12 พ.ย. เวลา 07:18 • ดนตรี เพลง

การมาถึงของสีสันแห่งฤดูใบไม้ผลิ กับบทพิสูจน์นิยามสร้างสรรค์ทางดนตรีใหม่ของ Talk Talk

"The Colour of Spring" ปี 1986 ของ Talk Talk ถือเป็นบทพิสูจน์พัฒนาการทางดนตรีใหม่ที่สำคัญของวง โดยยืนยันถึงชื่อเสียงในฐานะนักสร้างสรรค์แห่งเสียง อารมณ์ และท่วงทำนอง หลังการประสบความสำเร็จของอัลบั้มปี 1984 อย่าง "It’s My Life" ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถสร้างอัลบั้มที่น่าจดจำได้ และอัลบั้ม "The Colour of Spring" ก็ก้าวข้ามขีดจำกัดนี้ไปอีกขั้น โดยผสมผสานการเขียนเพลงที่เข้าถึงแนวคิดเชิงศิลป์มากขึ้น ซึ่งถ่ายทอดทั้งอารมณ์ขึ้นลงของความสัมพันธ์และการครุ่นคิดถึงชีวิตผ่านบทเพลงได้ในเวลาเดียวกัน
ทางด้านดนตรี "Talk Talk" ได้ขยายขอบเขตการทดลองที่เริ่มไว้ใน "It’s My Life" โดยเพิ่มทำนองที่หลากหลายและการเรียบเรียงที่ซับซ้อน การโปรดักชั่นที่ลึกซึ้งของอัลบั้มนี้ผสมผสานรวมเข้ากับจังหวะที่แปลกใหม่ ผ่านการเรียบเรียงดนตรีที่มีพลัง ช่วยเพิ่มมิติที่ชวนดื่มด่ำให้กับอัลบั้มนี้
ที่ผ่านมาผลงานของพวกเขามุ่งเน้นไปที่อารมณ์ ท่วงทำนอง และเนื้อเพลงมาโดยตลอด และในอัลบั้ม "The Colour of Spring" ก็ถูกเพิ่มเติมด้วยความอบอุ่นและความลึกซึ้ง แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทที่มากขึ้นในการใช้เครื่องดนตรีจริง โดยเฉพาะดนตรีอะคูสติก (Acoustic) ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากผลงานก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด แต่เป็นการพัฒนาบทเพลงอย่างละเอียดอ่อนมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวงเข้าใจในตัวตนทางศิลปะใหม่ของพวกเขา และมั่นใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในแบบฉบับของตัวเอง
การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในอัลบั้มนี้อาจไม่ได้ดูสุดโต่งอย่างที่คิด อย่างเช่น มือกลอง "Lee Harris" ที่เล่นกลองจริง ๆ มาตลอด แม้ว่าจะมีการเพิ่มเอฟเฟกต์เสียงอิเล็กทรอนิกส์ในอัลบั้มแรก ๆ และ "Paul Webb" ก็ใช้กีตาร์เบสจริงเสมอมา
ในขณะที่ "Tim Friese-Greene" ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในส่วนของคีย์บอร์ด ซึ่งผสมผสานเสียงจากเครื่องดนตรีจริงกับเสียงสังเคราะห์ แม้ว่าการมีส่วนร่วมของเขาจะดูเบาบางลง แต่ก็เข้ากันได้ดีกับบรรยากาศที่เปิดกว้างของอัลบั้มนี้ แทนที่จะเป็นเสียง Synth-Pop ที่โดดเด่นเหมือนผลงานก่อนหน้า "The Colour of Spring" กลับเลือกที่จะสร้าง Space ให้บทเพลงและใส่รายละเอียดในการเรียบเรียงแทน
สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งวง ตั้งแต่ปี 1981 (ซ้ายไปขวา): Lee Harris, Mark Hollis และ Paul Webb
หลาย ๆ เพลงใน "The Colour of Spring" มีความเรียบง่ายแต่ก็มีความงามที่โดดเด่น เพลงอย่าง “Living In Another World” และ “Give It Up” มีโครงสร้างที่เป็นไปตามขนบมากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Talk Talk อยู่ ในขณะเดียวกัน อัลบั้มนี้ยังสำรวจทิศทางที่แหวกแนวมากขึ้นในเพลงอย่าง “Chameleon Day” และ “Time It’s Time” ที่มีลักษณะเป็นการด้นสดมากขึ้น ซึ่งตัดกับบทเพลงช่วงต้นอัลบั้มที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทดลองและสรรสร้างความแตกต่าง
แง่มุมที่น่าพึงพอใจที่สุดในพัฒนาการนี้คือการที่เสียงอันทรงพลังของ "Mark Hollis" ผสมผสานกับดนตรีได้อย่างลงตัว เสียงร้องของเขาทรงพลังแต่ก็เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน เข้ากันได้ดีกับภูมิทัศน์ดนตรีที่เปิดกว้างของอัลบั้มนี้ ราวกับว่า Hollis ได้พบ “ชุดทางดนตรี” ที่เหมาะกับเขาพอดิบพอดี เสียงร้องของเขาสมบูรณ์แบบในบรรยากาศอันเวิ้งว้างนี้
คุณลักษณะนี้เองที่เป็นรากฐานสำหรับการเดินทางของ Talk Talk ไปสู่ดนตรีเชิง Ambient, Art Rock และ Post-Rock ในผลงานหลังจากนี้ ที่แสดงออกทางอารมณ์ผสมผสานกับเสียงและท่วงทำนองได้อย่างลงตัว
Mark Hollis นักร้องนำของวงผู้ล่วงลับ
แม้ว่า "The Colour of Spring" อาจจะไม่ได้มีทำนองติดหูทันทีเหมือนกับ "It’s My Life" หรือมีแนวดนตรีแบบทดลองที่ชัดเจนในงานอัลบั้มถัดไป แต่ก็สามารถสร้างความลงตัวระหว่างสองแนวคิดนี้ได้อย่างน่าพึงพอใจ ด้วยการรังสรรค์อัลบั้มนี้ Talk Talk ไม่เพียงก้าวถึงจุดสูงสุดในวงการดนตรีของพวกเขา แต่ยังเป็นจุดหมายสำคัญของดนตรีแนว Art Rock และ Post-Rock ซึ่งผสมผสานระหว่างการเข้าถึงทางดนตรีกับความลึกซึ้งทางศิลปะ และนั้นทำให้ "The Colour of Spring" กลายเป็นอัลบั้มที่มีเอกลักษณ์และคงคุณค่าอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
Cr. AllMusic
---
โฆษณา