ชีวิตกับกิจกรรม ม.ศ.5 รุ่นรองสุดท้าย ณ โรงเรียนวัดสังเวช พ.ศ.2522-2523

โรงเรียนวัดสังเวช หรือ ว.ว. เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโดดเด่น อยู่ในซอยสามเสน 1 แขวงสามพระยา เขตพระนคร กทม. ช่วงปีที่ผมอยู่คือ พ.ศ.2522-2523 มีนักเรียนน่าจะราว 2 พันคน คาดว่านักเรียนจะมี 6 ชั้น คือ ม.1-2-3 และ ม.ศ.3-4-5 ช่วงนั้นอยู่ระหว่างรอยต่อที่ระบบ ม.ศ.1-5 กำลังจะถูกแทนด้วย ม.1-6
รุ่นผมมีหลายคนที่ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น แต่ถ้าจะพูดถึงความสำเร็จในชีวิตแล้วผมไม่มีอะไรใกล้เคียงเพื่อนเหล่านั้นเลย เพราะจนถึงตอนนี้ผมก็ยังประสบความสำเร็จได้เพียงครึ่งหนึ่งของที่หวังไว้ ซึ่งจุดหมายของผมก็คือ อยากเป็นคนรวยที่ว่างงาน
ผมคิดว่าการใช้ชีวิตในรั้ว ว.ว. ของผมมันเลวเด่นซะมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมมีความสุขที่จะได้เล่าเรื่องเก่าๆ ของปีการศึกษา 2522-2523 ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ผมประทับใจมากที่ได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนวัดสังเวชในชั้น ม.ศ.4/1 และ 5/4
ผมจบ ม.ศ.3 ที่ ร.ร.วัลยา ในซอยเทเวศร์ 2 ด้วยผลการเรียนระดับกลางๆ ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผมเรียนชั้น ม.ศ.2 และ ม.ศ.3 ผมจะเดินทางไปกลับบ้านและโรงเรียนด้วยรถเมล์สาย 6 ทำให้เห็นเหล่านักเรียน ว.ว. ทั้งเช้าและเย็น ความรู้สึกแรกในตอนนั้นก็คือ “โคตรเรียบร้อยเลยว่ะ” นักเรียนหญิงจะตัดผมสั้นเสมอติ่งหู นักเรียนชายก็ตัดผมเกรียนขาวสามด้าน การแต่งกายก็เรียบร้อยตั้งแต่หัวจรดเท้าทั้งหญิงและชาย
ร.ร.วัลยาที่ปิดตัวไปกลายเป็นโรงแรมสี่ห้องนอนที่ทำให้ศิษย์เก่าอย่างผมซาบซึ้งและขอบคุณที่ท่านเจ้าของใหม่ยังเก็บรักษาความงามและความทรงจำของพวกเราไว้ Credit :  WALLAYA HERITAGE STAY
น่าจะเป็นเพราะมีความประทับใจในความเรียบร้อยที่ผมเห็น ปีต่อมาผมจึงสอบเข้า ม.ศ.4 ที่โรงเรียนวัดสังเวช และได้เข้าเรียนชั้น ม.ศ.4/1 ตอนนั้น สืบศักดิ์ จันทรังสี ที่คาดว่าสอบได้ที่ 1 ในรุ่นก็อยู่ห้องเดียวกันและได้เป็นหัวหน้าห้องด้วย ส่วนผมนั้นสงสัยว่าคงมีความฉลาดพอสมควรจึงได้อยู่ห้องเดียวกับคนเรียนเก่งหลายคน
ในห้องผมมี วิบูลย์ (ทันตะ), ดำรงค์ (บช.จุฬา), กมล (แบงค์ชาติ), สืบศักดิ์ (มธ.) รุ้งระวี (ป.เอก), วรรณา (ป.เอก), กล้วยไม้ (มช.), ธาดา (ศิลปากร), ศิริพร (บช.จุฬา), ราชิต (บช.จุฬา), สมชัย (วิศวะ จุฬา), ชาญเกียรติ (วิศวะ จุฬา), วิไล (ทันตะ), อรุณี (มก.), สุมาลี (บช.จุฬา) และ พยาบาลอีกหลายคน ที่จำไม่ได้ต้องขออภัยเพื่อนที่ไม่ได้เอ่ยชื่อด้วย ส่วนอาทิตย์ (มสธ. 6 ปีจบ)
วันแรกของการเรียนตอนนั้นมีตึกเรียนอยู่ 3 ตึก คือ ตึกเทพมุนีปฐม ตึกธรรมวโรดมประสิทธิ์ และตึกสฤษฎ์วันรัตน์ที่เพิ่งจะสร้างเสร็จหมาดๆ สนามใหญ่กลางโรงเรียนยังเป็นพื้นดินอยู่ ต้นลำพูก็ดูเหมือนจะแทบไม่มีอะไรแตกต่างกับในปัจจุบันเลย
ตึกธรรมวโรดมประสิทธิ์
ปีนั้น อ.สุทธิ เพ็งปาน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน อ.สมบัติ เดชนครชัย และ อ.จำรัส มลิวัลย์, อ.สว่าง ธีระวุฒิ เป็นรอง ผ.อ.
อ.จำรัสกำลังถือไมค์ อ.สมบัตินั่งอยู่ด้านหลัง
ตอนนั้น ม.ศ.5 จะเรียนรอบเช้า ส่วน ม.ศ.4 จะเรียนรอบบ่ายโดยใช้ห้องเรียนเดียวกัน มีโอกาสเห็นหน้ารุ่นพี่บ้างก็ในช่วงเวลาสั้นๆ ยกเว้นพวกรุ่นพี่ที่ทำกิจกรรมซึ่งจะต้องติดต่อกับรุ่นเราถึงจะได้คุ้นหน้าไปจนถึงทำความรู้จักกันได้ รุ่นพี่ที่คุ้นเคยก็มี พี่บรรพต พี่สมยศ พี่สมพิศ
สัปดาห์แรกที่เรียนนั้นผมยังไม่ออกลาย ดูเหมือนจะเป็นเด็กเรียนตามแบบเพื่อนๆ ในห้อง ดังนั้นจึงถูกเลือกโดยอ.นวลประภัส ซึ่งสอนวิชา Reading มอบหมายให้ผมเป็นคนนำสวดมนต์ ซึ่งจะร้องเพลงชาติและเพลงโรงเรียนด้วย ซึ่งเป็นภาระที่ผมภูมิใจ โดยมีเพื่อนห้องศิลป์ คือ วีรนุช สุทธิพรหม เป็นตัวสำรองเวลาผมมาสาย แต่”ดี”ก็มาแตกภายในเวลาไม่นาน เรื่องมันเกิดจาก.....
บ่ายวันหนึ่ง ดูเหมือนจะเพิ่งกำลังเรียนวิชาแรก ตอนนั้นผมเรียนห้อง 4/1 ซึ่งอยู่ชั้นสองของตึกธรรมวโรดมประสิทธิ์ มีรุ่นพี่คนนึงเดินมาบอกที่ห้องว่าให้ส่งตัวแทน 1 คนไปประชุมที่โรงอาหารซึ่งอยู่ด้านล่าง มันเป็นที่รู้กันว่าควรส่งสืบศักดิ์ไป ด้วยความที่เป็นคนเรียนเก่งและเป็นหัวหน้าห้องด้วย สืบศักดิ์ก็เดินลงไปประชุมข้างล่าง
โรงอาหารใต้ตึกธรรมวโรดมประสิทธิ์ กำลังจัดกิจกรรมหล่อเทียนพรรษา
แต่ก็ไม่รู้ว่าเบื้องบนหรือเบื้องล่างกำหนดมา ผมก็นึกในใจว่าเฮ้ยเขาไปทำอะไรกันวะ ด้วยความอยากรู้ก็เลยขออาจารย์ไปเข้าห้องน้ำ พอลงมาก็แกล้งเดินเฉียดไปที่เขาประชุมกันอยู่เพราะมันเป็นห้องอาหารที่เปิดโล่ง แล้วก็ได้ยินเขากำลังคุยกันเรื่องกำหนดประธานสี โดยจับคู่ห้อง 4/1 และ 4/5 รวมกันเป็นสีเขียว และต้องมีประธานสีและรองประธานสี ก็มีการเกี่ยงกันระหว่างตัวแทนห้อง 1 คือสืบศักดิ์กับตัวแทนห้อง 5 เกี่ยงกันอยู่พักนึงตามมารยาทหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมก็รู้สึกหมั่นไส้โพล่งออกไปว่า “ผมเป็นเองก็ได้”
ตั้งแต่นั้นมาผมก็ค้นพบตัวเองว่าการเรียนไม่ใช่ความสุขของผม ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโดดเรียนโดยอาศัยข้ออ้างว่าเป็นประธานสีเขียว มีการนัดซ้อมนักกีฬา พานักกีฬาวิ่ง ซ้อมเชียร์ จนกระทั่งเป็นเชียร์ลีดเดอร์เอง
อ.อัฉรา เสาว์เฉลิม กำลังสอนลีลาศห้อง 5/5 แต่มีไอ้ตัวที่ชอบโดดเรียนที่เห็นยืนเท้าเอวด้านขวาไกลๆ ที่อยู่ห้อง 5/4 แต่ไม่รู้ว่าโดดวิชาอะไรเข้ามาเป็นผู้ช่วยอาจารย์
ม.ศ.4 ของผมผ่านไปอย่างมีความสุขกับสารพัดกิจกรรมต่างๆ ที่ตามมา ดัชนีความสุขสวนทางกับผลการเรียนเหมือนกระจกเงา อะไร drop ได้ก็ drop ถ้าไม่ได้ก็โดด กาลเวลาที่ผ่านไปเหมือนฝนตกขี้หมูไหลทำให้คนที่ชอบอะไรๆ เหมือนกันได้เจอกัน เริ่มรวมกลุ่มกันเป็นขาประจำ มี บุญธรรม กุลประดิษฐารมย์, ปราโมทย์ ตันทสีสุข, อิษฏ์ หิรัญพันธุ์ทิพย์, วีระ อุเทนพิทักษ์, วันชัย ศรีอิสรานุสรณ์, พรชัย พรไพรเพชร, จาตุรนต์ นพวงศ์ ณ อยุธยา, มะลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ, อุษา ปัญญาธีรารักษ์, ธนากร สมนึก, จงกลนี ชุมนุมพร, .....
ก๊วนกิจกรรม ถ่ายรูปหลังเสร็จงานอะไรสักอย่างตอนหัวค่ำ
เมื่อย่างขึ้นสู่ ม.ศ.5 ก๊วนกิจกรรมในตอนนั้นก็เป็นปึกแผ่นแล้ว มีการตั้ง กนว. หรือ คณะกรรมการนักเรียนโรงเรียนวัดสังเวช มีประธานนักเรียนคือ บุญธรรม กุลประดิษฐารมย์ รองฯ สองคนคือ ปราโมทย์ ตันทสีสุข และ อิษฏ์ หิรัญพันธุ์ทิพย์ นอกนั้นก็จะเป็นประธานชมรมต่างๆ ในตอนนี้ก็จะมีเด็กเรียนหลายคนเข้ามาร่วมใน กนว.ด้วย
แกะมาจากอาร์ตเวิร์คเล่มทำหนังสือรุ่น
งานย่อยที่จำได้ก็คือ “วันสุนทรภู่” ตอนที่ผมอยู่ ม.ศ.4 ผมแต่งกลอน 1 หน้ากระดาษให้สืบศักดิ์ไปโต้วาที แต่ปี ม.ศ. 5 นี้ผมเล่นละครพระอภัยมณี รับบทเป็นผีเสื้อสมุทร ธนากร เป็นพระอภัยมณี และกิจกรรมอื่นๆ ก็มีจัดฉายหนังที่โรงหนังหาเงินพัฒนาชนบท, ทำห้องผีงานอะไรสักอย่าง, บริจาคโลหิต, เวียนเทียน ฯลฯ
พระอภัยมณีกับผีเลื้อสมุทร
ไม่ว่าจะมีกิจกรรมอะไรพวกเราก็จะกลับดึกบ้าง ไม่กลับบ้านบ้าง โดยจะนอนในห้องโสตทัศนศึกษาซึ่งอยู่ข้างโรงอาหาร ควบคุมโดยอาจารย์เสริมศักดิ์ บ่อยครั้งที่ไปหาอะไรกินกันที่ตลาดนานาบ้างข้าวต้มวัดบวรบ้าง
เป่าเค้กวันเกิดก่อนนอน ที่ห้องโสตฯ ไม่รู้ใครนอนเตียงใครนอนพื้น
งานใหญ่ประจำปีก็คืองานกีฬาสี ยังมีสี่สีเหมือนเดิม ปีนี้ผมเป็นประธานจัดงาน ซึ่งผู้ที่ช่วยจัดงานก็คือคณะ กนว. ทั้งหมด ที่ทำงานได้อย่างเข้าขาและราบรื่น ปีนี้มีการจุดคบเพลิงด้วยโดยพรชัยซึ่งเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลตัวเก่งเป็นคนจุด กองดุริยางค์มี อุษา ปัญญาธีรารักษ์ เป็นดรัมเมเยอร์ขาประจำ มีการแปรขบวนที่สนามกลาง ปีนี้มีบาตองเพิ่มมา 4 คน เป็นรุ่นน้อง 4/9 คือ พักตร์ผ่องพรรณ บูรณนัติ, ดวงใจ นาฏกระสูตร, พวงเพชร พวงนาค , และน้องอีกคนหนึ่งน่าจะชื่ออัญชลี พงษ์พรรณชื่น งานนี้ภูมิใจยันลูกบวชเลย
เปิดงาน
งานใหญ่อีกงานหนึ่งคือการทำหนังสือรุ่น งานนี้ถูกริเริ่มและขับเคลื่อนโดย วีระ อุเทนพิทักษ์ ซึ่งมีประสบการณ์มาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เขารู้ขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ พวกเราจะทำหน้าที่เป็นลูกมือ โดยวีระจะเน้นไปด้าน artwork ซึ่งเขามีทั้งความรู้และฝีมือ ส่วนผมและ พิชิต ภูมะธน จะช่วยกันถ่ายรูปของนักเรียนทั้งโรงเรียน เฉพาะ ม.ศ.5 จะถ่ายกันเป็นกลุ่มที่สนิทกัน 4-5 คน ส่วนชั้น ม.ศ.4 ลงมาจะถ่ายเป็นห้อง 1 ห้องต่อ 1 รูป
เฉพาะ ม.ศ.5 ที่จะได้สิทธิเลือกถ่ายกันเป็นกลุ่มตามใจชอบ
งานนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากอ.สำเภา ท่านจัดหาห้องมืดพร้อมอุปกรณ์ทุกอย่างให้ที่ห้องใต้บันไดของตึกธรรมวโรดมประสิทธิ์ รวมทั้งสอนวิธีล้างฟิล์มและอัดภาพจนชำนาญ เราสามารถถ่าย-ล้าง-อัดแล้วนำภาพไปทำ artwork เพื่อส่งโรงพิมพ์ได้เลย งานนี้ก็จบลงด้วยความภูมิใจแม้ว่าจะไม่ได้เป็นกำลังสำคัญก็ตาม
เวลาผ่านไปพร้อมกับกิจกรรมประปรายที่มากับผลการเรียนซึ่งเป็นปฏิภาคผกผัน มันเป็นเรื่องปกติสำหรับผม ผมเรียนโปรแกรมวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ ม.ศ.4 การคิดเกรดว่าจะจบหรือไม่จะคิด 4 เทอม เป็นของ ม.ศ. 4 สองเทอมและ ม.ศ. 5 สองเทอม เกรดในเทอมแรกค่อนข้างดีน่าจะเกิน 3.5 ซึ่งผมจำไม่ได้แล้ว และ เทอม 2, 3, 4 มันได้ตกลงอย่างรวดเร็ว จนเทอมที่ 4 ได้ 0.76
แต่ก็โชคดีที่ผมสอบวิชาบังคับผ่านหมดแบบฉิวเฉียด คือ พวกประวัติศาสตร์ ศีลธรรม ภาษาไทย ส่วนวิชาโปรแกรมวิทย์ คือ ภาษาอังกฤษ ได้ 0, คณิตฯ ม.ส. (ไม่มีสิทธิ์สอบ), ชีวะ drop เคมี ติด “ร” ฟิสิกส์ ม.ส. Reading-drop ที่พอเชิดหน้าชูตาได้ก็คือ ลีลาศ ได้ 4 (สอนโดยอ.อัจฉรา เสาว์เฉลิม) รวมหน่วยกิตแล้วได้ 100 หน่วยกิตซึ่งชิดขีดจำกัดล่างพอดี ส่วนเกรดเฉลี่ยรวม 4 เทอมได้ 1..... กว่าๆ เป็นอันว่าจบพอดี
เทอมตัดสิน ได้ 100 หน่วยกิตพอดี ยังอุตส่าห์ไปสอบ Entrance
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ม.ศ. 5 ย่อมต้องสอบเอ็นทรานส์ สำหรับผมแล้วการเอ็นทรานส์เป็นเรื่องชิวๆ มาก เพราะไม่หวังก็ไม่ผิดหวัง ผมเลือกคณะที่ผมชอบโดยไม่เจียมตัวเหมือนที่เคยทำตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และก็ฝากเพื่อนตรวจผลสอบให้เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่ติด จากนั้นก็ทุลักทุเลกับการเรียนปริญญาตรี มสธ.จนจบได้เมื่ออายุ 26 ปีในปี 2530
ถ่ายรูปกับดุษฎีบัณฑิตผู้มีพระคุณ
ตอนอยู่ชั้นอนุบาลเราไม่อาจปฏิเสธแม้แต่การถูกโปะด้วยแป้งที่หน้าเราจากแม่หรือครูโดยที่เราไม่ชอบ พอขึ้นชั้นประถม แม้เราเริ่มจะรู้จักความสนุกสนานที่ได้การเปิดกระโปรงเพื่อนสาวๆ แต่มันก็ยังห่างไกลจากคำว่า “จีบ” อยู่ไม่น้อย ส่วนในวัยมัธยมที่วัดสังเวชนั้น ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งจากที่นี่ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี ที่นี่ทำให้ผมโตพอที่จะกล้าขบถกับเรื่องบางอย่างและกล้าพอที่พูดกับสาวที่พึงใจว่า “ผมชอบคุณ” นั่นทำให้โรงเรียนวัดสังเวชเป็นความทรงจำที่ดีเสมอ.....
โฆษณา