12 พ.ย. เวลา 09:53 • ท่องเที่ยว

‘ภูเก็ต’ ผันตัวสู่เมืองท่องเที่ยวสีเขียว

☝️Click >> ‘ภูเก็ต’ ไม่ตกเทรนด์ พลิกโฉมเมืองครั้งใหญ่สู่ ‘เมืองท่องเที่ยวสีเขียว’ จัดรถสองแถว EV ให้บริการรอบเมือง แปลงโฉมพื้นที่คุกเก่าเป็นสวนสาธารณะ สร้างพื้นที่สีเขียว ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว ‘ไทย-เทศ’ ที่รักษ์โลก รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลง ลดภาวะโลกร้อน ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
🔎Clear >> ในปัจจุบันแนวโน้มการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลสำรวจชี้ชัดว่านักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
โดย Sustainable Travel Study 2022 ของ Expedia Group และ Wakefield Research ได้สำรวจนักท่องเที่ยวอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 11,000 คน พบว่านักท่องเที่ยวใช้เกณฑ์เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องหลักในการตัดสินใจท่องเที่ยวสูงถึง 90% ซึ่งนักท่องเที่ยวจะมองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 69% รองลงมาต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน 66% และสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชุมชน 65%
นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่เมืองท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงของประเทศไทยต้องปรับตัวให้เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยเฉพาะ ‘ภูเก็ต’ เมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยจะต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อจะได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้มาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย
ข้อมูลจากสถิติกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าเมื่อเดือน มีนาคม 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนภูเก็ต สูงเป็นประวัติการณ์กว่า 1,171,189 คน มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากถึง 78.75% อัตราการเข้าพัก 86.37% โดยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต คาดการณ์ว่าตลอดปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาภูเก็ตสูงถึง 7,500,000 คน
โดย 10 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวที่ชอบท่องเที่ยวภูเก็ต ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย ออสเตรเลีย อังกฤษ มาเลเซีย เยอรมัน คาซัคสถาน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
จากศักยภาพที่หลากหลายของจังหวัดภูเก็ต สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) จึงได้จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยตั้งเป้ารายได้ครึ่งปีหลัง 2567 จากเป้าเดิม 420,000 ล้านบาท เป็น 500,000 ล้านบาท โดยมีแผนงานหลัก ได้แก่
1.การขนส่งและแก้ปัญหารถติดสะสมในตัวเมือง
2.การพัฒนาเมือง
สำหรับ ‘การขนส่งและแก้ปัญหารถติดสะสมในตัวเมือง’ ทาง อบจ.ภูเก็ต มีโครงการนำรถ EV จำนวน 24 คัน มาใช้แทนรถโพถ้อง สีชมพู ของทาง อบจ.ภูเก็ต ที่ให้บริการมานานกว่า 10 ปี ซึ่งให้บริการใน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย
สายที่ 1 สายสีเหลือง เริ่มต้นที่สะพานหิน ไปสิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลภูเก็ต ระยะทาง 11 กิโลเมตร
สายที่ 2 ท่าเรืออ่าวฉลอง-ห้างซุปเปอร์ซีป หรือสายสีแดง ระยะทาง 18 กิโลเมตร
สายที่ 3 ท่าเทียบเรือรัษฎา-สวนน้ำอันดามันดา หรือสายสีเขียว ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร
สายที่ 4 สนามบินภูเก็ต-หาดราไวย์ รวมระทางประมาณ 47 กิโลเมตร
ซึ่งโครงการนี้มีแนวทางปรับเส้นทางให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ทั้งคนภูเก็ต และนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ซึ่ง 1 คันรองรับผู้โดยสารได้ 21 คน โดยตั้งเป้าทดลองวิ่งเดือนต้นธันวาคม 2567 นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนไม่ต้องใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้รถสาธารณะกันมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมืองได้
ส่วน ‘การพัฒนาเมือง’ มีจำนวน 2 โครงการ ได้แก่
2.1.โครงการย้ายเรือนจำประจำจังหวัดไปอยู่ที่สถานที่แห่งใหม่ ณ บ้านบางโจ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อปรับปรุงพื้นที่เรือนจำเก่าจังหวัดภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตให้เป็นสวนสาธารณะ เป็นสถานที่ออกกำลังกายแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมือง บนพื้นที่ 33 ไร่
2.2.แผนการพัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง โดยจะยกระดับเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ใช้ระบบ AI คัดกรองผู้โดยสาร จัดระเบียบการจราจรบนสะพาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ต
การส่งเสริมโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนรถโดยสารสันดาปแบบเดิมเป็นรถโดยสาร EV รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของสวนสาธารณะจากเรือนจำเก่า และการใช้เทคโนโลยี AI มาปรับใช้กับท่าเรืออัจฉริยะ ล้วนแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก ต้องยอมรับว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งการเลือกท่องเที่ยวเมืองท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คงไม่ใช่ปัจจัยเดียวเท่านั้นที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว เพราะปัญหาโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม อีกทั้งภาวะโลกร้อนยังส่งผลทำให้ฤดูกาลท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: Thansettakij / moneyandbanking
โฆษณา