13 พ.ย. เวลา 07:14 • การตลาด

อธิบายกลไก วิดีโอบน Instagram ยิ่งคนดูน้อย ยิ่งไม่ชัด - MarketThink

ช่วงนี้หลายคนจะได้ยินข่าว ว่าวิดีโอที่เราโพสต์ลงบน Instagram อาจถูกลดคุณภาพลงได้ จากวิดีโอชัด ๆ
กลายเป็นวิดีโอภาพแตก ถ้าหากว่าวิดีโอนั้น “มีคนดูน้อย”
รายละเอียดของเรื่องนี้เป็นยังไง ? MarketThink สรุปให้ฟัง
คุณ อดัม มอสเซรี (head of Instagram) หัวเรือใหญ่ของ Instagram ได้อธิบายสาเหตุว่า
ทำไมวิดีโอบน Instagram ถึงชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ไว้บน Threads ส่วนตัว
-Instagram จะจัดอันดับวิดีโอตาม “ความนิยม” ก่อนเสมอ โดยทุกวิดีโอที่โพสต์บน Instagram
จะถูกแสดงผลด้วยความละเอียดที่ดีที่สุดก่อนในช่วงแรก
พอเวลาผ่านไปสักพัก.. ถ้าวิดีโอยังมีคนดูเยอะอยู่ Instagram จะแสดงผลวิดีโอด้วยความละเอียดสูงต่อไปเรื่อย ๆ
แต่ถ้ามีคนดูน้อยลง Instagram จะลดความละเอียดของวิดีโอลง และกลับมาเพิ่มความละเอียดให้วิดีโออีกครั้ง ถ้าเริ่มมีคนกลับมาดูเยอะขึ้น
สรุปสั้น ๆ คือ จำนวนคนดูในช่วงเวลานั้น ๆ มีผลต่อ คุณภาพของวิดีโอที่เราโพสต์
เป็นสาเหตุว่าทำไมบางครั้ง เวลาเราลงสตอรี Instagram ในช่วงแรก ๆ วิดีโอจะชัด แต่พอเวลาผ่านไปสักพักที่ไม่ค่อยมีคนกดเข้ามาดูแล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่าความละเอียดลดลง
-คุณ อดัม บอกว่าเรื่องนี้เป็นแนวทางการจัดสรรทรัพยากรในการประมวลผลของ META บริษัทแม่ของ Instagram ที่ต้องรับมือกับจำนวนคอนเทนต์ประเภทวิดีโอที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
จากทั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ อย่างพวกสมาร์ตโฟนที่ถ่ายวิดีโอได้สวยขึ้น
ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเอง ก็ชอบเสพคอนเทนต์วิดีโอกันเยอะขึ้นในยุคนี้
โดยมีตัวเลขคาดการณ์ว่าใน 1 วัน จะมีคนดูวิดีโอบนแพลตฟอร์มของ META มากถึง 4,000 ล้านครั้ง เลยทีเดียว
-ถ้าอ้างอิงตามเกณฑ์ดังกล่าวก็มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงเหมือนกัน.. ว่าการที่ Instagram ให้ความสำคัญกับวิดีโอที่ได้รับความนิยมก่อนแบบนี้
อาจเอื้อให้ครีเอเตอร์รายใหญ่ที่มีฐานผู้ติดตามเยอะ ได้เปรียบครีเอเตอร์รายเล็ก ๆ
เพราะไม่ว่ายังไงครีเอเตอร์รายใหญ่จะมีฐานผู้ติดตามมาช่วยดูวิดีโอยู่แล้ว เลยมีโอกาสที่วิดีโอจะโดน
แพลตฟอร์มลดคุณภาพน้อยกว่าวิดีโอของครีเอเตอร์รายเล็กที่มีฐานผู้ติดตามช่วยดูน้อยกว่า
ทำให้ในระยะยาวคนที่มีผู้ติดตามเยอะ จะมีจำนวนคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเยอะกว่าคนที่มีผู้ติดตามน้อย
แบบอัตโนมัติ แล้วช่องว่างระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ก็จะกว้างขึ้นไปอีก
สุดท้ายนี้ สำหรับครีเอเตอร์รายเล็ก ถ้าไม่อยากโดนลดความละเอียด ก็อาจจะต้องมีการปรับกลยุทธ์เป็นการโฟกัสไปที่เนื้อหาของวิดีโอมากขึ้น เพื่อหวังให้ให้อัลกอริทึมดันวิดีโอของตัวเองให้ขึ้นฟีดแทน
โฆษณา