กู้วิกฤตพะยูน และฟื้นฟูหญ้าทะเล(อาหารพะยูน)

กรมทะเล-กรมอุทยานฯ ผนึกกำลังร่วม จ.ภูเก็ต เดินหน้าปกป้องคุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล อย่างต่อเนื่อง ผมจะติดตามปัญหาวิกฤติ “พะยูน” อย่างใกล้ชิด กำชับ!! ต้องรักษาพะยูนทุกตัวไว้ให้ได้
สถานการณ์โลกเดือด ทำให้กระทบประชากร "พะยูน" เดือนที่ผ่านมา พบพะยูนเกยตื้นถึง 10 ตัว สาเหตุหลักคือ ขาดแคลนอาหาร เพราะหญ้าทะเล(อาหารของพะยูน)เสื่อมโทรม ทำให้มีอาหารไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกยตื้นเพิ่มขึ้น และอาจต้องเผชิญกับอันตรายตลอดเวลาของกิจกรรมทางน้ำ การเดินเรือ และการทำประมง ซึ่งประชาชนทำกิจกรรมเป็นปกติ โดยไม่รู้ว่ามีการเคลื่อนย้ายของพะยูนเข้ามาในพื้นที่
พบการตายของ "พะยูน" อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญมาจาก "แหล่งหญ้าทะเล" ที่เป็นอาหารหลักของพะยูนมีปริมาณลดลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อน้ำทะเล ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะแหล่งหญ้าทะเลที่เคยเป็นแหล่งหากินหลักของพะยูนในแถบอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าลิบง มีความสมบูรณ์ลดลงถึง 50% ทำให้พะยูนมีการอพยพย้ายแหล่งหากิน
จึงต้องเร่งแก้ไขวิกฤตพะยูนเกยตื้นให้เป็นรูปธรรม โดยมอบหมายกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กำหนดมาตรการหลัก และกำหนดแผนงานในระยะเร่งด่วน ที่จะเพิ่มอาหารให้กับพะยูนในธรรมชาติ และดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษ ด้วยการเพิ่มอาหารให้กับพะยูน
และสั่งการให้ลงพื้นที่เร่งด่วน เพื่อประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ทำความเข้าใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับพะยูนแก่ชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือกันในการดูแลรักษาแหล่งหญ้าทะเลให้กับพะยูนต่อไป
สำหรับมาตรการเร่งด่วน 4 เรื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ประกอบด้วย
1. เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed-wings Unmanned Aerial Vehicle: Fixed-wings UAV) และแบบสำรวจการพบเห็นพะยูน
2. กำหนดแผนช่วยเหลือพะยูน โดยให้จัดเตรียมทีมสัตวแพทย์และชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังบริเวณ 7 พื้นที่หลักได้แก่ ระนอง พังงาตะวันตก อ่าวพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ถือเป็นแหล่งพะยูนอาศัย หากพบการเกยตื้น ทีมเคลื่อนที่เร็วจะเข้าปฐมพยาบาลโดยทันที พร้อมเตรียมกระชังขนาดใหญ่รองรับเพื่อให้ สามารถควบคุมพื้นที่และปริมาณอาหาร
3. เพิ่มพื้นที่การทดลองและพัฒนาแนวทางการเสริมอาหารให้กับพะยูน เช่น สาหร่ายทะเล ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาให้พะยูนในภาวะอาหารขาดแคลน เพราะองค์ประกอบและสารอาหารในพืชผักมีคุณสมบัติไม่ต่างจากหญ้าทะเลมากนัก
4. กำหนดแผนฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ด้วยวิธีปลูกหญ้าทะเลบนบ่อดินและทำกระชังปลูกหญ้าทะเล รวมถึงวิจัยและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติ สำหรับพะยูนใน 7 พื้นที่
และจัดทำแผนการดำเนินงาน เพื่อเสนอของบกลางเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการสำรวจและติดตามประชากรพะยูน เพื่อการวางแผนอนุรักษ์ต่อไปในระยะยาว
ส่วนของกรมอุทยานฯ จะนำเงินรายได้ของกรมฯ มาจัดทำคอกอนุบาลพะยูนก่อน ตามที่อธิบดีกรม ทช. ได้กำหนดพื้นที่ควบคุม เร่งอนุบาลพะยูนที่สุขภาพไม่แข็งแรง และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคาม
พร้อมทั้งจะเร่งจัดทำแผนงบประมาณโดยจะขอสนับสนุนจากงบประมาณกลางของรัฐบาล เพื่อนำมาสร้างศูนย์ฟื้นฟู ศูนย์เพาะเลี้ยงหญ้าทะเล งานวิจัย และการลาดตระเวนเฝ้าระวังที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพะยูนทุกมาตรการ ในส่วนของการทำคอกให้พะยูนได้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว โดยจะเลือกบริเวณหาดราไวย์ และหาดบางขวัญ ป่าคลอก รวมทั้งจะมีการดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่อ่าวพังงาเป็นพื้นที่แหล่งพะยูนได้มีการอพยพมาด้วย
ขอกำชับให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เร่งดำเนินการตามมาตรการในระยะเร่งด่วนให้เห็นผลในเชิงรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อรักษาพะยูนทุกตัวที่เหลือไว้ให้ได้ และรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง
และฝากไปยังผู้ประกอบการเดินเรือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเรือเจ็ทสกีให้ช่วยกันระมัดระวังขณะเดินเรือ หรือทำกิจกรรมทางทะเล ให้ชะลอความเร็วหากเข้าใกล้ฝั่ง รวมถึงเขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล
อีกทั้งเน้นย้ำให้พี่น้องชาวประมงช่วยดูแลและเฝ้าระวัง หมั่นตรวจเช็คเครื่องมือประมงขณะทำประมงอย่างต่อเนื่อง งดใช้เครื่องมืออวนขนาดใหญ่ และหลีกเลี่ยงการทำประมงบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหรือพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูน เพื่อป้องกันไม่ให้พะยูนติดอวนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดจนงดเว้นการเดินเรือผ่านแหล่งหญ้าทะเล หรือหากจำเป็นต้องใช้เส้นทาง ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต
หากพบเห็นพะยูนบาดเจ็บหรือเกยตื้นตาย สามารถแจ้งข่าวสารให้กับกรม ทช. หรือโทรแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล หมายเลข 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือและนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากต่อไป
หลังจากกลับมาจากเข้าร่วมการประชุมระดับสูง ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมฯ และขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามของประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ผมจะลงพื้นที่เพื่อติดตามมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองโดยเร็วที่สุด
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โฆษณา