Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
10 พ.ย. เวลา 14:30 • ธุรกิจ
'EB Denim' แบรนด์เสื้อผ้ารายได้ 100 ล้าน
ที่ Taylor Swift เลือกใส่ จากอาชีพเสริมเด็กมัธยมปลายและจักรเย็บผ้าราคาหลักหมื่น
🚀 คงไม่มีใครคิดหรอกว่าการไปเดินเลือกซื้อกางเกงยีนส์มือสองมาตัดเย็บใหม่จะกลายเป็นธุรกิจรายได้ร้อยล้านได้ เพราะแม้แต่ เอเลนา บอนวิซินี่ (Elena Bonvicini) ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า EB Denim ก็ไม่เคยคิดเช่นกัน
💰 ปีล่าสุดแบรนด์ของเธอสร้างรายได้ประมาณ 3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 100 ล้านบาท) มีดาราและคนมีชื่อเสียงมากมายตั้งแต่ เทเลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift), จีจี้ ฮาดิด (Gigi Hadid) และ เคนดัลล์ เจนเนอร์ (Kendall Jenner) ที่เลือกหยิบเสื้อผ้าจากแบรนด์ของเธอมาใส่ออกงานหรือลงโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้ง
บอนวิซินี่เล่าว่าจุดเริ่มต้นมาจากงานอดิเรกที่ชอบทำสมัยเป็นวัยรุ่น ทุกช่วงวันหยุดซัมเมอร์ที่ไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าที่รัฐวิสคอนซิน (ตอนกลางของประเทศอเมริกา) เธอชอบไปเดินร้านขายของมือสองเพื่อหากางเกงยีนส์สวยๆ มาตกแต่ง ตัดทำเป็นกางเกงยีนส์ขาสั้นไว้ใส่ไปโรงเรียนที่แคลิฟอร์เนีย ทำให้เพื่อนสนุกๆ เป็นของขวัญบ้าง
🎨 มันไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจ แต่ “ฉันแค่ชอบมีของที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ” เท่านั้น บอนวิซินี่เล่าย้อนถึงช่วงเวลาดังกล่าว
💡 แต่แล้ววันหนึ่งประตูโอกาสทางธุรกิจก็เปิดขึ้น เมื่อเธอเดินสวนกับรุ่นน้องที่โรงเรียนแล้วรุ่นน้องทักว่ากางเกงยีนส์ขาสั้นสวยมากซื้อที่ไหนเหรอ? บอนวิซินี่ (ซึ่งตอนนี้อายุ 25 ปีแล้ว) ตอบไปว่าเธอไปซื้อกางเกงมือสองมาตัดทำเอง รุ่นน้องคนนั้นถามต่อว่า “ขอซื้อสักตัวได้ไหม? ทำให้สักตัวได้ไหม?”
ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ขายเสื้อผ้าหรือทำะธุรกิจมาก่อนเลย บอนวิซินี่เลยเดาราคา (เท่าที่เธอจะทำได้) ไปก่อนว่างั้นขอตัวละ $30 (ประมาณ 1,000 บาท) ได้ไหม?
📈 กลายเป็นว่าหลังจากนั้นเธอก็ขายดิบขายดี ทั้งขายให้เพื่อนในโรงเรียนเดียวกัน ทั้งเด็กจากต่างโรงเรียน ทุกวันศุกร์ก็จะเอาคอลเลกชันใหม่มาวางขายในห้องแต่งตัว เพื่อนๆ ก็จะมาลองใส่กันและซื้อติดไม้ติดมือกันกลับบ้านเสมอเลย
ต้นทุนในตอนนั้นถือว่ามีแค่กางเกงยีนส์มือสองที่ราคาตัวละไม่ถึง $1 เหรียญและเวลาที่เธอใช้เพื่อดีไซน์ออกแบบให้มันน่ารัก บางทีเธอไปได้มาเป็นถุงใหญ่ๆ กางเกงยีนส์ยี่สิบกว่าตัว ไม่ถึง $8 เหรียญด้วยซ้ำ “มันมีส่วนต่างกำไรสูงทีเดียว” เธอเล่า
สิ่งที่บอนวิซินี่ทำคือกระบวนการ ‘upcycle’ ที่นำวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำมาพัฒนาใหม่ให้ดีขึ้น หรือเพิ่มมูลค่า โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งในตอนนั้นเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีชื่อเรียก เพียงแต่ทำเพราะรู้สึกชอบแค่นั้น
🪡 [[ #จักรเย็บผ้าราคา $300 ]]
เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน กางเกงยีนส์ขาสั้นเริ่มไม่เหมาะกับสภาพอากาศที่หนาวขึ้น เธอขอให้แม่ซื้อจักรเย็บผ้าให้ตัวหนึ่ง ราคาอยู่ที่ประมาณ 300 เหรียญ (ราว 10,000 บาท) เพราะอยากจะลองทำกางเกงยีนส์ขายาวทรงบอยวินเทจ (vintage boy’s jeans) ให้ลูกค้าลองเลือกดูบ้าง ซึ่งคุณแม่มีข้อแม้อย่างเดียวคือเธอต้องลงเรียนเย็บผ้าอย่างจริงจังก่อนแล้วถึงจะซื้อให้ ซึ่งสุดท้ายเธอก็ทำตามที่แม่บอก
ช่วงใกล้จบมัธยมปลาย เธอเห็นความเป็นไปได้ของธุรกิจมากขึ้น เริ่มสร้างบัญชีขายของบนเว็บไซต์ e-Commerce อย่าง Etsy ในวันเกิดอายุ 18 ปี สร้างบัญชีโซเชียลมีเดียของแบรนด์ โดยตั้งชื่อว่า “EB Denim” เพื่อจะปั้นให้มันเติบโตมากกว่านี้
🎁 กลยุทธ์การตลาดที่เธอเลือกทำคือการใช้สิ่งที่เรียกว่า “Gifting Strategy” หรือกลยุทธ์การให้ของขวัญ เพราะเธอรู้เลยว่าความสำเร็จของแบรนด์บนโซเชียลมีเดียคือการให้คนเห็นเยอะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นจะต้องให้คนที่มีชื่อเสียงเป็นคนใส่
“ฉันตัดสินใจติดต่อกับคนที่คิดว่าเป็นคนเจ๋งๆ บน Instagram ส่งข้อความถึงพวกเขา แล้วหาอีเมลของพวกเขา" เธอกล่าว “ฉันไม่สนใจว่าพวกเขาจะโพสต์รึเปล่า แค่อยากให้คนเหล่านั้นมีเสื้อผ้าดีไซน์ของฉันอยู่ด้วย”
กลยุทธ์การให้ของขวัญสุดท้ายได้ผล ตอนแรกบอนวิซินี่รู้สึกตกใจเพราะมากไม่เพียงแต่ที่ได้รับการตอบกลับจากอินฟลูเอนเซอร์และไอคอนแฟชั่นอย่างเช่น เชียร่า เฟอร์ราญี่ (Chiara Ferragni) และ แดเนี่ยลล์ เบิร์นชไตน์ (Danielle Bernstein) เท่านั้น แต่ยังเห็นพวกเขาโพสต์รูปตัวเองใส่เสื้อผ้าของเธออีกด้วย
"เฟอร์ราญี่เหมือน ไคลีย์ เจนเนอร์ (Kylie Jenner) ของอิตาลีเลย ฉันไม่คาดหวังว่าเธอจะตอบ DM กลับมาหรอก ฉันลองติดต่อทุกอีเมลที่เจอ และในที่สุดผู้ช่วยของเธอก็ตอบกลับมา”
👀 เมื่อมีคนเห็นเยอะขึ้น ธุรกิจของเธอก็เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
“ฉันเริ่มเห็นคนเข้ามาในเว็บไซต์ของเรา และเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าแทบจะทันทีเลย” ยอดขายเริ่มขยับอย่างเห็นได้ชัดและนั่นคือตอนที่บอนวิซินี่เริ่มเห็นแล้วว่าแบรนด์ EB Denim น่าจะพอมีโอกาสเป็นไปได้
💫 [[ #Taylor_Swift_Effect ]]
ช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้งเธออยากจะลาออกเพราะต้องจัดการธุรกิจที่มีพร้อมเรียนไปด้วยจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างหนัก แต่แม่ของเธอก็บอก (เชิงบังคับ) ว่าให้เรียนให้จบดีกว่า
ตอนนั้นเธอต้องจ้างผู้ช่วยและพนักงานพาร์ตไทม์บางส่วนเพื่อจัดการออเดอร์ที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาผ่านทางเว็บไซต์ ระหว่างสลับกับการเรียนเธอก็ออกแบบดีไซน์ใหม่ๆ เติมสต๊อกและส่งให้อินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ไปเรื่อยๆ
บางครั้งก็จัดอีเวนต์ ชวนเพื่อนที่มหาวิทยาลัยมาลองเสื้อผ้าของ EB Denim (เหมือนที่เธอเคยทำตอนอยู่มัธยม) แล้วเพิ่มโปรโมชันไปด้วยว่าใครใส่แล้วถ่ายลงโซเชียลมีเดียรับส่วนลดไปเลย 10% ซึ่งคนที่มาซื้อก็ยินดีทำกันแทบทั้งสิ้น
ที่สุดยอดไปกว่านั้นคือราคาตอนนี้ไม่ใช่ 30 เหรียญแล้ว กางเกงยีนส์ที่ตัดเย็บด้วยความประณีตตัวหนึ่งขายอยู่ที่ราวๆ 220 เหรียญ (ซึ่งต้นทุนบวกค่าแรงอยู่ราวๆ 34 เหรียญ) ด้วยความที่ขายดีมากๆ จนถึงขั้นต้องจ้างช่างเย็บผ้าของตัวเองหลายคนเลย
💵 วันที่ขายดีสุดๆ บางทีไม่กี่ชั่วโมงได้มากถึง 12,000 เหรียญ หรือ 4 แสนกว่าบาทเลยทีเดียว
ช่วงที่เธออยู่ปี 3 ของมหาวิทยาลัย รายได้ของ EB Denim เตะเลข 1 ล้านเหรียญ (ราว 34 ล้านบาท) เป็นครั้งแรก และหากคลาสเรียนไหนในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ เธอจะเอา EB Denim เข้ามาใช้เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้นเสมอ ระหว่างนั้นก็เริ่มเติมสินค้าหมวดอื่นๆ อย่างเสื้อยืด ชุดเดรส และแจ็กเกต ฯลฯ มากขึ้น
🌟 แบรนด์มาดังระเบิดในปี 2023 หลังจากงาน Video Music Awards ที่สไตลิสต์ของ เทเลอร์ สวิฟต์ ทักมาหาทีม EB Denim ว่าสวิฟต์จะใส่ชุดของแบรนด์ไปที่งานปาร์ตี้ด้วย หลังจากสวิฟต์ลงโพสต์บน Instagram เช้าวันต่อมาออเดอร์ก็กระหน่ำเข้ามาไม่ขาดสาย (เสื้อตัวที่สวิฟต์ใส่ในรูปปกตัวนั้นแหละครับ) แม้จะราคาสูงถึงตัวละ 500 เหรียญก็ตาม
แน่นอนว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ของเธอได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือกระแสเรื่องการใส่ใจในสิ่งแวดล้อมในคนรุ่นใหม่ กางเกงยีนส์และเสื้อผ้ายีนส์จาก EB Denim ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ ‘upcycle’ สร้างจากกางเกงยีนส์เก่า เอามาทำความสะอาดแล้วตัดเย็บใหม่จนมีลักษณะและเอกลักษณ์เป็นของตัวเองไม่เหมือนใครด้วย (อย่างชุดที่สวิฟต์ใส่ผ้าแต่ละชิ้นที่นำมาตัดเย็บก็มาจากกางเกงยีนส์ที่สีต่างกัน)
“ฉันเป็นโรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง (Imposter Syndrome) นะ” เธอให้สัมภาษณ์กับ CNBC พร้อมเสียงหัวเราะว่า “ถึงตอนนี้ฉันก็ยังไม่คิดเลยว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจ”
ปีนี้บอนวิซินี่บอกว่ารายได้น่าจะแตะ 3 ล้านเหรียญ ซึ่งถึงตอนนี้เธอก็ยังแทบไม่เชื่อเลยว่ากางเกงยีนส์มือสองที่ขายตัวละ 30 เหรียญให้รุ่นน้องในโรงเรียนจะพาเธอมาสู่จุดนี้ได้
🎓 [[ #บทเรียนจากเรื่องนี้ ]]
เรื่องราวของเธอเป็นแรงบันดาลใจอย่างดีสำหรับใครก็ตามที่อยากเริ่มลองทำธุรกิจ
✅ 1. จากงานอดิเรกสู่โอกาสทางธุรกิจ
บอนวิซินี่เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัวในการตัดเย็บกางเกงยีนส์มือสอง โดยไม่ได้คิดว่าจะกลายเป็นธุรกิจ แต่เมื่อมีคนสนใจและต้องการซื้อ เธอจึงเห็นโอกาสและเริ่มขายอย่างจริงจัง นี่แสดงให้เห็นว่าการทำในสิ่งที่เรารักและมีความเชี่ยวชาญสามารถนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจได้ การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ และค่อยๆ พัฒนาตามความต้องการของตลาดเป็นวิธีที่ยั่งยืนในการสร้างธุรกิจ
✅ 2. กลยุทธ์การตลาดที่ชาญฉลาด
บอนวิซินี่ใช้กลยุทธ์ "Gifting Strategy" หรือการให้ของขวัญแก่คนมีชื่อเสียงและอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ วิธีนี้ช่วยให้แบรนด์ของเธอได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงทุนมากในการโฆษณา การใช้โซเชียลมีเดียและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของธุรกิจ
✅ 3. การปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดเส้นทางธุรกิจ บอนวิซินี่ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เธอเริ่มจากการเรียนเย็บผ้าอย่างจริงจัง ขยายไลน์สินค้าจากกางเกงยีนส์ขาสั้นไปสู่กางเกงขายาวและเสื้อผ้าประเภทอื่นๆ รวมถึงการปรับราคาให้สอดคล้องกับคุณภาพและความต้องการของตลาด (กระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นเทรนด์ใหม่ของธุรกิจด้วย) การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว
บทเรียนเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องเริ่มจากแผนธุรกิจที่ซับซ้อนหรือเงินทุนมหาศาล แต่สามารถเริ่มจากความหลงใหลส่วนตัว การมองเห็นโอกาส และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความมุ่งมั่นและความสามารถในการปรับตัวของบอนวิซินี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจของตัวเอง
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
อ้างอิง :
https://www.teenvogue.com/.../taylor-swift-sustainable
...
https://www.facebook.com/share/p/19bRwocEiz/
https://wildelements.com/.../into-the-wild-with-elena
...
https://www.cnbc.com/.../25-year-old-turned-50-cent-jeans
...
https://www.instagram.com/elenabonvicini/
#การเงินส่วนบุคคล #อาชีพเสริม #upcycle #ธุรกิจ #การเงิน #หาเงิน #แนวคิดสร้างรายได้เสริม
3 บันทึก
6
2
3
6
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย