Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ส
สุขภาพ
•
ติดตาม
11 พ.ย. เวลา 09:15 • สุขภาพ
หมอประจำบ้าน: เกลื้อน (Tinea versicolor/Pityriasis versicolor)
หมอประจำบ้าน: เกลื้อน (Tinea versicolor/Pityriasis versicolor) เกลื้อน เป็นโรคเชื้อราของผิวหนังชนิดหนึ่ง พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว พบน้อยในเด็กและผู้สูงอายุ มักพบในผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่อบ หรือมีเหงื่อออกมาก เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแดด (ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร) ทำงานแบกหาม ขับรถยนต์ นักกีฬา เป็นต้น
doctorathome.com
โปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
โปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง ข้อมูลโรค ตรวจอาการเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์
ผู้ที่เป็นเกลื้อนซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจมีภาวะบางอย่างที่สนับสนุนให้เกิดโรค เช่น การมีเหงื่อออกมากผิดปกติ การตั้งครรภ์ ภาวะโลหิตจาง ขาดอาหาร วัณโรค เอดส์ หรือการได้สเตียรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ เป็นต้น
โรคนี้ติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ยากมาก การเกิดโรคขึ้นกับภาวะร่างกายของผู้ป่วยที่เสริมให้เชื้อราที่มีอยู่ประจำถิ่น (normal flora) บนผิวหนังของผู้ป่วย (และคนทั่วไป) เจริญงอกงามมากกว่าการติดโรคจากการสัมผัสกับผู้ที่เป็นเกลื้อน
มักพบในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก หรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออก (เช่น คนทำงานในที่ที่อากาศร้อน นักกีฬา ทหาร) และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอดส์)
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า มาลาสซีเซียเฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur)* ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีอยู่ตามหนังศีรษะของคนเราเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว
ในคนปกติถึงแม้จะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่บนร่างกายก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรค แต่คนบางคนที่มีเหงื่อออกมาก เชื้อรานี้จะเจริญงอกงามจนทำให้กลายเป็นเกลื้อน
*เดิมมีชื่อเรียกว่า พิไทโรสปอรัมโอวาเล (Pityrosporum ovale) ซึ่งนอกจากเป็นสาเหตุของโรคเกลื้อนแล้ว ยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค และรังแค
อาการ
มีผื่นขึ้นเป็นดวงกลมเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 4-5 มม. จำนวนหลายดวง กระจายทั่วไปในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น หน้า ซอกคอ หลัง ไหล่ เป็นต้น ผื่นมักแยกกันอยู่เป็นดวง ๆ บางครั้งอาจต่อกันเป็นแผ่นขนาดใหญ่ ผื่นจะมีสีได้หลายสี ตั้งแต่สีขาว น้ำตาลจาง ๆ จนถึงน้ำตาลแดง เห็นเป็นรอยด่าง หรือรอยแต้ม
ในระยะที่เป็นใหม่ ๆ ถ้าใช้เล็บหรือปากกาขูดเบา ๆ ผื่นเหล่านี้จะร่วนออกมาเป็นขุยขาว ๆ
มักไม่มีอาการคัน ยกเว้นในบางครั้งขณะมีเหงื่อออกมาก อาจรู้สึกคันเล็กน้อยพอรำคาญ
ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่อย่างใด นอกจากมักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง และแลดูน่าเกลียด
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจลักษณะของรอยโรค การใช้เล็บหรือปากกาขูดเบา ๆ บนรอยโรค ผื่นจะร่วนออกมาเป็นขุยขาว ๆ
หากไม่แน่ใจ จะทำการวินิจฉัยโดยการขูดเอาขุย ๆ ของผิวหนังส่วนที่เป็นโรค ใส่น้ำยาโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ชนิด 10% แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นเกลื้อนจะตรวจพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ทาด้วยครีมรักษาโรคเชื้อราวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาบน้ำ ถ้าดีขึ้นควรทาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
หรือใช้แชมพูสระผมเซลซัน (มีตัวยาซีลีเนียมซัลไฟด์) โดยอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งก่อน แล้วใช้สำลีชุบยาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วอาบน้ำใหม่ล้างยาออก ทำเช่นนี้วันละครั้ง นาน 6 สัปดาห์ แต่ระวังอาจแพ้ เกิดอาการบวมแดง คัน หรือแสบร้อนคล้ายน้ำร้อนลวกได้ ถ้าแพ้ควรเลิกใช้
หรือใช้แชมพูคีโตโคนาโซล ทาทิ้งไว้ 5 นาที แล้วล้างออก วันละครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน
ในรายที่เป็นมากและบริเวณกว้างหรือเป็นเรื้อรัง แพทย์จะให้กินยาต้านเชื้อรา เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraconazole), ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นต้น
การดูแลตนเอง
ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกลื้อน ควรดูแลตนเองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือครีมรักษาโรคเชื้อรา (ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร) วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาบน้ำ ถ้าดีขึ้นควรทาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
ใช้แชมพูสระผมเซลซัน (มีตัวยาซีลีเนียมซัลไฟด์) โดยอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งก่อน แล้วใช้สำลีชุบยาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วอาบน้ำใหม่ล้างยาออก ทำเช่นนี้วันละครั้ง นาน 6 สัปดาห์ แต่ระวังอาจแพ้ เกิดอาการบวมแดง คัน หรือแสบร้อน คล้ายน้ำร้อนลวกได้ ถ้าแพ้ควรเลิกใช้
ใช้แชมพูคีโตโคนาโซล ทาทิ้งไว้ 5 นาที แล้วล้างออก วันละครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ถ้าไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์
รอยโรคลุกลามมากขึ้น
มีอาการกำเริบใหม่ หรือหาทางป้องกันไม่ได้ผล
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
การป้องกัน
1. อย่าใส่เสื้อผ้าที่อับเหงื่อนาน ๆ ควรรักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าอยู่เสมอ
2. บางรายเมื่อรักษาหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่อีก อาจป้องกันได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
ทาครีมรักษาโรคเชื้อราทุกเดือน เดือนละ 2 วันติดต่อกัน ทาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาบน้ำ
ทาแชมพูเซลซันเดือนละครั้ง หรือแชมพูคีโตโคนาโซล 1 ครั้ง ทุก 2 สัปดาห์
ถ้าไม่ได้ผลแพทย์จะให้กินยาไอทราโคนาโซล (itraconazole) หรือฟลูโคนาโซล (fluconazole) เดือนละครั้ง
ข้อแนะนำ
1. หลีกเลี่ยงการซื้อยาครีมสเตียรอยด์ (แก้แพ้แก้คัน) หรือยาอื่นที่ไม่ใช่ยารักษาเชื้อราหรือยารักษาโรคกลากเกลื้อนที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำมาใช้เอง เนื่องเพราะครีมสเตียรอยด์อาจทำให้โรคลุกลามได้ ส่วนยาน้ำที่ทาแล้วที่รู้สึกแสบ ๆ อาจทำให้ผิวหนังไหม้และอักเสบได้
2. ผู้ที่เคยเป็นเกลื้อน เมื่อหายแล้วอาจเป็นใหม่ได้อีก เพราะเชื้อราที่เป็นสาเหตุเป็นเชื้อราที่อยู่ในร่างกายของคนเราเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ อาจมีภาวะผิดปกติของร่างกายอื่น ๆ (เช่น เอดส์) ร่วมด้วย
3. รอยด่างขาวที่ผิวหนัง ถ้าเป็นเกลื้อนผิวหนังบริเวณนั้นจะย่นเล็กน้อย และมีเกล็ดบางเลื่อมสีขาว น้ำตาล หรือแดงเรื่อ ๆ คลุมอยู่บนผิว เวลาเอาเล็บขูดจะเป็นขุย ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคด่างขาว กลากน้ำนม ซึ่งทาด้วยยารักษาเกลื้อนจะไม่ได้ผล (ตรวจอาการผื่น/ตุ่ม/วงด่าง)
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย