14 พ.ย. 2024 เวลา 07:41 • หนังสือ

The Ogress and the Orphans นางยักษ์กับเด็กกำพร้า

ลัดคิวให้เลยสำหรับเล่ม #นางยักษ์กับเด็กกำพร้า ของ Words Wonder Publishing เนื่องจากนี่เป็นผลงานแปลไทยเล่มที่ 3 ของ Kelly Barnhil นักเขียนที่เราขอซูฮกให้กับฝีมือในการเล่าเรื่องของเขาที่อ่านสนุก คมคาย และเปี่ยมไปด้วยมนตร์เสน่ห์สมกับเป็นโลกแฟนตาซี
จากที่อ่านผลงานเขามาตั้งแต่เรื่อง The Girl Who Drank the Moon, The Witch's Boy จนมาถึงเล่มนี้ The Ogress and the Orphans ไม่มีเล่มไหนเลยที่เราไม่ชอบ ยิ่งกว่านั้นคือทุกเล่มล้วนทำให้เรารู้สึกตราตรึงและประทับใจมากๆ ถ้าชีวิตนี้เขียนหนังสือได้ดีสักครึ่งของเขานี่ก็ถือว่าเป็นบุญมากแล้วสำหรับเรา 55555
กาลครั้งหนึ่ง "สโตน-อิน-เดอะ-เกล็น" เคยเป็นเมืองเล็กๆที่น่าอยู่ ผู้คนต่างรักใคร่กลมเกลียวและมีน้ำใจต่อกัน จนกระทั่งวันหนึ่งห้องสมุดเก่าแก่ประจำเมืองได้ถูกไฟไหม้จนวอด ตามมาด้วยเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆอีกมากมาย นับแต่นั้นเมืองแห่งนี้ก็เสื่อมโทรมลง ผู้คนเลิกยิ้มแย้มและเต็มไปด้วยความขึ้งโกรธ ความขาดแคลนทำให้พวกเขาหวาดระแวงกันและกัน แม้ "นายกเทศมนตรี" ของเมืองนี้จะดูเจิดจรัสและมีคำพูดชวนฝัน แต่อะไรๆก็ไม่เคยดีขึ้นเลย
ในขณะเดียวกัน "นางยักษ์" ตนหนึ่งได้ออกเดินทางสู่โลกกว้างเพื่อค้นหาที่ทางของตัวเอง เธอได้ยินเรื่องราวความโชคร้ายของสโตน-อิน-เดอะ-เกล็น แล้วหวนนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านยักษ์ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยไปอาศัยอยู่ จึงตัดสินใจปักหลักอยู่ที่นี่ด้วยความรู้สึกว่าชาวบ้านในเมืองนี้มีอะไรเหมือนเธอ เธอสร้างบ้านอยู่ในฟาร์มร้างแถบชานเมืองโดยมีอีกาฝูงหนึ่งอยู่ด้วย นางยักษ์หวังว่าตนเองจะได้พบเจอเพื่อนบ้านที่แสนดีจากที่แห่งนี้ และเธอเองก็ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่แสนดีให้กับพวกเขาเช่นกัน
อีกด้านหนึ่งของสโตน-อิน-เดอะ-เกล็น ใกล้ๆกับห้องสมุดที่ไฟไหม้มีบ้านเด็กกำพร้าหลังหนึ่งที่มีเด็กๆ 14 คน และหญิงชายชรา 2 คนอาศัยอยู่ด้วยกัน นับตั้งแต่เมืองย่ำแย่ลง เด็กแต่ละคนที่ถูกส่งเข้ามาก็ไม่เคยมีครอบครัวไหนรับไปอุปถัมภ์อีกเลย แม้แต่นายกเทศมนตรีก็ไม่ส่งเงินสนับสนุนประจำปีมาช่วย พวกเขาจึงต้องอยู่กันอย่างอดๆอยากๆ ถึงจะมีลังอาหารจากบุคคลลึกลับมาวางอยู่หน้าประตูบ้านในบางครั้ง แต่มันก็ยังไม่เพียงพอสำหรับปากท้องของเด็กกำลังโตสิบกว่าชีวิต
แล้วจู่ๆเด็กกำพร้าคนหนึ่งก็หายออกไปจากบ้าน หลายคนเริ่มสงสัยว่าเป็นฝีมือของนางยักษ์ และยิ่งมั่นใจมากขึ้นเมื่อมีคนเห็นเธอย่องเข้ามาในเมืองตอนกลางดึกพร้อมกับอุ้มร่างเด็กไว้ในอ้อมแขน ชาวบ้านเริ่มแสดงความโกรธแค้น พวกเขาต้องการไล่ยักษ์ออกไป มีเพียงเด็กกำพร้าเท่านั้นที่รู้ว่าจริงๆแล้วเกิดอะไรขึ้น ทว่าไม่มีใครสนใจฟังเสียงของพวกเขาเลย เด็กๆจะต้องหาวิธีปกป้องคนดีและเปิดโปงคนชั่วให้ได้ ก่อนที่สโตน-อิน-เดอะ-เกล็นจะพังทลายไปมากกว่านี้
เป็นเล่มที่อ่านแล้วรู้สึกชอบมากๆจนแทบจะวางไม่ลง จากตอนแรกที่คิดว่าลายเซ็นของนักเขียนคนนี้ค่อนข้างชัดอยู่แล้ว คนที่เคยอ่านเล่มอื่นมาก่อนจะเดาได้จากเรื่องย่อปกหลังเลยว่าใครเป็นคนดีใครเป็นคนร้าย ดังนั้นมันมีโอกาสสูงที่เราจะรู้สึกว่ามันไม่สนุก แต่พอได้อ่านจริงๆแล้วกลับรู้สึกว่าเนื้อเรื่องมันผูกโยงได้น่าติดตาม กระตุ้นให้เราได้ขบคิด และทำให้เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครแต่ละตัว ถึงขนาดที่บางช่วงรู้สึกอึดอัดหดหู่จนอ่านต่อแทบไม่ไหว คือไม่ได้รู้สึกว่ามันซ้ำซากจำเจกับเล่มก่อนๆเลย
ในเรื่องจะตัดสลับเล่าเนื้อหาจากมุมมองตัวละครแต่ละตัววนกันไปเรื่อยๆแล้วมาบรรจบกันในตอนท้าย เล่าย้อนความบ้างเพื่อเป็นการบอกใบ้เล็กๆน้อยๆ ตรงนี้เราชอบนะ เพราะเหมือนนักเขียนจะรู้ว่าคนอ่านคงเดาทางออกเลยชิงสปอยล์ไว้แต่เนิ่นๆเลย พาให้เราแอบขัดใจชาวบ้านว่าพวกแกรู้ตัวกันสักทีได้ไหมล่ะ! มันมีให้เอ๊ะเยอะแล้วนะ!! 🤣 แล้วก็ลุ้นตลอดว่าจะรู้ความจริงกันตอนไหน จะเกิดเรื่องร้ายอะไรขึ้นหรือเปล่า
"มันอาจจะเกลียดการเรียนรู้ มันอาจจะอยากให้ผู้คนโง่เขลา เพราะคนโง่ควบคุมได้ง่าย"
หลังจากห้องสมุดที่เป็นแหล่งความรู้ที่แสนภาคภูมิใจของชาวบ้านไฟไหม้ โรงเรียนก็ถูกไฟไหม้ตาม นายกเทศมนตรีรับปากกับชาวบ้านว่าจะสร้างมันขึ้นมาใหม่ แต่ก็ปล่อยเลยไปโดยอ้างว่าเมืองขาดแคลน และทุกคนต้องเสียสละมากขึ้น ต้องเริ่มที่ตัวเองในการทำเพื่อส่วนรวม ฟังแล้วดูเป็นตรรกะที่แปลกใช่ไหม แต่สำหรับชาวสโตน-อิน-เดอะ-เกล็นที่ตอนนั้นจิตใจเต็มไปด้วยความทุกข์ และเชื่อมั่นในตัวผู้นำจนสุดหัวใจ พวกเขาคิดจริงๆว่ามันคือเรื่องที่ถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้เด็กๆเลยไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ชาวบ้านไม่มีแหล่งความรู้ให้ค้นคว้า พวกเขาจึงรู้ไม่เท่าทันเล่ห์กล ใครว่าอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ไม่ได้คิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่าสิ่งนั้นจริงหรือไม่ (แหงล่ะ ถ้าคิดได้คงรู้สึกไปนานแล้วว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล) ครั้นเมื่อรัฐบอกว่าไม่อาจดูแลความปลอดภัยของผู้คนได้ทั่วถึง สัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์ก็ทำงาน เพื่อให้ตนเองและครอบครัวปลอดภัยจึงต้องคิดไว้ก่อนว่าคนอื่นนั้นไม่ดี เกิดเป็นความหวาดระแวงต่อกัน ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกต่อไป
"ความโกรธขึ้ง ความจนตรอก และความคับข้องใจของผู้คน พวกเขาต้องการให้ใครสักคนชดใช้"
เมืองแห่งนี้อยู่ในสภาวะตึงเครียดและกดดันมานานหลายปี จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะมองหาใครสักคนมาเป็นสนามอารมณ์ แรกเริ่มพวกเขาสาดความรู้สึกแง่ลบเหล่านี้ใส่กันและกัน แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าอีกฝ่ายไม่ใช่คนผิด แต่เมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่ามีคนนอกที่ไม่ใช่พวกเขา คนที่แตกต่าง คนที่พวกเขาสามารถป้ายสีได้เต็มที่ ระบายความอึดอัดนี้ใส่ได้อย่างชอบธรรม ชาวบ้านจึงเริ่มเบนเข็มไปหาคนคนนั้นทันที โดยไม่สนใจว่าเขาจะผิดจริงหรือไม่ อย่างไรเสียพวกเขาก็แค่ต้องการใครสักคนที่จะมารับผิดชอบเรื่องนี้ก็เท่านั้นเอง
"คนเราเลวร้ายเพราะเคยถูกทำร้าย เพราะโดดเดี่ยวเดียวดาย หรือเพราะอยากได้หรือต้องการสิ่งที่ตนเองไม่มี เลยคิดว่าการก่ออาชญากรรมสารพัดแบบเพื่อให้ได้ตามใจชอบคือสิ่งที่ถูกต้อง และบางครั้งคนเราก็เลวร้ายเพราะหวาดกลัว"
ประโยคนี้อธิบายความเลวร้ายของชาวบ้านที่กระทำต่อนางยักษ์ได้ดี ไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้พวกเขา แต่แค่ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาแค่เจ็บปวดและหวาดกลัว ในขณะที่บางคนอาจจะอยากได้รับคำสรรเสริญเยินยอ อยากเป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ นางยักษ์เองก็เข้าใจเรื่องนี้ดี นางจึงบอกกับเหล่าอีกาว่า "ข้ารู้ว่าพวกเขาทำได้ดีกว่านี้ ข้าจะพิสูจน์ให้เห็น ข้าจะแสดงให้เห็นว่า ตัวตนดีที่สุดของชาวบ้านเป็นอย่างไรได้บ้าง"
ซึ่งจุดนี้แหละคือจุดที่ทำให้เราเสียน้ำตา เป็นช่วงที่รู้สึกว่าทำใจอ่านต่อได้ยากเหลือเกิน แม้แต่ตอนเขียนอยู่นี้ก็ยังรู้สึกเศร้า 😢 เพราะนางยักษ์เป็นตัวละครที่จิตใจดีมาก เธอมีน้ำใจกับเพื่อนบ้าน คอยเป็นห่วงเป็นใย และแอบช่วยเหลือพวกเขาโดยไม่หวังให้ใครมารับรู้สิ่งที่ตัวเองทำ แม้จะโดนทำร้าย โดนขับไล่ โดนปฏิเสธว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของที่นี่ เธอก็ยังเลือกที่จะทำเหมือนเดิม เพราะเธอรู้ว่ามีแค่วิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
มีแต่คนที่รักผู้อื่นและเชื่อมั่นในความดีอย่างลึกซึ้งเท่านั้นที่จะคิดอย่างนี้ได้ ถ้าเป็นเราเองเราก็ไม่แน่ใจว่าจะยังอยากทำดีกับคนที่ทำร้ายเราอยู่หรือเปล่า เราจะยังอยากยื่นดอกไม้ให้กับคนที่ขว้างก้อนหินใส่เราจริงๆหรอ คือยอมรับเลยว่าเป็นคนอ่อนไหวกับเรื่องราวของคนดีที่ต้องเสียใจทั้งที่ทำความดี ถูกเข้าใจผิดจนนำไปสู่การถูกทำร้าย ในขณะที่เมื่อทุกอย่างเปิดเผย คนที่ไปทำให้เขาต้องมีบาดแผลในใจกลับได้รับการให้อภัยโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
"ถ้าจะประกาศว่าคนนี้เป็นเพื่อนบ้านของข้า ส่วนคนนั้นไม่ใช่ ก็แสดงว่าข้าเองที่ไม่รู้จักทำตัวเป็นเพื่อนบ้าน"
เราเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า "การเป็นเพื่อนบ้านที่ดีจะต้องเริ่มที่ตัวเราเสมอ" นางยักษ์อยากจะเป็นเพื่อนกับชาวบ้านทุกคน อยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแห่งนี้ เธอจึงทำตัวให้เป็นประโยชน์ด้วยการแจกจ่ายสิ่งที่เธอมีให้กับคนที่ขาด แม้ว่าจะไม่เคยได้อะไรกลับมาเลยก็ตาม
ในขณะที่ผู้คนในสโตน-อิน-เดอะ-เกล็นต่างอวยพรให้กับเพื่อนบ้านผู้แสนดีที่เอาขนมมาวางไว้หน้าบ้าน พวกเขากลับทำตัวหยาบคายกับนางยักษ์ที่ตนเองรู้สึกว่าแตกต่าง และคิดเอาว่าเป็นต้นเหตุทำให้เมืองพินาศ ปฏิเสธว่าเธอไม่ใช่เพื่อนบ้าน และเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น อาหารรสเลิศหน้าประตูบ้านก็อันตรธานหายไป
"เจ้าควรสนใจนะว่าสิ่งต่าง ๆ มีที่มาจากไหนและมีอะไรจะพูดบ้าง"
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และทำความเข้าใจกับความเป็นมาของสิ่งต่างๆเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีเรื่องราวมากมายที่อยากจะบอกเล่า ขอแค่เราเปิดใจที่จะรับฟังเสียงกระซิบเหล่านั้น
คนที่ปฏิเสธจะรับฟังผู้อื่นคือคนที่พลาดโอกาสในการมองโลกในมุมใหม่ มนุษย์ไม่ใช่ยักษ์หรือมังกร อายุขัยของเราสั้น เราไม่มีเวลาที่จะสัมผัสทุกประสบการณ์ในโลกด้วยตัวเอง แต่เราเรียนรู้มันจากคนที่เคยประสบมาก่อนได้ เราใช้ชีวิตเป็นคนอื่นได้จากการรับฟังสิ่งที่เขาเล่า
เรื่องเล่าไม่ใช่สิ่งไร้สาระ นิทานหลายเรื่องในโลกมีที่มาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงทั้งนั้น และบ่อยครั้งเมื่อนำเรื่องที่ได้ยินนี้ไปคิดต่อ เราจะพบว่ามันทับซ้อนกับเรื่องราวของตัวเราเอง และอาจจะถึงขั้นช่วยมอบคำตอบให้กับชีวิตของเราได้ เหมือนที่ชาวบ้านในเรื่องฉุกคิดถึงสถานการณ์ของตนได้จากนิทานที่ "เอไลจาห์" เด็กชายนักจินตนาการเป็นคนเล่า แล้วเขารู้จักนิทานพวกนี้ได้อย่างไรกันล่ะ "ข้าแค่เป็นผู้ฟังที่ดีกระมัง" คือคำตอบของเขา
"บางทีเราไม่ควรคิดถึงว่าเมืองนี้เคยเป็นอย่างไร หรือว่าตอนนี้เป็นอย่างไร แทนที่จะทำอย่างนั้น บางทีเราน่าจะคิดว่ามันควรเป็นอย่างไร"
การที่เราศึกษาอดีตไม่ใช่การที่เราจะต้องยึดติดอยู่กับมัน แต่เป็นการที่เราจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ดีในสังคมเกิดขึ้นจากอะไร และเราจะป้องกันหรือแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีได้อย่างไร การที่ชาวบ้านเอาแต่คิดว่าสโตน-อิน-เดอะ-เกล็นเคยเป็นแบบนั้น เคยดีแบบนี้ หรือการที่มัวแต่มองว่าตอนนี้เมืองมีแต่เรื่องแย่ๆ คนก็ใจร้ายกันมากขึ้น มันไม่ได้ช่วยให้เมืองนี้ดีขึ้นในทางไหนเลย ทางเดียวที่จะช่วยให้เมืองดีขึ้นคือการคิดว่าถ้าตอนนี้มันไม่ดี แล้วมันควรจะเป็นอย่างไรถึงจะเรียกว่าดี จากนั้นก็ช่วยกันลงมือทำให้ภาพนั้นเป็นจริง
และจงอย่าลืมที่จะรับฟังเด็กๆของพวกคุณ เพราะเด็กคือสิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่กว่าผู้ใหญ่อย่างเรา พวกเขามองโลกในแบบที่มันเป็นโดยปราศจากอคติเจือปน ในเรื่องที่ผู้ใหญ่ปิดกั้น เด็กๆกลับพร้อมที่จะเปิดใจ นั่นจึงทำให้มุมมองของพวกเขากว้างกว่าเรามากนัก
ผู้ใหญ่ที่ดีจึงต้องรู้จักฟังเสียงของเด็กๆ และเราอาจจะพบว่าหลายครั้งสิ่งที่พวกเขาพูดนั้นเป็นความจริงพื้นฐานที่เราเผลอมองข้ามไป แม้จะเป็นเด็กก็ใช่ว่าการมองโลกในแบบของเขานั้นผิดเสียหน่อย
"สาเหตุของความใจดีไม่เคยสำคัญเท่าความจริงที่ว่ามีความใจดีอยู่...เราเลือกจะเอาแต่ระแวงแคลงใจ หรือเลือกยอมรับน้ำใจนั้น แล้วใจดีกับคนอื่นต่อไปก็ได้ เจ้าจะเลือกอย่างไหนล่ะ"
เราชอบคำพูดนี้มากๆ มันคือตอนที่ "ไมรอน" ชายชราที่ดูแลเด็กกำพร้าตอบคำถามของ "บาร์เทิลบี" เด็กชายนักปรัชญาที่ว่า "ถ้าสาเหตุของความใจดีไม่ได้ใจดีเลย เราจะยังเรียกมันว่าความใจดีอยู่หรือเปล่า" ไมรอนชี้ให้เห็นว่าความใจดีก็คือความใจดี ถ้าเรามัวแต่ไปคิดว่าใครกันที่ดีกับเรา และเขาดีกับเราเพราะอะไร เขาหวังอะไรหรือไม่ เราเองก็จะไม่มีความสุขและมองข้ามความดีที่เขาทำให้ไป แต่ถ้าเราสำนึกขอบคุณในสิ่งที่เขาทำ แล้วส่งมอบความใจดีนั้นไปให้แก่ผู้อื่นเมื่อตนมีโอกาสหรือมีความสามารถที่จะทำ แบบนั้นมันไม่ดีกว่าหรือ
ซึ่งหลายจังหวะในเรื่องก็จะวนกลับมาเน้นย้ำจุดนี้ แสดงให้เห็นว่าเพราะคนเราซาบซึ้งในน้ำใจของผู้อื่นที่มีให้ และเลือกจะส่งต่อความดีนั้นต่อๆกันไป สิ่งต่างๆในเมืองจึงกลับมาดีขึ้น เพราะทุกสิ่งในโลกล้วนเกี่ยวโยงถึงกัน
เริ่มจากการที่นางยักษ์แบ่งปันสิ่งที่เธอมีให้กับผู้อื่น ภรรยาช่างทำรองเท้าที่เชื่อในการส่งต่อความดีก็ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันแบ่งปันของจำเป็นให้บ้านเด็กกำพร้า เด็กๆร่วมแรงกันช่วยให้ผู้คนในเมืองจำตัวตนในอดีตของพวกเขาได้ และในที่สุดเมืองที่กลับมาเปี่ยมไปด้วยน้ำใจอีกครั้งก็ได้กลายเป็นบ้านที่นางยักษ์ตามหามาแสนนาน
"ยิ่งให้มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น"
ประโยคนี้คือหลักการที่นางยักษ์ยึดถือและลงมือทำมาตลอด แม้ในวันที่ไม่มีใครยอมรับตัวตนของเธอหรือมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เธอทำ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเมื่อเราให้แล้วเราจะมีอะไรมากขึ้น เมื่อเราให้สิ่งใดไป แน่นอนว่าสิ่งนั้นมันจะต้องลดลงสำหรับเรา แต่มันก็มีสิ่งอื่นที่เพิ่มขึ้นมาเช่นกัน ไม่ว่าจะชื่อเสียงทางสังคม หรือแต้มบุญไว้ไปสวรรค์ 😇
แต่เราว่าที่นางยักษ์หมายถึงไม่ใช่อะไรไร้สาระแบบนั้นหรอก พวกยักษ์มีชีวิตยืนยาวเกินกว่าจะเชื่อเรื่องพรรค์นี้ สิ่งที่นางยักษ์คิดว่าเมื่อเธอให้เธอจะยิ่งมีมากขึ้นก็คือ "ความสุข" ต่างหาก และเราก็เชื่อว่าเธอมีมันล้นปรี่เลยล่ะ
โอ๊ยย ยังอยากเขียนต่ออยู่เลยอะ 😝 คือชอบเล่มนี้มากจริงๆ ชอบพอๆกับเล่ม The Girl Who Drank the Moon เลยด้วยซ้ำ แต่นี่ก็ยาวจนแทบจะเป็นเรื่องสั้นแล้วนะเนี่ย เอาเป็นว่าพอแค่นี้ละกันค่ะ ใครอยากรู้ว่ามันดีจริงไหม ท้าให้ลองด้วยตัวเองเลย ยิ่งถ้าชอบแนววรรณกรรมเยาวชนที่มีความหม่นๆหน่อย ยิ่งต้องไม่พลาดเลยนะคะ https://s.shopee.co.th/1LORrLvl2l
โฆษณา