Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTV Wealth
•
ติดตาม
12 พ.ย. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หาเงินเรียนต่อหมอ จุดเริ่มต้น “Subway” แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดโตเร็วสุดในสหรัฐฯ
เปิดประวัติธุรกิจ “Subway” ฟาสต์ฟู้ดที่มีแฟรนไชส์สาขากว่า 37,000 แห่ง มากเป็นอันดับ 2 ของโลก จุดเริ่มต้นมาจากเด็กที่หาเงินเรียนต่อหมอ
“อยากเป็นหมอต้องทำยังไง?” เป็นประโยคที่คนไทยหลายคนน่าจะจำได้ดีจากโฆษณาเครื่องดื่มบำรุงสมองตัวหนึ่ง แต่หากนำประโยคนี้ไปถาม “เฟรด เดลูกา” ผู้ก่อตั้งธุรกิจอาหารจานด่วนชื่อดัง “Subway” (ซับเวย์) คำตอบที่ได้คงจะเป็น “ต้องมีเงิน” น่ะสิ!
นี่คือจุดเริ่มต้นง่าย ๆ ของแบรนด์แซนด์วิชที่มีแฟรนไชส์และสาขาหลายหมื่นแห่งทั่วโลก โดยเหตุผลทั้งหมดที่ธุรกิจนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเพราะเด็กมัธยมคนหนึ่งในสหรัฐฯ ต้องการหาเงินไปเรียนต่อแพทย์นั่นเอง
แซนด์วิช Subway ฟาสต์ฟู้ดยอดนิยม
แค่ทางผ่านเพื่อความฝันสู่การเป็นแพทย์
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1965 หรือราว 60 ปีก่อน เฟรดในวัย 17 ปีซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย และกำลังเข้าศึกษาต่อแพทย์ แต่กลับประสบปัญหาใหญ่ที่อาจทำให้ความฝันของเขาสิ้นสุดลงนั่นคือ “ไม่มีเงิน”
เฟรดเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ผมไม่มีความหวังว่าจะเรียนจบมหาวิทยาลัยเพราะครอบครัวของผมไม่มีเงิน ตอนนั้นผมทำงานที่ร้านขายฮาร์ดแวร์ ได้เงิน 1.25 ดอลลาร์ มันเป็นงานที่ดีสำหรับวัยรุ่นคนหนึ่ง แต่มันทำให้ผมเรียนจบไม่ได้”
เฟรดจึงนำความทุกข์ใจไปปรึกษา “ดร.ปีเตอร์ บัค” นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่สนิทสนมกับพ่อแม่ของเฟรด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์รายนี้นึกไปถึงร้านขายแซนด์วิชอิตาเลียนในวัยเด็ก จึงเสนอให้เฟรดลองทำธุรกิจนี้ดู และใจป้ำออกเงินทุนตั้งตัวให้ด้วย 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ
แซนด์วิชที่ปีเตอร์แนะนำเฟรดไม่ใช่แซนด์วิชธรรมดา แต่เป็น “ซับ” หรือซับมารีนแซนด์วิช ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในวัฒนธรรมอิตาเลียน-อเมริกันในสหรัฐฯ ช่วงศตวรรษที่ 19-20 โดยชื่อของมันมาจากรูปร่างแซนด์วิชที่ยาวเหมือนเรือดำน้ำ
เฟรดที่ต้องการเรียนต่อจึงตัดสินใจลองดูสักตั้ง แน่นอนว่าเขาทำซับไม่เป็น แต่ใช้เวลา 2 สัปดาห์ตระเวนไปศึกษาร้านขายซับเจ้าอื่น ๆ หาทางพยายามเรียนรู้จนในที่สุดเปิดร้านแรกที่เมืองบริดจ์พอร์ต รัฐคอนเนทิคัต ได้สำเร็จ ใช้ชื่อร้านว่า “Pete’s Super Submarines” ตามชื่อของ ดร.ปีเตอร์
พวกเขาขายแซนด์วิชสดใหม่ที่สามารถปรับแต่งไส้ได้และราคาไม่แพงสำหรับคนในท้องถิ่น โดยตั้งราคาไว้ที่ชิ้นละ 49 ถึง 69 เซนต์ และขายแค่ในวันแรกก็ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ สามารถขายแซนด์วิชได้มากถึง 312 ชิ้น
ยอดขายที่ปังผิดคาด ทำให้ทั้งเฟรดและปีเตอร์เอาจริงเอาจังกับธุรกิจนี้มากกว่าเดิม ปีต่อมาพวกเขาตั้งบริษัท Doctor’s Associates Inc. เพื่อบริหารธุรกิจเป็นกิจลักษณะมากขึ้น โดยชื่อบริษัทมาจากคำนำหน้าของ ดร.ปีเตอร์ และความฝันของเฟรดที่ต้องการเป็นหมอ (ดอกเตอร์)
ดร.ปีเตอร์ บัค (ซ้าย) และ เฟรด เดลูกา (ขวา) ผู้ก่อตั้ง Subway
หนึ่งในแฟรนไชส์ที่โตเร็วที่สุดในสหรัฐฯ
เฟรดได้ทำโฆษณาวิทยุโปรโมต “Pete’s Submarines” ปรากฏว่าผู้ฟังคิดว่าเขากำลังพูดถึง “Pizza Marines” ดังนั้นเพื่อความชัดเจน หุ้นส่วนทั้งสองจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อธุรกิจเป็น “Subway” ในปี 1968
ชื่อซับเวย์เหมือนจะเป็นชื่อมงคลสำหรับพวกเขา เพราะติดหูจำง่าย รวมถึงยังสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นฟาสต์ฟู้ด เพราะทำให้นึกถึงผู้คนที่กำลังเร่งรีบขึ้นรถไฟใต้ดินเพื่อเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างรวดเร็ว
เมื่อชื่อเสียงของแบรนด์ในด้านแซนด์วิชสดที่ทำไส้ตามสั่งแพร่หลายขึ้น ซับเวย์ก็เริ่มขยายสาขาจนมี 16 แห่งในรัฐคอนเนทิคัต แต่เฟรดและปีเตอร์ทะเยอทะยานกว่านั้น พวกเขาจึงเลือกขยายกิจการโดยใช้ “ระบบแฟรนไชส์”
รูปแบบธุรกิจนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถขยายกิจการได้อย่างรวดเร็วและเผยแพร่อาหารของพวกเขาไปสู่ผู้คนในวงกว้างมากขึ้น แฟรนไชส์ซับเวย์แห่งแรกเปิดดำเนินการในเมืองวอลลิงฟอร์ด รัฐคอนเนทิคัต ในปี 1974 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรแฟรนไชส์
ระบบแฟรนไชส์ช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีความทะเยอทะยานมีโอกาสเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการร้านอาหารซับเวย์ของตนเองโดยใช้สูตรเฉพาะและเทคนิคการอบขนมปังของซับเวย์ แนวทางนี้ช่วยให้ซับเวย์กลายเป็นแฟรนไชส์ที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ
ชื่อ Subway ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1968
เฟรดเคยบอกว่า “เราไม่ได้คิดอะไรมากมายนักนอกจากว่า แฟรนไชส์จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนนั้น คือ 32 สาขา และช่วยให้เราบริหารร้านได้ไกลจากบ้านมากขึ้น เราใช้เวลาค่อนข้างนานในการเรียนรู้ธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะเราเริ่มต้นจากศูนย์ เราไม่มีโค้ชหรือที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์เลย”
ในปี 1982 Subway เติบโตเป็น 200 สาขา และตั้งเป้าไว้ที่ 5,000 สาขาภายในปี 1994 ปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตดังกล่าวคือค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ที่ค่อนข้างต่ำของ Subway ที่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ และต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำ
นอกจากนี้ Subway ยังริเริ่มโปรแกรมที่เสนอเงินจูงใจให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่เปิดร้านใหม่และช่วยสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ด้วยกัน พวกเขาบรรลุเป้าหมายก่อนกำหนด โดยมีร้านค้าเปิดทำการถึง 5,144 สาขาภายในปี 1990
ในจำนวนนี้ยังมีสาขาที่เปิดในต่างประเทศด้วย เพราะในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซับเวย์ได้สร้างฐานที่มั่นที่แข็งแกร่งในสหรัฐฯ แล้ว จึงไม่แปลกที่จะเริ่มหมายตาตลาดต่างประเทศ
จนกระทั่งปี 1984 ซับเวย์ได้เปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกในบาห์เรน และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางทั่วโลกที่จะนำแฟรนไชส์ไปทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งซับเวย์เข้ามาทำตลาดครั้งแรกเมื่อปี 2003
ไม่เพียงเท่านั้น ซับเวย์ยังใช้กลยุทธ์เข้าไปตั้งสาขาในสถานที่ที่ผู้คนต้องแวะเวียนเข้าไป นั่นคือปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ หรือจุดพักรถบรรทุก ทำให้แซนด์วิชของพวกเขาเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม
ปัจจุบันซับเวย์เป็นแฟรนไชส์ที่มีสาขามากเป็นอันดับ 2 ของโลก ประมาณ 37,000 แห่งในมากกว่า 100 ประเทศ เป็นรองเพียงแมคโดนัลด์ที่มีมากกว่า 40,000 สาขาทั่วโลก
เฟรด เดลูกา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Subway
เมนูที่หลากหลายปรับแต่งได้ ... ดาบสองคม
จุดเด่นที่สุดของแซนด์วิชซับเวย์คือเรื่องของ “เมนู” โดยขึ้นชื่อเรื่องการมีตัวเลือกไส้และรสชาติที่หลากหลายตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า แต่เมนูที่เป็นที่จดจำหรือ “เมนูเรือธง” แรกของแบรนด์คือ “Subway BMT”
BMT ในช่วงแรกย่อมาจากชื่อเส้นทางรถไฟ Brooklyn-Manhattan Transit เพื่อให้เข้ากับธีมชื่อซับเวย์ ไส้จะอัดแน่นด้วยซาลามีเจนัว เปปเปอโรนี และแฮมแบล็กฟอเรสต์ ซึ่งด้วยความ “แน่น” ของไส้ ทำให้ผู้คนพากันบอกว่า BMT ย่อมาจาก “Biggest, Meatiest, Tastiest” (ใหญ่สุด เนื้อแน่นสุด อร่อยสุด)
กุญแจสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ซับเวย์ประสบความสำเร็จคือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 เมื่อเทรนด์ใส่ใจเรื่องสุขภาพในสหรัฐฯ เติบโตขึ้น ซับเวย์ได้ใช้ประโยชน์จากกระแสนี้โดยวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นทางเลือกของฟาสต์ฟู้ดที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น พวกเขาเปิดตัวแคมเปญ “7 Under 6” ซึ่งเน้นที่แซนด์วิชที่มีไขมันน้อยกว่า 6 กรัม
ซับเวย์ยังมีสโลแกน “Eat Fresh” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสดของวัตถุดิบที่ใช้ในการทำเมนูแซนด์วิช ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่าแซนด์วิชของพวกเขาเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแคมเปญ “Subway Diet” ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เมื่อมีผู้บริโภคอ้างว่าเขาลดน้ำหนักได้มากจากการทานแซนด์วิชของซับเวย์
การเน้นที่ตัวเลือกเพื่อสุขภาพนี้ช่วยให้ซับเวย์ขยายฐานลูกค้าได้ และดึงดูดผู้ที่มองหาตัวเลือกการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้นโดยที่รสชาติยังยอดเยี่ยม มีส่วนผสมที่สดใหม่ ผักหลากหลาย และตัวเลือกที่ปรับแต่งได้ ทำให้ลูกค้าสามารถปรับแต่งแซนด์วิชให้เหมาะกับความต้องการด้านโภชนาการของตนเองได้
การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของซับเวย์ยังประสบความสำเร็จและปรับตัวได้เพราะบริษัทตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเมนูให้เข้ากับรสนิยมและความชอบด้านอาหารของคนในแต่ละท้องถิ่น
ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย ซับเวย์ได้เพิ่มตัวเลือกมังสวิรัติที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่กินมังสวิรัติเป็นหลัก
บริษัทเผชิญกับความท้าทายในบางประเทศที่รสนิยมและพฤติกรรมการกินของผู้บริโภคแตกต่างอย่างมากจากในสหรัฐฯ เช่นที่ญี่ปุ่นซึ่งปลาดิบเป็นอาหารหลัก ซับเวย์ก็ได้เปิดตัวแซนด์วิชซูชิ
ความเต็มใจที่จะปรับเปลี่ยนและปรับเมนูให้เข้ากับท้องถิ่นนี้เองที่ช่วยให้ซับเวย์ได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเองนั้น ความหลากหลายของซับเวย์กลับกลายเป็นปัญหา โดยคุณเพชรัตน์ อุทัยสาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ซับเวย์ในประเทศไทยชช่วงก่อนปี 2024 เคยยอมรับว่า ระบุว่า แบรนด์โตยากในไทยเพราะ “หลากหลายเกินไป”
คุณเพชรัตน์บอกว่า เนื่องจากความหลากหลายของสิ่งที่ต้องเลือก ทั้งขนมปัง ซอส ผัก และเนื้อสัตว์ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า “สั่งยาก สั่งไม่เป็น” จนความหลากหลายที่เป็นจุดแข็งของแบรนด์ กลับกลายเป็นจุดอ่อน
แซนด์วิชมีไส้ วัตถุดิบ และรสชาติให้เลือกหลากหลาย
ซับเวย์ในประเทศไทย
ซับเวย์เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2003 โดยบริษัท ฟู้ด ฟอร์เวิร์ด จำกัด เป็นผู้นำเข้ามา และตั้งสาขาแรกที่ถนนสีลม จากนั้นได้ผ่านการเปลี่ยนมือผู้บริหารแฟรนไชส์มาแล้วหลายครั้ง
จนปี 2022 ซับเวย์ในไทยอยู่ภายใต้การบริหารของ อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาแบรนด์ให้เป็น Top 3 ของธุรกิจอาหารบริการด่วน (QSR) ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าถึง 47,700 ล้านบาท และวางแผนที่จะขยายสาขาให้ได้ 1,000 แห่งในอีก 10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวดูเหมือนจะสร้างภาระ เพราะด้วยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สถานการณ์การทำกำไรไม่ค่อยสู้ดี ปี 2021 รายได้รวม 5 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 59 ล้านบาท ส่วนปี 2022 รายได้รวม 169 ล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิถึง 294 ล้านบาท
จนเมื่อต้นปี 2024 บริษัท โกลัค จำกัด GL บริษัทย่อยในเครือของ PTG (พีทีจี เอ็นเนอยี) ได้เข้ามาซื้อสิทธิแฟรนไชส์ซับเวย์ในไทยด้วยเงินลงทุนกว่า 35 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 22 เม.ย. 2024 บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า บริษัท โกลัค จำกัด (GL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นผ่าน บริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด (GFA) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่จำนวน 1 แห่ง เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร คือ บริษัท โกซับเวย์ จำกัด (GS)
ในปี 2024 ซับเวย์ในไทยยังประสบปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพอาหาร สีเลอะติดอาหาร ขนมปังไม่ใช่ของซับเวย์ วัตถุดิบขาด กระดาษห่อไม่มีพิมพ์ลายซับเวย์ ฯลฯ
โดย บริษัท โกลัค จำกัด ได้ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากร้านซับเวย์ที่ถูกยกเลิกสิทธิแฟรนไชส์ไปตั้งแต่เดือน ก.ค. 2024 ซึ่งมีกว่า 100 แห่ง และร้านซับเวย์ที่ถูกต้องตอนนี้มีอยู่เพียง 51 สาขาเท่านั้น สังเกตได้จากเลขที่ร้านและเครื่องหมายสัญลักษณ์ Authorized Franchise
แต่ปัญหาที่ผู้บริโภคยังคงร้องเรียนเข้ามาคือ บรรดาสาขาที่ถูกยกเลิกนั้น ดูเหมือนยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวหรือการจัดการใด ๆ และยังคงใช้ชื่อซับเวย์ต่อไป จนทำให้เกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพ
สาขาของ Subway ในประเทศไทย
อนาคตในภาพรวมที่ไม่สดใส
ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยมีปัญหาอยู่ไม่น้อย ภาพรวมของซับเวย์ทั้งแบรนด์เองก็ไม่สดใสเท่าไรนัก โดยเฉพาะในแง่ของจำนวนสาขาและรายได้
ควรทราบก่อนว่า ตัวเลข 37,000 สาขาทั่วโลกในปัจจุบันของซับเวย์นั้น ลดลงมาจากเมื่อปี 2015 ถึงเกือบ 7,000 สาขา เพราะในช่วงปีดังกล่าวซับเวย์เคยมีสาขามากที่สุดถึง 44,000 แห่ง
แต่ด้วยการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งที่มีสักยภาพหลายราย เช่น Jimmy John’s, Chipotle หรือ Jersey Mike’s เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดฟาสต์ฟู้ดเพื่อสุขภาพไปจากซับเวย์อย่างมหาศาล
ประกอบกับการตั้งสาขาใหม่ของซับเวย์มักไป “ทับที่” แข่งกับแฟรนไชส์ซับเวย์ที่ตั้งอยู่เดิม จนเกิดการแข่งขันกันเองและทำให้สาขาเก่า ๆ ทยอยล้มหายตายจาก
ในปี 2015 ยังเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อ จาเรด โฟเกิล โฆษกของบริษัทถูกจับกุมในความผิดเกี่ยวกับการพรากผู้เยาว์และเผยแพร่สื่อลามกเด็ก รวมทั้ง เฟรด เดลูกา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ได้เสียชีวิตลงในช่วงที่มีข่าวฉาว และเพียงปีกว่า ๆ หลังจากนั้น ดร.ปีเตอร์ ก็ได้เสียชีวิตเช่นกัน
ซับเวย์ยังเจอข่าวฉาวเกี่ยวกับเนื้อสัตว์และชีสที่ผ่านการแปรรูป (Processed) ไม่ใช่วัตถุดิบสดใหม่อย่างที่เคยใช้ในอดีต หรือเนื้อปลาทูนาที่ใช้ปรากฏว่าไม่ใช่เนื้อปลาทูนา จนผู้บริโภคต่างพากันลังเล
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ซับเวย์ต้องปิดสาขาลงเรื่อย ๆ พร้อมยอดขายที่อยู่ในขาลง ประกอบกับเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอดขายร่วงลงไปถึง 30%
สุดท้ายในปี 2023 ครอบครัวเดลูกาซึ่งเข้ามาดูแลบริษัทต่อจากเฟรดตัดสินใจขายบริษัทที่เป็นของครอบครัวมาเกือบ 60 ปีให้กับบริษัท Roark Capital ซึ่งเป็นเจ้าของ Jimmy John's, Dunkin', Arby's และ Buffalo Wild Wings ด้วยมูลค่า 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 แสนล้านบาท)
ทั้งนี้ ปี 2023 ซับเวย์มีอัตราการปิดสาขาที่ชะลอตัวลง แต่ยังคงปิดร้านอาหารมากกว่า 400 แห่งในสหรัฐฯ เหลือ 20,133 แห่งในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 และนับเป็นปีที่แปดติดต่อกันที่ซับเวย์มีอัตราปิดสาขามากกว่าเปิดสาขา
อย่างไรก็ตาม รายได้ของซับเวย์เพิ่มขึ้น 10.3% เป็น 971.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.33 หมื่นล้านบาท) เมื่อปี 2023 แต่การเติบโตของรายได้ 40% นั้นมาจากการสนับสนุนและส่วนลดจากผู้ขายของบริษัทที่ขายส่วนผสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจ (แฟรนไชส์ซี)
เมื่อปีที่แล้วซับเวย์สร้างรายได้ 100.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.4 พันล้านบาท) จากผู้ขาย หรือมากกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อน หากไม่มีรายได้ดังกล่าว รายได้ทั้งหมดของซับเวย์จะเพิ่มขึ้นเพียง 6%
ประวัติธุรกิจ Subway
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/236242
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV Wealth :
https://www.facebook.com/PPTVWealth/
YouTube Wealth :
www.youtube.com/@PPTVWealthhttps://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/236242
subway
ธุรกิจ
แฟรนไชส์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย