12 พ.ย. เวลา 06:44 • ธุรกิจ

‘สร้างผลงานผ่านความกดดัน’ Catfish Management การบริหารคนด้วยความเครียด ที่หากจะใช้ ผู้นำต้องคิดให้ดี

“ผลงานทีมไม่ถึงเป้าที่วางไว้ แถมบางคนก็เอื่อย ไม่กระตือรือร้น ไหนจะความไม่แน่นอนที่พร้อมเข้ามา disrupt ตลอดเวลาอีก”
ไม่ทราบว่าบรรดาหัวหน้าที่กำลังอ่านบทความนี้กำลังรู้สึกแบบเดียวกับประโยคด้านบนหรือเคยมีโมเมนต์นี้รึเปล่า? สารพัดปัญหาที่ถาโถมอยู่ตลอด เรื่องราวที่แทบจะไม่เว้นชั่วโมงให้ได้พักหายใจทำให้เราที่เป็นผู้นำถึงกับมืดแปดด้าน แต่ที่น่าหนักใจสุดก็คงไม่พ้นประเด็นคลาสสิกอย่างทีมไม่กระตือรือร้นอยู่แล้วใช่ไหมล่ะ
สำหรับใครที่กำลังเผชิญปัญหาทำนองนี้อยู่ ในบทความนี้ Future Trends มีแนวคิดการบริหารเจ๋งๆ แบบปลาดุก หรือ Catfish Management มาฝากกัน รับรองว่า ถ้าอ่านจบแล้วนำไปใช้ ผลงาน และเอนเนอจี้ของทีมจะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน!
🐟 [ Catfish Management บริหารด้วยการใส่ปลาดุกลงบ่อปลาซาดีน ]
แนวคิด Catfish Management มีต้นกำเนิดมาจากประเทศนอร์เวย์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำประมงและสินค้ายอดฮิตอย่าง “ปลาซาร์ดีน”
เป็นแนวคิดที่เปรียบสไตล์การบริหารได้กับ “ปลาดุก” ที่คอยจ้องจะกินทุกอย่างแบบไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็นลูกปลาเล็ก และซากเหยื่อตาย แต่ถ้านึกง่ายๆ ก็อารมณ์เดียวกับฝูงซอมบี้ที่บุกเข้าไปในหมู่บ้านเหมือนในภาพยนตร์
เวลาที่ชาวประมงจับปลาซาร์ดีนขึ้นมาจากทะเล แล้วใส่ในแท็งก์น้ำเพื่อเตรียมนำไปขาย ตามปกติแล้ว มันมักจะมีชีวิตอยู่ไม่ถึงตลาด ตายก่อนเพราะไม่คุ้นกับแท็งก์น้ำที่เล็ก และอุณหภูมิน้ำที่ต่างจากทะเลค่อนข้างมาก ซึ่งปลาที่ตายแล้วขายได้ราคาต่ำกว่าปลาที่ยังมีชีวิตถึง 2 เท่า
ฉะนั้น ชาวประมงเลยแก้เกมเรื่องนี้ ด้วยการใส่ “ปลาดุก” ผู้กินทุกอย่างที่ขวางหน้า และเป็นที่เกรงกลัวของปลาซาร์ดีนลงไป
ส่งผลให้พวกมันว่ายน้ำหนีปลาดุก “ตื่นตัว” อยู่ตลอดเพราะกลัวจะโดนกิน โอกาสที่จะตายก่อนถึงตลาดจึงน้อยลงหรืออาจจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว
🐟 [ รู้จักวิธีบริหารให้ทรงพลังอย่าง Catfish Management ]
คอนเซ็ปต์นี้ ก็ได้ถูกนำมาปรับใช้กับคน กล่าวคือ เป็นการใส่ความกดดันลงไป ซึ่ง ไฮเออร์ (Haier) ได้นำไปปรับใช้กับบริษัทผ่านการตั้งผู้จัดการเงา (Shadow Manager) ขึ้นมา หากผู้จัดการตัวจริง (Manager) ไม่สามารถนำทีมให้สร้างผลงานได้ถึงเป้าที่วางไว้ในทุกๆ 3 เดือน ก็จะถูกผู้จัดการเงา เข้าแทนที่ทันที
เป็นการ “กดดัน” กลายๆ ว่า “ถ้าทำไม่ได้ บริษัทก็จะเอาผู้จัดการตัวจริงออก แล้วแต่งตั้งเงาเป็นตัวสำรองมาทำแทน”
🐟 [ ข้อดีของ Catfish Management ]
หากเทียบกัน ผู้จัดการตัวจริง คือ “ปลาซาร์ดีน” ส่วนผู้จัดการเงา คือ “ปลาดุก” ที่คอยเข้ามากดดันให้เกิดความกระตือรือร้นเสมอ พร้อมรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ
เรียกได้ว่า เป็นโมเดลที่ “Win-Win Situation” ทั้ง 2 ฝ่าย ตัวบริษัทได้ผลงาน พนักงานก็ได้ความภาคภูมิใจ และผลตอบแทนเรื่องเงินกลับ
สรุปแล้ว Catfish Management นั้นวัดกันจาก “ผลงาน” เป็นการสร้าง “ความเครียดเชิงบวก” และใช้ความกดดันพิสูจน์คน หัวหน้าทีมที่ไม่สามารถสร้างผลงานได้เข้าตาก็มีโอกาสจะเสียเก้าอี้ไปได้ง่ายๆ
🐟 [ ข้อควรระวังของ Catfish Management ]
แม้มองผิวเผินการบริหารคนแบบนี้น่าจะเวิร์ก แต่ในระยะยาว การปักหมุดไว้ที่เป้าหมายใหญ่ แล้วใส่ความกดดันเยอะเกิน ก็โหดไปสักหน่อย และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตของทีมตามมาทีหลัง หรือพูดง่ายๆ ว่า บริษัทอาจไม่ตายน้ำตื้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผลงานเริ่มลด ก็อาจตายเอาในน้ำลึกแทน ที่หมดไฟ เข้าสู่บรรยากาศแบบตัวใครตัวมัน ทีมคอยนั่งซ่อนยอด ปั่นตัวเลขให้ถึงแต่ละจุด Check Point และทำให้อัตราการลาออก (Turnover Rate) พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สูญเสียพนักงานเก่งๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะชอบความกดดัน
ทว่า ในแง่มุมของการบริหารนั้น ลึกกว่าแค่เรื่องตัวเลข ก็มีเรื่องของสภาพจิตใจทีมเข้ามาเกี่ยวด้วย ดังนั้น หากจะใช้แนวคิดนี้ ก็ต้องควบคุมความกดดันให้ “พอเหมาะ” และดูศักยภาพของทีมด้วยว่า สามารถรับได้แค่ไหน?
ถึงที่สุดแล้ว หลักใหญ่ใจความของการบริหารไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแบบชีวิตยังไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไป ใช้ความกดดันเป็นเครื่องพิสูจน์ กระตุ้นทีมให้ “ห้ามแพ้” เสมอก็ได้ ตอนจบของเรื่องนี้ก็คงลงเอยที่ชะตาของปลาทุกตัวต่างก็ตายลง และถูกขายทอดตลาดในที่สุด
เข้าทำนอง “ตึงเกินไปก็ไม่ดี” ในทางกลับกัน “หย่อนเกินไปก็ไม่ดี” ถ้าทีมไหนที่ปกติตั้งใจทำงานอยู่แล้ว แนะนำว่า ในฐานะผู้นำอาจจะใช้วิธีจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเติมไฟในการทำงานอาจจะเหมาะกว่า
เขียนโดย Chompoonut Suwannochin
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsWorkandLife
โฆษณา