10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนกันยายน 2567

“หมูเด้ง” ขึ้นอันดับ 1 เดือน ก.ย. 67 อุทกภัยในภาคเหนือและภาคอีสานติดอันดับ 2 และอันดับ 10 ส่วนคดีทอง “แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์” ขึ้นอันดับ 5 และ TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม
การสำรวจประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์ 5 แพลตฟอร์ม ในเดือนกันยายน 2567 พบว่า หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 ด้วยสัดส่วน Engagement มากถึง 34.24% ตามด้วยอุทกภัยทางภาคเหนือ เป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน Engagement ที่ 27.47% อ๋อม อรรคพันธ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ติดอันดับ 3 ด้วยสัดส่วน 8.21% ซีรีส์ปิ่นภักดิ์เป็นอันดับ 4 ด้วยสัดส่วน Engagement ที่ 5.63% ด้านน้องหมีเนย หล่นจากอันดับที่ 5 เมื่อ ส.ค.67 เป็นอันดับที่ 8 ด้วยสัดส่วน 3.81%
สาเหตุที่หมูเด้ง เป็นประเด็นที่คนในสังคมออนไลน์ให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 ในเดือนกันยายน 67 เริ่มจากเพจขาหมู แอนด์เดอะแก๊งโพสต์ภาพลูกฮิปโปแคระที่มีความน่ารักและมีเอกลักษณ์ คือ ชอบกระโดดเด้งไปมา ทำให้เกิดกระแสชื่นชอบบนสังคมออนไลน์ทั้งในไทยและต่างประเทศ จนกลายเป็นไวรัลในโลกโออนไลน์ และส่งผลให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเยี่ยมชม หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
ข้อสังเกต คือ แม้เดือนกันยายน 67 เป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี หรือมีคณะรัฐบาลเต็มรูปแบบ นายกรัฐมนตรีแพทองธารแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 ฯลฯ รวมถึงยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ฟุตซอลชิงแชมป์โลกที่ทีมชาติไทยได้เข้าร่วมแข่งขัน, ดราม่าครูเบญที่ชื่อหายไปจากประกาศผลการรับสมัครพนักงานราชการ, จำคุกครูไพบูลย์ นักแต่งเพลงชื่อดังข้อหาพรากผู้เยาว์ เป็นต้น แต่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ติด 10 อันดับแรก
10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนกันยายน 2567
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok
โดยเริ่มจากการค้นหาเทรนด์ หรือกระแสสังคมที่เป็นที่พูดถึง เช่น Wisesight Trend และเทรนด์ของแพลตฟอร์มทั้ง 5 แพลตฟอร์ม หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่พบจากการสำรวจในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เช่น หมูเด้ง น้ำท่วม อ๋อม อรรคพันธ์ เป็นต้น
จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาคัดกรองและจัดหมวดหมู่ประเด็น กลุ่มเนื้อหา ประเภทแพลตฟอร์ม กลุ่มผู้สื่อสาร ตามเกณฑ์ที่ได้จัดทำขึ้น แล้วอธิบายสรุปข้อมูลสำคัญที่ค้นพบใน 10 อันดับ Engagement ของเดือนที่ทำการสำรวจ โดยอ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Data) ได้แก่ ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ วันที่และเวลา จำนวนค่าปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรง และลดอคติของนักวิเคราะห์ข้อมูล โดยประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในช่วงเดือนกันยายน 2567 มีดังนี้
อันดับที่ 1 หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (86,830,577 Engagement)
หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ ที่โด่งดังในสื่อสังคมออนไลน์ จากการโพสต์เพื่อแนะนำ เชิญชวนตั้งชื่อ และนำเสนอความน่ารัก ในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น การกิน การเล่นน้ำ การหยอกล้อกับผู้ดูแล แม้ตอนนอนหลับก็ยังเป็นที่สนใจ โดยเฉพาะเอกลักษณ์จากการเด้งหรือดีดตัวจนเป็นกระแสโด่งดังในสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเยี่ยมชมความน่ารักของหมูเด้งที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
ส่วนในสื่อสังคมออนไลน์มีการติด #หมูเด้ง ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้กลายเป็นไวรัลขึ้นมา โดยเฉพาะใน TikTok ที่สามารถสร้าง Engagement มากที่สุด ที่ 59.11% โดยผู้สร้าง Engagement มากที่สุดเป็นผู้ใช้งานทั่วไป
อันดับที่ 2 อุทกภัยภาคเหนือ (69,669,213 Engagement)
อุทกภัยภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย สามารถสร้าง Engagement เป็นอันดับที่ 8 ในเดือนสิงหาคม แต่ในเดือนกันยายน สามารถสร้าง Engagement มากขึ้นเป็นอันดับที่ 2 โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงรายที่สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและระบบไฟฟ้า ทำให้การสัญจรถูกตัดขาด โดยในสื่อสังคมออนไลน์ยังคงให้กำลังใจผู้ประสบภัย การบริจาคสิ่งของและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
แต่สิ่งที่แตกต่างจากเดือนสิงหาคม คือ ผู้สร้าง Engagement สูงสุดกลับกลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีบทบาทในการกล่าวถึงภัยพิบัติในครั้งนี้ เช่น บัญชี win.william_official ที่โพสต์วิดิโอนำของไปบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย, บัญชี Jha_eves โพสต์วิดีโอบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย และให้กำลังใจผู้ประสบภัย เป็นต้น โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement สูงสุดที่ 46.35%
อันดับที่ 3 อ๋อม อรรคพันธ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง (20,817,761 Engagement)
อ๋อม อรรคพันธ์ นะมารต์ นักแสดงช่อง 7 มีผลงานละครมากมาย เช่น สัจจะในชุมโจร, อินทรีแดง, ราชนาวีที่รัก ฯลฯ โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงคือละครเรื่องพระจันทร์ลายพยัคฆ์ ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อวันที่ 21 กันยายน สร้างความโศกเศร้าและ ร่วมแสดงความเสียใจทางสื่อสังคมออนไลน์
ทั้งจากสื่อ สำนักข่าว รวมทั้งนักแสดงที่เคยร่วมงานกับอ๋อม อรรคพันธ์ เช่น ขวัญ อุษามณี, มิน พิชญา ในแง่ผู้ส่งสารพบว่าสื่อ สำนักข่าว สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุด เช่น thairath_ent, Khaosod—ข่าวสด และ Ch7HD เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม Facebook สามารถสร้าง Engagement ได้สูงที่สุด ที่ 55.21%
อันดับที่ 4 ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (14,264,331 Engagement)
ปิ่นภักดิ์ ซีรีส์แนวแซฟฟิค (Sapphic) หรือหญิงรักหญิงนำแสดงโดยฟรีน สโรชา และ เบ็คกี้ รีเบคก้า กลับมาติด 10 อันดับอีกครั้ง จากการติดใน 10 อันดับเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
สาเหตุที่ปิ่นภักดิ์ ได้รับความสนใจอีกครั้ง อาจมาจากการเข้าสู่ช่วงกลางของซีรีส์ ทำให้มีเนื้อหาที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ตอนที่ 7 และ 8 ที่มีฉากรักระหว่างนักแสดงนำ ทำให้ถูกกล่าวถึงเป็นจำนวนมากจากผู้ชมซีรีส์ และกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบละครแนวแซฟฟิค โดยผู้ใช้งานทั่วไป สร้าง Engagement มากที่สุด มีแพลตฟอร์ม X สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 72.04%
อันดับที่ 5 คดีซื้อขายทองออนไลน์ของแม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์ (11,770,775 Engagement)
ดราม่าร้านขายทองออนไลน์ของแม่ตั๊ก กรกนก และ ป๋าเบียร์ กานต์พล ถูกกล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากมีผู้ใช้งานออกมาโพสต์ว่าได้ซื้อสินค้าจากร้านทองออนไลน์ แต่เมื่อนำมาขายต่อ ร้านทองไม่รับซื้อ เพราะไม่มีใบรับรองและน้ำหนักน้อย
จากนั้นรายการโหนกระแสได้เชิญ แม่ตั๊ก และ ป๋าเบียร์ ร่วมออกรายการกับ ผู้เสียหายจากการซื้อทองออนไลน์ ทำให้กลายเป็นไวรัล โดยผู้ใช้งานที่สร้าง Engagement ได้มากที่สุด ได้แก่ สื่อ สำนักข่าว เช่น ไทยรัฐ, ข่าวสด เป็นต้น จากการทำข่าวบรรยากาศหน้าร้านทองแม่ตั๊กที่ลูกค้านำทองไปคืน เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกบ้านจับแม่ตั๊ก และ ป๋าเบียร์ ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยพบว่าแพลตฟอร์ม Facebook มีอัตราการสร้าง Engagement สูงสุดถึง 60.48%
อันดับที่ 6 แน็ก ชาลี ประกาศยุติความสัมพันธ์กับกามิน (11,613,669 Engagement)
แน็ก ชาลี หรือ ชาลี ไตรรัตน์ นักแสดงที่โด่งดังจากภาพยนตร์แฟนฉัน เมื่อปี 2546 ต่อมายังมีผลงานในวงการบันเทิงออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีช่องยูทูปของตัวเอง ช่วงต้นปี 67 แน็ก ชาลี และติ๊กต๊อกเกอร์สาวชาวเกาหลีชื่อ “กามิน” ได้เป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย
ต่อมาทั้งคู่กลายเป็นขวัญใจชาวโซเชียล แต่ต้นเดือน กันยายน 67 แน็ก ชาลี ชี้แจงผ่านไลฟ์ว่าความสัมพันธ์ กับ กามิน TikToker แฟนสาวชาวเกาหลีใต้ได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวกับกามิน และอยากให้แยกย้ายกันไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ หลังจากก่อนหน้ามีการไลฟ์ตอบโต้กันไปมา
โดยในสื่อสังคมออนไลน์ต่างตำหนิกามิน โดยเฉพาะประเด็นการเสียภาษี การมองคนไทยเป็นเพียงแหล่งหาเงิน ผู้ใช้งานที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุด ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป โดยพบว่าแพลตฟอร์ม TikTok มีอัตราการสร้าง Engagement สูงสุดถึง 50.05%
อันดับที่ 7 งาน MCHOICE & MINT AWARD 2024 (11,432,641 Engagement)
งาน MCHOICE & MINT AWARD 2024 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 เพื่อมอบรางวัลให้กับศิลปิน ดารานักแสดงรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมและมีผลงานเป็นที่น่าสนใจในรอบปี ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การขายสินค้า การเดินพรมแดง รวมถึงแฟชั่นโชว์จากศิลปิน ดารานักแสดง
ซึ่งงานในปีนี้ติดอันดับความนิยมเช่นเดียวกับปี 2566 โดยโพสต์ที่ได้รับ Engagement สูงมาจากกลุ่มแฟนคลับและผู้ที่ชื่นชอบศิลปินที่เข้าร่วมงาน ซึ่งมีการแชร์ภาพหรือวิดีโอเกี่ยวกับงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการโพสต์รูปภาพการร่วมงานของศิลปิน ดารานักแสดง เช่น ออฟ จุมพล เจ็ท ภัทร์ไพบูลย์ แจ๊คกี้ จักริน เป็นต้น ผู้ใช้งานที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุด ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป โดยแพลตฟอร์ม X มีอัตราการสร้าง Engagement สูงสุดถึง 47.18%
อันดับที่ 8 น้องหมีเนย มาสคอตร้าน Butterbear (9,652,391 Engagement)
น้องหมีเนย มาสคอตจากร้าน Butterbear ได้รับความสนใจจากสังคมออนไลน์เป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม จนเดือนสิงหาคมความนิยมอยู่ในอันดับที่ 5
แต่ในเดือนกันยายน พบว่า ความสนใจลดลงมาอยู่ในอันดับที่ 8 โดยโพสต์ที่ได้รับ Engagement สูง ยังคงเป็นคลิปน้องหมีเนยขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ จากช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการของร้าน Butterbear โดยกลุ่ม มัมหมี หรือแฟนคลับ และจากกิจกรรมที่ทำร่วมกับศิลปิน วิน เมธวิน ในงาน SOURIxButterbear day เป็นต้น ผู้ใช้งานที่สร้าง Engagement มากที่สุดยังคงเป็นผู้ใช้งานทั่วไป โดยมีแพลตฟอร์ม TikTok สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 42.34%
อันดับที่ 9 การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2024 (9,107,313 Engagement)
พาราลิมปิกครั้งที่ 17 จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2567 โดยนักกีฬาไทยเข้าร่วม 79 คน ได้เหรียญรางวัลรวมทั้งหมด 30 เหรียญ แบ่งเป็น เหรียญทอง 6 เหรียญ เหรียญเงิน 11 เหรียญ เหรียญทองแดง 13 เหรียญ
โดยนักกีฬาที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ สายสุนีย์ จ๊ะนะ ที่สามารถกวาดเหรียญทองได้มากถึง 3 เหรียญ จนได้ฉายาราชินีฟันดาบโลก นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงนักกีฬาคนอื่น ๆ เช่น พงศกร แปยอ กับชัยวัฒน์ รัตนะ นักกรีฑา และวรวุฒิ แสงอำภา นักกีฬาบอคเซีย เป็นต้น ผู้ใช้งานที่สร้าง Engagement มากที่สุดยังคงเป็นผู้ใช้งานทั่วไป โดยมีแพลตฟอร์ม Facebook สร้าง Engagement สูงสุด ที่ 56.66%
อันดับที่ 10 อุทกภัยที่จังหวัดหนองคาย (8,428,089 Engagement)
อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ประกอบกับระดับน้ำจากแม่น้ำโขงที่มีปริมาณสูงขึ้นจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ 6 อำเภอในจังหวัดหนองคาย สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรหลายหมื่นไร่
ในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารให้กำลังใจผู้ประสบภัย การบริจาคสิ่งของและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่นเดียวกับอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทมากที่สุดในการกล่าวถึงภัยพิบัติครั้งนี้ เช่น บัญชี Cardcnyn โพสต์วิดิโอนำของไปบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย, บัญชี tack_pharunyoo โพสต์วิดีโอหน่วยกู้ภัยถอนตัวจากเชียงรายไปที่หนองคาย เป็นต้น โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement สูงสุดที่ 39.32%
ผลการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ในเดือนกันยายน 2567 ในด้านกลุ่มเนื้อหา ผู้สื่อสาร แพลตฟอร์ม
กลุ่มเนื้อหา
จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในช่วงเดือนกันยายน 2567 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 4 กลุ่ม ตามจำนวน Engagement ดังนี้
กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 154,611,370 Engagement คิดเป็น 60.97% จาก 6 ประเด็น
อันดับ 1 คือ หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (86,830,577 Engagement) ซึ่งถูกพูดถึงในฐานะ “เซเลบริตี้” และเป็น “มีม” มากกว่าในมิติความเป็นสัตว์ทั่วไป ตามด้วย อ๋อมอรรคพันธ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง (20,817,761 Engagement), ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (14,264,331 Engagement), แน็ก ชาลี ประกาศยุติความสัมพันธ์กับกามิน (11,613,669 Engagement), งาน MCHOICE & MINT AWARD 2024 (11,432,641 Engagement), น้องหมีเนย มาสคอตร้าน Butterbear (9,652,391 Engagement)
กลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ จำนวน 2 ประเด็น จำนวน 78,097,302 Engagement คิดเป็น 30.80% คือ อุทกภัยที่ภาคเหนือ (69,669,213 Engagement) อุทกภัยที่จังหวัดหนองคาย (8,428,089 Engagement)
กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ จำนวน 1 ประเด็น จำนวน 11,770,775 Engagement คิดเป็น 4.64% คือ คดีซื้อขายทองออนไลน์แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์
กลุ่มเนื้อหากีฬา จำนวน 1 ประเด็น จำนวน 9,107,313 Engagement คิดเป็น 3.59% คือ การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2024
จะเห็นว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ยังคงเป็นกลุ่มเนื้อหาหลักที่ได้รับ Engagement สูงติด 10 อันดับแรก ของทุกเดือน โดยเฉพาะในเดือนกันยายน 2567 ที่จัดให้ประเด็น หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ทำให้ประเด็นหมูเด้ง และกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ครองอันดับสูงสุดของความสนใจ ในขณะที่กลุ่มเนื้อหาอื่น ๆ มักพบว่าได้รับความสนใจในการสื่อสารของโลกออนไลน์ ตามสถานการณ์จริงในขณะนั้น
กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจำแนกตามผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม
กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (48.85%) รองลงมา ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (36.01%), สื่อ สำนักข่าว (14.35%) และ แบรนด์ (0.79%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 46.54% รองลงมาได้แก่ Facebook (20.66%), X (19.94%), Instagram (10.82%), YouTube (2.04%)
กลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (40.04%) รองลงมา ได้แก่สื่อ สำนักข่าว (32.44%), ผู้ใช้งานทั่วไป (24.87%) และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ (2.31%) ภาครัฐ (0.21%) พรรคการเมือง (0.13%) โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 45.59% รองลงมาได้แก่ Facebook (36.28%), Instagram (7.26%), X (6.52%), YouTube (4.35%)
กลุ่มเนื้อหากีฬา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (44.81%) รองลงมา ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (29.89%), สื่อ สำนักข่าว (21.22%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ (4.02%) พรรคการเมือง (0.04%) และ ภาครัฐ 0.02% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 56.66% รองลงมาได้แก่ TikTok (20.54%), X (15.65%), Instagram (5.49%), YouTube (1.66%)
กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือสื่อ สำนักข่าว (69.49%) รองลงมา ได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23.91%), ผู้ใช้งานทั่วไป (6.58%) และ อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง (0.02%) โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 60.48% รองลงมาได้แก่ TikTok (31.72%), YouTube (5.84%), Instagram (1.64%), X (0.32%)
กลุ่มผู้สื่อสาร
ในภาพรวมช่วงเดือนกันยายน 2567 พบว่ากลุ่มผู้สื่อสารที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ในสื่อออนไลน์ สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วน 39.36% ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (36.47%), สื่อ สำนักข่าว (22.73%), แบรนด์ (1.33%) ภาครัฐ (0.07%) และ พรรคการเมือง (0.04%)
ผู้ใช้งานทั่วไป สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากที่สุดในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง โดยส่วนใหญ่เกิดจากการแชร์ภาพหมูเด้ง, Highlight ซีรีส์ปิ่นภักดิ์, งาน MCHOICE & MINT AWARD 2024, น้องหมีเนย มาสคอตร้าน Butterbear, อ๋อม อรรคพันธ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และ แน็ก ชาลี ประกาศยุติความสัมพันธ์กับกามิน รวมถึง การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2024 ในกลุ่มเนื้อหากีฬา ที่ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้าง Engagement ได้สูงกว่าผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์
แตกต่างจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ในเดือนกรกฎาคม ที่นักกีฬา หรือผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สายกีฬาเป็นผู้สร้าง Engagement โดยประเด็นการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2024 โพสต์ของผู้ใช้งานทั่วไปส่วนใหญ่เป็นการชื่นชมความสามารถของนักกีฬาของไทย เช่น สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาฟันดาบทีมชาติไทยที่ได้เหรียญทอง 3 เหรียญ นักกรีฑา คือ พงศกร แปยอ และ ชัยวัฒน์ รัตนะ วรวุฒิ แสงอำภา นักกีฬาบอคเซีย รวมถึงนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันจนได้เหรียญรวมทั้งสิ้น 30 เหรียญ
กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ จากการโพสต์ของผู้มีชื่อเสียงในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น กัน จอมพลัง, Jha_eve, ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี เป็นต้น การให้กำลังใจผู้ประสบภัย
รวมถึงผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์บางส่วนยังเป็นผู้บริจาคหรือทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำของบริจาคไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยและเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือและชี้เป้าให้แก่ภาครัฐในการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย ตัวอย่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูง ได้แก่ กัน จอมพลัง, Jha_eve, ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี เป็นต้น ต่างจากเดือนสิงหาคม ที่สื่อสำนักข่าวคือกลุ่มที่สื่อสารสร้าง Engagement ในประเด็นนี้ได้มากที่สุด
สื่อ สำนักข่าว สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรรม อุบัติเหตุจากดราม่าร้านทองแม่ตั๊ก โดยสื่อ สำนักข่าวยังคงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาหนัก เช่น การเมือง ภัยพิบัติ อาชญากรรม อุบัติเหตุ ด้วยผู้สื่อข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและมีทักษะในการนำเสนอที่ดีกว่าผู้สื่อสาร อื่น ๆ
ส่วนกลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์, พรรคการเมือง และ ภาครัฐ พบว่า ในภาพรวมสร้าง Engagement ได้น้อยกว่า 3 กลุ่มแรก แต่ก็มีส่วนในการสร้างการมีส่วนร่วม ในกลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ กีฬา อาชญากรรม อุบัติเหตุ แม้จะไม่ได้เป็นผู้สื่อสารหลัก
ยกตัวอย่างเช่น ในประเด็นอุทกภัยในภาคเหนือ และอุทกภัยที่จังหวัดหนองคาย พบว่า Brand สามารถสร้าง Engagement ได้ดีจากโพสต์ให้กำลังใจ หรือแบรนด์ที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น Eves, The Mall, Sansiri เป็นต้น
ในขณะที่ภาครัฐ สามารถสื่อสารสร้าง Engagement ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม (เพิ่มขึ้นจากเดิม 7.09%) โดย 2 หน่วยงานในกลุ่มภาครัฐที่มีบทบาทในการสื่อสารช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ คือ กองพันทหารสื่อสารที่ 4 กองพลทหารราบที่ 4 จากการโพสต์ภาพการช่วยเหลือผู้ประสบภัย, ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ในกองทัพบก โพสต์ภาพการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น
แพลตฟอร์มการสื่อสาร
จากการสำรวจ 10 อันดับประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดในโลกออนไลน์ช่วงเดือนกันยายน 2567 ในภาพรวมพบว่าแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุดเรียงตามลำดับคือ TikTok ซึ่งมีสัดส่วน 44.62% ตามด้วย Facebook 28.61%, X 14.75%, Instagram 9.11% และ YouTube 2.91%
เมื่อพิจารณารายแพลตฟอร์ม พบว่า TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงที่สุดอย่างต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม ในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง สาเหตุมาจากความนิยมในเนื้อหาวิดีโอที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชื่นชอบในเดือนนี้ เช่น การพากย์เสียงหมูเด้ง, การตามติดหมูเด้งในอิริยาบถต่างๆ
นอกจากนั้นพบว่ากลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ ก็ใช้ TikTok ในการสื่อสารเกี่ยวกับการให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม การบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่ง TikTok สามารถตอบโจทย์การสื่อสาร และสร้าง Engagement จากคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่น
ขณะที่แพลตฟอร์ม X พบว่า เด่นในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง เช่นเดียวกับเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะจากซีรีส์ปิ่นภักดิ์ ซึ่งมี Engagement บนแพลตฟอร์ม X สูงถึง 72.04%
ทั้งนี้ การสื่อสารในแพลตฟอร์ม X ส่วนใหญ่ จะเป็นการสื่อสารหรือแสดงความสนใจในเรื่องเฉพาะเจาะจง เช่น ดารา นักแสดงวัยรุ่น คอนเสิร์ต หรือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ หรือเนื้อหาที่ต้องการความสดใหม่และการสื่อสารแบบเรียลไทม์ จากกลุ่มแฟนคลับละคร รวมถึงแฟนคลับนักแสดงที่ชื่นชอบละครแนวแซฟฟิค หรือ หญิงรักหญิง ที่พบว่าเริ่มเป็นที่นิยมหรือมีการสื่อสารใน X มากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567
Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement จาก อาชญากรรม อุบัติเหตุ และกลุ่มเนื้อหากีฬา โดยกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ จะมาจากสื่อหรือนักข่าวที่ลงพื้นที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารเพื่อรายงาน รวมถึงการวิเคราะห์ที่ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์เพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ ส่วนกลุ่มเนื้อหากีฬา ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้งานทั่วไปที่โพสต์แสดงความชื่นชมนักกีฬาพาราลิมปิกที่ได้เหรียญจากการแข่งขันมากที่สุดในประวัติศาสตร์
Instagram สร้าง Engagement ได้สูง ในกลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง และ ภัยพิบัติ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถแบ่งปันภาพถ่ายได้ดีที่สุด และเป็นช่องทางที่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เลือกใช้มากที่สุดในทุกกลุ่มเนื้อหา เช่น การแชร์ภาพเบื้องหลังละครของกลุ่มนักแสดง, การโพสต์ให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น
YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงจากกลุ่มเนื้อหาภัยพิบัติ โดยเฉพาะจากสื่อ สำนักข่าว ทั้งนี้ อาจเนื่องจากข่าวอุทกภัยเป็นประเด็นที่ผู้รับสารต้องการเปิดรับข้อมูลจากสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถลงพื้นที่เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์ได้ดีกว่ากลุ่มผู้สื่อสารอื่น ๆ
กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนกันยายน 2567 ในภาพรวม 10 อันดับแรก พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้ความสนใจสูงถึง 6 อันดับ คิดเป็นสัดส่วนที่ 60.97% โดยนับรวมประเด็น หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ (อันดับ 1) อ๋อม อรรคพันธ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง (อันดับที่ 3) ซีรีส์ปิ่นภักดิ์ (อันดับที่ 4) แน็ก ชาลี ประกาศยุติความสัมพันธ์กับกามิน (อันดับที่ 6) งาน MCHOICE & MINT AWARD 2024 (อันดับ 7) น้องหมีเนย มาสคอตร้าน Butterbear (อันดับ 8)
ตามด้วยกลุ่มเนื้อหา ภัยพิบัติ คิดเป็นสัดส่วนที่ 30.80% จาก 2 ประเด็น ได้แก่ อุทกภัยภาคเหนือ (อันดับ 2) อุทกภัยจังหวัดหนองคาย (อันดับ 10)
นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ คิดเป็นสัดส่วนที่ 4.64% จากประเด็นคดีซื้อขายทองออนไลน์แม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์และกลุ่มเนื้อหากีฬา คิดเป็น 3.59% จาก 1 ประเด็น คือ พาราลิมปิก ครั้งที่ 17 ที่ฝรั่งเศส (อันดับ 9)
หมูเด้ง อันดับ 1 แซงน้องหมีเนย ด้านวงการบันเทิงสูญเสียอ๋อม อรรคพันธ์ แน็ก ชาลี ยุติความสัมพันธ์ ในขณะที่ละครหญิง-หญิง อีเวนต์รวมดารา ยังเป็นกระแสต่อเนื่อง
หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นที่สนใจบนสังคมออนไลน์ ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะทำอะไร ทั้ง กิน เดิน วิ่ง นอน เล่นน้ำ หยอกล้อกับผู้ดูแล ฯลฯ ก็ดูน่ารัก น่าเอ็นดู จนเป็นกระแสทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดย Engagement ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ พบใน TikTok โดยผู้สื่อสารหลักยังคงเป็น ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไปเยี่ยมชมแล้วโพสต์ภาพหรือวิดิโอหมูเด้ง หรือการนำภาพจากช่องทางทางการของสวนสัตว์มาตัดต่อแล้วรีโพสต์ เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนของผู้สื่อสารอันดับที่ 1 ผู้ใช้งานทั่วไป และอันดับที่ 2 ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ มีความใกล้เคียงกัน คือ 45.78% และ 43.64% ตามลำดับ ด้านน้องหมีเนย พบว่าความนิยมลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทั้งจำนวน Engagement และสัดส่วนการถูกกล่าวถึงบนสังคมออนไลน์
ขณะที่วงการบันเทิง ต้องสูญเสีย อ๋อม อรรคพันธ์ ที่เสียชีวิตจาก โรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 0.1 ต่อ 1 ล้านคน โดยผู้สื่อสารหลักเป็นสื่อ สำนักข่าว จากการนำเสนอข่าว และการร่วมไว้อาลัย ส่วนผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นไว้อาลัยของดารานักแสดงที่เคยร่วมงานกับอ๋อม อรรคพันธ์ จากช่องทางอย่างเป็นทางการของของนักแสดงเอง ในขณะที่แน็ก ชาลี ยุติความสัมพันธ์ กับกามิน TikToker สาวชาวเกาหลี หลังจากก่อนหน้ามีการไลฟ์ตอบโต้กันไปมา ทำให้สังคมออนไลน์ต่างให้ความสนใจในประเด็นนี้
สำหรับซีรีส์ปิ่นภักดิ์ ละครแนวหญิงรักหญิง พบว่ากลับมาติด 10 อันดับแรกอีกครั้ง หลังจากเคยติดอันดับ 7 ในเดือนมิถุนายน โดยในเดือนกันยายน พบว่าละครปิ่นภักด์สามารถสร้าง Engagement ในแพลตฟอร์ม X ได้มากถึง 72.04%
ในขณะที่ละครเรื่องอื่นๆ ที่ติดอันดับ หรือเป็นที่พูดถึง มักสร้าง Engagement ได้ดีในแพลตฟอร์ม TikTok ข้อมูลดังกล่าว ประกอบกับผลการสำรวจในเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่า ละครที่เน้นคู่จิ้น ไม่ว่าจะเป็นจากคู่นักแสดงชาย-หญิง คู่ชาย-ชาย หรือคู่หญิง-หญิง เช่น กรณีละครปิ่นภักดิ์ มักมีกลุ่มฐานแฟนคลับที่ช่วยสื่อสาร ให้ละครเรื่องดังกล่าว ติดอยู่ในกระแส ผ่านแพลตฟอร์ม X
ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในการผลักดันประเด็นอุทกภัยสูงกว่า สื่อ สำนักข่าว
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สื่อ สำนักข่าว มีบทบาทในการผลักดันประเด็นอุทกภัยมากกว่าผู้สื่อสารอื่น ๆ จากการรายงานข่าว ติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงการเปิดพื้นที่รับบริจาคสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัยจากองค์กรต่าง ๆ
แต่ในเดือนกันยายน พบว่าผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในการสร้าง Engagement ประเด็นอุทกภัยได้มากกว่า สื่อ สำนักข่าว จากการโพสต์ระดมความช่วยเหลือ ขอรับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยผู้ประสบภัย และการเข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ เช่น กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา รวมถึงผู้มีชื่อเสียงท่านอื่น ๆ ด้วยวิธีการสร้างคอนเทนต์ที่เข้าใจง่าย เข้าถึงผู้ใช้งานในทุกระดับ
อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถสร้างความสนใจได้มากกว่าสื่อ สำนักข่าว ทำให้ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถช่วงชิงพื้นที่และสร้าง Engagement ได้มากกว่า และยังพบว่าแพลตฟอร์มที่ใช้ในการสื่อสารในเนื้อหาอุทกภัยได้ถูกเปลี่ยนไปตามผู้สื่อสารหลัก คือจาก Facebook โดย สื่อ สำนักข่าว ในเดือน สิงหาคม กลายเป็น TikTok โดยผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ในเดือนกันยายน
คดีซื้อขายทองออนไลน์ของแม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์ ประเด็นที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 5 ได้ในเวลา 1 สัปดาห์
ในประเด็นดราม่าร้านทองของแม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์ เริ่มถูกกล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์ในวันที่ 23 กันยายน จากการที่แม่ตั๊ก และป๋าเบียร์ไปออกรายการโหนกระแส หลังจากนั้นสังคมออนไลน์ได้มีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและสูงที่สุดในวันที่ 30 กันยายน จากการที่ตำรวจเข้าจับกุมแม่ตั๊กและป๋าเบียร์ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวพบว่า สื่อ สำนักข่าว สามารถสร้าง Engagement ได้สูงที่สุดเนื่องจากมีการติดตามรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการร้องเรียนของผู้เสียหายผ่านทางสื่อต่าง ๆ การเปิดประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยรายการโหนกระแส และรายการข่าวอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นประเด็นอาชญากรรมที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก
พาราลิมปิก ติดอันดับที่ อันดับที่ 9 ผู้สื่อสารหลักเป็นผู้ใช้งานทั่วไป
เมื่อเปรียบเทียบโอลิมปิก 2024 และ พาราลิมปิก 2024 พบความแตกต่างในประเด็นผู้สื่อสารและแพลตฟอร์ม กล่าวคือ โอลิมปิก 2024 ผู้สื่อสารหลักจะเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เทนนิส พาณิภัค เฟรม ธนาคาร หรือ ต้อง ภานุวัฒน์ นักพากย์กีฬา เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ มักใช้ TikTok ในการสื่อสารมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ แต่สำหรับพาราลิมปิก 2024 กลับมาจากผู้ใช้งานทั่วไป ในช่องทาง Facebook ส่งผลให้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ
ประเด็นที่ไม่ติด 10 อันดับแรก และแนวโน้มความสนใจในภาพรวม
นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ยังพบว่ามีประเด็นเชิงสังคมและข่าวใหญ่อื่น ๆ ที่แม้จะไม่ติด 10 อันดับแรก แต่อยู่ในช่วงชั้นความสนใจในอันดับที่ 11-20 ตัวอย่างเช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 (ดิจิทัลวอลเล็ต) อันดับที่ 11 การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์โลก (อันดับที่ 12) ดราม่าครูเบญชื่อหายจากประกาศรับสมัครพนักงานราชการ (อันดับที่ 13) อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร แถลงนโยบายต่อรัฐสภา (อันดับที่ 16) และจำคุกครูไพบูลย์ คดีพรากผู้เยาว์ (อันดับที่ 20) เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้ม 10 อันดับแรก พบว่า ประเด็นที่ติด 10 อันดับ ตั้งแต่ช่วงมกราคม จนถึงปัจจุบัน มักเป็น เรื่องของสื่อ สิ่งบันเทิง เป็นหลัก โดยอาจมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง กีฬา เทศกาล รวมถึงประเด็นสาธารณะอื่น ๆ ที่อาจแทรกติดอันดับขึ้นมาได้เช่นกัน
โดยเฉพาะประเด็นที่มีความฉุกเฉิน หรือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น อุทกภัยภาคเหนือ คดีซื้อขายทองออนไลน์ของแม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์ เป็นต้น ในขณะที่ประเด็นทางการเมืองยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ติด 10 อันดับแรกในเดือนกันยายน แต่ก็อาจได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นหากมีเกิดความพลิกผันอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าในเดือนถัดไป หมูเด้ง ฮิปโปแคระ จะยังติด 1 ใน 10 อันดับแรกอยู่หรือไม่ หรือจะมีประเด็นอื่นใดที่สามารถช่วงชิงความสนใจในโลกออนไลน์ได้
โฆษณา