Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
13 พ.ย. เวลา 04:20 • ท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ..รพ.ศิริราช
“โรงพยาบาลนี้ได้คิดมาช้านาน อยากจะให้มีขึ้นได้ในทันใด... ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้ายลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาไข้เจ็บ เห็นว่าแต่ลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ยังได้ความทุกข์เวทยาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ความทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น”
.. พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึงคอมมิดตีจัดสร้างโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2431
“พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” .. เป็นพิพิธภัณฑ์จัดสร้างขึ้นใหม่โดยใช้อาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) นำเสนอเรื่องราวที่ทรงคุณค่ายิ่ง … ทั้งทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณคลองบางกอกน้อยวังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังแสดงประวัติของศิริราช ประวัติการแพทย์แผนไทย การสร้างทางรถไฟสายใต้และวิถีชุมชนบางกอกน้อย โดยใช้เทคนิคนำเสนออย่างทันสมัย
ในส่วนรูปแบบและ เนื้อหาที่จัดแสดงมีการแยกเป็นห้องเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างชัดเจนตามช่วงเวลายุคสมัยที่แตกต่างกัน ตั้งแต่อดีตเรื่อยมา .. รวมถึงมีการแสดงวัตถุโบราณพร้อมข้อมูลบรรยายประกอบทั้งแบบนิ่งและแบบเคลื่อนไหวบนจอภาพ และส่วนแสดงที่สร้างจำลองขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพและบรรยากาศในอดีต
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน จึงเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ควรมาชมอย่างยิ่งเพราะรวมเรื่องราวและความรู้ทั้งทางชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มีวัตถุจัดแสดงที่หาชมได้ยาก
อาคารอนุรักษ์โบราณ
อาคารหลัก ได้รับการออกแบบเมื่อ พ.ศ. 2493 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่นิยมในช่วงหลังสงคราม มีหอนาฬิกาตั้งตระหง่านเป็นเอกลักษณ์ อาคารนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2544
อาคารนี้เป็นผลงานการออกแบบของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ สถาปนิกของกรมรถไฟ โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมการก่ออิฐแบบวิกตอเรียน ผสมโครงสร้างระบบเสาและคาน เน้นการใช้วัสดุเรียบง่าย
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยเคยตั้งอยู่ในอาณาบริเวณซึ่งเคยเป็นเขตพระราชฐานของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขในรัชกาลที่ 1
โถงต้อนรับ
เมื่อก้าวเท้าเข้าไปสู่โถงต้อนรับ ประตูพิพิธภัณฑ์ บรรยากาศของความเป็นสถานีรถไฟได้หวนกลับมาอีกครั้ง และยังถูกรักษาไว้อย่างดี ทั้งช่องขายตั๋วโดยสารของสถานีธนบุรี เก้าอี้ไม้นั่งพักรูปวงรี และที่รับฝากของ .. จุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟสายใต้
อาคาร 1 จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล
ห้องศิริราชขัตติยพิมาน :
หอเทิดพระเกียรติ จัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ พร้อมพระราชดำรัส พระราชเสาวนีย์ และพระดำรัส ในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
พร้อมวีดิทัศน์แสดงพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อโรงพยาบาลศิริราชและการแพทย์ของประเทศไทยมายาวนาน
ห้องสถานพิมุขมงคลเขต :
บริเวณห้องจัดแสดงชั้นล่าง ห้องกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข แสดงพระประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขด้วยภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณีลายวิจิตร
.. จิตรกรรม “อนุรักษ์เทเวศร์กิตติประกาศ” ที่วาดโดยอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร พร้อมกับเสียงบรรยายทำนองเสนาะ ที่เล่าถึงความสามารถทั้งเชิงรบ และเชิงศิลปะของท่าน ที่ได้ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องพระศรีเมือง และกำกับการแปลวรรณคดีเรื่อง ไซ่ฮั่น
Photo : Internet
ฐานป้อมพระราชวังหลัง :
ในทางประวัติศาสตร์ พื้นที่บริเวณสถานีธนบุรี ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณ “วังหลัง” ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ในรัชกาลที่ 1 .. ขณะที่มีการปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้ขุดพบหลักฐานและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ อาทิ ฐานป้อม ซากเรือไม้ เศษภาชนะดินเผา ที่สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของวังหลัง
หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่เป็นฐานป้อมพระราชวังหลังนี้ อยู่ที่ระดับลึกจากผิวดินปัจจุบันประมาณ 60 เซ็นติเมตร ที่ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2551 พิพิธภัณฑ์ตั้งใจให้ผู้ชมมองเห็นหลุมขุดค้นจากในตัวอาคารผ่านหน้าต่างกระจกใสบานใหญ่ เพื่อที่ผู้ชมจะได้ใช้ผัสสะให้ได้มากที่สุดกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่
เครื่องถ้วยโบราณ :
ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยโบราณหลายยุคสมัย เช่น อาทิ ชิงไป๋หรือเครื่องเคลือบสีขาวเนื้อดีสมัยราชวงศ์ชิง เครื่องถ้วยจีนลายครามสมัยหมิง เครื่องเบญจรงค์ลายแลทอง .. ที่ขุดพบระหว่างการก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช .. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย
ทางเดินก่อนเข้าห้องศาสตราวุธจัดแสดงภาพพิมพ์แผนที่เมืองธนบุรีและปริมณฑล เขียนขึ้นโดยชาวพม่าที่เข้ามาแผ่นดินไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยธนบุรี ถึงต้นรัตนโกสินทร์
Photo : Internet
ห้องโบราณราชศัสตรา : จัดแสดงศาสตราวุธหลากชนิดหลายชาติพันธุ์ ล้วนทรงคุณค่า ที่คณะแพทยศาสตร์ฯ ได้รับมอบจากคุณสำรวย สุวรรณสุทธิ (เสนีวงศ์ ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นราชสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (ห้องนี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ)
ศาสตราวุธชุดนี้มีความสำคัญในด้านศิลปะ อายุ และความหลากหลายของแหล่งผลิต ทั้งดาบไทยภาคกลาง เหนือ อีสาน ดาบญี่ปุ่นผสมศิลปะไทย ดาบลาว ดาบเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับประวัติราชการสงครามของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขและทายาท
ห้องคมนาคมบรรหาร (ห้องฉายภาพยนตร์) :
ห้องนี้เป็นห้องสุดท้ายของการจัดแสดงนิทรรศการในอาคารที่ 1 ชั้นล่าง .. ด้านหน้ามีภาพถ่ายแสดงเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับการสร้าง และเปิดใช้ทางรถไฟ
ภายในห้องฉายภาพยนตร์ .. ปัจจุบันฉายเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อสังคมไทย
ศิริราชบุราณปวัตติ์
เมื่อเดินขึ้นบันไดต่อมายังชั้นที่สอง ของอาคารพิพิธภัณฑ์หลังแรก .. ห้องประวัติศิริราช จัดแสดงเกี่ยวกับ กำเนิดโรงพยาบาล การตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย
.. ประกอบด้วยอุปกรณ์การสอนที่ใช้ในยุคนั้น พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่ทรงพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ทั้งเป็นผู้เจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาด้านการแพทย์ของไทย การสอนทางปรีคลินิก เป็นการเรียนทั้งให้องปฏิบัติการและภาคบรรยาย
พิพิธภัณฑ์นำเสนอเรื่องราวทางการแพทย์ กำเนิดโรงพยาบาล และการตั้งโรงเรียนการแพทย์แห่งแรกของประเทศ การเรียนการสอนในทางการแพทย์ในอดีต เทคโนโลยีทางการแพทย์ ความภาคภูมิใจและเอกลักษณ์ด้านต่างๆ ของศิริราช
สิ่งที่ทำให้การนำเสนอเรื่องราวทางการแพทย์ของพิพิธภัณฑ์นี้โดดเด่นน่าสนใจ ไม่ใช่เทคโนโลยีหรือสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ที่น่าดึงดูด แต่เป็น “คอลเล็กชั่น” ที่โรงพยาบาลเก็บไว้ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา และมอบให้กับพิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดง
ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ ตัวอย่างทดลอง(specimen) สื่อการเรียนการสอน ตำราเรียน ภาพการเรียนการสอนในอดีต บันทึกต่างๆ ที่เก็บรักษาไว้อย่างดี
... เช่น ตัวอย่างทดลอง(specimen) ที่บรรจุอยู่ในขวดแก้วที่ยาด้วยยางมะตอยสมัยสงครามโลก ดิกชันนารีของพระอาจวิทยาคม หรือ สมุดเล็คเชอร์ของพระบรมราชชนก เครื่องเอ็กซเรย์เครื่องแรก ชุดดมยาภาคสนาม เป็นต้น
กระทั่งตู้ โต๊ะ เก้าอี้ไม้รุ่นคลาสสิกที่เคยใช้ในโรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ก็นำกลับมาใช้ใหม่ในส่วนจัดแสดงอย่างกลมกลืน และเสริมบรรยากาศได้อย่างสมจริง …
.. เช่น โต๊ะเล็คเชอร์สมัยเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว โต๊ะโอพีดีและอุปกรณ์ตรวจโรคช่วงต้นทศวรรษ 2500 ที่จัดเป็นห้องโอพีดีจำลองเหมือนจริง มีแม้กระทั่งพัดลมในยุคนั้นที่ทางโรงพยาบาลยังเก็บรักษาไว้
หมอแมคฟาร์แลนด์ อาจารย์นายแพทย์ใหญ่แผนปัจจุบันของศิริราช
งานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ :
งานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ แสดงจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลศิริราช .. กล่าวคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ทรงเป็นพระราชโอรสใน ร.5 กับ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชชนนีใน ร. 6 เป็นพระเชษฐาร่วมพระราชชนนีใน ร.7
ครั้นเมื่อพระชันษา 1 ปี 6 เดือน สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ทรงประชวร วันที่ 31 พ.ค. 2430 พระอาการประชวรมากขึ้น และทรุดลงจนสิ้นพระชนม์ ร.5 และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระอาลัยเศร้าโศกเป็นที่ยิ่ง
ร.5 ทรงกำหนดงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง พระเมรุห้ายอด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพิเศษ และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สิ่งก่อสร้างเป็นไม้จริง ด้วยมีพระราชประสงค์ว่าเมื่อเสร็จการแล้วจะพระราชทานแก่โรงพยาบาล
เมื่อเสร็จการพระเมรุแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระเมรุไปสร้างเรือนคนไข้ได้จำนวน 4 หลัง ภายในโรงพยาบาล และพระราชทานเครื่องเรือน เครื่องใช้ทั้งปวงให้แก่โรงพยาบาลวังหลัง พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลวังหลังใหม่ว่า “โรงพยาบาลศิริราช”
หุ่นกายวิภาคมนุษย์ :
ห้องสมเด็จพระบรมราชชนนี บอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนแพทย์ในยุคแรก ปฐมบทของสื่อการเรียนกายวิภาคศาสตร์ที่จะต้องเรียนรู้ผ่าน "หุ่นกายวิภาคมนุษย์" ที่ทำมาจากเยื่อกระดาษอายุเกือบร้อยปี ที่ใช้เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์
.. จำลองที่ทำจากเยื่อกระดาษนี้ เป็นประจักษ์พยานของความก้าวหน้าในวิชาแพทย์สมัยนั้น
สมเด็จพระบรมราชชนก : “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุขของไทย” ผู้ทรงเป็นแบบอย่างแห่งความเพียร ความอุตสาหะ และการเสียสละโดยเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
จักษุวิทยา : มาสัมผัสถึงบรรยากาศของห้องตรวจโรคตาในอดีต รู้จักเครื่องมือของจักษุแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค และวัตถุจัดแสดงที่หาชมได้ยาก เช่น เลนส์ของต้อกระจก จากผู้ป่วยนับพันราย และเครื่องมือผ่าตัดดวงตาของศิริราชในอดีต
ทันตกรรม
อาจารย์ใหญ่ : เตียงไม้อาจารย์ใหญ่และอุปกรณ์ที่ใช้ผ่าอาจารย์ใหญ่ของห้องเรียนมหกายวิภาคศาสตร์ (Gross anatomy) สมัยอดีต ..
หัวใจสำคัญของการเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ที่นักศึกษาแพทย์ทุกคนรู้จัก เคารพและเรียกขานกันว่า “อาจารย์ใหญ่” โต๊ะปฏิบัติการชุดนี้เคยรองรับ “อาจารย์ใหญ่” มารุ่นแล้วรุ่นเล่า
การจำลองการผ่าตัด : เตียงผ่าตัดในช่วง พ.ศ. 2469 เมื่อชีวิตผู้ป่วยอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ... ร่วมเป็นหนึ่งในทีมผ่าตัดเพื่อปฏิบัติการในห้องผ่าตัดจำลองย้อนยุค และเข้าถึงหัวใจของการทำงานเป็นทีม
สยามรัฐเวชศาสตร์
มหัศจรรย์ร่างกายมนุษย์ .. ห้องการแพทย์ของไทย จัดแสดงด้วยเทคนิคทันสมัย แสดงที่ให้ความรู้เรื่องความเจ็บป่วยของมนุษย์ ความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ เหตุแห่งโรค
… วิธีการเยียวยาความเจ็บป่วย และบทสรุปของการมีสุขภาพดีด้วยแนวคิด“ธรรมานามัย” ซึ่งนำเสนอในรูปแบบที่ผู้ชมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
ไขรหัสการแพทย์ ความจริงเกี่ยวกับร่างกาย มนุษย์ ในมุมมองของการแพทย์แผนไทยศาสตร์อันลึกซึ้งที่ไม่ลึกลับ เรียนรู้ได้ เข้าใจได้ และยังช่วยให้ดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเยียวยาความเจ็บป่วยในที่ใช้ภูมิปัญญาไทยด้านต่างๆ
ร้านโอสถวัฒนา : จำลองร้านขายยาในอดีต ตัวอย่างสมุนไพรหลากหลายชนิด และอัศจรรย์สรรพคุณยาไทยในร้านขายยาโบราณ พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์หลากหลาย พัฒนามาเป็นการผลิตยาด้วยเทคนิคที่ทันสมัย
.. วิธีบริหารร่างกายในท่าฤาษีดัดตน
แต่สิ่งสำคัญที่นิทรรศการสรุปไว้ก็คือ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หากจิตมีอนามัยดี ร่างกายก็จะดีด้วยเช่นกัน
พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์
ที่ชั้น 2 ของอาคาร 2 ท่านสามารถชมจุดกำเนิดของวงการศัลยศาสตร์ไทย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี
พร้อมตื่นตาตื่นใจไปกับความหลากหลายของสิ่งแสดงในทุกสาขาของศัลยศาสตร์ที่หาชมได้ยาก ผู้ชมจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในห้องผ่าตัดจากอดีตจนถึงยุคที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดด้วยเทคนิคเสมือนจริง
อาคาร 3
อาคาร 3 .. เป็นการจัดแสดงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ของพื้นที่วังหลัง-บางกอกน้อย ที่มีเรื่องราวยาวนานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
… แสดงผ่านหลักฐานสำคัญ เช่น ศาสตราวุธของกรมพระราชวังหลัง ฐานป้อมพระราชวังหลัง เรือไม้ขนาดใหญ่ เครื่องถ้วยโบราณ ฯลฯ โรงภาพยนตร์ 4D และเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านวิถีชีวิตชุมชนจำลอง
สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) : กราบนมัสการพระอริยสงฆ์ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นมหาเถระที่ได้รับความนิยมนับถือ ได้รับการเคารพ ศรัทธาตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ตลอดไปจนถึงสามัญชนทั่วไป
เรือโบราณ : ดาวเด่นในอาคารจัดแสดงหลังนี้ ที่ทำให้ผู้ชมต้องแหงนมองด้วยความตะลึงงัน คือ เรือโบราณยาว 24 เมตร กว้าง 5 เมตร ที่ถูกฝังกลบมากว่า 100 ปี ถือเป็นเรือไม้ลำ ใหญ่ที่สุดของประเทศเท่าที่เคยขุดค้นได้
เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย .. และขุดพบระหว่างก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช แล้วทำการเก็บกู้และอนุรักษ์ จนสามารถนำมาจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ
“ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าเป็นเรือบรรทุกสินค้าจำพวกข้าว คล้ายๆ เรือกระแชง โครงสร้างเดิมของเรือจะมีเขี้ยวโลหะ มีแผ่นทองเหลือง มีตะปูที่ตอก ทางเรามีการซ่อมแซมโดยเอาไม้ใหม่ไปต่อเติมด้วย เราต้องการจะแสดงการอนุรักษ์ส่วนต่างๆ ของเรือ ให้ผู้ชมเห็นควบคู่กันไปด้วย ” ภัณฑารักษ์กล่าว
ข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ ระบุว่าเรือลำนี้ กระดูกงูทำจากไม้สัก กงเรือทำจากไม้ตะเคียนทอง และเปลือกเรือทำจากไม้เคี่ยม ใช้ตะปูจีน และเขี้ยวโลหะในการต่อเรือทั้งหมด ใต้ท้องเรือติดกระดาษสา และบุทับด้วยแผ่นโลหะ
เนื่องจากพื้นที่นี้เคยเป็นอู่เรือหลวงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สันนิษฐานว่าเรือลำนี้อาจถูกทิ้งร้างอยู่ในอู่เรือหลวง แล้วถูกฝังกลบเมื่อทางการจะใช้พื้นที่สร้างโรงฝิ่นหลวง ในปี พ.ศ. 2433 และสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปี พ.ศ. 2443
เรือลำยักษ์วางบนคานเหล็กที่สูงเท่าตัวคน ผู้ชมสามารถเดินชมได้โดยรอบ เปิดให้เห็นส่วนประกอบและวัสดุที่ต่อเรือแบบโบราณ ส่วนบนฝ้าเพดานเหนือตัวเรือกรุด้วยกระจกเงาผืนใหญ่ เพื่อให้ผู้ชมเห็นลักษณะภายในตัวเรือได้ด้วย
วิถีชีวิตชาวบางกอกน้อย : เป็นการจำลองบรรยากาศวิถีชีวิตในอดีตของคนบางกอกน้อย ทั้งตลาด บ้านเรือน
รวมถึงมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญ เหมือนกันการชวนท่องเที่ยวสถานที่สำคัญของบางกอกน้อยในอดีต เช่น โรงละครหุ่นกระบอกคณะนายเปียก ประเสริฐกุล ศาลาโรงธรรม ตลาดรถไฟ เป็นต้น
บางกอกน้อยเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทั้ง ไทย จีน และมุสลิม มุมหนึ่งจำลองย่านร้านค้าของชาวไทยมุสลิม ที่นำเสนอของดีมีทั้งอาหารมุสลิม ของใช้ที่เป็นงานเย็บฟูกหรือที่นอนยัดนุ่นฝีมือประณีต เป็นต้น
บันทึก
3
1
2
3
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย