12 พ.ย. เวลา 08:53 • ปรัชญา

เหตุแห่งการเกิดในครรภ์

[๔๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ ความเกิดแห่งทารกก็มี ในสัตว์โลกนี้
-มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
-แต่มารดายังไม่มีระดู
-และทารกที่จะมาเกิดยังไม่ปรากฏ
ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน ในสัตว์โลกนี้
-มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
-มารดามีระดู
-แต่ทารกที่จะมาเกิดยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
-เมื่อใดมารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย
-มารดามีระดูด้วย
-ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏด้วย
*เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ ความเกิดแห่งทารกจึงมี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
มารดาย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้องเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง เมื่อล่วงไปเก้าเดือน หรือสิบเดือน มารดาก็คลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นซึ่งเกิดแล้ว ด้วยโลหิตของตนด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก
[๔๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือ ไถเล็ก ตีไม้หึ่ง หกขะเมน จังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ
-รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก
-เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสต ...
-กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ ...
-รสที่รู้แจ้งด้วยลิ้น ...
-โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก
กุมารนั้น เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมกำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่า
อกุศลธรรมอันลามก ตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่
เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพ เป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
กุมารนั้น
-ได้ยินเสียงด้วยโสต ...
-ดมกลิ่นด้วยฆานะ ...
-ลิ้มรสด้วยลิ้น ...
-ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
-รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดีมิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่
เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้
อ้างอิง บางส่วนจาก
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๘. มหาตัณหาสังขยสูตร
โฆษณา