10 พ.ย. 2024 เวลา 17:10 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

พูดถึง Monster กับ ราโชมอน

เมื่อเราถูกโยนผลลัพย์ใส่ซึ่ง ๆ หน้าแต่มันกลับเต็มไปด้วยข้อสงสัย สัญชาตญานความใคร่รู้ของมนุษย์จึงกระตุ้นให้เราค้นหาสาเหตุ เฝ้าติดตามเสาะหาความจริงของเรื่องราวนั้น ๆ ตลอดระยะเวลาการชมภาพยนต์เรื่อง Monster และการอ่านบทละคร ราโชมอน สมองของเรากำลังตั้งข้อคำถามและคาดเดาความจริง ที่เกิดขึ้น ทั้งสองเรื่องมีวิธีการนำเสนอที่ใกล้เคียงกันแต่ยังคงทำให้เรารู้สึกว่าน่าติดตามเหมือนกันได้ ในท้ายสุดกลับได้ธีมที่ใกล้เคียงที่กำลังบอกกับเราว่า “มนุษย์มองเห็น และเล่าความจริงในมุมมองที่เราอยากให้คนอื่นเชื่อ”
การเล่าเรื่องแบบทำให้คนดูไม่รู้อะไรเลยนั้นเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่น่าสนใจและทรงพลัง เพราะทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับกำลังสืบสวนหาความจริงไปพร้อมกับเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น ในภาพยนตร์ Monster และละครเวที ราโชมอน ผู้ชมทั้งสองเรื่องถูกดึงเข้าไปในเหตุการณ์อันสลับซับซ้อนซึ่งท้าทายการตีความ และทำให้เกิดคำถามว่า “อะไรคือความจริง?” การทำให้ผู้ชมต้องตีความเรื่องราวและคาดเดาไปตามความรู้สึกตนเอง เป็นการสร้างแรงดึงดูดให้ติดตามเรื่องราวอย่างไม่หยุดยั้ง
ใน Monster และ ราโชมอน การเล่าเรื่องผ่านมุมมองหลายด้านเป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้ชมรู้สึกว่าความจริงนั้นไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์และละครเวทีใช้วิธีการเล่าเรื่องนี้แตกต่างกันไปตามข้อจำกัดของสื่อสำหรับ Monster ซึ่งเป็นภาพยนตร์ การใช้มุมมองของกล้องเป็นสิ่งสำคัญ
กล้องเป็นเครื่องมือที่ผู้กำกับใช้กำหนดกรอบความจริงและทิศทางที่คนดูจะโฟกัส การเลือกใช้มุมกล้องที่แตกต่างกันสามารถสร้างความรู้สึกว่าผู้ชมถูกกำหนดให้เห็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการให้เห็นเท่านั้น สายตาของผู้ชมจึงถูกกำกับให้เห็นความจริงผ่านกรอบที่ภาพยนตร์ตั้งขึ้น
ตัวอย่างเช่น ฉากเพลิงไหม้ใน Monster ที่สะท้อนอารมณ์และเหตุการณ์สำคัญในเรื่อง ฉากนี้แสดงถึงความรุนแรงและความลึกลับที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวละคร การใช้แสง เสียง และการตัดต่อภาพทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของเรื่องราวอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ละครเวทีทำได้ยากเพราะข้อจำกัดทางเทคนิค รวมถึงฉากที่ถ่ายทอดผ่านสีหน้าตัวละครที่ต่างกันไปถึงแม้จะอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันก็ตาม เมื่อเรามองเห็นหน้าของคน ๆ อื่นในมุมที่เราไม่ได้เห็นก่อนหน้า ความรู้สึกที่ได้รับกลับเป็นความจริงที่ต่างกันไปได้
ในขณะที่ ราโชมอน ซึ่งเป็นละครเวทีนั้นไม่มีกรอบของกล้อง ผู้ชมจึงสามารถเลือกมองสิ่งใดก็ได้บนเวที การเล่าเรื่องในละครเวทีจึงต้องพึ่งพาการจัดแสง เสียง และการเคลื่อนไหวของนักแสดงเพื่อกำหนดจุดโฟกัสให้กับผู้ชม เช่น การใช้แสงไฟที่เน้นไปยังตัวละครบางตัวช่วยให้ผู้ชมเข้าใจว่ามุมมองหรือเหตุการณ์ใดควรให้ความสำคัญ
รวมไปถึงความสามารถก็นักแสดงที่เข้าออกฉากที่กำลังฉายบนเวทีเดียวกัน ความน่าตื่นเต้นของคนดูในการติดตามจึงไม่ใช่แค่เรื่องราวที่กำลังเข้มข้นขึ้นแต่เป็นการได้ชมการแสดงที่ท้าทายนักแสดง เมื่อพวกเขาเดินเข้าฉากสลับไปมา
โดยเฉพาะฉากในศาลและฉากในป่า ทำให้นักแสดงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้คนดูรู้ว่าตัวละครนี้ได้ผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปแล้ว และยังไม่ได้ค้นพบเหตุการณ์นี้ เทคนิคนี้ทำให้การตีความของผู้ชมเป็นไปได้หลากหลายขึ้น เพราะผู้ชมสามารถเลือกมองสิ่งต่างๆ บนเวทีได้ตามที่ตนสนใจ ความจริงที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่แตกต่างจากภาพยนตร์ที่ต้องการการโฟกัสไปยังจุดใดจุดหนึ่งที่ผู้กำกับกำหนดไว้
โครงสร้างของ Monster และ ราโชมอน เน้นการเล่าเรื่องแบบย้อนเวลาและผ่านหลายมุมมอง สิ่งนี้ช่วยให้ผู้ชมเกิดการตั้งคำถามและพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวของตัวละครแต่ละคนเข้าด้วยกัน ใน Monster โครงสร้างบทถูกออกแบบให้ค่อยๆ เปิดเผยมุมมองใหม่ ๆ ของเหตุการณ์เดียวกันที่ส่งผลต่อความเข้าใจและการตัดสินของผู้ชม
เทคนิคนี้ทำให้เรื่องราวดูซับซ้อนและเพิ่มความลึกลับ ในขณะที่ ราโชมอน เลือกเล่าเรื่องราวผ่านคำให้การของตัวละครต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์เดียวกัน การแสดงออกของตัวละครผ่านบทสนทนาที่เน้นไปที่การโต้เถียงเกี่ยวกับความจริงทำให้เรื่องราวมีความเข้มข้นและชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงธรรมชาติของความจริงและความซื่อสัตย์ในตนเอง
การสร้างตัวละครใน Monster และ ราโชมอน ใช้ตัวละครเป็นตัวแทนของการต่อสู้ทางอารมณ์และจิตใจ ตัวละครใน Monster เป็นตัวแทนของบุคคลที่ต้องเผชิญกับความคาดหวังของสังคมและความเปราะบางของมนุษย์ ตัวละครแต่ละตัวแสดงให้เห็นถึงมิติและความลึกซึ้งในการตีความเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้น
ฉากเพลิงไหม้อาจเป็นสัญลักษณ์ของการล้างบาปและการเผชิญหน้ากับความจริงที่หลบซ่อนอยู่ ฉากพายุที่ถาโถมอาจสื่อถึงปัญหาที่กัดกินมาทั้งหมดกำลังถล่มให้ราบภายในคราวเดียว จุดเชื่อมโยงของเหตุการณ์ในฉากเล่านี้จำเป็นต้องใช้เอฟเฟกที่สร้างโดยการตัดต่อเพื่อให้เกิดพลังที่กระทบต่อคนดูและเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอารมณ์ที่ซ่อนไว้
ใน ราโชมอน ตัวละครแต่ละตัวเป็นตัวแทนของมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความจริงและความเชื่อของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ที่มีชนชั้นและฐานะทางสังคมแตกต่างกันไปการแสดงออกถึงเกีรติและศักดิ์ศรีจึง กลายเป็นการห่ำหั่นในการสร้างความเชื่อให้กับผู้คนอื่นเพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงของตนได้ สัญลักษณ์หลักที่ใช้ในเรื่องคือประตูราโชมอน ซึ่งเป็นตัวแทนของการเข้าสู่โลกของความคลุมเครือและการหลอกลวง
การจัดแสงและเงาในละครเวทีช่วยสะท้อนความลึกลับและความไม่ชัดเจนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ผู้ชมสามารถตีความได้ว่าตัวละครใดคือ ความจริงแท้ ในสายตาของพวกเขา
ในแง่ของสื่อ Monster ในรูปแบบภาพยนตร์สามารถใช้เทคนิคการตัดต่อและมุมกล้องเพื่อสร้างบรรยากาศและเน้นความจริงที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ ขณะที่ ราโชมอน ในรูปแบบละครเวทีให้ผู้ชมมีเสรีภาพในการเลือกมองและตีความเหตุการณ์ตามความสนใจส่วนตัว ข้อได้เปรียบของภาพยนตร์คือการควบคุมทุกมุมมองให้สอดคล้องกับบทและการสื่อสารอย่างที่ผู้กำกับต้องการ
ขณะที่ละครเวทีให้พื้นที่ในการตีความที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องพึ่งพาการจัดแสงและเสียงเพื่อเน้นจุดสำคัญในเรื่องฉากที่เป็นตัวอย่างชัดเจนคือฉากเพลิงไหม้ใน Monster ที่สะท้อนถึงอารมณ์ที่รุนแรงของตัวละคร ซึ่งทำได้ดีในภาพยนตร์ที่สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่เข้มข้นเพื่อนำเสนออารมณ์ดราม่า ในขณะที่ละครเวทีจะมีข้อจำกัดในด้านนี้ การนำเสนอในรูปแบบละครเวทีจึงเน้นไปที่การใช้บทพูดและแสงเพื่อให้เกิดอารมณ์และความลึกลับ
โดยรวมMonster และ ราโชมอน เป็นตัวอย่างของการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนและท้าทายการตีความของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือบทละครเวที ทั้งสองเรื่องใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมและตั้งคำถามกับความจริงที่แฝงอยู่ การเล่าเรื่องผ่านหลายมุมมองนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ชมเข้าใจความซับซ้อนของตัวละคร แต่ยังเปิดโอกาสให้พวกเขาตีความความหมายของ “มอนสเตอร์” และ “ศักดิ์ศรี” ที่ซ่อนอยู่ในตัวของแต่ละคน
โฆษณา