12 พ.ย. 2024 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก

การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ กับความสัมพันธ์แห่งเยรูซาเล็มและ “ตะวันออกกลางใหม่”

นักวิเคราะห์คาดว่านโยบายแรก ๆ ที่ทรัมป์จะลงมือทำ ได้แก่ นโยบายกีดกันผู้อพยพ ใช้ภาษีกีดกันทางการค้า ออกจากข้อตกลง Climate Change และยุติสงคราม
.
มีหลายนโยบายที่คนมีการศึกษา และฟากเสรีนิยมรับไม่ได้ แต่ชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็แสดงให้เห็นว่า นโยบายหาเสียงของทรัมป์ได้ตอบโจทย์ชาวอเมริกัน แต่ในอีกมุมหนึ่งซึ่งพิจารณาเรื่องส่วนตัวของทรัมป์ที่มีจริยธรรมโน้มเอียงไปในทางต่ำ อาจชี้วัดได้ว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ชาวอเมริกันไม่ได้สนใจในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม มากไปกว่าเรื่องปากท้อง
.
ทรัมป์ จะปรับระเบียบโลกใหม่ได้หรือไม่ ?
เขาเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าเมื่อได้กลับมาทำเนียบขาวอีกครั้ง เขาสามารถจะยุติสงครามยูเครน-รัสเซียได้ "ภายในวันเดียว"
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียจับมือกันขณะพบกันที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 (เครดิต: REUTERS/KEVIN LAMARQUE)
ผมรู้จักเซเลนสกีเป็นอย่างดี และรู้จักปูตินเป็นอย่างดียิ่งกว่าด้วยซ้ำ ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อทั้งสองคนมาก ผมไม่อยากบอกเซเลนสกีอีกต่อไป คุณต้องทำข้อตกลง ผมอยากบอกปูตินว่า ถ้าคุณไม่ทำข้อตกลง เราจะให้เขามากขึ้น เราจะให้ยูเครนมากกว่าที่พวกเขาเคยได้รับหากจำเป็น ผมจะทำให้ข้อตกลงนั้นสำเร็จภายในวันเดียว สักวันหนึ่ง
บทสัมภาษณ์ โดนัลด์ ทรัมป์ กับฟ็อกซ์นิวส์เมื่อเดือนกรกฎาคม
จีน คือหมุดหมายที่สำคัญของทรัมป์ แม้สหรัฐอเมริกาจะพยายามกีดกันจีนทั้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แต่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กลับพึ่งพาความเชี่ยวชาญของจีนเพิ่มมากขึ้น คำถามก็คือว่ารัฐบาลทรัมป์จะกดดันรัฐอ่าวให้แยกตัวจากจีนในบางพื้นที่มากขึ้นหรือไม่ รวมถึงสงครามการค้าและภาษีศุลกากรที่อาจจะรุนแรงขึ้นภายใต้รัฐบาลทรัมป์
.
การจัดการความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างรัฐอ่าวกับจีน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้ขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและเทคโนโลยีกับจีน ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของประเทศกำลังพัฒนา และซาอุดีอาระเบียได้รับสถานะคู่เจรจาในองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ซึ่งเป็นกลุ่มความมั่นคงและเศรษฐกิจแห่งเอเชียที่นำโดยจีน
ทรัมป์จับมือกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียในห้องโอวัลออฟฟิศของทำเนียบขาวในเดือนมีนาคม 2561
เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีวาระแรกในปี 2560 เขาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเลือกซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศแรกในการเยือนต่างประเทศ โดยทุกประเทศรับรู้ว่าซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ขัดแย้งกับอิหร่าน แต่ทรัมป์เลือกยืนเคียงข้างมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในช่วงวิกฤตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าวคอลัมน์ของวอชิงตันโพสต์ ซึ่งในขณะนั้นรัชทายาทซาอุดีอาระเบียต้องเผชิญกับการโดดเดี่ยวจากทั่วโลก
.
ในการปราศรัยหาเสียงเมื่อลงเลือกตั้งวาระแรกปี 2559 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้สัญญาว่าจะย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกา ในอิสราเอลจากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลม ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบข้อตกลงสันติภาพระหว่างอาหรับกับอิสราเอลในภูมิภาค
การย้ายสถานทูตไปยังกรุงเยรูซาเล็มนั้น ทางการเมืองหมายถึงสหรัฐอเมริกายอมรับเมืองดังกล่าวเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งสหรัฐอเมริการวมถึงแทบทุกประเทศทั่วโลกหลีกเลี่ยงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2491 ด้วยกรุงเยรูซาเล็มเป็นหนึ่งในประเด็นที่ยุ่งยากและซับซ้อนที่สุดในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ดำเนินมานานเป็นศตวรรษ
เยรูซาเล็ม เป็นที่ตั้งของ Dome of the Rock หรือ มัสยิดอัลอักซอ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนายูดาห์ของชาวยิวด้วยเช่นกัน โดยเป็นอารามแห่งโซโลมอน ที่ปรากฏตามคัมภีร์ไบเบิ้ล อิสราเอลอ้างว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง "อันเป็นนิรันดร์และไม่มีการแบ่งแยก" ส่วนชาวปาเลสไตน์ก็ถือว่าเขตตะวันออกของเมืองเยรูซาเล็มซึ่งถูกอิสราเอลยึดครองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นเมืองหลวงของรัฐในอนาคตของพวกเขาเช่นกัน
.
หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ทำตามที่หาเสียงไว้ โดยประกาศรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสราเอลอย่างเป็นทางการ และประกาศแผนย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกา ไปยังเมืองดังกล่าว ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียความเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ทันที
.
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้แสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกา และระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะสร้างปัญหาทางกฎหมาย ทรัมป์ ให้เหตุผลว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยและมีสิทธิ์ในการกำหนดเมืองหลวงของตนเอง
แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็แย้งว่า หากอิสราเอลจะกระทำเช่นนั้น ต้องทำเช่นเดียวกับรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยอื่นๆ ภายในขอบเขตที่กำหนดโดยกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศห้ามไม่ให้อิสราเอลเลือกเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงเพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผนวกดินแดนเยรูซาเล็มตะวันออกที่ถูกอิสราเอลยึดครองและยังเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาท ดังนั้น สถานะของเยรูซาเล็มจะต้องได้รับการกำหนดผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศ
ที่ราบสูงโกลัน
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ดำเนินมายาวนานกว่าศตวรรษนั้นเกี่ยวข้องกับสองประเด็นหลัก ได้แก่ ดินแดนและผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นสำคัญคือกลุ่มคนใดจะได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดของดินแดนนั้น
.
นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมายกย่องการตัดสินใจของทรัมป์ที่รับรองนครเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกาในอิสราเอลไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างนครเยรูซาเล็ม
สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ทรัมป์ถือว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายปี 2538 ของสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้ย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกาไปเยรูซาเล็ม ซึ่งในอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนก่อนหน้านี้ไม่กล้าตัดสินใจ โดยต่างใช้คำสั่งประธานาธิบดีเพื่อเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
.
สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของทรัมป์ชุดแรกกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับอำนาจของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงโกลัน ซึ่งเป็นที่โต้แย้งกันมานาน
ในปี 2562 ทรัมป์ได้ลงนามในประกาศของประธานาธิบดี เพื่อประกาศให้ดินแดนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล การตัดสินใจของทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และสหประชาชาติเองก็ไม่เคยยอมรับการผนวกที่ราบสูงโกลัน
เพื่อเป็นเกียรติแก่การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลอิสราเอลจึงวางแผนสร้างนิคมแห่งใหม่ในโกลัน ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อของเขาว่า ทรัมป์ไฮท์ส (Trump Heights) ชาวอิสราเอลที่อาศัยอยู่ในย่านทรัมป์ไฮท์ส หรือที่ในภาษาฮีบรูเรียกว่า “รามัตทรัมป์” (Ramat Trump) เขตที่ราบสูงโกลัน ต่างแสดงความยินดีกับการกลับมาของทรัมป์
.
ที่ราบสูงโกลัน เป็นที่ราบสูงเชิงยุทธศาสตร์ที่อิสราเอลประกาศผนวกดินแดนอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2562 ทรัมป์ทวีตข้อความโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าสหรัฐฯ จะ “ยอมรับอย่างเต็มที่” ในการที่อิสราเอลควบคุมดินแดนดังกล่าว การประกาศของเขาทำให้เกิดการประณามอย่างกว้างขวางจากชุมชนระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าโกลันเป็นดินแดนที่ถูกยึดมาจากซีเรียในสงครามตะวันออกกลางเมื่อปี 2510 และการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลแสดงแผนที่อิสราเอลที่ลงนามโดยโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 และระบุว่าที่ราบสูงโกลันอยู่ภายในพรมแดนของอิสราเอล [แฟ้มภาพ: Thomas Coex/AFP]
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของไบเดนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจดังกล่าว และสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นประเทศเดียวที่ยอมรับการผนวกดินแดนของอิสราเอล
.
นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์วาระแรกยังได้ตัดเงินทุนของอเมริกาทั้งหมดที่มอบให้กับหน่วยงานของสหประชาชาติที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนหรือ UNRWA ในปี 2561 และถอนตัวออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอีกด้วย
สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ ( United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees : UNRWA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว เป็นองค์กรที่จัดหาบริการช่วยชีวิตที่สำคัญ การรักษาพยาบาล และการศึกษาให้แก่ผู้ลี้ภัยไร้รัฐในตะวันออกกลาง โดยเป็นเสาหลักของการสนับสนุนเสถียรภาพในตะวันออกกลางของอเมริกา ได้รับเงินทุนจากประธานาธิบดีอเมริกันทุกคน ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากพลเมืองอเมริกัน ร่วมกันบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์ให้กับ UNRWA
การตัดงบประมาณ UNRWA ของรัฐบาลทรัมป์นั้นมีความจริงเบื้องหลังว่า ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNRWA ซึ่งทรัมป์ไม่เห็นด้วยที่พวกเขาได้รับสถานะนี้จากกฎหมายระหว่างประเทศ UNWRA ควรมีหน้าที่เพียงจัดหาบริการทางสังคมให้กับผู้ลี้ภัยไร้รัฐเหล่านี้เท่านั้น ทั้งนี้ 3 ปีต่อมา รัฐบาลไบเดนก็คืนเงินทุนให้ UNRWA
.
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับผู้นำชาวยิวอเมริกันในการโทรฉลองปีใหม่ของชาวยิว ว่า “ผมหยุดจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับชาวปาเลสไตน์แล้ว” ทรัมป์ยังกล่าวอีกว่าเขาบอกกับชาวปาเลสไตน์ว่า “เราจะไม่จ่ายเงินจนกว่าคุณจะทำข้อตกลงได้”
ผู้นำหลายประเทศประณามการตัดสินใจดังกล่าว โดยในเวลานั้นทรัมป์ได้อธิบายว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อกดดันผู้นำปาเลสไตน์ให้ยอมสละสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อกลับคืนสิทธิ์สู่ทรัพย์สินที่ยึดมาจากบรรพบุรุษของพวกเขาในระหว่างการก่อตั้งอิสราเอลในปี 2491
ประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบาห์เรน ดร. อับดุลลาติฟ บิน ราชิด อัล-ซายานี นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อับดุลลาห์ บิน ซายิด อัล นาห์ยานี ลงนามในข้อตกลงอับราฮัม เมื่อวันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 ที่สนามหญ้าทางทิศใต้ของทำเนียบขาว (ภาพอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวโดย Tia Dufour)
ในวันที่ 15 กันยายน 2563 ผู้นำจากทั่วตะวันออกกลางได้ลงนามในข้อตกลง “อับราฮัม” สหรัฐฯ โดยรัฐบาลทรัมป์เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐอ่าวอาหรับและอิสราเอล ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรนกลับมาเป็นปกติ หลังจากนั้นก็มีอีกสองประเทศเข้าร่วมข้อตกลง ได้แก่ โมร็อกโกและซูดาน
ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งทำให้อิสราเอลสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับชาติอาหรับ 4 ชาติได้นั้น ทำให้โอกาสในการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์อิสระต้องเลื่อนออกไป ดังนั้น เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่ง ข้อตกลงอับราฮัมและอนาคตของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับก็อาจกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
.
จากซ้าย นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูแห่งอิสราเอล ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ คาลิด บิน อาเหม็ด อัล คาลิฟา รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน และอับดุลลาห์ บิน ซายิด อัล นาห์ยาน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บนระเบียงห้องสีน้ำเงินระหว่างพิธีลงนามข้อตกลงอับราฮัม บนสนามหญ้าทางทิศใต้ของทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. [Alex Brandon/AP Photo]
ชัยชนะของทรัมป์คือชัยชนะของเนทันยาฮู ใช่หรือไม่ ?
เมื่อชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับคืนมา จึงมีคำถามถึงการสนับสนุนในระยะยาวของสหรัฐฯ ที่มีให้กับทางการทหารของอิสราเอล เพื่อการสู้รบกับอิหร่านและกลุ่มตัวแทน
.
นโยบายของทรัมป์ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกาซา เลบานอน และอิหร่าน จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเขาต้องการจะกำหนดแนวทางใหม่ ในการปราศรัยหาเสียงครั้งนี้ ทรัมป์ให้สัญญาว่า จะสร้างสันติภาพทั้งในตะวันออกกลางและยูเครน
การกลับมาสู่ทำเนียบขาวครั้งประวัติศาสตร์ของคุณถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับอเมริกา และเป็นการมุ่งมั่นใหม่ที่แข็งแกร่งต่อพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ระหว่างอิสราเอลและอเมริกา
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู โพสต์แสดงความยินดีกับทรัมป์ใน X
ชาวอิสราเอลจำนวนมากมองว่าทรัมป์เป็นเพื่อนแท้ของอิสราเอล เขาสนับสนุนความถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ รวมทั้งในปี 2558 ที่ทรัมป์ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แล้วนำมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านกลับมาใช้อีกครั้ง
.
นับตั้งแต่ทรัมป์ออกจากตำแหน่งในปี 2563 อิหร่านก็ได้เพิ่มการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม เพิ่มการส่งออกน้ำมัน เพิ่มการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาค และกลับมาโจมตีอิสราเอลโดยตรงอีกครั้ง
.
มีการสันนิษฐานว่าทรัมป์จะสนับสนุนการดำเนินการทางทหารของอิสราเอลต่ออิหร่าน รวมถึงการทิ้งระเบิดโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ชาวอิหร่านเองก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความกังวลเรื่องทรัมป์กลับมาทำเนียบขาวในครั้งนี้
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อทรัมป์จะเข้าสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคม 2568 ในระหว่าง 3 เดือนนี้ ข้อตกลงใดๆ ที่ไบเดนทำ อาจเป็นปัญหาให้ทรัมป์หลังขึ้นรับตำแหน่ง และในทางกลับกันความคิดสุดโต่งของทรัมป์ ซึ่งมีจุดยืนที่สนับสนุนอิสราเอล ก็อาจจะมีการตัดสินใจบางอย่างที่ส่งผลดีต่อการขัดแย้งโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านก็เป็นไปได้
.
สถานการณ์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ หากฝ่ายบริหารของไบเดนตัดสินใจ “ยุติ” ความสามารถของอิสราเอลในการเพิ่มความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงเดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง
และดูเหมือนรัฐบาลไบเดน ได้วางรากฐานสำหรับเรื่องนี้แล้วด้วยการส่งจดหมายถึงรัฐบาลอิสราเอลเมื่อเดือนตุลาคม 2567 เรียกร้องให้อิสราเอลดำเนินการปรับปรุงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาภายใน 30 วันข้างหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 14 พฤศจิกายน มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือทางทหารจากต่างประเทศ นั่นหมายถึงความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีให้อิสราเอลอาจถูกลดระดับหรือระงับได้
.
แม้ว่าทรัมป์จะมักอ้างว่าตนเองเป็นประธานาธิบดีที่สนับสนุนอิสราเอลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ และยกย่องความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดกับเนทันยาฮู แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสองคนก็ไม่ได้เป็นไปด้วยดีเสมอไป เช่น ในปี 2564
เมื่อทั้งคู่ออกจากตำแหน่งทรัมป์กล่าวหาว่าเนทันยาฮูทรยศเมื่อผู้นำอิสราเอลแสดงความยินดีกับไบเดนที่ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีในปี 2563
หลังจากการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์เนทันยาฮูและหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลว่าไม่มีการเตรียมตัว โดยอ้างว่าการโจมตีครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเขาเป็นประธานาธิบดี
.
ชาวอิสราเอลบางส่วนในเยรูซาเล็มต้อนรับการกลับมาของทรัมป์สู่ทำเนียบขาว โดยกล่าวว่า "เขาเป็นคนดีสำหรับชาวยิว" แต่ก็มีบางส่วนไม่ค่อยมั่นใจนัก โดยระบุว่า "เขาเป็นคนเอาแน่เอานอนไม่ได้ และอาจจะเอาแน่เอานอนไม่ได้เกี่ยวกับพวกเราด้วยเช่นกัน"
.
หากวาระแรกของเขาในทำเนียบขาวเป็นสิ่งบ่งชี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์คนใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะให้ตะวันออกกลางอยู่ในวาระสำคัญของเขา จากถ้อยคำปราศรัยว่าเขาจะพยายามไกล่เกลี่ย “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เสริมสร้างการบูรณาการในภูมิภาคของรัฐอิสราเอล และเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่านให้มากขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงหาเสียง ทรัมป์ไม่ได้ระบุว่าหากได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง เขาจะรับมือกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส อย่างไร หรือนโยบายของเขาจะแตกต่างจากโจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีอย่างไร
.
ในเดือนเมษายน 2567ทรัมป์กล่าวว่าอิสราเอลจำเป็นต้อง "ทำให้สิ่งที่เริ่มต้นไว้ให้เสร็จสิ้น" และ "ทำให้เสร็จโดยเร็ว" โดยระบุว่าอิสราเอล "กำลังแพ้สงครามประชาสัมพันธ์" เนื่องจากภาพต่างๆ ที่ออกมาจากฉนวนกาซา
ทรัมป์ยังหวังที่จะขยายการบูรณาการของอิสราเอลในตะวันออกกลาง แต่ก็อาจเผชิญกับความท้าทายในกรณีที่ซาอุดีอาระเบียปฏิเสธที่จะสร้างความสัมพันธ์ปกติกับรัฐอิสราเอลจนกว่าจะเห็นช่องทางสำหรับการเป็นรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งอิสราเอลปฏิเสธเงื่อนไขนี้.
โฆษณา