพื้นที่เปียกลื่น จากเด็กหนุ่มที่อุดอู้กับสาบหนุ่มโรงเรียนเดียวกันมานานหลายเดือน เริ่มคึกถึงคึกมากในการพบปะประสานงานกับสาวๆ ต่างโรงเรียนในฐานะเจ้าบ้าน ได้มีโอกาสเข้าไปขนของและร่วมประชุมในโรงเรียนหญิงล้วนซึ่งไม่เคยได้ไป เช่น สตรีวิทยา สตรีมหาพฤฒาราม เบญจมราชาลัย ฯ ติดรถบรรทุกตะเวนขนของจากโรงเรียนต่างๆ มาที่สวนฯ รวมถึงการไปขอสปอนเซอร์จากห้างร้านและศิษย์เก่าต่างๆ ท่านหนึ่งที่จำได้ก็คือ นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี ซึ่งตอนนั้นท่านอยุ่ที่ศิริราช
กองอำนวยการของงาน ตั้งท่ามกลางพื้นดินที่เปียกลื่น พี่สาวคนนี้คือ มนวิภา วงศ์วิทยากรกิจ คณะทำงานของเตรียมอุดมฯ มักมากับพี่ชายคนที่ยืนข้างหลัง
ผมทำงานพื้นๆ หลายๆ อย่าง เน้นด้านใช้กำลังเพราะตอนนั้นเป็นเด็กใหม่อายุยังไม่เต็ม 14 ปี จากการทำหน้าที่จัดสถานที่หอประชุมสวนกุหลาบรำลึก ซี่งเป็นเวทีที่จะมีการแสดงจินตลีลา ดนตรี และการแสดงต่างๆ
การแสดงบนเวทีของสายน้ำผึ้งและอีกโรงเรียนจำไม่ได้ อาจจะเป็นวัดแจงร้อน
ที่เวทีการแสดงผมสดชื่นเป็นอย่างมากที่ได้เจอสาวต่างโรงเรียนมากมาย ผมพรางตัวหรือโกหกก็จำไม่ได้ว่าอยู่ ม.ศ.2 ตอนนั้นปิ๊งสาวสายน้ำผึ้งซึ่งอยู่ ม.ศ.2 ชื่อพี่จอย จำชื่อจริงไม่ได้แล้ว แต่ก็สนิทกับเพื่อนเขาอีกคนคือพี่ป้อม-ต้องใจ ทรัพย์สมบูรณ์ และก็สนิทกับพี่ปู-ลักษี ภมรสถิตย์ (เขมะฯ) ในส่วนของการแสดงบนเวที มีหนุ่มรุ่นพี่อีกคนนึงอยู่กรุงเทพคริสเตียน หรือ เซนต์คาเบรียล ก็ไม่แน่ใจ รู้แต่กางเกงสีน้ำเงิน ชื่อ พี่กิตติ เอมะสิทธิ์ แต่ทุกคนคิดว่าผมอยู่ ม.ศ.2 เพราะตอนนั้นเด็กม.ศ.1 แทบจะไม่มีใครทำกิจกรรมเลย
พี่ป้อม-พี่จอย(ในงานวิทย์ 10) และ พี่ปู(หน้าโรงละครแห่งชาติ 2519)
คนทำกิจกรรมของงานนี้ผมมองเป็นสองส่วน คือ พวกที่ปฏิบัติหน้าที่ๆ บูธและงานแสดงต่างๆ ซึ่งจะเข้ามาสวนฯ ช่วงสั้นๆ ใกล้วันงานเท่านั้น และอีกส่วนคือฝ่ายบริหารที่จะมีการประชุมกันตั้งแต่ก่อนเริ่มงานหลายเดือน ในกลุ่มนี้ที่สนิทจะมี พี่กิ-กิศนีย์ พงศ์พิษณุพิจิตร (สตรีมหาพฤฒาราม) พี่ไก่-วิจิตรา มานะวาณิชย์กิจเจริญ(สตรีวิทยา) อีกคนซึ่งผมไม่แน่ใจว่าไปรู้จักได้ยังไงคือ ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ ไม่แน่ใจว่าสนิทหรือเปล่า แต่จำชื่อได้แม่นเพราะมักจะจำสลับกับพี่กิตติ เอมะสิทธิ์ซึ่งสนิทกัน
มีภาพฝ่ายบริหารงานที่ผมถ่ายแบบขมุกขมัวในห้องประชุม มีทั้งรูปพี่กิ และพี่ไก่ นั่งเครียดอยู่ในที่ประชุม ผมเข้าไปเนียนด้วย เห็นท่านสมศักดิ์ เจียมฯ ด้วยแต่ไม่ชัด คลับคล้ายคลับคลาว่ากำลังมีปัญหาหนังสือของงานวิทย์ที่ชื่อ “และแล้วจะถึงวันนั้น” เดาว่าท่านสมศักดิ์มีส่วนในบทความในหนังสือที่อาจารย์ไม่เห็นด้วยจนต้องประชุมเครียด จนสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ที่พิมพ์มาแล้วทุกเล่มถูกตัดด้วยของมีคมออกเป็นปึกเพื่อเอาบทความนี้ออก
พี่กิ พี่ไก่ และ ท่านสมศักดิ์(เห็นด้านข้างมีมือบัง)
ผมจำไม่ได้ว่างานวิทย์ฯ อยู่ในช่วงไหน จำได้แต่ว่าเป็นปี พ.ศ.2518 หลังจากงานจบก็มีการขนข้าวของคืนตามโรงเรียนต่างๆ พอไม่มีอะไรทำผมก็เริ่มเร่ร่อนออกนอกโรงเรียนทุกวันโดยทางบ้านไม่รู้ จนหนีกลับสระบุรีไปเฉยๆ ไม่ไปสอบแม้แต่มีโทรเลขมาตามให้ไปสอบ จนต้องไปเรียนซ้ำชั้น ม.ศ.1 ที่โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม ซึ่งก็ได้พบเพื่อนเก่าสมัยเรียนอนุบาลและประถมมากมายหลายคน นั่นคือราวปี 2519 ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ผมได้ผ่อนคลายจากความอึมครึมของชีวิตกลับมาอยู่กับพ่อกับแม่ที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างสบายๆ อีกครั้ง ....
สังคม
เรื่องเล่า
1 บันทึก
1
3
1
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย