11 พ.ย. เวลา 04:17 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อุตฯยานยนต์ป่วน 3 ค่ายรถปลดพนักงานครั้งใหญ่ ไทยรอรับแรงกระแทก

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกคงหนีไม่พ้น การประกาศเลิกจ้างพนักงานของ 3 ค่ายรถยนต์รายใหญ่จากฝั่งอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น
หลังจากอุตสาหกรรมยานยนต์โลก เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งด้านเทคโนโลยียานยนต์ ระบบขับเคลื่อนจากน้ำมันไปสู่ไฟฟ้า เผชิญกฎหมายสิ่งแวดล้อมอันเข้มงวด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ที่นำเสนอเทคโนโลยีสุดล้ำ ในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ยังสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากแบรนด์ดั้งเดิมได้ ในหลายตลาดทั่วโลก (หนึ่งในการตอบโต้คือ การตั้งกำแพงภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี)
โดย 3 ค่ายใหญ่ สเตลแลนติส อาวดี้ และนิสสัน ที่ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานรวมกันกว่า 14,600 คน โดยมีข้อมูลชัดเจนจากค่ายแรกกับโรงงาน จี๊ป ในรัฐโอไฮโอ ที่ต้องเลย์ออฟถึง 1,100 คน ส่วนนิสสันรวมๆ ทั่วโลก 9,000 คน ขณะที่อาวดี้ ต้องเคลียร์ออก 4,500 คน ในฐานการผลิตที่เยอรมนี ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากยอดขายที่ลดลง ทำให้โรงงานต้องปรับลดกำลังการผลิต อัดสอดคล้องกับการวางยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อรองรับการแข่งขันสุดโหดในอนาคต
สำหรับนิสสัน เตรียมใช้แผนฟื้นฟูกิจการฉุกเฉิน หวังลดต้นทุน 88,400 ล้านบาท ทั้งการเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คน ลดกำลังการผลิต 20% ขณะที่บอร์ดบริหาร และซีอีโอ มาโกโตะ อูชิดะ สมัครใจลดเงินเดือน 50%
นายมาโกโตะ อุชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทกำลังเผชิญความท้าทายในตลาดสำคัญทั้งจีนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่บริษัทพลาดท่าไม่ได้คาดการณ์กระแสความนิยมรถยนต์ไฮบริด ทำให้ขาดผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของตลาด ขณะที่ในจีน ก็ต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากค่ายรถในประเทศ โดยเฉพาะ BYD ที่มาแรงด้วยรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดราคาถูก
ล่าสุด นิสสันปรับลดคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานประจำปีลงถึง 70% และยกเลิกการคาดการณ์กำไรสุทธิทั้งหมด ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
ด้านธุรกิจนิสสันในไทย ยอดขาย10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค.67) ทำได้ 7,968 คัน ลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เช่นเดียวกับทุกแบรนด์ที่ตัวเลขร่วงถ้วนหน้า มีเพียงบีวายดี ที่เป็นเมเจอร์แบรนด์รายเดียวที่ยอดขายเติบโต
ส่วนภาพรวมของโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ไปแล้วคือ การปิดโรงงานของ ซูซูกิ มอเตอร์ (ปลายปี 2568) และซูบารุ ขณะที่ค่ายรถยนต์อื่นๆ ปรับลดกำลังการผลิต และเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวที่อยู่ในสายการผลิตออกไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวนหนึ่ง
1
ขณะที่ยอดขายในประเทศหลังผ่าน 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.67) ตลาดรวมอยู่ที่ 4.7 แสนคัน ลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งการจะปั้นตัวเลขรวมทั้งปี 2567 ให้ถึง 6 แสนคัน ยังเป็นไปได้ยาก และหากทำได้ 6 แสนคันจริง ก็ถือเป็นยอดขายที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 10 ปีของตลาดรถยนต์ไทย
จากสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกเปลี่ยน การเลิกจ้างพนักงาน(ในสายการผลิต) ถือเป็นเฟสแรกของแผนปรับโครงสร้าง และการบริหารจัดการต้นทุน แต่ถ้ายาแรงหลายตัวที่ใช้ไป เพื่อหวังฟื้นฟูกิจการยังไม่เห็นผล ออพชันต่อไปอาจจะจบที่การยุบโรงงาน ย้ายฐานการผลิตในตลาดที่ไม่สร้างผลกำไร...คำถามคือ หวยจะออกที่ค่ายไหน ประเทศอะไร
โฆษณา